December 6, 2016
Motortrivia Team (10170 articles)

Toyota หาทางยกระดับประสิทธิภาพแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน


Posted by : AREA 54

 

●   โตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น ประกาศเตรียมพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนเจนเนอเชั่นใหม่ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถยืดอายุการใช้งาน และเพิ่มระยะทางในการขับเคลื่อนได้ราว 15% เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมในปัจจุบัน

●   เพื่อการนี้แผนก R&D ของโตโยต้าหรือ Toyota Central R&D Labs., Inc. ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัย Nippon Soken Inc. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Denso (75%) และโตโยต้า (25%) และแผนกวิจัยของมหาวิทยาลัยอีก 4 แห่งในญี่ปุ่น มองหาองค์ประกอบใหม่ๆ ในการผลิตแบตเตอรี่ โดยเจาะจงไปที่การพัฒนาขั้วไฟฟ้าทั้ง + และ – รวมทั้ง electrolyte ซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้า เพื่อให้ชุดแบตเตอรี่แพคมีความหนาแน่นในการเก็บประจุไฟฟ้ามากขึ้น และสามารถชาร์จ/ดิสชาร์จได้จำนวนครั้งมากขึ้น

●   “แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนคือกุญแจสำคัญของรถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ชัดเจนเหลือเกินว่ามันต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยีนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่”  มร. ฮิซาโอะ ยามาชิเกะ นักวิจัยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ของโตโยต้าให้ความเห็น

●   นอกจากนี้ โตโยต้าและบริษัทวิจัยสัญชาติญี่ปุ่น SPring-8 ได้ออกแบบชุดอุปกรณ์ประเภท Beamline (ชุดระบบตรวจสอบการแผ่รังสีซิงโครตรอน) แบบใหม่ โดยชุดระบบนี้จะใช้รังสี X-ray ถ่ายภาพความละเอียดสูงในระดับ 0.65 ไมครอนต่อ 1 พิกเซลด้วยความเร็วที่สูงถึง 100 มิลลิวินาที (1 ใน 1,000 วินาที) ต่อ 1 เฟรม เพื่อบันทึกความเปลี่ยนแปลงของแบตเตอรี่ทดลองที่บรรจุอิเลคโทรไลท์รูปแบบต่างๆ ในแพคเกจลามิเนท (ผู้แปลเข้าใจว่าภาพที่มืดกว่าหมายถึงมีความหนาแน่นของประจุไฟฟ้ามากกว่า…ผิดพลาดขออภัยครับ)

●   ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2016 ที่ผ่านมา มร. โคจิ โตโยชิมะ หัวหน้าวิศวกร Toyota Prius เคยให้ความเห็นว่า ปัจจุบันโตโยต้านั้นมีเทคโนโลยีการออกแบบแพคเกจแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าขึ้นเดิมได้แล้ว โดยไม่มีต้นทุนใดๆ เพิ่มเติม หมายความว่าโตโยต้ากำลังเตรียมตัวลงแข่งขันในตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วนแบบ 100% ในอนาคตค่อนข้างแน่นอน มร. โตโยชิมะ กล่าวว่า Li-ion คือการนำนิคเกิล, โคบอลท์ และแมงกานีส มาใช้ร่วมกัน ซึ่งมันมีความร้อนและอาจเกิดการลุกไหม้ได้ หน้าที่ของเขาคือทำให้มันปลอดภัย (ออกแบบแพคเกจ) อย่างน้อยๆ มันต้องใช้งานได้เป็น 10 ปี หรือใช้งานได้อย่างต่ำๆ กว่า 100,000 กม. ขึ้นไปโดยไม่เกิดการเสียหาย

●   โตโยต้ายังไม่ได้เผยกรอบเวลาที่แน่นอนในโครงการนี้ การพัฒนาน่าจะเป็นการมองหาสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ ตามจังหวะเวลามากกว่า เช่นเดียวกับช่วงที่โตโยต้าเคยทดลองใช้ซิลิกอน คาร์ไบด์ มาผลิตเป็นอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำในช่วงต้นปี 2015 ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการประกาศใช้งานจริงอย่างเป็นทางการ นอกจากวิ่งทดลองใช้งานใน Toyota City เพื่อเก็บข้อมูล   ●

หมายเหตุ : ภาพประกอบ แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนของ Toyota Prius รุ่นปี 2016