Nissan A2Z ชมงาน Nismo Festival ทดลองขับ Note e-POWER
เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ
● วันที่ 10-15 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เชิญสื่อมวลชนไทยเข้าร่วมกิจกรรม Nissan A2Z ที่ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับสื่อมวลชนในแถบเอเชียและโอเชียเนียกว่า 40 คน พบปะอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองกับผู้บริหารของนิสสัน ที่เผยถึงทิศทางการทำตลาดของนิสสันในอนาคตซึ่งจะเน้นไปที่ Nissan Intelligent Mobility หรือนวัตกรรมเคลื่อนที่อัจฉริยะ เพื่อลดมลภาวะและจำนวนอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ พร้อมทดลองขับรถนิสสัน 3 รุ่นใหม่ ประกอบด้วย นิสสัน Note e-POWER, นิสสัน Leaf ที่มียอดจำหน่ายทั่วโลกกว่า 240,000 คัน และทดลองใช้ เทคโนโลยี ProPILOT ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งติดตั้งอยู่ใน รถเอ็มพีวีรุ่น Serena พร้อมสัมผัสอากาศหนาวระดับ 3 องศาเซลเซียส เพื่อชมงาน Nismo Festival 2016 ซึ่งจัดขึ้นที่ Fuji Speedway
● วันแรกเดินทางกันแบบสบายๆ ถึงสนามบินนาริตะในช่วงบ่าย ต้อนรับด้วยอุณหภูมิเลขตัวเดียว 7 องศาเซลเซียส จากนั้นเดินทางเข้าที่พัก Yakohama Bay Sheraton Hotel ซึ่งใช้เป็นจุดรวมตัวของสื่อมวลชนและทีมงานนิสสันที่มาร่วมงาน Nissan A2Z ในครั้งนี้ โดยจะพักที่โรงแรมนี้ 4 วัน
Nismo Festival
กิจกรรมสำหรับชาวมอเตอร์สปอร์ต
● เช้าวันที่ 11 ออกเดินทางแต่เช้าเพื่อชมงาน Nismo Festival ครั้งที่ 19 ที่สนามแข่ง Fuji Speedway ซึ่งครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นการครบรอบ 50 ปีของสนาม หลังจากเปิดตัวเป็นทางการในเดือนธันวาคม ปี 1965 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการปรับปรุงสนามหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายในปี 2003 มีการออกแบบสนามใหม่โดย Hermann Tilke และใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน สนามแห่งนี้มีความยาว 4.56 กิโลเมตร โค้งซ้ายขวารวม 16 โค้ง
● Nismo Festival เป็นการรวมตัวของแฟนนิสสันที่มีใจรักในมอเตอร์สปอร์ต ซึ่งมาร่วมงานครั้งนี้กว่า 30,000 คน เพื่อร่วมชื่นชมนักแข่งคนโปรดทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดูรถแข่งทีมโปรดทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีการแข่งรถในรายการ Nismo Grand Prix ซึ่งกลุ่มสื่อมวลชนมีโอกาสได้เข้าไปดูรถแข่งและ Race Queen อย่างใกล้ชิดด้วยกิจกรรม Grid Walk และเลือกชมอุปกรณ์ตกแต่งรถนิสสันและของที่ระลึกจากหลายสำนักแต่งชื่อดังที่นำมาจำหน่ายในราคาพิเศษ เรียกได้ว่าแม้จะไม่ได้ใช้รถนิสสัน ก็มีโอกาสเสียเงินได้เหมือนกัน
● นอกเหนือจากกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นในสนามแล้ว สิ่งน่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ การได้ชื่นชมภูเขาไฟฟูจิอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางอากาศหนาว 4-5 องศาเซลเซียส มีบางช่วงที่อากาศเปิดและยอดเขาไม่มีเมฆบัง แม้แต่ชาวญี่ปุ่นเองยังอดไม่ได้ที่จะยกกล้องขึ้นถ่ายรูปยอดเขาที่มีหิมะปกคลุม จากนั้นเดินทางออกจากสนามประมาณ 16.00 น. ถ้าอยู่ที่สนามต่อถึงช่วง 19.00-20.00 น. ก็จะได้สัมผัสอุณภูมิติดลบ
