January 5, 2014
Motortrivia Team (10069 articles)

Fisker Automotive กับอนาคตที่ยังคงหม่นมัว

เรื่อง : AREA 54

●   การทิ้งตำแหน่งแชร์แมนของ Henrik Fisker หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Fisker Automotive, Inc. ร่วมกับ Bernhard Koehler เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2013 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนสูงสุดให้กับอนาคตอันหม่นมัวของ Fisker Automotive เหตุผลหลักๆ ก็คือก่อนหน้านี้ตัว Henrik Fisker มีสภาพเหมือนถูกโดดเดี่ยวจากความขัดแย้งในเรื่องการบริหารจัดการ และการวางกลยุทธ์ทางการตลาดในอนาคต รวมทั้งการขาดเงินลงทุนในการพัฒนาตัวงาน แม้ว่ารถ extended-range รุ่นใหม่อย่าง Fisker Atlantic มีเค้าลางว่าน่าจะช่วยให้สถานการณ์ของบริษัทดีขึ้นก็ตาม ทว่า Fisker Automotive ก็ไม่สามารถทำตลาด Atlantic ตามกำหนดการได้

●   เดิมที Atlantic มีกำหนดการผลิตที่โรงงานเก่าของ จีเอ็ม ในรัฐเดลาแวร์ก่อนสิ้นปี 2012 ทว่าด้วยข้อจำกัดด้านเงินลงทุน ทำให้ Fisker จำต้องเลื่อนการผลิต Atlantic ไปจนถึงช่วงปลายปี 2014 หรือต้นปี 2015 หากมีนายทุนใหม่ หรือมีใครใจถึงพอจะเข้ามาช่วยแก้สถานการณ์ ซึ่งในขณะนี้ Fisker Automotive ได้หยุดการผลิตรถรุ่นหลักอย่าง Karma มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2012

●   จุดวิกฤติของ Fisker Automotive มีกราฟสูงสุดในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา รอยเตอร์ รายงานว่าผู้ดูแลเรื่องกฏหมายของ Fisker ได้หาทางออกด้วยการเตรียมขอเข้ากระบวนการฟิ้นฟูกิจการ หรือ Chapter 11 โดยไม่มีรายละเอียดใดๆ ออกมาว่า Fisker ต้องการความยืดหยุ่นในการผ่อนปรนแค่ไหนภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของศาล ที่แน่ๆ คือ หาก Fisker เข้าสู่กระบวนการ Chapter 11 อำนาจการบริหาร (ส่วนใหญ่) จะยังอยู่ในมือของกลุ่มผู้บริหารทั้งหมด และ ‘ตามสถิติ’ บริษัทที่มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ ยังไม่มีใครเข้าสู่ภาวะล้มละลายหากเข้าสู่กระบวนการ Chapter 11 ตัวอย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ เจนเนอรัล มอเตอร์ส นั่นเอง

●   ทว่าสถานการณ์ของ Fisker Automotive ดูจะลำบากกว่านั้น คือพุ่งตรงเข้าสู่ภาวะล้มละลายแน่ ทั้งจากภาระหนี้สิน และรถรุ่นหลักเพียงรุ่นเดียวไม่สามารถทำตลาดได้

2012 Fisker Atlantic Concept

●   ข้อมูลที่เรารู้กันก่อนหน้านี้ คือ หนี้สินส่วนใหญ่เกิดจากการกู้ยืม DoE: Department of Energy หรือกระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา 529 ล้านดอลลาร์ และการเติมเงินจากแหล่งทุนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนอีกถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ เช่น Kleiner Perkins Caufield & Byers, Palo Alto Investors ไปจนถึงนักแสดงอย่าง Leonardo Di Caprio ซึ่ง Fisker ละลายเงินไปกับความหรูของตัวรถ การแก้ไขงานวิศวกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งส่งผลให้การเปิดตัว Karma ล่าช้า กล่าวได้ว่า Fisker ทำการพัฒนารถอย่างฟุ่มเฟือยโดยมีถุงเงินทุนขนาดใหญ่ในมือ เสียแต่ว่ามันมีรูรั่วอยู่เต็มไปหมด

●   อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด Fisker ก็สามารถจำหน่าย Karma จนได้ ในฐานะรถที่ออกแบบ/พัฒนาในแคลิฟอร์เนีย ผลิตที่ฟินแลนด์ ส่วนตลาดหลักคือสหรัฐอเมริกาและยุโรป

