MICHELIN Pilot Sport Experience 2016 สัมผัสประสบการณ์มอเตอร์สปอร์ตกับมิชลิน
เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ
• MICHELIN Pilot Experience เกิดขึ้นจากความต้องการให้บุคคลทั่วไปและแฟนมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลกได้รับรู้และสัมผัส ‘ความเป็นผู้นำในสนามแข่ง’ ซึ่ง MICHELIN ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางสำหรับแข่งขัน และประยุกต์ใช้กับยางสำหรับใช้งานทั่วไปด้วย MICHELIN Pilot Experience เริ่มจัดครั้งแรกในยุโรป จากนั้นจึงเปิดตัวในเอเชียที่สนามแข่งขันนานาชาติ เซปัง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ประเทศมาเลเซีย ในปี 2006 และ ทีมงานมอเตอร์ทริเวียได้ร่วมงานนี้มาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2011.
• ทิ้งช่วงไป 5 ปี ทีมงานมอเตอร์ทริเวียได้รับโอกาสดีอีกครั้ง ที่ได้เข้าร่วมงาน MICHELIN Pilot Sport Experience 2016 ระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ ประเทศมาเลเซีย เริ่มออกเดินทางช่วงบ่ายวันที่ 28 จากสนามบินสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าสนามบินกัวลาลัมเปอร์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองแล้วนั่งรถกอล์ฟต่อไปยังล๊อบบี้โรงแรม Sama Sama ซึ่งอยู่ติดกับสนามบิน มีทางเชื่อมต่อกันไม่ต้องออกไปนอกตัวอาคาร จริงๆ ระยะทางก็ไม่ไกลเดินไม่เกิน 10 นาที ถึงโรงแรมแล้วแยกย้ายไปเก็บของ จากนั้นลงมารับประทานอาหารเย็น และขอความร่วมมืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะรุ่งขึ้นต้องขับรถเกือบทั้งวัน ที่ล๊อบบี้โรงแรมมีรถแข่ง ฟอร์มูล่า อี จอดโชว์อยู่ เป็นรถแข่งที่มิชลินสนับสนุนยางให้
• เช้าวันที่ 30 ลงทะเบียนรับ Wrist Band แบ่งกลุ่มตามสีที่เคาน์เตอร์ของ MICHELIN ที่ล๊อบบี้โรงแรม จากนั้นออกเดินทางจากโรงแรมโดยรถบัส มีเพื่อนๆ สื่อมวลชนจากต่างประเทศร่วมเดินทางไปด้วย ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ก็ถึงเซปัง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เข้าฟังการบรรยายสรุปกิจกรรมและข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย จากนั้นจึงเปลี่ยนใส่ชุดแข่งแบบครบชุด พร้อมรองเท้า ถุงมือ และหมวกกันน็อค และลงไปที่พิทด้านล่างเพื่อเข้าสู่ช่วงพิธีเปิด ให้เดินชมรถแข่งฟอร์มูล่า 4 และแลมบอร์กินี จีที3 จากนั้นประตูพิทเลื่อนขึ้นก็จะเห็นรถที่จะได้ขับในวันนี้จอดเรียงรายอยู่พร้อมทีมงาน หลังจากถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแล้วก็แยกย้ายกันทำกิจกรรมตามสี
Michelin Pilot Sport 4
ทดลองขับบนถนนแห้งและเปียก
