August 30, 2016
Motortrivia Team (10185 articles)

Ford ตั้งเป้าผลิตรถอัตโนมัติรองรับแผนงาน Ride Sharing ในปี 2021


Press Release

 

  ฟอร์ด ประกาศเป้าหมายผลิตรถยนต์ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully Autonomous Vehicle) จำนวนมาก โดยจะเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติตามมาตรฐานสมาคมวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติหรือ SAE ระดับ 4 ที่ใช้สำหรับการพาณิชย์ ในการให้บริการการใช้รถยนต์ร่วมกัน (ride-sharing service) และบริการเรียกรถ (ride-hailing service) ในปี 2021

  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ฟอร์ดได้ลงทุนและร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวน 4 แห่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเพิ่มทีมงานที่ซิลิคอนแวลลีย์เป็น 2 เท่า พร้อมเพิ่มทีมงานที่พาโลอัลโตอีกกว่าเท่าตัว

  “ในทศวรรษหน้า รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะเป็นตัวสร้างนิยามการขับขี่ และจะมีบทบาทสำคัญต่อสังคมในวงกว้าง ดั่งเช่นที่ฟอร์ดเคยเคลื่อนย้ายสายการประกอบรถยนต์เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน”  มาร์ค ฟีลด์ส (Mark Fields) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าว “เราทุ่มเทที่จะนำรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติออกสู่ท้องถนน โดยจะพัฒนาด้านความปลอดภัยและแก้ปัญหาความท้าทายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้คนนับล้าน ไม่ใช่เพียงแต่สำหรับผู้ที่มีกำลังซื้อรถยนต์หรูราคาแพงเท่านั้น”

  รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในปี 2021 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ด โดยฟอร์ดวางแผนที่จะเป็นผู้นำด้านรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมทั้งด้านการเชื่อมต่อ การสัญจร การสร้างประสบการณ์ลูกค้า รวมถึงด้านข้อมูลและการวิเคราะห์

  ผลจากการค้นคว้าและพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมานานกว่าทศวรรษ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบของฟอร์ดจะเป็นรถยนต์ที่ตรงตามมาตรฐานสมาคมวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติหรือ SAE (Society of Automotive Engineers) ระดับ 4 โดยจะไม่มีพวงมาลัย ถังน้ำมันและเบรค รถยนต์ดังกล่าวจะได้รับการออกแบบอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อการบริการด้านการสัญจรในเชิงพาณิชย์ เช่น การใช้รถยนต์ร่วมกันและการเรียกรถ และจะมีรถที่สามารถใช้งานได้เป็นจำนวนมาก

  “ฟอร์ดได้ทำการพัฒนาและทดสอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมานานกว่า 10 ปี”  ราจ แนร์ (Raj Nair) รองประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และหัวหน้าฝ่ายช่างเทคนิคของฟอร์ด กล่าว “ฟอร์ดได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์เนื่องจากเรามีความสามารถในการผสมผสานซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีการตรวจจับสัญญาณ เข้ากับวิศวกรรมศาสตร์ที่ซับซ้อนซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิตรถยนต์คุณภาพสูง และนี่คือสิ่งที่ต้องใช้เพื่อทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเป็นจริงสำหรับผู้คนนับล้านทั่วโลก”

  ในปี 2016 นี้ ฟอร์ดจะเพิ่มจำนวนรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับการทดสอบเป็น 3 เท่า และจะเป็นกลุ่มรถยนต์เพื่อการทดสอบที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย โดยจะนำรถ Ford Fusion Hybrid ขับเคลื่อนอัตโนมัติจำนวน 30 คันมาขับทดสอบบนถนนในรัฐแคลิฟอร์เนีย แอริโซนา และมิชิแกน โดยมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนรถสำหรับทดสอบอีก 3 เท่าในปีหน้า

  ฟอร์ดเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่ทำการทดสอบรถที่ เอ็มซิตี้ (Mcity) ซึ่งเป็นสนามทดสอบรถเสมือนจริงในบริเวณมหาวิทยาลัยมิชิแกน และเป็นบริษัทรถยนต์รายแรกที่สาธิตการทำงานของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในสภาพหิมะสู่สาธารณะ และยังเป็นบริษัทรถยนต์รายแรกที่ทำการทดสอบการขับเคลื่อนรถยนต์ท่ามกลางความมืดสนิทตอนกลางคืน โดยการทดสอบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเซ็นเซอร์ LiDAR

  เพื่อส่งมอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในปี 2021 ฟอร์ดประกาศความร่วมมือและการลงทุนสำคัญ 4 ประการ ซึ่งจะช่วยขยายขอบเขตการค้นคว้าวิจัยอันแข็งแกร่ง ทั้งในเรื่องอัลกอริธึ่มที่ล้ำสมัย การทำแแผนที่ 3 มิติ เซ็นเซอร์ LiDAR รวมถึงเรดาร์และเซ็นเซอร์กล้อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้:

  เวโลดายน์ (Velodyne) : ฟอร์ดได้ลงทุนกับเวโลดายน์ ผู้นำด้านเซ็นเซอร์ LiDAR (การตรวจจับแสงและค่าการผันแปร) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซิลิคอนแวลลีย์ เพื่อก้าวไปสู่การผลิตเซ็นเซอร์ LiDAR สำหรับรถยนต์ปริมาณมากในราคาที่สามารถซื้อได้ ฟอร์ดกับเวโลดายน์เป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน และฟอร์ดเป็นบริษัทแรกๆ ที่ใช้เซ็นเซอร์ LiDAR จากเวโลดายน์ในการทำแผนที่ที่มีความละเอียดสูง และการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งเริ่มขึ้นมายาวนานกว่า 10 ปี

