
Honda Civic 1.5 Turbo RS แรงและประหยัด ลงตัวกับการใช้งาน
เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ
• ฮอนด้า ซีวิค โฉมปัจจุบัน เจนเนอเรชั่นที่ 10 เปิดตัวในไทยเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ทีมงาน มอเตอร์ทริเวีย มีโอกาสได้ทดลองขับแบบกลุ่ม 2 ครั้ง ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล และ อีกครั้งที่ภูเก็ต ล่าสุดขอยืมรถรุ่น 1.5 Turbo RS มาทดลองขับเพื่อเก็บข้อมูลในส่วนที่เหลือคือ อัตราเร่งและอัตราสิ้นเปลือง รวมทั้งความสะดวกสบายกับการขับใช้งานในชีวิตประจำวัน
ภายนอกโฉบเฉี่ยวล้ำสมัย
• รูปลักษณ์ของซีวิคใหม่ เน้นความเตี้ยและแบนกว้างดูคันใหญ่กว่าคอมแพกต์ซีดานรุ่นอื่น ตกแต่งด้วยเส้นสายที่เฉียบคม ด้านหน้าล้ำสมัยด้วยไฟหน้า LED รับกับกระจังหน้าทรงเฉียงให้ความรู้สึกดุดัน ด้านล่างมีสปอตไลต์ทรงกลมแบบ LED เช่นกัน ฝากระโปรงหน้างุ้มต่ำต่อเนื่องกับโป่งล้อหน้าเพิ่มความสปอร์ต ด้านข้างมีเส้นตัวถังลากผ่านด้านหน้าจรดหลัง แนวเส้นหลังคาลาดลงสู่ด้านหลังค่อนข้างมาก และเป็นแนวเดียวต่อเนื่องกับกระจกบานหลังและฝาท้าย ส่วนล่างของตัวรถมีเส้นตัวถังอีกชุดลากเฉียงขึ้นรับกับเส้นที่กันชนท้าย ล้อแม็กขนาด 7×17 นิ้ว และยางขนาด 215/50/17
• จุดเด่นของรถรุ่นนี้น่าจะอยู่ที่การออกแบบชุดไฟท้าย ที่ดูโฉบเฉี่ยวสะดุดตาด้วยชุดโคมที่ติดตั้งบนฝากระโปรงท้าย รับกับสปอยเลอร์แบบ Wing ที่มาพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ด้านล่างมีช่องใส่แถบสะท้อนแสงตกแต่งสไลต์เดียวกับช่องใส่สปอตไลต์ด้านหน้า ท่อไอเสียแยกออกซ้าย-ขวา แต่ซ่อนไว้ด้านล่าง ปลายท่อหน้าตาธรรมดาแต่สามารถแต่งเพิ่มได้
• ภายนอกโดยรวมดูเป็นรถขนาดใหญ่ ปราดเปรียวด้วยตัวรถทรงแบนยาว ให้ความรู้สึกมั่นคง เส้นสายเฉียบคมล้ำสมัย มิติตัวถังมีความยาว 4,630 มิลลิเมตร กว้าง 1,799 มิลลิเมตร สูง 1,416 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,698 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 125 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,317 กิโลกรัม
ภายในสปอร์ตกว้างขวาง
• สะดวกสบายด้วยระบบ Keyless Entry กดปุ่มยางตรงที่เปิดประตูเพื่อล็อก และแตะที่มือเปิดเพื่อปลดล็อก มีระบบ Engine Remote Start สั่งสตาร์ตเครื่องยนต์พร้อมเปิดแอร์ผ่านรีโมตคอนโทรล ช่วยลดความร้อนเมื่อต้องจอดกลางแดดนานๆ โดยเมื่อเข้าไปนั่งในรถจะต้องกดปุ่มสตาร์ตอีกครั้งจึงจะเข้าเกียร์และขับเคลื่อนรถไปได้ ภายในตกแต่งในโทนสีดำ ตัดกับสีโครเมียมในจุดต่างๆ มาตรวัดแบบ TFT พร้อมจอแสดงข้อมูลต่างๆ ควบคุมด้วยปุ่มฝั่งซ้ายของพวงมาลัย