• อุ่นเครื่องเบาๆ ด้วยเรื่องการผลิตยาง ที่วัตถุดิบเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น เพราะการผลิตยางคุณภาพดี ต้องขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและขั้นตอนการผลิตด้วย ต่อด้วยการย้อนประวัติการผลิตยางรุ่นต่างๆ ของมิชลิน และเซอร์ไพรส์ที่ทีมงานมิชลินอุบไว้ก็คือ ยางรุ่นใหม่ล่าสุด MICHELIN Pilot Sport 4 ที่เตรียมเปิดตัวในเมืองไทยภายในปีนี้ พัฒนามาจากยางของรถฟอร์มูลา อี ซึ่งจัดการแข่งขันหมุนเวียนในหลายประเทศ มีสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่มิชลินใช้ยางเพียงรุ่นเดียวสำหรับการแข่งขันในทุกประเทศ ยางสำหรับรถฟอร์มูล่า อี จึงต้องเป็นยางที่มีคุณสมบัติเด่นรอบด้าน ซึ่งก็ตรงกับแนวคิดในการพัฒนายางสำหรับใช้งานทั่วไป ที่ต้องเจอกับสภาพอากาศที่แตกต่างกัน
• เซอร์ไพรส์ถัดมา คือ การได้ทดลองขับรถ ออดี้ เอ6 TFSI Quattro ใส่ยาง Pilot Sport 4 ขนาด 245/40/18 เปรียบเทียบกับยางคู่แข่งด้วยการขับสลาลมบนถนนเปียกและแห้งที่ความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมทั้งการเบรกจาก 100-0 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนถนนเปียก ได้ขับคันละ 2 รอบ เริ่มต้นด้วยการนั่งในรถเพื่อดูไลน์สนาม เจ้าหน้าที่บอกว่าช่วงที่เบรกจาก 100-0 เจ้าหน้าที่ที่นั่งไปด้วยจะบอกให้เหยียบเบรก ผู้ขับแค่มองทางข้างหน้าอย่างเดียว ด้านข้างมีป้ายบอกระยะทางเพื่อให้เห็นความแตกต่าง
• เริ่มต้นด้วยการขับรถที่ใส่ยางคู่แข่ง ทำเอาเสียความมั่นใจไปเล็กน้อย เพราะใช้ความเร็วเกิน ประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกือบจะควบคุมรถไม่อยู่ ต้องแตะเบรกลดความเร็ว เป็นอันว่าสลาลมรอบแรกฟาล์วไป หันไปถามอินสตรัคเตอร์ที่นั่งไปด้วยว่าผมใช้ความเร็วเกินใช่ไหม ก็ได้รับคำตอบว่าใช่ และให้ใช้ความเร็วตามสบาย ไม่ต้อง 60 เป๊ะก็ได้ แต่ขอให้ใช้ความเร็วเท่ากันทุกรอบ วนรถไปจอดนิ่งแล้วกดคันเร่งสุด เกือบถึงป้าย STOP เจ้าหน้าที่ก็ไม่บอกให้เบรก พอหัวรถถึงป้าย STOP จึงตัดสินใจกระทืบเบรกเอง ในรถทุกคันมี Performance Box วัดระยะเบรกได้ สอบถามว่าขอข้อมูลตัวเลขได้ไหม ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ได้
• ขับรถที่ใส่ยางคู่แข่งรอบ 2 กดคันเร่งแล้วชำเลืองดูว่าความเร็วถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว ก็พยายามเลี้ยงคันเร่งไว้ ขับผ่านไพลอนทั้งบนถนนเปียกและแห้งได้โดยสวัสดิภาพ จากนั้นลองเบรกอีกครั้งแล้วจึงสลับมาขับรถคันที่ใส่ยาง Pilot Sport 4 ขับ 2 รอบโดยพยายามรักษาความเร็วให้เท่าเดิม รู้สึกว่าช่วงสลาลมจะควบคุมรถง่ายกว่าเล็กน้อย และเมื่อดูจากป้ายบอกระยะก็จะเห็นว่าระยะเบรกสั้นกว่าพอสมควร
Formula 4
เกียร์ Paddle Shift ขับง่ายขึ้น
• ต่อเนื่องด้วยการขับรถ ฟอร์มูล่า 4 เป็นรถล้อเปิด เครื่องยนต์ 160 แรงม้า ตัวรถเบาหวิวเพียง 470 กิโลกรัม ทำความเร็วสูงสุดได้ 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใส่ยางสลิค ด้านหน้า 20/54-13 ด้านหลัง 22/54-13 เวลาจะเข้าไปนั่งต้องมีขั้นตอนเล็กน้อย เริ่มจากการก้าวขาข้างหนึ่งเข้าไปเหยียบในรถตรงบริเวณที่นั่ง จากนั้นใช้มือสองข้างจับขอบตัวรถไว้ ยกข้างอีกข้างเข้ามาในรถแล้วสอดขาทั้ง 2 ข้างไปด้านหน้าและหย่อนตัวลงนั่ง
