July 4, 2016
Motortrivia Team (10191 articles)

ระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ Autopilot ของ Model S เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรายแรก

เรื่อง : AREA 54

●   เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมานานว่า ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่บริษัทผู้ผลิตเตรียมตัวใช้งานในอนาคตนั้น มีความปลอดภัยเพียงพอหรือยังสำหรับการใช้งานจริงบนท้องถนน ในที่สุดฟังก์ชั่นกึ่งอัตโนมัติ Autopilot ของ Tesla Motors ที่ติดตั้งอยู่ใน Tesla Model S รุ่นปี 2015 ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าจนได้

●   ผู้ที่เสียชีวิตจากความผิดพลาดของระบบ Autopilot คือ Mr. Joshua Brown วัย 45 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Tesla community โดยในระหว่างที่เขาเรียกใช้งานฟังก์ชั่น Autopilot นั้น ตัวรถได้พุ่งชนเข้ากับเทรลเลอร์ 18 ล้อทางด้านข้างอย่างรุนแรง ในขณะที่รถเทรลเลอร์คันดังกล่าวกำลังเลี้ยวซ้ายอยู่ข้างหน้า ตามข่าวระบุว่า Model S ได้มุดเข้าไปใต้เทรลเลอร์ทางด้านข้างและตัวรถได้ลอดออกไปจนชนเข้ากับรั้วกั้นทาง โดยมีชิ้นส่วนหลังคาฉีกขาดติดอยู่ใต้ท้องเทรลเลอร์ ยังผลให้ Mr. Brown เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ

●   หลายท่านที่อ่านข่าวต่างประเทศมาก่อนหน้าอาจจะงงๆ กับคำว่า “tractor-trailer” หรือเข้าใจว่า Model S ชนเข้ากับรถแทรคเตอร์ คำๆ นี้ก็คือรถเทรลเลอร์ 18 ล้อแบบในบ้านเราครับ เพียงแต่ในต่างประเทศนั้นเรียกกันว่า tractor-trailer หมายถึงหัวลาก (tractor unit) และตัวกล่องหรือพื้นที่บรรทุกสินค้าทางด้านหลัง (trailer) หรือเทรลเลอร์ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง

●   หลังเหตุการณ์อันน่าเศร้า เทสล่าได้แสดงความเสียใจ และระบุไว้ในแถลงการณ์บนเว็บไซท์ www.teslamotors.com ว่า เมื่อผู้ขับเรียกใช้ฟังก์ชั่น Autopilot ระบบจะแสดงข้อความว่า “Autopilot is an assist feature that requires you to keep your hands on the steering wheel at all times” คือผู้ขับต้องมีการวางมือไว้บนพวงมาลัยตลอดเวลาเพื่อให้แก้สถานกาณ์ได้ทันท่วงที และ “you need to maintain control and responsibility for your vehicle” คือคุณยังคงต้องควบคุมรถ (ด้วยพวงมาลัย คันเร่ง และเบรค) และรับผิดชอบต่อสิ่งใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวรถ

●   นั่นหมายถึงมันยังไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์แบบ และเชื่อถือไม่ได้ 100% ตามข่าวปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ตัวกล้องของระบบ Autopilot ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีขาวจากด้านข้างของตัวเทรลเลอร์ และท้องฟ้าที่ค่อนข้างสว่างจ้าได้ ดังนั้นระบบเบรคจึงไม่ถูกระบบ Autopilot เรียกสั่งงาน เนื่องจากระบบ Autopilot ไม่พบสิ่งกีดขวางทางด้านหน้า   ●

Update 1 : auto, semi, driverless และความหมายที่แตกต่าง

●   หากคุณผู้อ่านยังจำกันได้ ในช่วงที่เทสล่า เปิดตัวระบบนี้พร้อมกับ Model S P85D ในปี 2014 นั้น คำว่า “Autopilot” เป็นเพียงชื่อทางการค้าของระบบขับเคลื่อน “กึ่งอัตโนมัติ” (semi-autonomous) ของเทสล่า ไม่ได้หมายถึงระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบ 100% เต็ม

●   ในงานนั้น Elon Musk ได้พานักข่าว Bloomberg ไปลองนั่งทดสอบระบบด้วยตัวเอง ตัวระบบสาธิตในขณะนั้นทำงานโดยอาศัยความสามารถของกล้องรอบคัน และเรดาห์ที่มีรัศมีทำการ 16 ฟิทรอบคัน ใช้ตรวจจับวัตถุ, ป้ายสัญญาณจราจร, เส้นแบ่งเลน รวมทั้งสภาพการจราจรรอบๆ รถ อย่างไรก็ตาม เทสล่าระบุว่าซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ชุดนี้ยังไม่ใช่ระบบที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เป็นรถ autonomous car, driverless car หรือรถไร้คนขับ และยังต้องอาศัยการควบคุมของผู้ขับร่วมด้วย ไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ 100%

●   ดังนั้นการจะถกกันในเรื่อง “ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ” ของเทสล่าเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จึงควรเปลี่ยนเป็นระบบขับเคลื่อน “กึ่งอัตโนมัติ” ครับ ในขณะเดียวกันมันมีความบกพร่องตรงไหน ต้องว่ากันไปเป็นจุดๆ ซึ่งกรณีนี้ตามข่าวถูกระบุไปที่ความบกพร่องของกล้อง (ตามความเห็นของเทสล่า)

●   Eric Noble ประธานบริษัท The CarLab Inc. บริษัทผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเปิดตัวรถใหม่ ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า Autopilot นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก และมันยังเป็นระบบที่เปิดหน้างานออกมาในลักษณะ “public beta” หมายถึงระบบที่กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา แต่มีการเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปทดสอบเพื่อหาข้อบกพร่อง เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นเคยกับคำนี้กันดีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นระบบปฏิบัติการในสมาร์ทโฟน ที่มีการปล่อย OS ออกมาให้ยูสเซอร์หรือโปรแกรมเมอร์ได้ลองใช้งานก่อนมีการวางจำหน่ายจริง… ทว่ามันไม่มีความเสี่ยงในระดับที่เทสล่ากำลังทำ

●   “ไม่มีผู้ผลิตรายใดขายเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ให้กับผู้บริโภค”  Eric Noble ให้ความเห็น

●   สอดคล้องกับ Joan Claybrook อดีตเจ้าหน้าที่ NHTSA : National Highway Traffic Safety Administration หน่วยงานการจราจรเพื่อความปลอดภัยแห่งสหรัฐอเมริกาที่ให้ความเห็นว่า เทสล่าทำเรื่องที่เสี่ยงมากในกรณีนี้ “พวกเขาไม่ควรปล่อยให้ผู้คนทั่วไปทำ beta-test (เพื่อเก็บข้อมูลความบกพร่อง) ในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ พวกเขาทดสอบ ทดสอบ แล้วก็ทดสอบ เพราะนี่มันเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย”

●   ล่าสุด NHTSA ได้เริ่มตรวจสอบกรณีนี้อย่างจริงจังด้วยการส่งทีมเข้าไปตรวจสอบทั้งตัวรถ และที่เกิดเหตุในฟลอริด้าแล้ว   ●

Update 2 : Autopilot อาจระบุไม่ได้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า?

●   เว็บไซท์  jalopnik.com  เปิดประเด็นวิเคราะห์ความผิดพลาดของระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ (semi-autonomous) Autopilot ได้อย่างน่าสนใจว่า มัน ‘อาจจะ’ ไม่ได้แค่แยกความแตกต่างของสีขาวบนตัวเทรลเลอร์และท้องฟ้าสว่างๆ ไม่ออก… แต่มีความเป็นไปได้มากว่า Autopilot ‘อาจจะ’ มองไม่เห็นอะไรด้านหน้า หรือระบุวัตถุที่อยู่ทางด้านหน้าไม่ได้เลยด้วยซ้ำในกรณีนี้

●   ต้องบอกก่อนว่าประเด็นนี้ละเอียดอ่อนมาก และเราๆ ผู้อ่านชาวไทยก็มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้น้อยมาก เนื่องจากไม่เคยมีโอกาสได้ลองของจริง ได้แต่อ่านจากบทความต่างๆ หรือดูวีดิโอจาก youtube ดังนั้นข้อมูลๆ ต่างๆ ต่อไปนี้จึงเป็นเพียงแค่การคาดเดาความเป็นไปได้เท่านั้นครับ

