|
|
เรื่อง: ARIA 54 |
Sunday, 13 July, 2014 12:59 PM |
|
 |
|
BMW |
|
การพัฒนาจุดชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า / ปลั๊ก-อินไฮบริดแบบไร้สาย หรือ Wireless Charging Systems ยังคงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ผู้ผลิตรถยนต์พยายามพัฒนาให้ใช้งานได้จริง และสะดวกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไล่มาตั้งแต่ระบบเหนี่ยวนำไฟฟ้าสถิตของ Rolls-Royce 102EX, ระบบรับ-ส่งแบบคลื่นความถี่ที่ตรงกันของ Toyota/WiTricity หรือเอกชนที่พยายามเจาะตลาดอาฟเตอร์มาร์เกทอย่าง Evatran
ล่าสุด บีเอ็มดับเบิลยู เริ่มทดลองพัฒนาจุดชาร์จไร้สายเองบ้าง โดยใช้เทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับ โรลส์-รอยซ์ คือ Induction (การเหนี่ยวนำ) ไม่ใช่การ Resonance (การจูนคลิ่นความถี่) แบบ โตโยต้า ทว่าการลงทุนพัฒนาด้วยตัวเองเดี่ยวๆ นั้นดูเหมือนจะมีความเสี่ยงสูงเกินไป โครงการนี้จึงกลายเป็นการจัดทีมพัฒนาเฉพาะกิจ ที่อาศัยความร่วมมือกันระหว่าง BMW Group และ Daimler AG
ตัวระบบต้นแบบยังคงไม่มีแนวคิดอะไรที่แปลกใหม่ในขณะนี้ อย่างไรเสียก็ต้องประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักคือ ตัวเหนี่ยวนำ (Inductor, คอยล์) ซึ่งเป็นเพลทแบบยึดตายที่พื้น และเพลทใต้ท้องรถสำหรับการสร้างสภาวะไฟฟ้าเหนี่ยวนำ เบื้องต้นกำลังในการชาร์จอยู่ที่ 3.6 กิโลวัตต์ เป้าหมายแรกคือการลดการสูญเสียพลังงานระหว่างทาง (จุดจ่ายที่พื้น - จุดรับใต้ท้องรถ) ให้ได้ต่ำกว่า 10% ซึ่งในปี 2011 ระบบของ Toyota/WiTricity มีการสูญเสียพลังงานระหว่างทางเพียง 5% หมายถึงประสิทธิภาพในการเหนี่ยวนำของ โตโยต้า คือ 95% ในขณะที่ประสิทธิภาพของ บีเอ็มดับเบิลยู อยู่ที่ 90%
เป้าหมายที่ 2 คือการลดระยะเวลาในการชาร์จให้น้อยที่สุด ณ เวลานี้ด้วยเรท 3.6 กิโลวัตต์ บีเอ็มดับเบิลยู สามารถใช้เวลาในการชาร์จด้วยปลั๊กเฉลี่ยต่ำกว่า 3 ชม. (ขึ้นอยู่กับความจุ) โดยความจุของชุดแบตเตอรี่แพคนั้น ปัจจุบัน BMW ActiveE ใช้ความจุ 32 กิโลวัตต์-ชม., BMW i3 ความจุ 22 กิโลวัตต์-ชม. ส่วน BMW i8 ซึ่งเป็นรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ความต้องการในการใช้กระแสไฟฟ้าจึงน้อยกว่า แบตเตอรี่จึงมีความจุเพียง 7.1 กิโลวัตต์-ชม.
ขณะนี้ระบบไฟฟ้าเหนี่ยวนำของ บีเอ็มดับเบิลยู ใช้เวลาในการรีชาร์จน้อยกว่า 2 ชม. ซึ่งในอนาคตวิศวกรของ บีเอ็มดับเบิลยู เผยว่า มีความเป็นไปได้มากที่จะทดลองเพิ่มกำลังให้อีก 1 เท่าตัว หรือ 7 กิโลวัตต์ เพื่อลดระยะเวลาในการชาร์จให้ต่ำกว่า 1 ชม. หรือเร็วกว่ามาตรฐานของฟังก์ชั่นควิกชาร์จที่ใช้กันอยู่ในปัจุบัน • |
|
|
|
|