• เมื่อ 5 ปีที่แล้วจำได้ว่าเกียร์เป็นแบบคันโยกอยู่ทางขวามือ แต่สำหรับปีนี้เป็นเกียร์ Paddle Shift ฝั่งขวาเปลี่ยนขึ้นเกียร์สูง ฝั่งซ้ายเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ สตาร์ตเครื่องยนต์แล้วเหยียบคลัตช์ ดึง Paddle Shift ทั้ง 2 ข้างพร้อมกันต่อเนื่องด้วยการดึง Paddle Shift ฝั่งขวาเพื่อเข้าเกียร์ 1 จากนั้นกดคันเร่งให้รอบสูงสักนิดประมาณ 2,000 รอบต่อนาที แล้วค่อยๆ ผ่อนคลัตช์เพื่อออกตัว หลังจากนั้นไม่ต้องเหยียบคลัตช์อีกเลยตลอดการขับ จนกว่าจะขับกลับเข้ามาจอด ช่วงขับออกตัวจะยากสักนิด มีอาการกระตุกบ้างเพราะไม่ชินกับระยะและน้ำหนักคลัตช์ รวมทั้งต้องเลี้ยงคันเร่งใช้ความเร็วต่ำเพราะเป็นช่วงที่ขับออกจากพิท พอพ้นช่วงพิทไปแล้วจึงกดคันเร่งได้มากขึ้น อาการกระตุกก็หมดไป
• รถแข่งรุ่นนี้ปกติจะมีการหล่อเบาะนั่งให้พอดีตัวผู้ขับ แต่เนื่องจากต้องเปลี่ยนกันขับหลายคน จึงใช้วิธีเอาเบาะมารองหลังให้หากรู้สึกว่านั่งห่างเกินไป ท่านั่งจะเป็นแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน ตัวจมลงไปในรถเกือบหมด โผล่มาแต่หัว บรรยากาศรอบด้านต่างจากการขับรถทั่วไปโดยสิ้นเชิง ความรู้สึกในการขับก็แตกต่างเช่นกัน ทั้งการหมุนพวงมาลัย การเหยียบคันเร่งและเบรก รวมทั้งการเปลี่ยนเกียร์ที่ออกแนวหนักแน่นดุดันสไตล์รถแข่ง บนทางโค้งต้องออกแรงฝืนร่างกายต้านแรงเหวี่ยง ส่วนบนทางตรงก็รู้สึกถึงลมที่ปะทะหมวกกันน็อคและเหมือนจะมีแรงยกหมวกขึ้นนิดๆ
• ตลอดการขับจะมีรถนำ และในสนามก็มีไพลอนวางบอกไลน์ขับที่ถูกต้องไว้ทั้งจุดเบรก จุด Apex ขาเข้า และจุดที่จะพารถออกจากโค้ง ก็พยายามขับไปตามจุดที่กำหนดไว้ เพราะรู้ว่าเจ้าหน้าที่ในรถนำกำลังจับตาดูอยู่ ใจจริงอยากขับชิลๆ เก็บเกี่ยวความรู้สึกในการขับรถล้อเปิดที่ไม่ได้มีโอกาสขับบ่อยนัก
Citroen DS3 R1
จุใจกับทางฝุ่น
• เมื่อ 5 ปีที่แล้วไม่ได้ขับรถแรลลี่เนื่องจากฝนตกหนักจึงต้องงดไป สำหรับครั้งนี้แม้ท้องฟ้าจะอึมครึม แต่ฝนไม่ตก จึงได้ลองขับรถ ซีตรอง ดีเอส3 อาร์1 มีกำลัง 125-130 แรงม้า น้ำหนักรถ 1,180 กิโลกรัม เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใส่ยางแรลลี่ขนาด 14/62-15 แก้มยางแข็งกว่ายางรถทางเรียบมาก เพราะต้องเผื่อไว้สำหรับการตกหลุมหรือโดดเนิน การขับเหมือนรถทั่วไป เพียงแต่ในสนามนี้จะใช้แค่เกียร์ 2 เท่านั้น ออกตัวด้วยเกียร์ 1 แบบนุ่มนวล เพราะจุดปล่อยรถอยู่ใกล้เต๊นท์ ถ้ากระชากออกอาจมีเศษหินปลิวได้ สนามนี้มีเจ้าหน้าที่นั่งไปด้วย สื่อสารกันผ่าน Intercom
• ออกตัวไปแล้วเข้าเกียร์ 2 ตลอดการขับ มีทั้งโค้งกว้างและแคบ ขึ้นเนินลงเนิน แต่ไม่ถึงกับโดดเนิน บางโค้งถ้าเจ้าหน้าที่ที่นั่งไปด้วยมองว่าอาจจะเข้าโค้งยากก็จะช่วยดึงเบรกมือให้ การขับไม่ได้กำหนดจำนวนรอบ แต่ใช้วิธีจับเวลา ถ้าขับเร็วก็จะได้ขับหลายรอบ ผมเน้นขับสบายๆ เหมือนเดิม มีบางครั้งที่เจ้าหน้าที่ช่วยดึงเบรกมือให้ รถก็สะบัดเข้าโค้งได้ง่ายขึ้น รถไม่มีแอร์และต้องปิดกระจกหมดป้องกันฝุ่น ทำให้ขับได้ไม่กี่รอบก็เริ่มเหนื่อย แต่ก็ยังไม่ได้รับคำสั่งให้กลับเข้าพิท ได้ขับกันแบบจุใจอีกหลายรอบ จึงได้เข้าพิทไปพักแล้วออกมาขับอีกหลายรอบ
Renault Clio IV
ปิดท้ายด้วยการหมุน!!
