December 22, 2016
Motortrivia Team (10189 articles)

Hyperloop และปัญหาการจราจร (จล) ของ Elon Musk

เรื่อง : AREA 54

●   นาทีนี้ผู้ที่ติดตามข่าวสารในแวดวงยานยนต์โลกคงจะต้องเคยได้ยินชื่อ Hyperloop กันมาบ้าง และสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับชื่อนี้ เรารู้กันแล้วว่าระบบการขนส่งสาธารณะความเร็วสูงไฮเปอร์ลูปจะถูกดำเนินงานภายใต้บริษัทใหม่อย่าง Hyperloop | One (เดิมคือ Hyperloop Technologies) ทว่าก่อนที่ระบบนี้จะมีการใช้งานจริงในอนาคต CEO ไฮเปอร์อย่าง Elon Musk ก็ยังเหมือนกับเราทุกคนที่ยังต้องผจญกับปัญหาโลกแตกอย่างการจราจรติดขัด

●   เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2016 ที่ผ่านมา Elon Musk ได้ทวิตข้อความขึ้นมาว่า “ไอ้การจราจรนี่กำลังทำให้ผมบ้า ผมจะสร้างเครื่องเจาะอุโมงค์แล้วจัดการลงมือขุดมัน…”  ผ่านไปราวชั่วโมงกว่า เหมือนเขาจะคิดอะไรขึ้นมาได้เพิ่มเติม เขาทวิตข้อความขำๆ อีกว่า “มันจะถูกเรียกว่า “The Boring Company””  ซึ่งเป็นการเลือกเล่นคำระหว่าง Bore (เจาะ) และ Boring (น่าเบื่อ) จากนั้นในนาทีต่อมา เขาทวิตต่อว่า “ขุดมันซะ นั่นแหละที่เราจะทำ”

●   หลังจากผ่านไปอีก 2 ชม. จากข้อความที่ดูเหมือนจะเป็นการระบายอารมณ์แบบขำขัน Musk ทำท่าว่าจะจริงจังกับไอเดียนี้มากกว่าที่เราคิดกัน เขาทวิตข้อความสุดท้ายว่า “ผมจะทำมันจริงๆ นะ”  พร้อมกับเปลี่ยนประวัติย่อในแอคเคาท์ทวิตเตอร์เป็น “Tesla, SpaceX, Tunnels (yes, tunnels) & OpenAI” ซึ่งเราต้องรอดูกันต่อไปว่า Musk เอาจริงกับไอเดียขุดอุโมงค์ใต้ท้องถนนนี้แค่ไหน…

●   หากจะมีใครสักคนบนโลกนี้ที่คิดและลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขการจราจรที่ติดขัดอย่างจริงจัง (และบ้าเลือดสุดๆ) ก็ต้องเป็นคนที่ไฮเปอร์ชนิดยิ่งยวดอย่าง Elon Musk นี่แหละครับ

ย้อนรอย Hyperloop ส่งท้ายปี 2016

●   Hyperloop เป็นระบบขนส่งสาธารณะความเร็วสูงที่ Elon Musk เรียกมันว่า ‘การเดินทางในโหมดที่ 5’ หรือ fifth mode ต่อจาก เครื่องบิน, รถไฟ, รถยนต์ และเรือ ใช้สำหรับเดินทางข้ามเมืองในระยะทางที่น้อยกว่า 1.4 พันกิโลเมตร โดยหลักการ Hyperloop คล้ายๆ กับรถไฟรางเดี่ยว คือ ขนส่งผู้คนแบบยิงตรงจากจุด A ไปยังจุด B แบบไป-กลับด้วยระยะทางที่แน่นอน