• คอนโซลกลางติดตั้งจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว แบบ Advanced Touch ใช้ควบคุมและปรับตั้งระบบต่างๆ ของตัวรถ รวมทั้งเครื่องเสียงและระบบนำทางผ่านดาวเทียม ลองใช้งานแล้วพบว่าตอบสนองการสัมผัสได้ดี และทำงานได้รวดเร็วไม่มีอาการหน่วง ถัดลงมาเป็นสวิตช์ควบคุมเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยกซ้าย-ขวา ควบคุมเฉพาะระบบที่ใช้งานบ่อยๆ ถ้าจะปรับแรงลมหรือทิศทางของลมต้องกดปุ่ม CLIMATE แล้วจึงปรับตั้งผ่านหน้าจอสัมผัส ทำให้ดูมีขั้นตอนมากไปนิด แต่ก็เป็นส่วนที่ไม่ได้ปรับกันบ่อยๆ
• หน้าคอนโซลเกียร์เป็นที่วางของ มีช่องสำหรับร้อยสายผ่านลงไปด้านหลังคอนโซลกลาง ซึ่งมีช่อง USB ขนาด 1.5 แอมป์ และช่องต่อ HDMI รวมทั้งช่องจ่ายไฟฟ้า 12 โวลต์ การออกแบบซ่อนไว้ด้านหลังเสมือนบังคับให้ไม่สามารถใช้งานขณะขับได้ ขนาดเป็นผู้โดยสารยังเสียบใช้งานได้ลำบาก จะให้ง่ายและปลอดภัยต้องต่อพ่วงอุปกรณ์ให้เรียบร้อยก่อนขับรถ คันเกียร์สั้นๆ ดูสปอร์ต มีสวิตช์เปิด-ปิดระบบ BRAKE HOLD และระบบ ECON รวมทั้งเบรกมือไฟฟ้าอยู่ด้านข้าง ที่เท้าแขนตรงกลางมีที่ใส่แก้วน้ำแบบปรับเลื่อนได้ และมีช่อง USB อีก 1 ชุด
• ปลายก้านไฟเลี้ยวซึ่งอยู่ฝั่งขวา มีสวิตช์เปิด-ปิดกล้องมองด้านข้างของระบบ Honda LaneWatch ที่จะเปิดทำงานอัตโนมัติเมื่อเปิดไฟเลี้ยวซ้าย หรือจะกดสวิตช์ให้กล้องทำงานโดยไม่ต้องเปิดไฟเลี้ยวก็ได้ มาพร้อมเส้นกะระยะที่สามารถเปิด-ปิดได้ ช่วงลดมุมอับสายตาขณะเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลนได้ดี เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง กล้องมองหลังจะทำงานอัตโนมัติ แสดงภาพด้านหลังบนหน้าจอที่คอนโซลกลาง สามารถปรับมุมรับภาพได้ 3 แบบ คือ มุมกว้าง มุมปกติ และมุมสูง มาพร้อมเส้นกะระยะแบบแปรผันตามการหมุนพวงมาลัย
ระบบ BRAKE HOLD จะทำงานต่อเมื่อผู้ขับคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วเท่านั้น การทำงานสอดคล้องกับการใช้งานจริง ขับคลานๆ ช้าๆ ระบบจะยังไม่ทำงาน ต้องให้รถจอดสนิทเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องกดเบรกลึกๆ เพื่อให้ระบบทำงาน แค่แตะเบรกจนรถจอดสนิทก็สามารถยกเท้าออกจากแป้นเบรกได้เลย
• เบาะคู่หน้าปรับไฟฟ้า ผู้ขับปรับ 8 ทิศทาง ส่วนผู้โดยสารด้านหน้า 4 ทิศทาง พวงมาลัยปรับ 4 ทิศทาง ฝั่งซ้ายมีสวิตช์ควบคุมหน้าจอในชุดมาตรวัด เครื่องเสียง การรับโทรศัพท์ และระบบ Siri ส่วนฝั่งขวาเป็นสวิตช์ครูสคอนโทรล มี Paddle Shift ที่ด้านหลังพวงมาลัย แป้นคันเร่งและเบรกแบบสปอร์ต เบาะผู้ขับโอบกระชับพอเหมาะด้วยปีกพนักพิงที่ค่อนข้างสูง ส่วนปีกที่เบาะนั่งไม่สูงนักเพื่อให้เข้า-ออกได้สะดวก ปรับเบาะผู้ขับให้พอดีกับความสูง 170 เซนติเมตรแล้วลองย้ายไปนั่งเบาะหลังตรงฝั่งผู้ขับ เมื่อนั่งแบบพิงเต็มหลังพบว่าหัวเข่าห่างจากพนักพิงเบาะหน้าเกิน 20 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะและด้านข้างเหลือไม่มากนัก เบาะหลังมีที่เท้าแขนพร้อมที่วางแก้วน้ำในตัว พนักพิงเบาะหลังพับไม่ได้ ที่เก็บสัมภาระกว้างและลึกพอสมควร
