June 7, 2015
Motortrivia Team (10170 articles)

ทำความรู้จักกับ BYD Company มังกรเสียบปลั๊กจากแผ่นดินจีน

เรื่อง : AREA 54

●   ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตามแหล่งข่าวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และพลังงานทางเลือก มักมีชื่อบริษัทผู้ผลิตจากแดนมังกร ‘BYD’ หรือ ‘บีวายดี’ มาให้เห็นกันอยู่เสมอ แม้จะไม่ฮือฮาเท่าการเปิดตัวรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น แต่ผู้ที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยรับรู้ข่าวสารทางฝั่งจีนมาก่อน ย่อมต้องสงสัย BYD เป็นใครมาจากไหน? วันเสาร์สบายๆ มาทำความรู้จักกับ BYD ในแบบย่อๆ เฉพาะในส่วนของรถยนต์พลังงานทดแทนกันครับ

●   BYD Company หรือ ‘Build your dreams’ ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 โดยมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ทำธุรกิจ แบตเตอรี่แบบรีชาร์จ เพื่อแชร์ตลาดนำเข้าแบตเตอรี่จากประเทศญี่ปุ่น จุดเด่นก็คงไม่พ้นค่าพ้นแรงและต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ถึงอย่างนั้น มร.หวาง ฉวนฟุ ผู้ก่อตั้ง BYD ก็ตั้งเป้าหมายว่า แบตเตอรี่ของเขา ต้องดีที่สุดในตลาดจีน ด้วยการเน้นที่คุณภาพ ในขณะที่ต้องมีการบริหารต้นทุนที่ดี

●   BYD เติบโตอย่างรวดเร็วจนเป็นอันดับ 2 ของผู้ผลิตแบตเตอรรี่รีชาร์จชั้นนำของโลก รองจาก Sanyo ด้วยแบตเตอรี่หลากชนิด ตั้งแต่ยุค นิเกิลแคดเมียม (NiCd), นิคเกิลเมทัลไฮไดรด์ (NiMH), ลิเธียม-โพลีเมอร์ (LiPo) ไปจนถึง ลิเธียม-ไอออน (Li-ion / LiB) ซัพพอร์ทลูกค้ามากมาย อาทิ Motorola, Sony Ericsson, Kyocera และรองรับผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ ของเด็กเล่น, โทรศัพท์มือ, โน๊ตบุ๊ค ฯลฯ

●   ปี 2001 BYD เริ่มก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยการควบรวมกิจการของ Tsinchuan Automobile (ฉินชวน ออโตโมบิล) แล้วแตกบริษัทย่อยออกมาเป็น BYD Automobile Co. Ltd. ผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศหลากหลายโมเดล จนถึงปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ซิตี้คาร์ 5 ประตูแฮทช์แบค BYD Flyer, รถไซส์ซูเปอร์มินิ BYD F0, คอมแพคท์ซีดาน 4 – 5 ประตู BYD F3 ไปจนถึงรถหรูเปิดประทุนอย่าง BYD S8

●   ปี 2002 BYD จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง จากนั้นจึงตัดสินใจขยายตลาดในปี 2006 ส่งออกรถยนต์ไปจำหน่ายในอาฟริกา, อเมริกาใต้ พร้อมตั้งเป้าบุกตลาดยุโรป และอเมริกาอย่างจริงจัง โดยโรงงานผลิตรถยนต์ของ BYD อยู่ที่ซีอาน และเสิ่นเจิ้น

●   BYD เริ่มตั้งเป้าหมายหลัก ด้วยการแหย่ไปที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota พร้อมประกาศว่าจะแซงหน้า Toyota ให้ได้ภายใน 15 ปี และตั้งศูนย์ R&D เพื่อเริ่มงานในส่วนวิศวกรรม เช่น พัฒนาเครื่องยนต์, เทคโนโลยีขับเคลื่อนของตัวเอง รวมถึงใช้ความชำนาญในเรื่องแบตเตอรี่แบบรีชาร์จ ค้นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อแทนที่แบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออน แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น BYD ยังต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดีไซน์รูปลักษณ์ และคุณภาพของรถ ซึ่งในความเป็นจริง โตโยต้า นั้นก้าวไปไกลกว่ามาก