View Nissan A2Z and Nismo Sestival Gallery
Nissan Crossing & Nissan Global Headquarters Gallery
พูดคุยกับ 3 ผู้บริหาร เกี่ยวกับทิศทางของนิสสันในอนาคต
● ย้อนกลับไปในปี 1963 สถานที่แห่งนี้คือ Nissan Gallery ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างนิสสันกับสาธารณะชน จากนั้นในปี 2014 จึงปรับปรุงใหม่เป็น Nissan Crossing ยังคงเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้เกี่ยวกับ Intelligent Mobility ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของนิสสันสำหรับอนาคตในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรถยนต์กับมนุษย์ ในช่วงที่เข้าเยี่ยมชม ชั้นล่างมี รถต้นแบบ Gripz และ Teatro for Dayz และรถสปอร์ตอย่าง GT-R Nismo จัดแสดงอยู่ โดยจะมีการพรีเซ็นต์เป็นช่วงๆ ตามเวลาที่กำหนด สังเกตว่ามีคนให้ความสนใจเข้ามาดูอย่างต่อเนื่อง
● ภายในอาคารตกแต่งด้วยธีม Spiral สื่อถึงการเดินทางจากอดีตถึงปัจจุบันและไปสู่อนาคต ส่วนที่เป็น Spiral สามารถเปลี่ยนสีได้ตามฤดูกาล เวลาในแต่ละวัน หรือเปลี่ยนให้เหมาะกับกิจกรรมที่จัดขึ้น ชั้นบนมีส่วนจัดแสดงนวัตกรรมต่างๆ ของนิสสัน เวทีสำหรับงานพรีเซ็นต์ และมุมคาเฟ่สำหรับนั่งผ่อนคลาย ส่วนภายนอกอาคารตกแต่งด้วยไฟ LED ที่ฝังอยู่ในเนื้อกระจกของอาคาร ไฟสามารถเปลี่ยนสีได้ ยามค่ำคืนอาคารแห่งนี้จึงถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์บนถนนกินซ่า
● ในช่วงการแถลงข่าว ได้รับเกียรติจาก Mr. Daniele Schillaci ตำแหน่ง Executive Vice President, Global Sales & Marketing บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้แถลงวิสัยทัศน์ของนิสสัน ที่จะทยอยเพิ่มเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ภายใต้นวัตกรรมเคลื่อนที่อัจฉริยะ หรือ Nissan Intelligent Mobility เข้าไปในรถยนต์นิสสันรุ่นปัจจุบัน และรถยนต์รุ่นใหม่ๆ สำหรับ ตลาดภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนียในอนาคต เพื่อให้ลูกค้า ซึ่งอาจเป็นทั้งผู้ขับและผู้โดยสารเข้าถึงเทคโนโลยีของนิสสัน
● Nissan Intelligent Mobility เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบาย โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ Intelligent Driving ประกอบด้วย กล้องมองรอบทิศทาง ระบบช่วยขับต่างๆ เตือนจุดบอดด้านข้าง เตือนเมื่อรถออกนอกเลน ระบบรักษาระยะห่าง รวมถึงระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน Intelligent Power หรือระบบการขับเคลื่อนซึ่งไม่เพียงให้สมรรถนะเป็นเยี่ยม แต่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยี e-Bio Fuel-Cell ส่วนสุดท้าย คือ Intelligent Integration การเชื่อมต่อให้คนและรถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ดังเช่นที่ญี่ปุ่นที่ นำพลังงานไฟฟ้าจาก Nissan Leaf ไปใช้ในบ้าน.