• ระบบ BRAKE HOLD จะทำงานต่อเมื่อผู้ขับคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วเท่านั้น การทำงานสอดคล้องกับการใช้งานจริง ขับคลานๆ ช้าๆ ระบบจะยังไม่ทำงาน ต้องให้รถจอดสนิทเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องกดเบรกลึกๆ เพื่อให้ระบบทำงาน แค่แตะเบรกจนรถจอดสนิทก็สามารถยกเท้าออกจากแป้นเบรกได้เลย โดยที่ชุดมาตรวัดจะมีไฟแจ้งว่าระบบกำลังทำงาน เมื่อกดคันเร่งเพื่อออกตัว การปลดเบรกก็ทำได้อย่างนุ่มนวล ลองแกล้งด้วยการเบรกให้รถจอดสนิท ระบบ BRAKE HOLD ทำงาน จากนั้นปลดเข็มขัดนิรภัย ระบบจะแจ้งเตือนว่ายกเลิก BRAKE HOLD และเบรกมือไฟฟ้าจะทำงานโดยอัตโนมัติ ลองปลดเบรกมือระบบก็จะแจ้งว่าต้องเหยียบเบรกก่อนถึงจะปลดเบรกมือได้ ดูแล้วมั่นใจได้ว่าระบบนี้จะไม่เกิดการผิดพลาดแน่ๆ
• หลังจากทดลองขับใช้งานทั่วไปพบว่า รถรุ่นนี้รองรับการใช้งานได้ดี อุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ สามารถใช้งานได้จริง และช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัย ทั้งระบบ Honda LaneWatch ช่วยลดมุมอับ กล้องมองหลังที่มีเส้นกะระยะแบบแปรผัน และระบบ BRAKE HOLD ที่ช่วยลดความเมื่อยล้าเมื่อต้องขับท่ามกลางสภาพการจราจรที่ติดขัด ไฟหน้า LED ทั้งไฟสูงและไฟต่ำ ให้ความสว่างเหลือเฟือและมีขอบแขตที่คมชัด ไม่รบกวนสายตาผู้อื่น การเก็บเสียงที่ความเร็วต่ำทำได้ดี แต่เมื่อใช้ความเร็วระดับ 130-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะมีเสียงลมปะทะค่อนข้างชัด เดาว่ามาจากร่องที่ด้านข้างของกระจกหน้า ซึ่งน่าจะออกแบบไว้เพื่อเป็นรางดักน้ำฝนที่ถูกปัดออก
แรงพอเหมาะ ประหยัดพอตัว
• ซีวิค 1.5 Turbo RS ใช้เครื่องยนต์เบนซินไดเร็คอินเจ็คชั่น 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว มีระบบ Dual VTC หรือ Variable Valve Timing Control เสื้อสูบและฝาสูบอะลูมิเนียม ความจุ 1,498 ซีซี อัดอากาศด้วยเทอร์โบแบบ Single-Scroll พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ บูสต์ประมาณ 16.5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว พร้อมเวสต์เกตไฟฟ้าและอินเตอร์คูลเลอร์ พอร์ตไอเสียเป็นชิ้นเดียวกับฝาสูบ จึงไม่ต้องมีท่อร่วมไอเสีย ให้กำลังสูงสุด 173 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตัน-เมตร หรือ 22.4 กก.-ม. ที่ 1,700-5,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมโหมด +/- 7 จังหวะ
• เริ่มวัดอัตราสิ้นเปลืองตั้งแต่วันแรกที่รับรถ โดยเซตข้อมูลการขับของทริป A ใหม่หมด และจะไม่เซตใหม่อีกจนกระทั่งคืนรถ ขับออกจากฮอนด้าแถวบางนาประมาณ 11.00 น. กลับบ้านที่เมืองนนท์โดยใช้ทางด่วน ระยะทาง 32.8 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 43 นาที ความเร็วเฉลี่ย 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยแสดงตัวเลข 15.4 กิโลเมตรต่อลิตร สำหรับการขับในเมืองล้วนๆ นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
• วันที่ 2 ขับไปถ่ายรูปที่เขาใหญ่ ออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืด ขับมาถึงแถวๆ มหาวิทยาลัยกรุงเทพเพิ่งนึกได้ จึงเซตทริป B ใหม่ จากนั้นขับยาวๆ ใช้ความเร็ว 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แวะพักที่ปั๊มบนถนนธนรัชต์ ระยะทาง 136.4 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 1.20 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 101 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้อัตราสิ้นเปลือง 18.0 กิโลเมตรต่อลิตร ดูเหมือนจะโกงนิดๆ เพราะเริ่มเซตตอนที่รถทำความเร็วคงที่ได้แล้ว จากนั้นขับใช้งานบนเขาใหญ่ มีการดับและสตาร์ตเครื่องยนต์ใหม่บ่อยครั้ง รวมทั้งติดเครื่องยนต์เดินเบา กลับถึงบ้านเช็คข้อมูลทริป B ระยะทาง 384.5 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 7.03 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 54 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 16.5 กิโลเมตรต่อลิตร วันที่ 3 ขับแถวชานเมืองช่วงรถโล่งอีกประมาณ 80 กิโลเมตร
อัตราสิ้นเปลืองขณะเดินทางไกล ถ้าขับใช้งานจริงด้วยความเร็วปกติ ไม่ช้ามากเพื่อปั้นตัวเลข แต่ก็ไม่ได้เร็วจัดหรือเร่งแซงรอบสูงตลอดเวลา น่าจะเห็นตัวเลข 14-15 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนตัวเลขโรงงาน 17.9 กิโลเมตรต่อลิตรนั้นก็สามารถทำได้ไม่ยาก
• วันที่ 4 ต้องขับไปเขาใหญ่อีกครั้งเพราะงานยังไม่เสร็จเนื่องจากฝนตก แวะเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เต็มถัง คราวนี้ไม่ลืมเซตข้อมูลทริป B ก่อนออกจากบ้าน ใช้ความเร็วประมาณ 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แวะพักบนถนนมิตรภาพก่อนเลี้ยวเข้าถนนธนรัชต์ บันทึกข้อมูลทริป B ได้ระยะทาง 156.4 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 1.40 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 93 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 15.9 กิโลเมตรต่อลิตร ถ่ายภาพนิ่งและวีดิโอเสร็จช่วงบ่าย กลับถึงบ้านด้วยระยะทาง 413.3 กิโลเมตร ความเร็วเฉลี่ย 57 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 16.3 กิโลเมตรต่อลิตร
• อัตราสิ้นเปลืองขณะเดินทางไกล ถ้าขับใช้งานจริงด้วยความเร็วปกติ ไม่ช้ามากเพื่อปั้นตัวเลข แต่ก็ไม่ได้เร็วจัดหรือเร่งแซงรอบสูงตลอดเวลา น่าจะเห็นตัวเลข 14-15 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนตัวเลขโรงงาน 17.9 กิโลเมตรต่อลิตรนั้นก็สามารถทำได้ไม่ยาก แค่ขับบนทางโล่งด้วยความเร็วปานกลาง 100-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ทำได้แล้ว
• วันที่ 5 ซึ่งเป็นวันนัดคืนรถ ออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดเหมือนเดิมเพื่อหนีรถติด ลองเซตทริป B ดูใหม่เล่นๆ จากบ้านถึงจุดพักรถบนในทางด่วน ระยะทาง 28.7 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 24 นาที ความเร็วเฉลี่ย 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองหรูๆ 19.8 กิโลเมตรต่อลิตร
• ข้อมูลนี้คงใช้อ้างอิงอะไรไม่ได้ เพราะขับตอนเช้ามืดที่รถโล่งตลอด ซึ่งแทบไม่พบในการใช้งานจริง
• สรุปทริป A ที่เซตไว้ตั้งแต่วันแรก ระยะทางที่ขับไปทั้งหมด 1,124 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 19.5 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 57 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 16.0 กิโลเมตรต่อลิตร ถือว่าน่าพอใจมากๆ เพราะช่วงที่ถ่ายภาพนิ่งและวีดิโอ มีการดับและสตาร์ตเครื่องยนต์บ่อยครั้งเพื่อเลื่อนรถหามุม รวมทั้งการติดเครื่องยนต์เดินเบาด้วย
• สำหรับการขับใช้งานในชีวิตประจำวัน อัตราเร่งถือว่าเหลือเฟือ ด้วยแรงบิดที่มาในรอบต่ำ บางจังหวะที่ไม่เร่งรีบก็ไม่จำเป็นต้องคิ๊กดาวน์ แค่ไล่รอบในเกียร์เดิมก็ได้อัตราเร่งที่ทันใจพอสมควรแล้ว ความรู้สึกคล้ายขับรถเก๋งดีเซลเทอร์โบ ที่เร่งดีตั้งแต่รอบต่ำ แต่เบนซินเทอร์โบได้เปรียบที่ลากรอบได้สูงกว่า ทำให้อัตราเร่งไหลลื่นกว่า เกียร์อัตโนมัติ CVT มีการทำงานที่สอดคล้องกับคันเร่ง และให้ความรู้สึกคล้ายเกียร์แบบฟันเฟือง ผู้ขับจึงไม่ต้องปรับตัวมากนัก การเปลี่ยนเกียร์ทำได้นุ่มนวลและต่อเนื่องตามสไตล์เกียร์ CVT และเมื่อขับแบบสปอร์ตก็ยังรู้สึกถึงการเปลี่ยนของเกียร์ ตำแหน่งเกียร์ S จะเร่งรอบสูงกว่าเกียร์ D ประมาณ 1,000 รอบต่อนาที ที่ความเร็วเท่ากัน เมื่อใช้งาน Paddle Shift จะไม่สามารถคิ๊กดาวน์ได้ ต้องดึง Paddle Shift หรือลดความเร็วลงมากๆ เกียร์ก็จะเปลี่ยนลงให้ แต่เกียร์ยังคงเปลี่ยนขึ้นเกียร์สูงให้เองเมื่อลากรอบเกิน 6,000 รอบต่อนาที
เมื่อไล่ขึ้นไปถึงเกียร์ 4 รอบเครื่องยนต์จะนิ่งอยู่ที่ 6,000 รอบต่อนาที ความเร็วยังไหลขึ้นเรื่อยๆ และนิ่งอยู่ที่ 208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การตอบสนองของเครื่องยนต์เป็นแบบมาเร็วต่อเนื่อง หมดแล้วหมดเลย ดูตัวเลขแล้วจัดจ้านพอตัว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 7.68 วินาที ควอเตอร์ไมล์ 0-402 เมตร ใช้เวลา 15.7 วินาที