●   มกราคม 2008 BYD เขย่า Cobo Center สถานที่จัดงาน ดีทรอยท์ ออโต โชว์ ด้วยการเผยโฉมรถยนต์ plug-in hybrid ซีดาน 4 ประตู ในชื่อ BYD F6DM สร้างจากพื้นฐานรุ่น F6 ใช้แบตเตอรี่แบบ LFP * หรือ Lithium iron phosphate โดย BYD เคลมว่า F6DM ใช้เวลาชาร์จเต็มราว 9 ชั่วโมง วิ่งทำระยะทางได้ถึง 100 กิโลเมตรในโหมดไฟฟ้าล้วน (EV) ซึ่งรหัส DM หมายถึง Dual Mode สลับการทำงานระหว่าง EV – Electric Vehicle) และ HEV – Hybrid Electric Vehicle

●   หมายเหตุ: แบตเตอรี่แบบ ลิเธียม ไอรอน ฟอสเฟท (LiFePO4) เป็นแบตเตอรี่ตระกูลเดียวกับ ลิเธียม-ไอออน LiFePO4 ถูกค้นพบในปี 1996 โดยนักวิจัยจาก University of Texas ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาจนมาเป็นแบตเตอรี่รถยนต์ ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า, ให้การชาร์จที่เร็วกว่า, ปลอดภัยกว่า และมี ‘จำนวนรอบ’ ในการชาร์จมากกว่าแบตเตอรี่แบบ ลิเธียม-ไอออน ซึ่งแบตเตอรี่รีชาร์จ จะนับจำนวนชาร์จเป็น รอบ หรือ Cycle ไม่ได้นับเป็นจำนวนครั้ง

●   1 รอบอาจจะหมายถึง ชาร์จ 2 ครั้งด้วยจำนวน 20% และ 80% จึงจะนับครบ 1 รอบ แต่ทั้งนี้ 1 รอบก็อาจจะไม่ได้ถึง 100% ก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต เช่น บางบริษัทอาจจะนับ 1 รอบที่ 95% แต่ข้อเสียใช่ว่าจะไม่มี แบตเตอรี่แบบ ลิเธียม ไอรอน ฟอสเฟท ความจุ 100 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จะน้อยกว่า ลิเธียม-ไอออน ที่สามารถจุได้ถึง 150 – 200 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในขนาดเท่าๆ กัน

ระบบขับเคลื่อนของ BYD ใช้ชื่อว่า ET-Power Technology ส่วน Fe คือแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอรอน ฟอสเฟท

●   ถัดจากนั้นไม่กี่เดือน BYD เปิดตัว BYD F3DM คอมแพคท์ ซีดาน plug-in hybrid อีก 1 คันในงาน เจนีวา มอเตอร์โชว์ คราวนี้ BYD เคลมว่า ถ้าวิ่งด้วยโหมด EV มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 50 กิโลวัตต์ ซึ่งผลิตกำลังได้ 67 แรงม้า สามารถทำระยะทางได้ประมาณ 100 กิโลเมตร แต่ถ้าวิ่งด้วยโหมดไฮบริด ร่วมกับเครื่องยนต์เบนซิน 1.0 ลิตร 67 แรงม้า ที่ BYD พัฒนาขึ้นเอง จะสามารถยืดระยะทางได้ถึง 480 กิโลเมตรทีเดียว

●   ปลายปี 2008 Warren Buffet แห่ง Berkshire Hathaway Group หนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ได้ซื้อหุ้นของ BYD 10% ในนามบริษัทลูก MidAmerican Energy ด้วยเงินลงทุนราว 230 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามข่าวว่ากันว่า ภายในปีเดียวหุ้นพุ่งขึ้นสูงทะลุเพดาน บัฟเฟตต์ เก็บเกี่ยวผลกำไรจากการลงทุนซื้ออนาคตในครั้งนี้ถึง 7 เท่าทีเดียว (ราวๆ 1,700 ล้าน!)