●   ประเด็นที่ว่าระบบ Autopilot อาจจะมองไม่เห็นอะไรเลยทางด้านหน้า เกิดจากลักษณะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น นั่นคือตัว Tesla Model S คันที่เกิดอุบัติเหตุ พุ่งลอดไปใต้ท้องเทรลเลอร์ทางด้านข้าง โดยส่วนที่เรียกว่า greenhouse หรือ glasshouse ซึ่งหมายถึงกระจกรอบๆ คันเหนือเสา A, B และ C ขึ้นไปอัดเข้าพื้นล่างของเทรลเลอร์แบบเต็มแรงปะทะจนฉีกขาดออกจากตัวรถ… หมายความว่าตัวรถตั้งแต่ฐานเสา A, B, C และร่างกายของผู้เสียชีวิตตั้งแต่บริเวณหน้าอกขึ้นไป ไม่ได้รับการปกป้องใดๆ จากระบบ Autopilot เลย

●   เหตุการณ์นี้ถูกผนวกเข้ากับอุบัติเหตุเล็กๆ หลายกรณีที่เจ้าของ Model S พบว่าโหมด Autopilot นั้นมีจุดบอดในบริเวณที่อยู่เหนือฝากระโปรงขึ้นไป

●   เซ็นเซอร์ตรวจจับการปะทะทางด้านหน้านั้นถูกติดตั้งอยู่ตรงกลาง และมีตำแหน่งที่ต่ำกว่ากระจังหน้า ดังนั้นมันจึงดูแลเฉพาะในส่วนที่มีความสูงอยู่ระหว่างพื้นจนถึงบริเวณฝากระโปรง ส่วนกล้องหน้าถูกติดตั้งเอาไว้ที่ด้านบนสุดของกระจกหน้า หน้าที่ของกล้องหน้าก็คือ เป็นตัวให้ข้อมูลกับระบบรักษาตำแหน่งรถให้อยู่ในเลน (lane departure warning), การอ่านป้ายสัญญาณจราจร, ให้ข้อมูลการจำกัดความเร็ว และมีหน้าที่ในการตัดสินใจว่ารถคันหน้า หรือวัตถุด้านหน้าอยู่ห่างออกไปแค่ไหน ทั้งนี้มันจะทำหน้าที่ร่วมกับอัลตราโซนิคเซนเซอร์อีกมากมายรอบๆ คัน เพื่อตรวจจับ ‘วิว’ รอบๆ คัน 360 องศาในระยะประมาณ 16 ฟิท

●   ในคู่มือของเทสล่าเองมีการระบุว่า ในขณะที่เรียกใช้งานฟังก์ชั่นจอดรถอัตโนมัติ (Autopark/Autopilot) นั้น “Please note that the vehicle may not detect certain obstacles, including those that are very narrow (e.g., bikes), lower than the fascia, or hanging from the ceiling” หมายถึงตัวรถอาจจะไม่เห็นสิ่งกีดขวางบางอย่าง (อาจจะในโรงรถ) รวมถึงวัตถุที่ค่อนข้างแคบเช่นจักรยาน (มองในแนวตรง) สิ่งที่ต่ำกว่ากระจังหน้า หรือ วัตถุบางอย่างที่แขวนอยู่บนเพดาน (ลอยอยู่ในอากาศ)

●   ดังนั้น เมื่อดูจากด้านข้างของเทรลเลอร์ เราจะเห็นว่าด้านล่างนั้นมีช่องว่างที่เซ็นเซอร์ระบุว่า ตัวรถสามารถพุ่งไปข้างหน้าได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ในขณะที่กล้องหน้าไม่สามารถระบุได้ว่าตัวบอดี้เทรลเลอร์คืออะไร เนื่องจากมันลอยอยู่ในอากาศ เหมือนอุปกรณ์บางอย่างที่แขวนอยู่บนเพดานโรงรถ… นั่นจึงเป็นที่มาของการปะทะเข้าไปอย่างเต็มแรง โดยที่ระบบเบรคไม่ได้ถูกเรียกใช้งานแต่อย่างใด

●   ความบกพร่องนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น หากเป็นการชนในลักษณะชนท้าย หรือชนทางด้านหน้าในลักษณะสวนเลน… หมายถึงอาจจะชนหรือไม่ชน ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถ ทว่าหากมีการชน อย่างน้อยระบบเซฟตี้พื้นฐานอย่างระบบเบรคต้องถูกเรียกขึ้นมาใช้งาน โดยอาจเห็นได้จากรอยยางบนผิวถนน

●   นี่อาจจะเป็น bug ในระบบที่วิศวกรต้องมีการตรวจสอบกันอย่างลงลึกไปในรายละเอียด หากพบว่ามันเป็น bug จริง นี่ก็เป็น beta-test ที่มีราคาค่างวดสูงยิ่ง   ●