• วัดอัตราเร่งในโหมดเกียร์ D และ S ไม่ได้ใช้ Paddle Shift เพราะสุดท้ายแล้วเกียร์ก็เปลี่ยนขึ้นให้เองอยู่ดี ผลลัพธ์แทบไม่ต่างกัน โดยในช่วงออกตัวจากรอบเดินเบา รอบจะไต่ขึ้นช้าๆ แล้วเริ่มกวาดเร็วหลังจากเกิน 2,000 รอบต่อนาที เกียร์อัตโนมัติ CVT มีช่วงรอบตกเมื่อเปลี่ยนเกียร์ขึ้นสูง โดยจะไล่รอบขึ้นไปที่ 6,000 รอบต่อนาที และตกมาแถวๆ 5,000 รอบต่อนาที ไม่ได้ขึ้นไปคาที่รอบสูงสุดแบบเกียร์ CVT หลายรุ่นที่เคยขับ แต่อัตราเร่งก็ทันใจพอสมควร ปลายๆ เกียร์ 2 ที่เกือบ 6,000 รอบต่อนานที ก็ได้ความเร็วเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว
• เมื่อไล่ขึ้นไปถึงเกียร์ 4 (นับจากช่วงรอบตกของแต่ละเกียร์) รอบเครื่องยนต์จะนิ่งอยู่ที่ 6,000 รอบต่อนาที ความเร็วยังไหลขึ้นเรื่อยๆ และนิ่งอยู่ที่ 208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การตอบสนองของเครื่องยนต์เป็นแบบมาเร็วต่อเนื่อง หมดแล้วหมดเลย ดูตัวเลขแล้วจัดจ้านพอตัว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 7.68 วินาที ควอเตอร์ไมล์ 0-402 เมตร ใช้เวลา 15.7 วินาที ทำความเร็วได้ 149.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วสูงสุดจากเครื่องวัดอัตราเร่ง 203.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
– ความเร็ว 10 กม./ชม. เวลา 0.67 วินาที ระยะทาง 0.99 เมตร
– ความเร็ว 20 กม./ชม. เวลา 1.35 วินาที ระยะทาง 3.77 เมตร
– ความเร็ว 30 กม./ชม. เวลา 1.94 วินาที ระยะทาง 7.89 เมตร
– ความเร็ว 40 กม./ชม. เวลา 2.54 วินาที ระยะทาง 13.72 เมตร
– ความเร็ว 50 กม./ชม. เวลา 3.17 วินาที ระยะทาง 21.64 เมตร
– ความเร็ว 60 กม./ชม. เวลา 3.87 วินาที ระยะทาง 32.20 เมตร
– ความเร็ว 70 กม./ชม. เวลา 4.65 วินาที ระยะทาง 46.32 เมตร
– ความเร็ว 80 กม./ชม. เวลา 5.47 วินาที ระยะทาง 63.52 เมตร
– ความเร็ว 90 กม./ชม. เวลา 6.55 วินาที ระยะทาง 89.11 เมตร
– ความเร็ว 100 กม./ชม. เวลา 7.68 วินาที ระยะทาง 118.74 เมตร
– ความเร็ว 110 กม./ชม. เวลา 9.00 วินาที ระยะทาง 157.57 เมตร
– ความเร็ว 120 กม./ชม. เวลา 10.60 วินาที ระยะทาง 208.37 เมตร
– ความเร็ว 130 กม./ชม. เวลา 12.20 วินาที ระยะทาง 263.93 เมตร
– ความเร็ว 140 กม./ชม. เวลา 13.91 วินาที ระยะทาง 328.18 เมตร
– ความเร็ว 150 กม./ชม. เวลา 15.79 วินาที ระยะทาง 403.99 เมตร
– ความเร็ว 160 กม./ชม. เวลา 18.66 วินาที ระยะทาง 527.63 เมตร
– ความเร็ว 170 กม./ชม. เวลา 21.73 วินาที ระยะทาง 668.27 เมตร
– ความเร็ว 180 กม./ชม. เวลา 25.14 วินาที ระยะทาง 834.17 เมตร
– ความเร็ว 190 กม./ชม. เวลา 29.42 วินาที ระยะทาง 1054.54 เมตร
– ความเร็ว 200 กม./ชม. เวลา 34.53 วินาที ระยะทาง 1331.70 เมตร
– ระยะทาง 0-100 เมตร เวลา 07.0 วินาที ความเร็ว 93.8 (กม./ชม.)
– ระยะทาง 0-200 เมตร เวลา 10.3 วินาที ความเร็ว 118.3 (กม./ชม.)
– ระยะทาง 0-402 เมตร เวลา 15.7 วินาที ความเร็ว 149.8 (กม./ชม.)
– ระยะทาง 0-1000 เมตร เวลา 28.4 วินาที ความเร็ว 187.2 (กม./ชม.)