• ย้ายมาใช้สนามอีกฝั่งเพื่อขับรถ 2 รุ่นสุดท้าย รุ่นแรกเป็น ออดี้ เอ6 ที่ขับในช่วงเช้า ใส่ยางมิชลิน Pilot Sport 4 เหมือนเดิม แต่คราวนี้ขับในสนามแข่ง มีเจ้าหน้าที่นั่งไปด้วยเพื่อคอยบอกไลน์ ซึ่งในสนามก็มีไพลอนวางบอกจุดไว้ให้แล้ว ผมใช้ความเร็วปกติเพราะอยากจับอาการของยางรุ่นใหม่ว่าเป็นอย่างไร โดยรวมก็คงความนุ่มเงียบตามสไตล์มิชลิน และมีการยึดเกาะถนนที่ดี ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะใส่อยู่ในรถสมรรถนะสูงด้วย
• รถรุ่นสุดท้ายที่จะได้ขับคือ เรโนลต์ คลีโอ โฟร์ เป็นรถแข่งทัวริ่ง เครื่องยนต์ 220 แรงม้า น้ำหนัก 1,080 กิโลกรัม เกียร์ซีเควนเชียล ใส่ยางสลิค ด้านหน้า 20/61-17 ด้านหลัง 22/61-17 เริ่มต้นด้วยการเหยียบคลัตช์ กดปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์แล้วกดปุ่ม Gear ค้างไว้และดึง Paddle Shift ฝั่งขวาเพื่อเข้าเกียร์ 1 จากนั้นเร่งรอบประมาณ 3,000 รอบต่อนาที แล้วผ่อนคลัตช์จนสุด การเปลี่ยนเกียร์จากนี้จะใช้ Paddle Shift เท่านั้นและไม่ต้องเหยียบคลัตช์
• ขับด้วยความเร็วปกติ ไม่ได้ซัดแบบเต็มเหนี่ยว เพราะรู้สึกว่าสมาธิไม่ค่อยดีนัก แล้วก็เกิดเหตุจนได้ ช่วงจังหวะกำลังเข้าโค้งซ้าย แว่บเดียวรถก็หมุน 180 องศา รู้สึกตัวก่อนรถจะหมุนเพียงเสี้ยววินาที แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว สาเหตุไม่ใช่เพราะรถหรือยางไม่ดี แต่เป็นที่ตัวคนขับเองที่ผิดพลาด กับโค้งนี้ซึ่งเป็นโค้งยาก ต้องลดความเร็วลงมากๆ แต่กลับเบรกเบาเกินไป ทำให้ความเร็วก่อนเข้าโค้งสูงเกินไป (เจ้าหน้าที่อธิบายภายหลังว่า อาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อชินกับน้ำหนักในการเหยียบเบรกของรถทั่วไป ว่าออกแรงเหยียบแค่นี้ก็พอแล้ว แต่รถแข่งไม่มีหม้อลมเบรก ต้องออกแรงเหยียบมากกว่าปกติ) แล้วก็หมุนพวงมาลัยเร็วเกินไป ทำให้รถหมุน โชคดีที่ไม่หมุนไปฟาดกำแพง เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่มีรถตามมาแล้วก็รีบสตาร์ตเครื่องยนต์แล้วกลับรถขับเข้าพิท นึกอยู่ว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบนถนนสาธารณะคงจะเสียหายหนัก
Lamborghini Gallardo GT3
600 ม้าพาเพลิน
• ปิดท้ายกิจกรรมด้วย Hot Lap มีรถให้จับฉลากเลือก 2 คัน คือ แลมบอร์กินี รถแข่งจีที3 และ ฟอร์มูลา เลอมังส์ ผมได้นั่งแลมบอร์กินี เครื่องยนต์ วี10 5,200 ซีซี 600 แรงม้า ใส่ยางสลิคมิชลิน S9H ด้านหน้า 30/65-18 ด้านหลัง 31/71-18 ภายในเป็นรถแข่งแท้ มีโรลบาร์กับอุปกรณ์ที่จำเป็น ขับไหลๆ ออกจากพิทก็รู้สึกตื่นเต้นกับเสียงเครื่องยนต์ที่เร้าใจ แต่พอพ้นปากทางพิท ผู้ขับที่เป็นนักแข่งมืออาชีพก็กดคันเร่งสุด รถพุ่งออกไปอย่างรวดเร็วจนแทบตั้งตัวไม่ติด มุ่งเข้าหาโค้งโดยไม่มีทีท่าว่าจะเบรก กว่าจะเบรกก็เข้าไปในโค้งลึกมาก เบรกแล้วเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำกดคันเร่งต่อ รถไต่โค้งด้วยความเร็วสูง รู้สึกได้ถึงแรงเหวี่ยงด้านข้างจนต้องฝืนตัวไว้ รถเข้าโค้งได้คมกริบและนิ่งมั่นคง เร็วแบบสุดๆ แต่ไม่น่ากลัว เป็นประสบการณ์ที่สะใจจริงๆ •
ขอบคุณ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง