February 3, 2017
Motortrivia Team (10167 articles)

Mazda3 ปรับปรุงสมรรถนะ เพิ่มอุปกรณ์มาตรฐาน


เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ • ภาพ : มาสด้า ประเทศไทย

 

●   หลังจาก เปิดตัวในญี่ปุ่น ไปเมื่อช่วงกลางปี 2016 มาสด้า 3 รุ่นปรับโฉม ก็พร้อมทำตลาดในเมืองไทยแล้ว ภายนอกปรับเส้นสายให้ดูแบนกว้างมากขึ้น ภายในเพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และเพิ่มความปลอดภัยด้วยอุปกรณ์ในกลุ่ม i-ACTIVSENSE ไฮไลต์อยู่ที่การเพิ่มระบบช่วยการทรงตัว G-Vectoring Control หรือ GVC ในทุกรุ่นย่อย ซึ่งมาสด้าเรียกว่า SKYACTIV-Vehicle Dynamics มาสด้าญี่ปุ่นเริ่มใช้ระบบนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016

●   หลังเปิดตัวรุ่นปรับโฉมไทยไทยแค่ 1 สัปดาห์ มาสด้าก็จัดทริปทดสอบแบบกลุ่มสำหรับมาสด้า 3 รุ่นปรับโฉม ใช้เส้นทางจากโชว์รูม ไซม์ดาร์บี้ ถนนศรีนครินทร์ ไปยัง Rancho Charnvee Resort เขาใหญ่ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ทดสอบระบบ G-Vectoring Control และระบบ MRCC และเป็นที่พักด้วย มีจุดพักระหว่างทางที่ปั๊ม ปตท. ก่อนเข้าจังหวัดนครนายกเพื่อสลับผู้ขับ และอีกจุดที่ ดาษดา รีสอร์ท จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อทานอาหารกลางวันและสลับผู้ขับอีกครั้ง ขาไปทีมงาน มอเตอร์ทริเวีย และเพื่อนสื่อมวลชนรวมทั้งหมด 4 คน ถูกจัดให้นั่งในมาสด้า 3 ซีดาน


นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด


●   มาสด้า 3 มาพร้อม 4 ความโดดเด่น ประกอบด้วย KODO Design การออกแบบที่ให้ความรู้สึกถึงความเคลื่อนไหว ภายนอกปรับใหม่ในส่วนของกระจังหน้า ไฟหน้า LED พร้อมไฟ DRL ดีไซน์ใหม่ ไฟตัดหมอก LED กระจกมองข้างดีไซน์ใหม่ และล้อแม็ก 18 นิ้ว ลายใหม่ ด้านหลังปรับเฉพาะรุ่น 5 ประตู โดยเปลี่ยนกันชนใหม่ ภายในเปลี่ยนมาตรวัดและพวงมาลัยใหม่ หน้าจอ Control Display ดีไซน์ใหม่ คอนโซลกลางใหม่ เปลี่ยนมาใช้เบรกมือไฟฟ้า และสวิตช์ Drive Selection ใหม่, ใช้ SKYACTIV Technology ทั้งคัน ตั้งแต่โครงสร้าง เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และระบบกันสะเทือน, MZD Connect เชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกับ Social Network หรือการค้นหาข้อมูลต่างๆ ในขณะเดินทาง สั่งงานผ่านจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว และเปลี่ยนหน้าจอ Active Driving Display แบบใหม่แบบจอสี แสดงผลได้หลากหลาย และอีกความโดดเด่นคือ i-ACTIVSENSE เทคโนโลยีเชิงป้องกัน มาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก

●   เทคโนโลยีความปลอดภัย i-ACTIVSENSE ประกอบด้วย ระบบ Adaptive LED Headlamps หรือ ALH ปรับไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติแยกอิสระซ้าย-ขวา, ระบบ Mazda Radar Cruise Control หรือ MRCC ควบคุมความเร็วอัตโนมัติ พร้อมปรับระยะห่างที่ปลอดภัยจากรถคันหน้า ทำงานที่ความเร็ว 30-145 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, ระบบ Smart Brake Support หรือ SMS ช่วยเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรคอัตโนมัติ, ระบบ Driver Attention Alert หรือ DAA ช่วยเตือนเมื่อผู้ขับเมื่อเกิดอาการเหนื่อยล้าขณะขับ, ระบบ Lane-Keep Assist System หรือ LAS ช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน, ระบบ Lane Departure Warning System หรือ LDWS ช่วยเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน, ระบบ Smart City Brake Support หรือ SCBS ช่วยหยุดรถอัตโนมัติ, ระบบ Smart City Brake Support-Reverse หรือ SCBS-R ช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง, ระบบ Advanced Blind Spot Monitoring หรือ ABSM ช่วยเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน และระบบ Rear Cross Traffic Alert หรือ RCTA ช่วยเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง

●   เพื่อให้เข้าใจการทำงานของระบบและมีความปลอดภัย ทีมงานมาสด้าจึงเตรียมสถานีสำหรับทดสอบระบบ MRCC และ GVC เปรียบเทียบกับรถรุ่นเดิมที่ไม่มีระบบ ไว้ที่สนามบินเล็กในบริเวณที่พัก



สนใจรายละเอียดอุปกรณ์ความปลอดภัยอื่นๆ ของมาสด้า ติดตามได้ที่ www.youtube.com/user/MazdaThai.

