June 21, 2012
Motortrivia Team (11504 articles)

Foxhound รถหุ้มเกราะหัวใจ F1

เรื่อง : P.P. idoconnect

●  แมคลาเรน ทีมแข่ง F1 ชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ ไม่ได้มีดีเฉพาะการสร้างรถแข่ง หรือซุปเปอร์คาร์คันเตี้ยติดดินเท่านั้น ล่าสุดยังได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ‘รถยนต์หุ้มเกราะ’ รุ่นใหม่ของกองทัพบกอังกฤษด้วย

●  งานของ แมคลาเรน ครั้งนี้คือรับผิดชอบพัฒนาเครื่องยนต์ให้กับรถยนต์หุ้มเกราะรุ่นใหม่ โดยมีวิศวกรจาก BMW เข้าช่วยอีกแรง เนื่องจากมีความสัมพันธ์อันดีกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยผลิตเครื่องยนต์ให้ แมคลาเรน F1 รถสปอร์ตในตำนานของบริษัท แต่ก็น่าแปลกใจว่าทำไมถึงไม่จูงมือ เมอร์เซเดส คู่หูในสนามแข่งมาช่วยในงานนี้ เพราะปัจจุบัน แมคลาเรน ก็ใช้เครื่องยนต์ของค่ายดาว 3 แฉกในสนามแข่ง และก็ยังมีผลงานโมฯ SLS เวอร์ชั่นโหดออกมาเมื่อไม่นานนี้เอง

●  แหล่งข่าวไม่ได้แจ้งว่าโรงงานไหนรับหน้าที่ผลิตเครื่องยนต์ตัวนี้ แต่ไม่ใช่ Ricardo บริษัทที่เป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ให้ McLaren MP4-12C เพราะรายนั้นรับผิดชอบในส่วนผลิตตัวถังไปแล้ว… ผลสำเร็จด้านความเร็วที่ออกมาก็ไม่ทำให้เหล่าทหารกล้าผิดหวัง เพราะ ฟอกซ์ฮาวด์ สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 112 กม./ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเร็วมากสำหรับพาหนะประเภทนี้

●  ในด้านการออกแบบมีบางกระแสบอกว่า Lewis Hamilton นักแข่งประจำทีมก็ยังไปมีส่วนในการออกไอเดียกับเขาด้วย จนรถหุ้มเกราะรุ่นนี้มีศักยภาพในการถอด-ประกอบภาคสนามสูงมาก ทีมช่างสามารถถอดสลับเปลี่ยนเครื่องยนต์ได้ในเวลาเพียง 30 นาที เร็วกว่าหนุ่มๆ บ้านเราคลุกฝุ่นเปลี่ยนล้อรถเก๋งเวลายางแบนด้วยซ้ำไป

●  แต่ท่านผู้อ่านอย่านึกว่าแหนมน้อยของเราไปลงมือขีดเขียนด้วยตนเองนะ เพราะจับกระแสดูแล้วก็คงคล้ายๆ กับเมื่อคราวที่ เจ๊วิค แห่ง เบคแฮม ไปช่วยชี้โน่นนิดนี่หน่อยให้ เรนจ์โรเวอร์ นั่นแหละ

●  อีกจุดเด่นของการออกแบบตัวถังของ ฟอกซ์ฮาวด์ คือ การออกแบบพื้นตัวถังใต้ท้องรถให้เป็นรูปทรงตัววี เพื่อกระจายแรงระเบิดที่มาจากใต้พื้นถนน เพราะสมรภูมิปัจจุบันของอังกฤษวนเวียนอยู่แถวตะวันออกกลาง ที่ฝ่ายตรงข้ามเน้นสู้แบบกองโจร ฝังระเบิดไว้ตามถนนหนทาง เมื่อรถทหารขับผ่านจึงกดรีโมทจัดการเหมือนแถว 3 จังหวัดภาคใต้ของเรานั่นแหละ

●  ถ้าพื้นรถเป็นแบบแบนราบเช่นเดิมๆ ก็จะรับแรงกระแทกไปเต็มๆ รถอาจพลิกคว่ำจนกลายเป็นเป้านิ่งได้ อีกทั้งหากเกิดพลาดพลั้งโดนระเบิดจนล้อหลุดหายไปข้าง ก็ยังสามารถวิ่ง 3 ล้อ พยุงตัวหนีออกมาจากจุดเสี่ยงได้เช่นกัน

●  และเมื่อต้องการเปลี่ยนเป็นรถพยาบาลหรือรถบรรทุก ก็สามารถถอดเปลี่ยนโครงหลังคาได้โดยสะดวกเช่นกัน สมรรถนะเช่นนี้สำหรับรถยานเกราะขนาดเบาที่ห้องโดยสารด้านท้ายบรรทุกทหารได้ 4 คน กับพลประจำรถอีก 2 คน รวม 6 คนนั้น ถือว่ายอดเยี่ยมเลยทีเดียว

●  มูลค่าสัญญารอบนี้จัดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลว เพราะยอดสั่งลอตแรกที่เซ็นกันเมื่อปี 2010 แม้จะเริ่มต้นที่แค่ 200 คัน แต่พอเริ่มส่งรถคันแรกเข้าสู่สนามรบอัฟกานิสสถานได้เมื่อต้นสัปดาห์ทีผ่านมา กองทัพก็สั่งเพิ่มอีก 100 คัน รวมเป็น 300 คัน งบประมาณรวม 12,000 ล้านบาท และยังจะกลายเป็นรถยานเกราะหลักของกองทัพไปอีกจนถึงปี 2020 ●