●   ไอเดียนี้เริ่มเป็นรูปร่างในเดือนสิงหาคม 2013 เมื่อ Musk เปิดโปรเจคท์นี้ในลักษณะไอเดียสาธารณะในชื่อแผนงาน Hyperloop Alpha หัวข้อหลักคือ ความปลอดภัย, ความรวดเร็วในการเดินทาง, ต้นทุนการผลิตต่ำ, ผู้โดยสารใช้งานสะดวก, ทนทานต่อสภาพอากาศ และต้องสามารถซับแรงจากแผ่นดินไหวได้ พร้อมขอแชร์ความเห็นจากบรรดานักคิดนอกกรอบทั่วโลก หลังจากนั้นไม่นานจึงมีการเปิดตัวบริษัท Hyperloop Technologies Inc. โดยมี Brogan Bambrogan อดีตวิศกรด้านอวกาศของ SpaceX ดูแลในฐานะ CEO ชั่วคราวและมีนักลงทุนสัญชาติอิหร่าน Shervin Pishevar เป็นผู้สนับสนุนทุนรายใหญ่

●   ไอเดียตั้งต้นของ Musk ในช่วงปี 2013 – 2014 คือการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำเชิงเส้น (Linear Induction Motor) ซึ่งอาจดัดแปลงมาจากระบบของ Tesla Model S ให้มีความเหมาะสมกับการติดตั้งกับตัวกระสวย (Pod หรือ Capsule) ใช้เร่งความเร็วให้กระสวยเป็นระยะๆ ทุกๆ 112 กม. โดยประมาณ ทั้งระบบไม่มีการปล่อยมลพิษใดๆ ทั้งสิ้น ระบบแสงสว่างภายในท่อเดินทางจะใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซล์ที่ติดตั้งเป็นจุดๆ บนหลังคาท่อ ส่วนตัวกระสวยนั้นแน่นอนว่าจะมีระบบชาร์จไฟกลับในบางจังหวะสำหรับเก็บเกี่ยวพลังงานที่สูญเสียไป

●   ในปี 2014 Musk ต้องการให้มีการดำเนินงานเรื่อง Hyperloop อย่างจริงจัง โดยเปิดบริษัทลูกในชื่อ Hyperloop | One และมอบหมายให้ Rob Lloyd อดีตผู้บริหารของ Cisco เข้ามารับตำแหน่งแทน Bambrogan ซึ่งรับหน้าที่ชั่วคราวในบริษัทเดิม Hyperloop Technologies Inc. ก่อนหน้านี้

●   ปลายปี 2015 Hyperloop One และสำนักงานรัฐเนวาดาเริ่มเตรียมพื้นที่สำหรับสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อทดลองใช้งานระบบ Hyperloop จริง โดยใช้พื้นที่ประมาณ 50 เอเคอร์ทางตอนเหนือของลาส เวกัส ทดสอบระบบการวิ่งด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำเชิงเส้น ความเร็วที่ต้องการในเบื้องต้นคือ 335 ไมล์/ชม. หรือประมาณ 539 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วเพียงครึ่งเดียวของระบบ Hyperloop จริงที่คาดเอาไว้เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์

●   การเดินทางด้วย pod ผ่านท่อสุญญากาศ หากตัวระบบ Hyperloop ทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ ความเร็วสูงสุดที่มีการคาดกันไว้ตามทฤษฎีคือ 700 ไมล์/ชม. หรือราว 1,100 กม./ชม. ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากลอสแองเจลิส ไปยังซานฟรานซิสโก ร่นระยะเวลาลงเหลือเพียง 30 นาทีโดยประมาณ จากเดิมที่การเดินทางด้วยรถยนต์ต้องใช้เวลามากกว่า 5 ชม. หรือเร็วกว่าเครื่องบินที่ใช้เวลาราว 1 ชม.กว่าๆ ฐานวางท่อต้นแบบสำหรับระบบทดสอบมีระยะทางราว 1 กม.