●   นอกจากนี้ มาสด้า 3 รุ่นปรับโฉมยังมีการปรับปรุงในส่วนของความเงียบในห้องโดยสาร ลดเสียงด้วยการเพิ่มฉนวนที่มีความเหมาะสมในแต่ละจุดรวม 13 จุด ห้องโดยสารออกแบบใหม่ใช้สีทูโทน เบาะหนังน้ำตาล-ดำ แผงประตูเพิ่มวัสดุตกแต่งสีเงินและ Piano Black คอนโซล พวงมาลัย มาตรวัดออกแบบใหม่หมด พวงมาลัยใหม่แบบ Mazda CX-9 ก้านเล็กลง เส้นผ่านศูนย์กลางเท่าเดิม ตกแต่งด้วยกรอบสีซาตินโครม จอ Active Driving Display เปลี่ยนเป็นแบบสี สัญญาณเตือนต่างๆ จะเป็นสีแดงและเหลืองอำพัน แสดงข้อมูลชัดเจนขึ้น ปุ่ม Center Commander และสวิตช์ควบคุมที่เกี่ยวข้องถูกจัดวางไว้กึ่งกลาง และยังมีเบรคมือไฟฟ้า Electric Parking Brake และกล่องเก็บสัมภาระใหม่ติดตั้งให้เพิ่มเติม

●   ระบบกันสะเทือนรูปแบบเดิมอิสระพร้อมเหล็กกันโคลงทั้ง 4 ล้อ ด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังมัลติลิงก์ ปรับปรุงความนุ่มนวลในการขับด้วยการปรับช็อคแอ็บซอร์เบอร์ใหม่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยเปลี่ยนในส่วนของน้ำมันและวาล์ว พร้อมปรับปรุงบูชของเหล็กกันโคลงหน้า

●   รุ่นเครื่องยนต์คงเดิมแบบเบนซิน SkyActiv-G แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,000 ซีซี จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตรงเข้าห้องเผาไหม้ หรือไดเร็คอินเจ็คชั่น อัตราส่วนการอัด 14.0:1 เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ SkyActiv-Drive กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 21.39 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบต่อนาที อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 15.6 กิโลเมตรต่อลิตร รองรับเชื้อเพลิง E85

●   ความกว้างขวางภายในห้องโดยสาร ไม่ใช่จุดเด่นของมาสด้า 3 เพื่อนที่มีความสูงเกิน 180 เซนติเมตร จึงได้สิทธิพิเศษนั่งเบาะหน้าตลอดทริป และต้องเลื่อนเบาะหน้าเพื่อเฉลี่ยพื้นที่กับผู้โดยสารด้านหลังบ้าง ส่วนผมเหมือนจะเป็นนกรู้ นั่งเบาะหลังฝั่งผู้ขับ ซึ่งมีความสูงใกล้เคียงกันคือประมาณ 170 เซนติเมตร แต่ผู้ขับต้องปรับเบาะให้นั่งขับได้ถนัด นั่งห่างจากพวงมาลัยมากไม่ได้ ผู้โดยสารด้านหลังฝั่งผู้ขับจึงมีพื้นที่วางขาค่อนข้างเยอะ เซต 0 ก่อนออกเดินทางจากโชว์รูมไซม์ดาร์บี้ ศรีนครินทร์ ในช่วงสายๆ มุ่งหน้าวงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก เพื่อใช้เส้นรังสิต-นครนายก มุ่งหน้าสู่จุดพักแรกปั๊มปตท. การจราจรโดยรวมค่อนข้างโล่ง ใช้ความเร็วได้ต่อเนื่อง ถึงจุดพักแรกได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 13.1 กิโลเมตรต่อลิตร ถ้าขับความเร็วปานกลางคงที่และต่อเนื่อง น่าจะประหยัดใกล้เคียงตัวเลขโรงงาน

●   จากนั้นผมรับหน้าที่ขับต่อ เซต 0 อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยใหม่อีกครั้ง ถนนค่อนข้างโล่งจึงใช้ความเร็วสูงได้ เครื่องยนต์และเกียร์ยังคงทำงานได้อย่างสอดคล้องกัน เร่งรอบได้ไหลลื่น เกียร์เปลี่ยนนุ่มนวลรวดเร็ว จึงให้อัตราเร่งที่ต่อเนื่อง ลองลากรอบสูงให้เกียร์เปลี่ยนขึ้นเกียร์สูงเองที่ประมาณ 6,500 รอบต่อนาที เกียร์ก็ยังเปลี่ยนได้นุ่มนวล ไม่กระชาก ทั้งในโหมด D และโหมด +/- ระหว่างทางลองใช้รอบสูงและทำความเร็วสูงบ้าง ระยะทาง 62 กิโลเมตร ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 14.1 กิโลเมตรต่อลิตร อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะนั่งเต็มความจุ 4 คนพร้อมสัมภาระ และไม่ได้ขับช้า

