|
|
เรื่อง: ARIA 54 |
Monday, 29 September, 2014 12:59 PM |
|
 |
|
2014 Renault EOLAB prototype |
|
เรโนลท์ เตรียมเผยโฉมรถยนต์ต้นแบบประตู 2+1 ระบบ plug-in hybrid รุ่นใหม่ EOLAB prototype ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อให้ใช้เชื้อเพลิงได้คุ้มค่าที่สุดในแบบ ultra-low fuel consumption ให้ความประหยัดในระดับ 100+ กม./ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในไอเสียเพียง 22 กรัม/กม. โดยการเปิดตัวเป็นทางการจะมีขึ้นที่ 2014 ปารีส มอเตอร์โชว์ ต้นเดือนตุลาคมนี้
ชื่อ EOLAB เป็นการรวมคำระหว่าง Aeolous เทพผู้ควบคุมลมเหนือ-ใต้-ออก-ตก และคำว่า Laboratory ซึ่งเหตุที่ เรโนลท์ เลือกชื่อของเทพอีโอลุสมาใช้นั้น เนื่องจาก EOLAB ถูกมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา 3 ส่วนหลัก หนึ่งคือระบบแอโรไดนามิคแบบแอคทีฟรอบคัน สองคือการลดน้ำหนักตัวรถให้เบาที่สุด และสาม ระบบขับเคลื่อนนั้นที่ต่อยอดมาจากเทคโนโลยีมลพิษศูนย์ (ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า) Z.E. หรือ Zero Emission เดิมของ เรโนลท์ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ เรโนลท์ ยังระบุว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นราว 100 รายการเพื่อรถคันนี้โดยเฉพาะ
ในการนี้ Michelin ได้ผลิตยางหน้าแคบรุ่นใหม่ขนาด 145/45R17 มาให้ ซึ่งนับเป็นยางแบบช่วยประหยัดเชื้อเพลิงสูงสุด ultra-low consumption รุ่นแรกของ มิชลิน เมื่อเทียบกับยางหน้าแคบรุ่นที่ใช้ใน Renault Clio จะมีความกว้างลดลง 40 มม. ส่วนประสิทธิภาพในการลดแรงต้านการหมุน หรือ low rolling resistance จะลดลง 15% รวมแล้วตัวยางสามารถลดแรงต้านอากาศได้ดีขึ้นกว่าเดิม น้ำหนักเบาลง และเมื่อรวมกับลูกปืนล้อแบบใหม่ของ เรโนลท์ (ไม่ระบุรายละเอียด) ยางชุดนี้จะช่วยลดการปล่อย CO2 ลงได้ 1 กรัม/กม. |
|
 |
|
การลดน้ำหนักมีการทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ หลายจุด เช่น แม็กนีเซียม, เทอร์โมพลาสติก, โพลีคาร์บอร์เนท หรืออลูมิเนียม ซึ่งเมื่อเทียบกับ Renault Clio แล้ว EOLAB จะมีน้ำหนักเบากว่าราว 400 กก. แม้จะแบกน้ำหนักแบตเตอรี่แพคอยู่ก็ตาม อาทิ หลังคาแมกนีเซียมลดน้ำหนักได้ 4.5 กก., กระจกหน้าแบบบางเป็นพิเศษ 3 มม. ลดน้ำหนักได้ 2.6 กก., กระจกข้างเปลี่ยนเป็นโพลีเมอร์, ออกแบบโครงสร้างเบาะใหม่ ลดน้ำหนักได้ 12 กก. และยังช่วยลดความยาวตัวรถได้ 30 มม., ชุดช่วงล่างลดน้ำหนักได้ 70 กก., ระบบเบรคทั้งหมดน้ำหนักรวมเบาลง 14.5 กก. และอุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้ต่อพ่วงกับเครื่องยนต์ลดลง 30 กก. รวมแล้ว EOLAB มีน้ำหนักตัวเพียง 955 กก. เท่านั้น
ด้านระบบแอโรไดนามิค มีการติดตั้งระบบแอคทีฟรอบคัน ประกอบไปด้วย สปอยเลอร์หน้าแบบแอคทีฟ, ครีบหลัง (flaps) แอคทีฟ, ก้านล้อแม็กแบบแอคทีฟ ทำงานแบบเปิด-ปิดตามอุณหภูมิของเบรค เพื่อลดการหมุนวนของอากาศบริเวณล้อ ปิดท้ายด้วยระบบปรับความสูงตัวรถอัตโนมัติ แบ่งเป็น 3 โหมดการใช้งานคือ Access, Urban และ Extra-Urban รวมแล้วเมื่อเทียบกับ Renault Clio ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศหรือ Cd อยู่ที่ 0.235 หรือลดลง 30% |