●   ในเบื้องต้น pod หรือ capsule บรรจุผู้โดยสารอาจมีขนาด 6 – 8 ที่นั่ง และ pod จะมีหลายแบบ เช่น ที่นั่งจำนวนน้อยสำหรับ VIP ไปจนถึง pod ขนาดใหญ่สำหรับสินค้า ราคาตั๋วต่อเที่ยวคาดว่าจะเริ่มต้นที่ 20 ดอลลาร์ หรือประมาณ 700 กว่าบาท ซึ่งนับว่าถูกมาก (หากเป็นจริง) ทั้งนี้ค่าก่อสร้างท่อขนส่งจาก แอล.เอ. ไปยังซานฟรานฯ อาจสูงถึง 16 พันล้านดอลลาร์ และเฉพาะฟังก์ชั่นอัตราความเร็วเสียงของ Hyperloop (ประมาณ 1,236 กม./ชม.) คาดว่าจะมีมูลค่าในการพัฒนาราว 6 พันล้านบาท

●   กลางปี 2016 Brogan Bambrogan ลาออกจากบริษัท โดย Josh Giegel ซึ่งนั่งอยู่ในตำแหน่งรองประธานได้รับการโปรโมทขึ้นมาแทนที่ อย่างไรก็ตาม แผนงานส่วนใหญ่ในเนวาด้าได้รุดหน้าไปอย่างมาก โรงงานแห่งแรกของ Hyperloop One เริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการในนามโรงงาน Hyperloop One Metalworks ใช้พื้นที่ทางตอนเหนือของลาส เวกัส กว่า 1 แสนตารางฟุท มีการจ้างงานมากกว่า 100 อัตรา รวมแล้วมีพนักงานราว 200 ชีวิต หน้าที่หลักคือการมองหากรรมวิธีการผลิตชิ้นส่วนตัวโปรโทไทป์ของ Hyperloop ที่เรียกกันว่า “DevLoop” ย่อมาจาก development hyperloop

●   หลังพ้นกลางปี 2016 ที่ผ่านมา Hyperloop One ได้มีการดำเนินงานในทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เช่น ดูไบ หนึ่งในพื้นที่ที่มีมูลค่าการลงทุนเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ได้ลงนามให้ Hyperloop One เริ่มต้นวางแผนการก่อสร้างและทดสอบระบบในตัวเมือง หลักๆ ได้แก่เส้นทางที่จะเชื่อมต่ออาบูดาบีและดูไบเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจาก 1.2 ชม. ให้เหลือเพียง 12 นาทีเมื่อเทียบกับการเดินทางโดยรถยนต์

●   ซีอีโอ Rob Lloyd และแชร์แมน Shervin Pishevar ออกโรงการันตีว่า ในอนาคตผู้โดยสารจะไม่มีอาการเมารถอีกต่อไป และระบบในเบื้องต้นจะเป็นระบบแบบไร้คนขับ อีกทั้งผู้โดยสารยังสามารถระบุปลายทางได้ด้วยตัวเอง ซึ่งน่าจะเป็นการระบุ ‘สถานี’ ที่จะขึ้น-ลงแบบรถไฟความเร็วสูง ในกรณีที่ระบบมีการขยับขยายในเฟสต่อไป กำหนดการเปิดใช้งานจริงของเฟสแรกคือปี 2020 – 2021 นอกจากนี้ทางการดูไบยังมีทีท่าแสดงความพอใจความคืบหน้าของโครงการเป็นอย่างมาก โดยพิจารณาเพิ่มเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เช่น การ์ตา, ซาอุดิอารเบีย หรือโอมานในอนาคตด้วย

●   นอกจากดูไบแล้ว Hyperloop One ยังเตรียมแผนงานสร้าง Pod พร้อมเส้นทางทั้งแบบขนส่งผู้คน และแบบคาร์โกส่งสินค้าในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกด้วย อาทิ ในสหรัฐฯ เอง, ฟินแลนด์, สวิทเซอร์แลนด์ และรัสเซีย โดยในแต่ละแห่งจะเป็นการลงทุนร่วมกับบริษัทในพื้นที่และทางการของแต่ละประเทศ ซึ่งกรอบเวลาในการเปิดให้บริการจริงจะใกล้เคียงกัน คือภายในช่วงปี 2020 – 2021   ●