May 19, 2017
Motortrivia Team (10160 articles)

All-New BMW 5 Series ลองสมรรถนะในสถานการณ์จำลอง


เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ  •  ภาพ : บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย

 

●   บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย จัดทดสอบ ซีรีส์ 5 โฉมใหม่พร้อมกัน 2 รุ่น ทั้ง 530i M Sport เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ 2,000 ซีซี 252 แรงม้า และ 520d Luxury เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 190 แรงม้า ภายในสนามบินขนงพระ จังหวัดนครราชสีมา แบ่งสนามออกเป็น 3 สถานี ประกอบด้วย Handling Course ใช้รถทั้ง 2 รุ่น, Slalom Time Trial ใช้รถ 520d และการสาธิตรวมทั้งทดลองใช้ระบบ Parking Assistance ซึ่งติดตั้งเฉพาะใน 530i M Sport ช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวต้อนรับสื่อมวลชน และบรรยายสรุปเกี่ยวกับซีรีส์ 5 ใหม่ จากนั้นทีม Instructor จาก xSPAN Thailand จึงอธิบายเรื่องขั้นตอนการทดสอบ


คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย


●   บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 5 เริ่มทำตลาดครั้งแรกในปี 1972 ด้วยรหัสตัวถัง E12 ต่อเนื่องถึงเจนเนอเรชั่นที่ 6 ปี 2010 ซึ่งเปลี่ยนรหัสตัวถังเป็น F10 มียอดจำหน่ายรวมทุกรุ่นมากกว่า 7.5 ล้านคันทั่วโลก และเปลี่ยนโฉมอีกครั้งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 7 เปิดตัวในตลาดโลกเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 พร้อมเปลี่ยนรหัสตัวถังอีกครั้งเป็น G30 ทิ้งช่วงแค่ประมาณครึ่งเดือนก็เปิดตัวในเมืองไทยอย่างฉับไว ทำตลาดด้วย 2 รุ่นเครื่องยนต์ 3 รุ่นย่อย ประกอบด้วย 530i M Sport ราคา 4.399 ล้านบาท 520d Luxury ราคา 3.899 ล้านบาท และ 520d Luxury Limited ราคา 3.599 ล้านบาท

●   บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 5 ใหม่ ได้รับการพัฒนาในหลายด้านเพื่อให้มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โครงสร้างและตัวรถเพิ่มสัดส่วนการใช้อะลูมิเนียม ทำให้น้ำหนักตัวรถลดลง 70 กิโลกรัมในรุ่นดีเซล และ 100 กิโลกรัมในรุ่นเบนซิน ช่วงล่างเบาลง 9 กิโลกรัม ลด Unsprung Weight ลดความสะเทือนและเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะถนน มิติภายนอกมีความยาว 4,936 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 36 มิลลิเมตร กว้าง 1,868 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 8 มิลลิเมตร สูง 1,496 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 2 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,975 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 7 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,605/1,630 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 5/3 มิลลิเมตร ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศดีที่สุดในรถระดับเดียวกับ Cd 0.22

●   ในส่วนของเครื่องยนต์รุ่นเบนซินในซีรีส์ 5 รุ่นก่อนหน้า 528i F10 เครื่องยนต์มีความจุ 1,997 ซีซี 218 แรงม้า 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 6.7 วินาที อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 16.4 กิโลเมตรต่อลิตร คาร์บอนไดอ๊อคไซด์ในไอเสีย 142 กรัมต่อกิโลเมตร ส่วนในรุ่นปัจจุบัน 530i เครื่องยนต์มีความจุ 1,998 ซีซี 252 แรงม้า 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 6.2 วินาที อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 17.5 กิโลเมตรต่อลิตร คาร์บอนไดอ๊อคไซด์ในไอเสีย 129 กรัมต่อกิโลเมตร

●   ส่วนรุ่น 520d ใช้เครื่องยนต์บล็อกเดิม 1,995 ซีซี 190 แรงม้า ด้วยน้ำหนักตัวรถที่เบาลง รวมทั้งการปรับปรุงพัฒนาจุดต่างๆ ทำให้อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วขึ้นจากเดิม 7.7 เป็น 7.5 วินาที อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยดีขึ้นจาก 19.2 เป็น 20.0 กิโลเมตรต่อลิตร และคาร์บอนไดอ๊อคไซด์ในไอเสียลดลงจาก 137 เหลือ 132 กรัมต่อกิโลเมตร