– ความเร็วสูงสุด 203.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ช่วงล่างเน้นนุ่มนวล
• แม้เครื่องยนต์จะมีสมรรถนะค่อนข้างสูง แต่ระบบกันสะเทือนก็ไม่ได้ถูกเซตให้แข็งสไตล์สปอร์ต โดยยังคงเน้นความนุ่มนวลเป็นหลัก ด้านหน้าอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังอิสระ มัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง รองรับการขับใช้งานทั่วไปได้ดี เดินทางด้วยความเร็ว 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้อย่างนุ่มนวล ไม่เหนื่อยล้า ที่ความเร็วต่ำก็ดูดซับแรงสะเทือนได้ดี ส่วนที่ความเร็วสูงจะมีอาการวูบวาบบ้างเมื่อขับผ่านถนนที่เป็นคลื่นลอน แลกกับความนุ่มนวลในความเร็วที่ใช้งานบ่อยๆ ก็นับว่าคุ้ม หรือถ้าใช้ความเร็วสูงจัดบนทางเรียบก็มั่นคงดีไม่วูบวาบ
• ระบบบังคับเลี้ยวแร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า ปรับน้ำหนักมาค่อนข้างหนืด สัมผัสได้ตั้งแต่ความเร็วต่ำ และยิ่งหนืดขึ้นเมื่อใช้ความเร็วสูง ช่วยให้การควบคุมรถมีความมั่นคง มีความเสถียรไม่วูบวาบ ขับเร็วได้โดยไม่เกร็ง และเข้าโค้งได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องประคองพวงมาลัย ระบบเบรกดิสก์ 4 ล้อ ด้านหน้ามีครีบระบายความร้อน มาพร้อมระบบป้องกันล้อล็อกและกระจายแรงเบรก ผลงานการเบรกถือว่าดี แรงเบรกสัมพันธ์กับน้ำหนักเท้า และเบรกได้ทันใจเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ถ้าเบรกรุนแรงไฟกะพริบจะทำงานอัตโนมัติเพื่อเตือนผู้ขับที่ตามมา
• ฮอนด้า ซีวิค 1.5 Turbo RS รูปลักษณ์ล้ำสมัยโดดเด่นสะดุดตา ดูใหญ่กว่าคู่แข่งในระดับเดียวกัน ภายในแต่งแบบสปอร์ตและกว้างขวางพอตัว เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี เทอร์โบ 173 แรงม้า มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ขับช้าๆ ก็ราบเรียบนุ่มนวลและประหยัดเชื้อเพลิง เมื่อกดคันเร่งลึกๆ ก็ตอบสนองได้ทันใจ เกียร์อัตโนมัติ CVT ปรับปรุงลบจุดด้อย คงจุดเด่นเรื่องความต่อเนื่องนุ่มนวล รุ่นสูงสุดตั้งราคาไว้ 1.199 ล้านบาท เป็นทางเลือกที่น่าสนใจและสดใหม่ที่สุด ณ เวลานี้ •
ขอบคุณ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เอื้อเฟื้อรถยนต์ในการทดสอบ
Specification: Honda Civic 1.5 Turbo RS
– แบบตัวถัง ซีดาน 4 ประตู
– ยาว x กว้าง x สูง 4,630 x 1,799 x 1,416 มิลลิเมตร
– ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,547/1,563 มิลลิเมตร
– ระยะต่ำสุด 125 มิลลิเมตร
– ฐานล้อ 2,698 มิลลิเมตร
– น้ำหนัก 1,317 กิโลกรัม
– แบบเครื่องยนต์ เบนซินไดเร็คอินเจ็คชั่น 4 สูบ เทอร์โบ DOHC 16 วาล์ว VTC
– ความจุ 1,498 ซีซี
– กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.5 มิลลิเมตร
– อัตราส่วนการอัด 10.6:1
– กำลังสูงสุด 173 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบต่อนาที
– แรงบิดสูงสุด 22.4 กก.-ม. ที่ 1,700-5,500 รอบต่อนาที
– ระบบส่งกำลัง อัตโนมัติ CVT
– ระบบขับเคลื่อน ล้อหน้า
– ระบบบังคับเลี้ยว แร็คแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า
– ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
– ระบบกันสะเทือนหลัง อิสระ มัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง
– ระบบเบรกหน้า/หลัง ดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน/ดิสก์ พร้อมเอบีเอส และอีบีดี
– ผู้จำหน่าย บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด
– โทรศัพท์ Call Center 02-341-7777 ตลอด 24 ชั่วโมง
– เวบไซต์ www.honda.co.th/civic.
2016 Honda Civic 1.5 Turbo RS