●   ในขณะที่ข่าวสารจากบอร์ดบริหารยังคงเงียบเชียบ ผู้ที่แสดงเจตนาอย่างแรงกล้าในการกู้วิกฤติก็คือตัว Henrik Fisker นั่นเอง โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม Henrik Fisker และ Richard Li แชร์แมนของบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากฮ่องกง PCCW Ltd. ได้ยื่นข้อเสนอกับ DoE ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนผ่านบริษัท Hybrid Technology LLC ของเขาด้วยเงินสดราว 25 ล้านดอลลาร์

2010 Fisker Karma

●   เรื่องน่าจะจบลงตรงนี้ ทว่าสถานการณ์ล่าสุด Wanxiang Group Corporation ซัพพลายเออร์รายใหญ่จากเมืองหางโจวประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันครอบครอง A123 Systems, LLC ผู้ผลิตชุดแบตเตอรี่แพคให้ Fisker ยื่นข้อเสนอในการประมูล Fisker ผ่านบริษัทลูก Wanxiang America Inc. ในวันสุดท้าย ก่อนที่จะถูกขายให้กับ Richard Li โดยตัวแทนของ Wanxiang ได้ยื่นคำร้องกับศาลในเดลาแวร์ เสนอราคาเริ่มต้นประมูลที่ 24.7 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งรับผิดชอบภาระหนี้สินที่ยังคงค้างของ Fisker Automotive ด้วย

●   ข้อเสนอของ Wanxiang Group ดูจะเป็นรูปธรรมมากกว่า Hybrid Technology เนื่องจาก Wanxiang มีอดีตซีอีโอของ จีเอ็ม อย่าง Bob Lutz ผู้ดูแล VIA Motors Inc. (และยังคงเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกยานยนต์) หนุนหลังการประมูลในครั้งนี้ ซึ่ง รอยเตอร์ รายงานว่า Wanxiang และ Lutz แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ Fisker กลับมาดำเนินการผลิต Atlantic อีกครั้ง และจะโยกสายการผลิต Karma จาก Valmet Automotive ในฟินแลนด์มาเป็นโรงงานในมิชิแกน

●   แม้จะฟังดูดี แต่ Fisker ร้องขอให้ศาลปฏิเสธข้อเสนอนี้ เพราะเชื่อว่า Wanxiang ซึ่งเข้าครอบครอง A123 Systems มาก่อนหน้านี้ ได้ตัดตอนการส่งแบตเตอรี่ให้กับ Fisker และทำให้บริษัทไม่สามารถผลิตรถเข้าสู่ตลาดได้… หมายความว่า Wanxiang ก็คือผู้ดีดนิ้วล้มโดมิโนตัวแรก อันส่งผลให้ Fisker Automotive ต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลายภายใน 18 เดือนที่ผ่านมา

●   เดิมทีศาลเดลาแวร์จะประกาศคำตัดสินในวันที่ 3 มกราคม 2014 ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดมีการเลื่อนไปในวันที่ 10 มกราคมครับ ตามข่าว Wanxiang ดูจะมีภาษีดีกว่าพอสมควร เพราะบรรดาเจ้าหนี้แสดงท่าทีว่าพอใจในข้อเสนอมากกว่า

เดินหน้าสู่การประมูลตามข้อเสนอของ Wanxiang Group

●   ในที่สุดศาลวิลมิงตัน ในรัฐเดลาแวร์ ก็ประกาศสนับสนุนข้อเสนอของ Wanxiang ให้มีการประมูลสิทธิ์ในการครอบครอง Fisker Automotive เนื่องจากเห็นว่าแผนงานของ Wanxiang ใกล้เคียงกับแผนการลงทุนเดิมของ Fisker มากกว่า

●   แผนงานที่ว่าคือการดำเนินงานผลิตรถยนต์เต็มรูปแบบ ที่โรงงาน Wilmington Assembly เดิมของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งตั้งอยู่ที่วิลมิงตัน เดลาแวร์ นั่นเอง โดย Fisker วางแผนไว้ว่าเมื่อดำเนินการเต็มกำลัง จะสามารถสร้างงานได้ถึง 2,500 อัตราภายในปี 2015 อันเป็นที่มาของเงินลงสนับสนุนมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์จากรัฐเดลาแวร์

●   สถานการณ์ในขณะนี้ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เต็มที่คือผู้ที่หนุนหลัง Wanxiang อย่าง VL Automotive ของ Bob Lutz ซึ่งนำแพลทฟอร์มของ Karma มารีเมคเป็นสปอร์ตขับหลังเครื่องยนต์ V8 ซูเปอร์ชาร์จในชื่อ VL Destino โดยอาศัยพลัง 638 แรงม้าที่ขอยืมมาจาก Chevrolet Corvette ZR1 เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนนี้