●   อีกหนึ่งจุดเด่นของซีรีส์ 5 ใหม่ คือ ระบบกุญแจ BMW DISPLAY KEY ซึ่งมีในทุกรุ่นย่อย มีจอ LCD แสดงผลบนรีโมทคอนโทรล ควบคุมด้วยระบบสัมผัส Touch Screen หน้าจอสามารถแสดงผลสถานะของรถได้ เช่น การล็อคหรือปลดล็อคประตู นอกจากนี้ยังสามารถสั่งให้รถเปิดแอร์ หรือตั้งเวลาเปิดแอร์ได้ สามารถใช้งานได้ทุกฟังก์ชั่นเมื่ออยู่ในระยะไม่เกิน 30 เมตร และที่ระยะ 30-300 เมตร สามารถแสดงผลได้ทุกฟังก์ชั่น และที่ระยะเกิน 300 เมตรขึ้นไป รีโมทจะแสดงสถานะล่าสุดของรถ

ทดลองขับท่ามกลางสายฝน

●   ตั้งแต่ช่วงเช้าที่มีการบรรยายสรุป ฝนก็ตกหนักสลับเบา ดูเชิงกันอยู่สักพักฝนก็ไม่มีที่ท่าว่าจะหยุด ทีมที่ดูแลการทดสอบจึงตัดสินใจลุยกันกลางฝน แต่ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่จะนั่งอยู่ในรถ หรือไม่ก็ลงมายืนในเต๊นท์ที่มีเครื่องดื่มไว้คอยต้อนรับ ฝนตกก็มีข้อดี คือ ทำให้อากาศเย็นสบายชื่นใจ ไม่เพลียแดด และได้ลองขับบนสภาพพื้นผิวเปียกลื่น ซึ่งไม่กล้าลองบนถนนสาธารณะแน่ๆ

●   เริ่มต้นด้วยสถานี Handling Course ใช้รถทั้ง 2 รุ่นเพื่อเปรียบเทียบกัน นั่งคันละ 3 คน เมื่อขับรถรุ่นหนึ่งเสร็จแล้ว จะต้องย้ายไปขับรถอีกรุ่น เพื่อให้มีความต่อเนื่อง จะได้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ออกจากจุดสตาร์ทเข้าสู่สลาลม และจำลองการหลบสิ่งกีดขวางไปทางซ้ายและกลับมาทางขวา ต่อด้วยโค้งซ้ายและยูเทิร์นขวา กลับมาตั้งลำอีกครั้ง กดคันเร่งสุดเพื่อลองอัตราเร่ง ผมโชคดีที่ได้อยู่คันเดียวกับนักแข่งรถถึง 2 คน ซึ่งเชื่อได้ว่ามีความสามารถในการควบคุมรถที่ดี และขับได้สม่ำเสมอใกล้เคียงกันทุกรอบ

●   จากการนั่งและขับก็เป็นไปตามคาด 530i M Sport ที่ติดตั้งล้อแม็กขนาด 19 นิ้ว พร้อมช่วงล่างและเบรกที่เป็นชุดแต่งจาก M ให้ความรู้สึกกระชับและควบคุมง่ายกว่า 520d Luxury ลองนั่งเบาะหลังทั้ง 2 รุ่น ในช่วงสลาลมรู้สึกว่ามีแรงเหวี่ยงที่ต่างกันชัดเจน ในการขับช่วงสลาลมก็รู้สึกว่าพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าล้วน ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติราบเรียบต่อเนื่อง และมีความหนืดพอเหมาะ การปรับโหมดการขับไม่เกี่ยวข้องกับความหนืดของช่วงล่าง แต่ละโหมดจะปรับการตอบสนองของพวงมาลัย เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง

●   อัตราเร่งในทุกโหมด 530i M Sport กินขาด แม้จะมีแรงบิด 35.66 กก.-ม. น้อยกว่า 520d Luxury ที่มีแรงบิด 40.64 กก.-ม. แต่ก็ชดเชยด้วยรอบเครื่องยนต์ที่ลากได้สูงกว่า การเร่งจากความเร็วต่ำหรือช่วงออกตัว 530i M Sport จึงตอบสนองได้ทันใจกว่า ลองใช้โหมดสปอร์ต 520d Luxury ก็เปลี่ยนบุคลิกไปพอสมควร เร่งออกตัวได้ดุดันมากขึ้น จนต้องผ่อนคันเร่งเล็กน้อยในช่วงสลาลม ส่วนการเร่งต่อเนื่องยาวๆ ก็ยังรู้สึกว่า 530i M Sport สร้างแรงดึงได้มากกว่าและต่อเนื่องกว่าพอสมควร

●   ถ้าสนุกกับการขับรถและชอบอัตราเร่ง 530i M Sport ไม่น่าทำให้ผิดหวัง แลกกับอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยที่มากกว่าเล็กน้อย และมีแฮนดลิ่งที่ดีกว่าจากชุดแต่ง M ส่วน 520d Luxury ในโหมดสปอร์ตก็สนุกได้พอสมควร เหลือๆ สำหรับการใช้งานทั่วไป เหมาะสำหรับผู้ที่ยังสนใจเรื่องความประหยัดหรือขับรถทางไกลบ่อยๆ

●   ต่อเนื่องด้วย Slalom Time Trial ใช้ 520d Luxury รุ่นเดียว ใช้โหมดสปอร์ต เปิด DSC ไว้ตลอดเวลา ห้ามปิด มีการจับเวลาสนุกๆ เพิ่มความท้าทาย ในสถานีประกอบด้วยการสลาลม และยูเทิร์นเกือบเป็นวงกลม จากนั้นสลาลมกลับมาและเบรกให้อยู่ในกรอบที่กำหนด ให้ซ้อมคนละ 3 รอบแล้วจับเวลาในรอบที่ 4 สังเกตว่าในช่วงออกตัว กดคันเร่งสุดแล้วต้องรอเสี้ยววินาที รถจึงพุ่งออกไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงสลาลมรู้สึกว่ารถควบคุมง่าย โดยเฉพาะถ้าพยายามขับรถให้ชิดไพลอน

●   ในช่วงยูเทิร์นรู้สึกถึงการตอบสนองของพวงมาลัยที่เป็นธรรมชาติ ทั้งในจังหวะหมุนเลี้ยวมุมแคบด้วยความเร็วสูง และการคืนพวงมาลัยที่เหมือนจะมีแรงดึงกลับช่วยนิดๆ ไม่ได้เกิดจากการคืนตัวของล้อเพียงอย่างเดียว และผู้ขับก็ไม่ต้องช่วงคืนพวงมาลัย แค่กดคันเร่งส่งออกจากโค้ง พวงมาลัยก็คืนตัวกลับมาตรงได้อย่างราบเรียบและต่อเนื่องดี

●   แม้พื้นผิวสนามจะเปียกลื่น แต่รถก็มีความมั่นคง รวมทั้งมีระบบช่วยเหลือรองรับอีกชั้น จึงกล้าใช้ความเร็วได้อย่างเต็มที่ เป็นโอกาสดีที่ได้ลองขับบนพื้นผิวเปียก ตลอดการขับ 4 รอบ เชื่อว่าระบบช่วยการทรงตัวคงต้องทำงานกันอย่างหนัก แต่ก็ยังขับได้อย่างต่อเนื่อง แทบไม่รู้สึกว่าระบบทำงาน จะรู้สึกว่าระบบมีการตัดกำลังจากเครื่องยนต์บ้าง ในช่วงที่กดคันเร่งหนักๆ ในขณะที่พวงมาลัยยังเลี้ยวด้วยองศาที่มาก เพราะรู้สึกว่ารอบเครื่องยนต์จะวูบลงไปเล็กน้อย แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้รถสูญเสียการยึดเกาะ