●   ก่อนสิ้นปี 2008 F3DM เริ่มทำตลาดในบ้านเกิด พร้อมกับได้รับการบันทึกชื่อในฐานะรถยนต์ plug-in hybrid ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เป็นเจ้าแรกของโลก โดยระยะแรกจำหน่ายให้กับหน่วยงานราชการ และบริษัทต่างๆ ในประเทศจีน ราคาเปิดออกมาที่ 149,800 หยวน หรือประมาณ 6.7 แสนบาท ส่วนการจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป เริ่มในอีก 2 ปีถัดมา

●   ต้นปี 2009 BYD เปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% คันแรก BYD e6 ในงาน ดีทรอยต์ออโต้โชว์ ภายใต้รูปโฉมของ MPV 5 ประตู ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบซิงโครนัส พร้อม Regenerative brake ซึ่ง BYD ให้ข้อมูลว่า e6 มีอัตราเร่ง 0-97 กม./ชม. 14 วินาที ความเร็วสูงสุด 140 กม./ชม. อีกทั้งการชาร์จแบบเตอรี่ในโหมด ควิกชาร์จ จะชาร์จประจุได้ 50% จากจำนวนเต็มด้วยเวลาเพียง 10 นาที วิ่งทำระยะทางได้ถึง 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับวิธีการขับ)

●   BYD e6 มีทางเลือกของการขับเคลื่อนถึง 4 แบบ คือ

  • 101 แรงม้า จากมอเตอร์ไฟฟ้า 75 กิโลวัตต์
  • 155 แรงม้า จากมอเตอร์ไฟฟ้า 75 กิโลวัตต์ + 40 กิโลวัตต์ (ล้อหน้า + หลัง = AWD)
  • 215 แรงม้า จากมอเตอร์ไฟฟ้า 160 กิโลวัตต์
  • 269 แรงม้า จากมอเตอร์ไฟฟ้า 160 กิโลวัตต์ + 40 กิโลวัตต์ (ล้อหน้า + หลัง = AWD)

●   แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะสวยหรูดั่งใจคิด เมื่อมองกลับไปที่บ้านเกิด F3DM เริ่มสตาร์ทขายในเดือนมีนาคม 2010 โดย 3 เดือนแรกขายได้เพียง 28 คันให้กับหน่วยงานราชการในเสิ่นเจิ้น ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ที่มีรายงานเข้ามาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการติดตั้งสาธารณูปโภคพื้นฐาน อย่างสถานีชาร์จ, ต้นทุนแบตเตอรี่ที่สูงกว่าที่คาดไว้ ไปจนถึงการทำงานที่ ‘ไม่เสถียร’ ของแบตเตอรี่ (ไม่มีรายละเอียดบอกไว้) …ที่สำคัญ ใครจะซื้อรถของ BYD ถ้าราคาของค่าเสียบปลั๊ก แพงกว่ารถยนต์ธรรมดาถึงเท่าตัว?

●   เมษายน 2010 ไม่ว่าสถานการณ์ในบ้านจะเป็นอย่างไร แต่ BYD ก็ยังคงมุ่งมั่นเปิดตัวในตลาดโลก ด้วยการเปิดสำนักงานใหญ่ BYD Motor Inc. ในอเมริกา ที่นครลอสแองเจลิส มี Arnold Schwarzenegger ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียมาร่วมงานแถลงข่าว การนี้ถือว่า BYD เจาะได้ตรงเป้า เพราะมีการตกลงเรื่องการสั่งซื้อรถยนต์ในเครือ BYD บางส่วน ในขณะที่แคลิฟอร์เนีย ก็กำลังขยับขยายในเรื่องของการติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มเติม

●   พฤษภาคม 2010 ย้อนกลับไปที่จีน BYD ส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า BYD e6 จำนวน 40 คันลงทดสอบการใช้งานจริง ด้วยการใช้เป็นแท็กซี่ในเมืองเสิ่นเจิ้น ภายใต้การดูแลของบริษัทย่อย Pengcheng Electric Taxi Co. ตามข่าว วอร์เรน บัฟเฟต์ มาตรวจผลการทดลองวิ่งด้วยเอง แต่ไม่มีรายงานหลุดมาถึงสำนักข่าวใด ไม่ว่าจะเป็นอัตราเร่ง, ระยะทาง หรือเวลาต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

หวาง ฉวนฟุ ระหว่างรอแถลงข่าวในดีทรอยท์ (ภาพ: Bill Pugliano/Getty Images)