● ในส่วนของ Intelligent Driving มีเทคโนโลยีที่สำคัญอย่าง Autonomous Drive Technology ซึ่งนิสสันเรียกว่า ProPilot เป็นการทำทำตามพันธสัญญาที่นิสสันประกาศไว้ว่าเปิดตัวรถยนต์ขับอัตโนมัติ ProPilot ในรถรุ่น Serena ในปี 2016 ได้พัฒนาให้ใช้บนถนนไฮเวย์แบบเลนเดียว จากนั้นในปี 2018 จะปรับให้ใช้ได้กับไฮเวย์แบบหลายเลน และในปี 2020 จะใช้งานในเมืองหรือทางแยกได้ โดยนิสสันมีโครงการจะนำเทคโนโลยีขับอัตโนมัตินี้ออกสู่ตลาด โดยเริ่มจากรถยนต์รุ่นหลักของแต่ละตลาดก่อน และตั้งเป้าที่จะนำระบบ ProPilot ติดตั้งในรถยนต์รุ่นต่างๆ รวม 10 รุ่น ในประเทศญี่ปุ่น, จีน, ประเทศในแถบยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา
● Intelligent Power นิสสันพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 1947 หรือกว่า 70 ปีที่แล้วในรถรุ่น Tama EV และรถรุ่น Hypermini ในปี 1999 มาถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นปัจจุบันคือ Leaf ที่เปิดตัวในปี 2010 ปัจจุบันยอดจำหน่ายทั่วโลกแล้วกว่า 240,000 คัน ซึ่งมียอดขายมากที่สุดในโลก สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านี้ ไม่เพียงประหยัดพลังงาน แต่ยังมีสมรรถนะที่ดี แบตเตอรี่มีความทนทาน และให้ความสนุกสนานในการขับ โดยนิสสันยังคงพัฒนาแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้นานขึ้น
● ปัจจุบันสถานีชาร์จไฟฟ้าในญี่ปุ่นมีกว่า 7,000 แห่ง ตามด้วยยุโรป 3,900 แห่ง และสหรัฐอเมริกา 2,000 แห่ง แต่ด้วยข้อจำกัดในการพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าในแต่ละประเทศ นิสสันจึงพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ เช่น การเปิดตัวระบบ e-Power ที่เริ่มติดตั้งในรถยนต์รุ่นแรกของโลกคือนิสสัน Note e-Power ในญี่ปุ่น ซึ่งมียอดจำหน่ายถึง 15,000 คัน นับตั้งแต่เปิดตัว
● สำหรับประเทศไทย นิสสัน เอ็กซ์เทรล ไฮบริด มีการตอบรับที่ดี และเป็นสัญญาณที่ดีว่าคนไทยให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮบริด และมีความเป็นไปได้ว่านิสสันจะทำตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าในเมืองไทย แต่ยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน
● หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวก็เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถาม จากนั้นจึงพักทานอาหารกลางวัน ก่อนจะออกเดินทางต่อไปยัง Nissan Global Headquarters Gallery เพื่อพบกับอีก 2 ผู้บริหารคนสำคัญของนิสสัน คือ Mr. Yutaka Sanada, Regional Senior Vice President & Head of Operations Committee, Asia & Oceania บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ได้กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากการที่พันธมิตรเรโนลต์-นิสสัน ได้ต้อนรับ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เป็นเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในอนาคต โดยเฉพาะนิสสันไทยและอินโดนีเซีย เช่น
● ความร่วมมือด้านการจัดซื้อ การวางแผนการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้นิสสันสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่ทั้ง 2 บริษัท จะมีความร่วมมือด้านอื่น เช่น การสร้างแบรนด์การบริการหลังการขาย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยยังคงมุ่งเน้นเรื่องการให้ความสำคัญกับลูกค้า และการสร้างความน่าเชือถือและความไว้วางใจให้กับลูกค้า ซึ่งนิสสันจะยังคงรุกในทุกด้าน เพื่อให้ลูกค้าของนิสสันมีความพึงพอใจ โดยตั้งเป้าที่จะเป็นแบรนด์ชั้นนำที่ลูกค้ามีความพึงพอใจมากที่สุด
● นอกจากนี้ยังตอกย้ำถึงความสำคัญของนิสสันในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียว่า นิสสันมีรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งและยาวนานกว่า 50 ปี และเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมในภูมิภาค ครอบคลุม 15 ประเทศ มีพนักงานมากกว่า 11,000 คน มีฐานการผลิต 6 แห่ง และมีเครือข่ายผู้จำหน่ายมากกว่า 750 แห่ง
● ในปี 2015 นิสสันมียอดจำหน่ายรวมมากกว่า 270,000 คัน มีศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ทันสมัยในประเทศไทย นิสสันเห็นโอกาสในการสร้างการเติบโต โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะนำมาสร้างแบรนด์นิสสันให้แข็งแกร่ง และก้าวเป็นแบรนด์ชั้นนำในใจของลูกค้า ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าสองหลักขึ้นไปภายใน 5 ปี นับจากนี้ไป คือ การให้ความสำคัญกับลูกค้า
● “จากการที่ประชากรในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาจราจร และสังคมเข้าสู่สังคมสูงอายุ ผู้คนห่วงเรื่องความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นิสสันจึงมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในภูมิภาคนี้ ให้มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ภายใต้แนวคิด Intelligent Mobility ซึ่งจะทำให้รถรุ่นปัจจุบันตอบโจทย์ลูกค้าทั้งในเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม รวมถึง ตอบสนองชีวิตทันสมัยที่ต้องการเชื่อมต่อกับสังคมอย่างกลมกลืนและเกื้อกูล”
● นอกจากนี้นิสสันยังมีโอกาสเติบโตจากความต้องการยานยนต์ในตลาดใหม่อย่างประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม หรือประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างการเติบโต ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกของรถยนต์นิสสันไปยังกว่า 110 ประเทศ โดยมีความพร้อมทั้งด้านโรงงานผลิต ศูนย์วิจัยพัฒนาที่ทันสมัย ประสบการณ์ในตลาด องค์ความรู้ และทรัพยากรบุคล ดังนั้นประเทศไทยจึงมีความสำคัญต่อทั้งในภูมิภาคนี้และต่อนิสสันโลก โดยนิสสันได้วางบทบาทให้ประเทศไทยเป็นฐานการการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกด้วย
● สำหรับแผนการสร้างความเติบโตของนิสสันในภูมิภาคเอเชียโอเชียเนีย นอกจากกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ และการใช้ฐานการผลิตให้มีประสิทธิภาพแล้ว นิสสันยังมีแผนจะลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต รวมถึงการพัฒนาครือข่ายการจำหน่ายที่ต้องมีการติดต่อกับลูกค้า ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยนอกจากการมีฐานวิจัยและพัฒนาเป็นรากฐานสำคัญแล้ว ยังต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้มแข็งอย่าง ตันจงจากประเทศมาลเซีย ที่มีการทำงานเชิงกลยุทธ์ร่วมกันอย่างใกล้ชิด
● ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งผู้บริหารของนิสสัน Mr. Philippe Guérin-Boutaud ตำแหน่ง Corporate Vice President, Global LCV BU Head จากนิสสัน มอเตอร์ คอร์เปเรชั่น ดูแลรถ LCV หรือ Light Commercial Vehicle ซึ่งนิสสันมียอดจำหน่ายทั่วโลกเป็นอันดับ 1 ประมาณ 1 ล้านคัน ครบทุกเซ็กเมนต์ รถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กของนิสสันประสบความสำเร็จเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจ รวมทั้งมีความแข็งแกร่งตามแบบฉบับของนิสสัน
● รถ LCV ของนิสสัน มีประวัติการทำตลาดมากว่า 82 ปี เริ่มจากนิสสัน 10T ปี 1934 ได้รับรางวัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และมียอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคที่ทำตลาด แต่นิสสันก็ยังคงก้าวไปอย่างต่อเนื่องด้วยการลงทุนกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงกับกลุ่มประเทศเอเชียและโอเชียเนีย ที่จะพัฒนารถยนต์ภายใต้แนวคิด Intelligent Mobility สำหรับทุกคน
● รถ LCV ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด Intelligent Mobility ก็เช่น นิสสัน NV350 Urvan มีระบบ Front Emergency Brake หรือ นิสสัน นาวาร่า ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลทวินเทอร์โบ ไอเสียสะอาดและประหยัดเชื้อเพลิง ระบบช่วงล่างหลังแบบมัลติลิงก์ และระบบกล้องรอบคันเพิ่มความปลอดภัย หรือรถรุ่น e-NV200 ที่ใช้ระบบ Fuel Cell ที่ช่วยลดค่าเชื้อเพลิง ลดคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ มาพร้อมกำลังการขับเคลื่อนที่ดี
View Nissan Crossing and Headquarters Gallery
Oppama GRANDRIVE
ทดลองขับรถ 3 รุ่น
● วันที่ 13 เดินทางไปยังสนาม Oppama GRANDRIVE เพื่อทดลองขับรถ 3 รุ่น ประกอบด้วย Note e-POWER, Leaf และ Serena ที่ติดตั้งระบบ ProPILOT
● นิสสัน Note e-POWER ทำตลาดในญี่ปุ่นด้วยราคา 1,393,200-2,244,240 เยน หรือประมาณ 445,000-710,000 บาท มิติตัวถังมีความยาว 4,100 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,520 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,210 กิโลกรัม ยาง 185/70/14
● เครื่องยนต์รหัส HR12DE เบนซิน 3 สูบ VVT หัวฉีด ECCS ความจุ 1,198 ซีซี มีกำลัง 79 แรงม้า ที่ 5,400 รอบต่อนาที แรงบิด 10.5 กก.-ม. ที่ 3,600-5,200 รอบต่อนาที มาพร้อมระบบ Idling Stop อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 34 กิโลเมตรต่อลิตร ถังน้ำมันจุ 41 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ EM57 AC Synchronous Motor กำลังสูงสุด 109 แรงม้า ที่ 3,008-10,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 25.9 กก.-ม. ที่ 0-3,008 รอบต่อนาที เครื่องยนต์หน้าที่ปั่นไฟเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ใช้ขับเคลื่อนรถเลย เพราะคันเร่งไม่ได้ต่อกับเครื่องยนต์ รอบเครื่องยนต์มีการสวิงขึ้น-ลงบ้าง เพื่อปั่นไฟ แต่ผู้ขับจะไม่รู้ว่าเครื่องยนต์ทำงานอยู่ที่รอบเท่าไรเพราะไม่มีมาตรวัดรอบ
● แม้ภายนอกจะดูกะทัดรัด แต่ภายในของ Note กว้างขวางกว่าที่คิด ลองให้เพื่อนสื่อมวลชนที่สูงเกิน 180 เซนติเมตร นั่งบนเบาะผู้ขับ ปรับระยะให้เหมาะสมแล้วย้ายไปนั่งเบาะหลังฝั่งผู้ขับ ก็ยังมีที่วางขาอีกเหลือเฟือ ศีรษะเฉี่ยวๆ เพดานเมื่อนั่งพิงเต็มหลัง เบาะหลังพับได้แต่ไม่ราบเป็นระดับเดียวกับพื้นห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง วัสดุและการประกอบถือว่าทำได้ดีเกินราคา
● ในช่วงทดลองขับพบว่า จังหวะที่เครื่องยนต์ทำงานเพื่อปั่นไฟ จะมีการสั่นสะเทือนพอให้รู้สึกได้บ้าง และมีเสียงเครื่องยนต์แผ่วๆ เมื่อกดปุ่ม Start ระบบจะเริ่มต้นทำงานด้วยโหมด Normal ทดลองขับในสนามด้วยการขับตามรถนำ มีวิทยุสื่อสารแจ้งว่าให้ใช้ความเร็วเท่าไรบ้าง ระหว่างการทดลองขับเครื่องยนต์ทำงานและดับในบางช่วงตามความเหมาะสม จากนั้นได้รับแจ้งให้เปลี่ยนเป็นโหมด S โดยกดสวิตช์แถวคันเกียร์ แล้วสังเกตความแตกต่าง โหมด S ไม่ใช่ Sport แต่หมายถึง Smart คือ ระบบจะจัดการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด เมื่อผ่อนคันเร่งหรือเบรก จะรู้สึกว่ามีแรงหน่วงมากขึ้น และสังเกตบนชุดมาตรวัดจะเห็นว่ามีการชาร์จไฟฟ้ากลับเข้าแบตเตอรี่มากกว่าขับในโหมด Normal ด้วย ก่อนเสร็จสิ้นการทดลองขับ ลองแอบเปลี่ยนเป็นโหมด ECON พบว่าเมื่อผ่อนคันเร่งจะมีแรงดึงพอๆ กับโหมด S สอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่า ทั้งโหมด ECON และโหมด S จะมีแรงดึงเท่ากัน แต่โหมด ECON จะเพิ่มการจัดการในเรื่องของเครื่องปรับอากาศและระบบอื่นๆ โดยเน้นการประหยัดพลังงานให้มากขึ้น
● อัตราเร่งของ Note e-POWER นับว่าทันใจเกินคาด มีช่วงทางตรงเจ้าหน้าที่ให้เพิ่มความเร็วจาก 60 เป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็เร่งได้ทันใจทั้งที่ไม่ได้กดคันเร่งสุด ช่วงล่างไม่ยวบยาบ ค่อนไปทางหนืดนิดๆ แต่ไม่ถึงกับกระด้าง เบรกให้ความรู้สึกใกล้เคียงระบบเบรกที่ใช้หม้อลม แต่ยังมีความรู้สึกแป้นเบรกแข็งๆ ต้านเท้าอยู่นิดๆ
● นิสสัน Note e-POWER น่าจะเหมาะกับเมืองไทย เพราะรถสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งสถานีชาร์จ ขับใช้งานได้เหมือนรถยนต์ทั่วไป แต่ประหยัดเชื้อเพลิงกว่า เพราะเครื่องยนต์ทำหน้าที่แค่ปั่นไฟ ใช้รอบไม่สูงนัก ส่วนการขับเคลื่อนเป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
● สำหรับนิสสัน Serena จะมีเจ้าหน้าที่อธิบายวิธีใช้งานระบบ ProPILOT ซึ่งประกอบด้วยกล้องความละเอียดสูงติดตั้งบนกระจกหน้า ใช้ตรวจสอบรถคันอื่นและเส้นแบ่งเลน กล้องจะส่งสัญญาณไปยังกล่องควบคุม ADAS ECU ซึ่งจะควบคุมระบบต่างๆ ทั้งเบรกมือไฟฟ้าพร้อมระบบ Hold จอดนิ่งโดยผู้ขับไม่ต้องเหยียบเบรก ระบบ ECM ที่ใช้ควบคุมคันเร่งไฟฟ้า ระบบ EPS ควบคุมการเลี้ยวของพวงมาลัย และ VDC สำหรับควบคุมการเบรก
● ก่อนทดลองขับ โดยเจ้าหน้าที่จะนั่งไปด้วยกัน มีรถนำ 1 คัน ซึ่งใช้ในการทดลองระบบด้วย การเปิดใช้งานระบบ ProPILOT ก็ไม่ยุ่งยาก แค่กดปุ่มเพื่อให้ระบบ Stand By ไฟสัญญาณของระบบนี้จะเป็นสีเทา และกดปุ่ม SET อีกครั้งเมื่อรถเคลื่อนตัว จากนั้นกดปุ่ม + หรือ – เพื่อปรับความเร็วที่เหมาะสม เมื่อทุกระบบทำงาน ไฟสัญญาณบนชุดมาตรวัดจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ผู้ขับแค่ประคองพวงมาลัยไว้ รถจะเลี้ยวไปตามทางได้เอง รักษาความเร็วให้เท่ารถคันหน้า เว้นระยะห่างให้เองโดยอัตโนมัติตามความเร็ว และเมื่อคันหน้าเบรก รถก็จะเบรกกระทั่งหยุดนิ่งได้อย่างนุ่มนวล