  บริษัทวิเคราะห์สัญญาณและโซลูชั่นส์การประมวลผลภาพ หรือ SAIPS (Signal Analysis and Image Processing Solutions) : ฟอร์ดได้เข้าซื้อกิจการบริษัทเพื่อการศึกษาและพัฒนาเครื่องจักร หรือ SAIPS ซึ่งตั้งอยู่ที่อิสราเอล เพื่อเสริมสร้างความเชี่ยวชาญทั้งในด้านสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะและวิสัยทัศน์การมองของคอมพิวเตอร์ บริษัท SAIPS ได้พัฒนาโซลูชั่นส์เชิงอัลกอริธึ่มในส่วนของการประมวลผลภาพและวิดีโอ สร้างประสิทธิภาพการศึกษาเชิงลึก รวมทั้งการประมวลผลสัญญาณและการจำแนกข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของฟอร์ดเรียนรู้และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยรอบ

  ศูนย์ประสาทวิทยาไนเรนเบิร์ก แอลแอลซี (Nirenberg Neuroscience LLC) : ฟอร์ดได้ทำข้อตกลง เพื่อใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในความร่วมมือกับศูนย์ประสาทวิทยาไนเรนเบิร์ก ก่อตั้งโดย ดร. ชีล่า ไนเรนเบิร์ก (Sheila Nirenberg) นักประสาทวิทยาศาสตร์ ผู้ประสบความสำเร็จในการศึกษารหัสที่ใช้ในการส่งข้อมูลของเส้นประสาท (Neural Code) เพื่อแสดงผลเป็นข้อมูลภาพไปสู่สมอง ซึ่งนำไปสู่แพลตฟอร์มวิสัยทัศน์ของคอมพิวเตอร์อันทรงพลังสำหรับการทำงาน ในการนำส่งข้อมูล การจดจำวัตถุและใบหน้า รวมทั้งการทำงานอื่นๆ ด้วยแอพพลิเคชั่นทรงประสิทธิภาพมากมาย ตัวอย่างเช่น ดร. ไนเรนเบิร์ก ได้พัฒนาอุปกรณ์สำหรับการฟื้นฟูการมองเห็นของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยความร่วมมือของฟอร์ดกับไนเรนเบิร์กเน็ตเวิร์คส์จะช่วยนำอัจฉริยภาพและความสามารถด้านการสัมผัสต่างๆ ของมนุษย์มาสู่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

  บริษัทพัฒนาแผนที่ ซิวิลแมพส์ (Civil Maps) : ฟอร์ดได้ลงทุนกับซิวิลแมพส์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง เบิร์กลีย์ เพื่อพัฒนาต่อยอดความสามารถในการผลิตแผนที่ความละเอียดสูงแบบสามมิติ บริษัทซิวิลแมพส์เป็นผู้ริเริ่มเทคนิคการทำแผนที่สามมิติสุดล้ำสมัยที่สามารถย่อขยายได้ และมีประสิทธิภาพสูงกว่ากระบวนการทำแผนที่ในปัจจุบัน สิ่งนี้จะช่วยให้ฟอร์ดมีแนวทางในการพัฒนาแผนที่สามมิติคุณภาพสูงมากขึ้น เพื่อใช้เป็นความรู้พื้นฐานในการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมโดยรอบของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

การขยายศูนย์วิจัย Silicon Valley

  ฟอร์ดเดินหน้าขยายศักยภาพการทำงานของศูนย์วิจัยซิลิคอนแวลลีย์อย่างแข็งแกร่ง พร้อมก่อตั้งอีกหนึ่งแคมปัสใหม่ของฟอร์ด ณ เมืองพาโลอัลโต โดยทำการขยายพื้นที่การทำงานและห้องวิจัยกว่า 150,000 ตารางฟุต การสร้างอาคารใหม่เพิ่มขึ้น 2 หลังติดกับศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมนี้ ช่วยตอกย้ำความมุ่งมั่นของฟอร์ดในการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของทีมนักวิจัยฟอร์ดในเมืองพาโลอัลโตที่จะมากขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2017

  “ศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมของฟอร์ดในเมืองซิลิคอนแวลลีย์เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนรู้และสร้างสรรค์แผนการสัญจรอัจฉริยะ”  เคน วอชิงตัน (Ken Washington) รองประธานฝ่ายค้นคว้าและวิศวกรรมชั้นสูงของฟอร์ด กล่าว “เป้าหมายของเราคือการเป็นหนึ่งในสมาชิกของชุมชนซิลิคอนแวลลีย์ และในวันนี้เราได้ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพกว่า 40 บริษัท เพื่อสร้างความร่วมมืออันแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการบริการ”

  ศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมพาโลอัลโต (Ford Research and Innovation Center Palo Alto) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2015 และได้เติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการวิจัยในการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ในปัจจุบันมีทีมนักวิจัย วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์รวมกว่า 130 คน ที่พร้อมยกระดับความร่วมมือของฟอร์ดและศูนย์วิจัยซิลิคอนแวลลีย์

  ศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมหลากหลายสาขาวิชาในเมืองพาโลอัลโต เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีและวิศวกรรมระดับโลกของฟอร์ด ซึ่งจะเปิดทำการภายในกลางปี 2017