●   ในแถลงการณ์ของ DEDA หรือ Delaware Economic Development Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานพัฒนาเศรฐกิจท้องถิ่นประจำมลรัฐ ได้ระบุว่า DEDA จะให้การสนับสนุนทุกกระบวนการที่จะนำไปสู่แผนงานในการเดินหน้าโรงงานผลิตที่วิลมิงตัน ดังนั้นเหตุผลหลักๆ ที่คำร้องขอจาก Hybrid Technology LLC ของ Richard Li ถูกปฏิเสธก็คือ ในแผนงานของพวกเขา ไม่มีการดำเนินงานของโรงงานในวิลมิงตันรวมอยู่ด้วย

●   Henrik Fisker มีสิทธิ์ที่จะฝัน และมีสิทธิ์ที่จะนำฝันนั้นมาขายให้บรรดาผู้ลงทุน แต่ในเมื่อฝันนั้นไม่เป็นจริงดังหวัง สถานการณ์จึงออกมาในแบบที่เราเห็น

จุดเริ่มต้นของหนังยาว Wanxiang จากจีนเข้าครอบครองกิจการ

●   ในที่สุดศึกชิงการถือสิทธิ์ในการเข้าครอบครองกิจการของ Fisker Automotive ระหว่าง Hybrid Technology LLC ซึ่งมีนายทุนจากฮ่องกงและ Henrik Fisker เป็นผู้สนับสนุน และ Wanxiang Group Corporation จากประเทศจีนในนาม Wanxiang America, Inc. ซึ่งมีผู้ทรงอิทธิพลอย่าง Bob Lutz แห่ง VIA Motors Inc. หนุนหลัง ก็มาถึงบทสรุปเสียที เมื่อ USA Today รายงานว่าการประมูลในครั้งนี้ จบลงที่การเข้าครอบครองกิจการของ Wanxiang อย่างเป็นทางการตามคาด เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2014 ที่ผ่านมา

●   งานนี้แม้จะดูเหมือนว่ามีทฤษฎีสมคบคิดซ่อนอยู่ แต่เมื่อดูเหตุผลหลักๆ จากข้อเสนอที่ผ่านมาของ Wanxiang การที่ศาลวิลมิงตันเปิดโอกาสให้ Wanxiang ร่วมประมูล ดูจะให้ผลดีกับการพัฒนาเศรฐกิจท้องถิ่นในรัฐเดลาแวร์มากกว่า อย่างน้อยก็สามารถสร้างงานให้ผู้คนในพื้นที่ได้จริง หากโรงงาน Wilmington Assembly ได้เปิดสายการผลิตตามแผนงานของ Wanxiang ซึ่งเดิมทีแล้ว นี่คือหนึ่งในข้อเสนอหลักที่ทำให้ Henrik Fisker ได้เงินลงทุนอย่างมหาศาลจากรัฐฯ และเอกชน

●   Wanxiang Group Corporation เข้าครอบครอง Fisker Automotive ด้วยมูลค่าในการประมูลเพียง 149.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเป็นราคาที่ต่ำกว่าแผนการลงทุนใหม่ของ Hybrid Technology LLC ที่มีการเปิดเผยในภายหลังว่ามีมูลค่าราว 168 ล้านดอลลาร์ (ทว่าไม่มีแผนการเปิดโรงงาน Wilmington Assembly รวมอยู่ในนั้น)

●   แม้ว่าบทสรุปตรงนี้จะจบลงไปแล้ว แต่ยังมีละครโรงใหญ่เรื่องใหม่รออยู่ครับ ใครสนใจให้รอดูว่า:

●   (1). Wanxiang America, Inc. จะเปิดโรงงาน Wilmington Assembly จริงหรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร? (2). Fisker Karma จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร… ยังไม่ต้องพูดถึงโมเดลใหม่อย่าง Fisker Atlantic (3). แบตเตอรี่แพคจาก A123 ที่เคยมีปัญหาจะถูกส่งมาให้อย่างรวดเร็วทันใจหรือไม่ (4). Bob Lutz จะนำโปรเจคท์ VL Destino เข้ามาเกี่ยวข้องกับ Wanxiang ในรูปแบบใด หรือ (5). Henrik Fisker จะล้างไพ่ทั้งหมดด้วยการเปิดบริษัทใหม่ในอนาคต?     ●