● ถ้าหยุดนิ่งนานเกิน 3 วินาที ผู้ขับต้องกดปุ่ม RES+ หรือ Resume ให้ระบบกลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนตัว โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเวลา 3 วินาทีนั้นสั้นไปนิด ถ้าเป็นการใช้งานจริงที่รถติดนานกว่านี้คงต้องกดปุ่ม RES+ กันบ่อยๆแต่ถ้าเป็นการเบรกสลับกับเคลื่อนตัว หรือ Stop&Go Mode รถจะขยับตามคันหน้าให้โดยไม่ต้องกดปุ่มใดๆ สังเกตว่ารถจะเบรกและออกตัวได้อย่างนุ่มนวล ช่วยให้ขับได้อย่างผ่อนคลายมากขึ้น ลองแกล้งปล่อยพวงมาลัย เมื่อระบบตรวจพบว่าไม่มีแรงต้านบนพวงมาลัย ก็จะตัดการทำงานในส่วนของพวงมาลัย
● ปิดท้ายด้วยนิสสัน Leaf รถยนต์พลังไฟฟ้าล้วนๆ ต้องชาร์ไฟด้วยการเสียบปลั๊กเท่านั้น รุ่นปี 2017 ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AC Synchromous ขนาด 80 กิโลวัตต์ กับแบตเตอรี่ลิเธียม-ไออน 192 เซลส์ ขนาด 30 kWh กำลังสูงสุด 107 แรงม้า แรงบิด 25.8 กก.-ม. ใช้เวลาชาร์จไฟประมาณ 6-7 ชั่วโมง ขับได้ระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะการขับและสภาพการจราจร แบตเตอรี่รับประกัน 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร มิติตัวถังมีความยาว 4,445 มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร สูง 1,549 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 160 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1,500 กิโลกรัม
● ทดลองขับแล้วติดใจเรื่องการตอบสนองที่ทันใจตั้งแต่ออกตัว และการขับเคลื่อนที่ราบเรียบเงียบสนิท ติเรื่องเดียวคือ เวลาเหยียบเบรกแล้วรู้สึกแข็งๆ ต่างกับเบรกแบบหม้อลมอย่างชัดเจน ส่วนประสิทธิภาพในการเบรกก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในอนาคตถ้ามีแต่รถไฟฟ้าให้ใช้ ก็คงจะชินไปเอง รถไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก เหมาะกับประเทศที่มีสถานีชาร์จรองรับอย่างเพียงพอ ในไทยก็พอจะใช้งานได้ ถ้าระยะทางไม่ไกลและการจราจรไม่ติดขัดมากนัก เช่น ขับจากบ้านไปที่ทำงานซึ่งมีที่ชาร์จให้
● กิจกรรม NissanA2Z ทำให้รับรู้ถึงทิศทางการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ ของนิสสันในอนาคตภายใต้แนวคิด Nissan Intelligent Mobility ที่มุ่งเน้นไปที่การลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ และลดมลพิษให้เป็นศูนย์ ด้วยรถยนต์ที่ประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานทางเลือกใหม่ ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ติดตั้งระบบความปลอดภัยและระบบช่วยขับ เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ขับ และทำให้รถยนต์มีส่วนร่วมในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างกลมกลืนและส่งเสริมกันมากขึ้น โดยยังคงความสนุกสนานในการขับไว้เช่นเดิม ●
ขอบคุณ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง
Oppama GRANDRIVE 2016 : Nissan Note, Leaf and Serena