●   มิถุนายน 2010 สถานการณ์ของ BYD ดีขึ้น เมื่อรัฐบาลจีนประกาศออกมาตรการจูงใจ ช่วยผู้ที่ต้องการซื้อรถไฮบริด ด้วยการให้ส่วนลด 5 หมื่นหยวน หรือประมาณ 2.2 แสนบาท ส่วนรถพลังงานไฟฟ้า EV จะเพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่นหยวน หรือประมาณ 2.8 แสนบาท เป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มที่ 5 เมืองใหญ่ของจีน คือ เซี่ยงไฮ้, เสิ่นเจิ้น, หังโจว, เหอเฟย และ ฉางชุน นั่นหมายถึง e6 จะได้รับการช่วยเหลือแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

●   ถ้าถามผู้เขียน หากไม่นับว่าใครได้ประโยชน์ แนวคิดในการสนับสนุนรถพลังงานไฟฟ้าให้เป็นรถบริการสาธารณะ เป็นสิ่งที่ดี และให้ผลในเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรง เพราะการเพิ่มปริมาณแท็กซี่ เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย และเห็นผลเร็วกว่าการเปลี่ยนรถของประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ผู้เขียนไม่อยากใช้รถไฟฟ้า แต่ถ้าไม่มีเงินมากพอก็ซื้อไม่ได้ และการให้รัฐฯ ให้ส่วนลดจำนวนมากๆ ก็ไม่ใช่ทางแก้ที่ถูกต้อง ดีไม่ดีลดแล้วก็ยังแพงอยู่ เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ

●   ธันวาคม 2010 BYD ร่วมมือกับ HACLA (Housing Authority of the City of Los Angeles) หน่วยงานที่ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยในลอสแองเจลิส ส่ง F3DM ไปทดสอบการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน หนึ่งในผู้ทดสอบคือ ผู้ตรวจสอบการเคหะ Luisito Bacierto ซึ่งมีรายงานว่า ในกรณีที่พลังงานในแบตเตอรี่น้อยกว่า 25% ระบบจะตัดไปยังโหมดไฮบริดโดยอัตโนมัติ ซึ่งระหว่างสลับระบบ จะมีเสียงแปลกๆ เล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้สร้างความรำคาญอะไร

●   F3DM มีอัตราเร่งที่ลื่นไหล และ “not too fast, not too slow” (การตอบสนอง?) อีกทั้งมีการเปรียบมวยกับ Toyota Prius เล็กน้อย ว่าเทียบกันแล้ว เขาต้องเติมน้ำมันให้ Prius ทุกๆ 2 สัปดาห์ แต่กับ BYD เขาใช้มาเดือนกว่าๆ น้ำมันเพิ่งหมดไปครึ่งถัง และทำระยะทางได้ราว 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

โปรแกรมทดสอบ F3DM ใน LA. ปลายปี 2010

●   BYD เตรียมลุยตลาดอเมริกาด้วย BYD e6 ในปี 2011 เลื่อนไป 1 ปี จากที่เคยคาดไว้ โดยเจาะจงไปที่แคลิฟอร์เนียเป็นที่แรก ราคาจำหน่ายประมาณ 35,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านบาท ถือว่าดุไม่เบา อีกทั้งยังมีอุปสรรคใหญ่อีก 1 ด่านให้ฟันฝ่า เหมือนกับ TH!NK นั่นคือการทดสอบชนตามมาตรฐานอเมริกา หรือ US NCAP ซึ่ง BYD วางแผนจะลุยด่านนี้ภายในปี 2011

●   มร. หวาง ฉวนฟุ กล่าวอย่างมั่นใจว่า “e6 ET (environment technology) จะมีมลพิษเท่ากับศูนย์ และไม่มีทางทำร้ายสิ่งแวดล้อมเป็นอันขาด”

●   บ้านเราคงได้แต่ตามข่าวกันไปเงียบๆ ยุคของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% จะว่ามาถึงแล้วก็ยังไม่เชิง เพราะราคาต้นทุนแบตเตอรี่ ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รถทั้งคันมีราคาสูงอยู่ (ราว 1 ใน 3) หากชาวบ้านร้านถิ่นอย่างเราๆ อยากสวมหัวใจกรีน คงต้องรอให้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ก้าวพ้นข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนเสียก่อน

●   ใครจะดูหมิ่นถิ่นแคลน ‘รถจีน’ อย่างไร ผู้แปลนั่งแปลไปก็ได้แต่สะท้อนใจอยู่ลึกๆ     ●