●   พักทานมื้อกลางวันที่ดาษดา รีสอร์ท จากนั้นสลับผู้ขับอีกครั้งแล้วขับขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝั่งปราจีนบุรี ไปลงฝั่งโคราช มุ่งหน้า Rancho Charnvee Resort เพื่อทดลองใช้ระบบ GVC และ MRCC เริ่มด้วยการนั่งด้านหลังของมาสด้า 3 รุ่นที่ไม่มีระบบ GVC เพื่อให้สัมผัสถึงการโยนตัวของรถ เมื่อขับผ่านไพลอนที่วางไว้ โดยกำหนดความเร็วไว้ จากนั้นเปลี่ยนไปนั่งด้านหลังของรถที่มีระบบ GVC สลับเป็นผู้ขับเพื่อทดลองความแตกต่างในการควบคุมรถ ต่อเนื่องด้วยการทดลองระบบ MRCC ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ พร้อมระบบรักษาระห่างคันหน้าอัตโนมัติ สามารถตั้งระยะห่างได้

 

●   เมื่อเปิดใช้ระบบ MRCC แล้วระบบตรวจพบว่ามีรถอยู่ด้านหน้า จะลดความเร็วให้โดยอัตโนมัติ และรักษาระยะห่างไว้ตามที่ผู้ขับตั้งไว้ และเมื่อรถคันหน้าเพิ่มความเร็วขึ้น หรือไม่มีรถคันหน้าแล้ว ระบบก็จะเร่งความเร็วให้เท่ากับที่ตั้งไว้ตอนแรก ขณะที่ระบบทำการเบรกหรือลดความเร็วให้โดยอัตโนมัติ ไฟเบรกก็จะสว่างตามปกติเพื่อเตือนผู้ขับด้านหลังว่ามีการลดความเร็ว และถ้ารถคันหน้าลดความเร็วลงมากกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบ MRCC จะตัดการทำงาน โดยจะมี SBS และ SCBS เข้ามาทำงานแทน เบรกหยุดนิ่งให้โดยอัตโนมัติตามรถคันหน้า แต่เมื่อเบรกจนรถหยุดนิ่งแล้ว ภายในเวลา 2-3 วินาที ผู้ขับจะต้องเหยียบเบรกเอง ถ้าไม่เหยียบรถจะเคลื่อนที่ไปชนรถคันหน้า

●   i-ACTIVSENSE แบบเต็มระบบ มีในมาสด้า 3 รุ่นสูงสุด 2.0 SP ทั้งซีดานและแฮทช์แบ็ค ได้รถเทคโนโลยี SKYACTIV ทั้งคัน เครื่องยนต์เบนซินไดเร็คอินเจ็คชั่น 2,000 ซีซี เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ แม้ตัวรถจะขาดความสดใหม่ไปบ้าง และภายในไม่กว้างขวางเท่าคู่แข่ง แต่ก็ชดเชยแบบเกินคุ้มกับอุปกรณ์ความปลอดภัยชุดใหญ่ ในราคาที่สูสีกับคู่แข่ง 1,119,000 บาท เท่ากันทั้งซีดานและแฮทช์แบ็ค มาพร้อมการรับประกัน 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร   ●

ขอบคุณ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง

Specification: Mazda 3 2.0 SP Sports

–   แบบตัวถัง แฮทช์แบ็ค 5 ประตู
–   ยาว x กว้าง x สูง 4,470 x 1,795 x 1,465 มิลลิเมตร
–   ฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร
–   ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,555/1,560 มิลลิเมตร
–   ระยะต่ำสุด 155 มิลลิเมตร
–   น้ำหนัก 1,361 กิโลกรัม
–   แบบเครื่องยนต์ เบนซิน ไดเร็คอินเจ็คชั่น 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว Dual S-VT รองรับ E85
–   ความจุ 1,998 ซีซี
–   กระบอกสูบ x ช่วงชัก 83.5 x 91.2 มิลลิเมตร
–   อัตราส่วนการอัด 14.0:1
–   กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที
–   แรงบิดสูงสุด 21.39 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบต่อนาที
–   ระบบส่งกำลัง อัตโนมัติ 6 จังหวะ Activematic
–   ระบบขับเคลื่อน ล้อหน้า
–   ระบบบังคับเลี้ยว แร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS
–   ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระ แม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
–   ระบบกันสะเทือนหลัง อิสระ มัลติลิงก์ พร้อมเหล็กกันโคลง
–   ระบบเบรกหน้า/หลัง ดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน/ดิสก์ พร้อม ABS, EBD และ BA
–   ผู้จำหน่าย บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
–   โทรศัพท์ Mazda Speedline กรุงเทพฯ 0-2664-4888 ต่างจังหวัด 1-800-226-408
–   เวบไซต์ www.mazda.co.th.


2017 Mazda3 Test Drive