|
 |
|
วิศวกร เรโนลท์ ออกแบบระบบขับเคลื่อนใหม่ให้กะทัดรัดที่สุด ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ 999 ซีซี กำลัง 75 แรงม้า แรงบิด 9.6 กก.-ม. ทำงานร่วมกับ "Axial Flux Permanent Magnet Electric Motor" ซึ่งเป็นระบบส่งกำลังแบบไร้คลัทช์ พัฒนาโดยใช้พื้นฐานของเกียร์อัตราทด 3 จังหวะเดิม ทว่ามีการฝังมอเตอร์ไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวรขนาดเล็กเอาไว้ในเรือนเกียร์ และจะมอบกำลังเพิ่มเติมให้ในยามต้องการ 50 กิโลวัตต์ หรือเทียบเท่า 67 แรงม้า แรงบิดสูงสุดถึง 20.3 กก.-ม. ส่วน "Axial Flux" นั้น โดยพื้นฐานคือเจนเนอเรเตอร์ที่ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าในรูปแบบหนึ่ง
การเก็บประจุไฟฟ้าเป็นหน้าที่ของแบตเตอรี่แพคแบบลิเธียม-ไออน ความจุ 6.7 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่ง เรโนลท์ พัฒนาร่วมกับบริษัท CEA แม้จะมีความจุที่ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าขนาดเล็กของ เรโนลท์ เอง (มากกว่ารถไฮบริดทั่วไป) ทว่าโครงสร้างเซลล์ภายในตัวแพคเกจนั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด ไม่ได้ต้องการกำลังไฟฟ้าสูงเท่ากับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วน
โหมดในการขับขี่แบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกคือโหมด weekday ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าล้วนในลักษณะเส้นทางประจำวัน เช่น บ้าน/ที่ทำงาน โดยเกียร์แรกจะอนุญาตให้ใช้ความเร็วได้ 60-70 กม./ชม. หากต้องการความเร็วมากขึ้น ระบบจะเปลี่ยนอัตราทดไปใช้เกียร์ 2 ใช้ความเร็วได้สูงสุด 120 กม./ชม. แต่หากผู้ขับต้องการความเร็วมากไปกว่านั้น ระบบจะเรียกใช้งานเกียร์ 3 และสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่อเข้าสู่โหมดไฮบริดโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ระบบไฟฟ้าล้วนสามารถวิ่งทำระยะทางได้ประมาณ 66 กม./รีชาร์จ
โหมดที่ 2 คือโหมด weekend ผสานการทำงานของเครื่องยนต์สันดาปภายในและมอเตอร์ไฟฟ้า โดยเครื่องยนต์จะเริ่มทำงานที่ความเร็วต่ำ และใช้โหมดไฟฟ้าล้วนในบางจังหวะเมื่อใช้ความเร็วคงที่ สำหรับการชาร์จไฟกลับไปยังแบตเตอรี่ ยังคงอาศัยความสามารถของระบบชาร์จไฟกลับขณะเบรค/ยกคันเร่ง regenerative braking system
แม้ เรโนลท์ จะยังไม่ประกาศแผนการผลิตคันจริงของ EOLAB ในเวลานี้ ทว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ใน EOLAB จะค่อยๆ ถูกปล่อยออกสู่ตลาดในโปรดัคชั่นคาร์หลายๆ รุ่นของ เรโนลท์ ในอนาคตอันใกล้จนถึงปี 2020 ทั้งระบบแอคทีฟแอโรไดนามิค, วัสดุลดน้ำหนัก และเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนบางส่วน ซึ่ง EOLAB นับเป็นตัวแทนการสาธิตรถในคลาส B-segment ของ เรโนลท์ ในอนาคตที่มีน้ำหนักเบาที่สุด และประหยัดเชื้อเพลิงที่สุดในปัจจุบัน • |
|
|
|
|