●   ปิดท้ายด้วยการสาธิตและทดลองใช้ระบบ Parking Assistance หรือระบบถอยจอดอัตโนมัติ ที่มีเฉพาะใน 530i M Sport เท่านั้น สามารถจอดได้ทั้งแบบขนานหรือจอดเข้าซอง ทำงานด้วยอัลตร้าโซนิคเซ็นเซอร์รอบคัน เพิ่มความสะดวกปลอดภัยเมื่อต้องจอดในที่แคบ โดยสามารถจอดขนานในช่องที่มีความยาวมากกว่าตัวรถเพียง 80 เซนติเมตร และจอดเข้าซองที่มีความกว้างเพียงข้างละ 40 เซนติเมตรเท่านั้น การสั่งงานไม่ยุ่งยาก เพียงกดปุ่ม PDC ขับรถผ่านช่องที่จะจอดด้วยความเร็วไม่เกิน 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเปิดไฟเลี้ยวข้างที่ต้องการจะจอด เมื่อระบบตรวจพบช่องว่าง ก็จะถามผ่านหน้าจอที่คอนโซลกลางว่าจะจอดแบบขนาน Parallel Parking หรือจอดแบบเข้าซอง Bay Parking (ถ้าเป็นช่องที่จอดแบบเข้าซองได้อย่างเดียวระบบก็จะไม่ถาม)

●   เมื่อระบบตรวจพบว่าช่องมีความกว้างพอจะจอดได้ ก็จะบอกให้หยุดรถ และให้ผู้ขับกดที่หน้าจอเพื่อเลือกว่าจะจอดแบบไหน จากนั้นกดปุ่ม PDC ค้างไว้ จนกระทั่งเกียร์เปลี่ยนเป็นเกียร์ถอยหลัง (สังเกตจากไฟบอกตำแหน่งเกียร์บนหัวเกียร์) จากนั้นยกเท้าออกจากเบรก ที่เหลือระบบจะจัดการให้ทั้งหมด ผู้ขับไม่ต้องเหยียบเบรกหรือคันเร่ง ไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ และไม่ต้องหมุนพวงมาลัย ถ้าผู้ขับทำอย่างใดอย่างหนึ่งระบบจะยกเลิกการจอดอัตโนมัติ หรือถ้ามีคนเดินผ่านในระยะเซ็นเซอร์ระบบก็จะยกเลิกเช่นกัน หรือถ้ายกมือออกจากปุ่ม PDC ระบบจะหยุดชั่วคราว ถ้าจะให้ทำงานต่อก็ต้องกดปุ่มค้างไว้ ที่ระบบตั้งเงื่อนไขไว้แบบนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขับอยู่ในรถ เพื่อความปลอดภัยนั่นเอง

●   ระบบช่วยถอยจอดแบบขนาน ทำให้การจอดในที่แคบง่ายขึ้น ระบบจะวัดระยะทั้งด้านหน้าด้านหลัง และด้านข้าง ทำให้จอดรถได้เสมอกับรถคันอื่น ไม่ยื่นออกมามากเกินไป ส่วนตอนออกยังต้องอาศัยฝีมือขับออกเอง แต่ก็ไม่ยากนักเพราะมีเซ็นเซอร์พร้อมกล้องมองรอบคัน ส่วนการถอยจอดแบบเข้าซอง ก็มีวิธีสั่งงานเหมือนกัน ในการสาธิตด้านหลังของรถก็เปิดโล่ง แต่รถก็สามารถจอดได้เสมอกับคันข้างๆ เพราะมีเซ็นเซอร์วัดระยะรอบคัน และเว้นช่องว่างซ้ายขวาเท่าๆ กันอีกด้วย ลองเปิดประตูลงจากรถแล้ว ลงได้สบายๆ ลองขยับรถคันข้างๆ บีบเข้ามา เมื่อช่องจอดแคบเกินไป ระบบก็จะตรวจไม่พบ ตัดปัญหาเรื่องจอดเสร็จแล้วลงจากรถไม่ได้

●   ระบบ Parking Assistance มีการทำงานที่ละเอียดและไว้ใจได้ การสั่งงานไม่ยุ่งยาก มีระบบเซฟหลายชั้นเพื่อความปลอดภัย จอดได้สวยงามแม่นยำ และใช้เวลาในการจอดไม่นานนัก พอๆ กับการถอยจอดด้วยตัวเองในผู้ขับที่มีความชำนาญ และน่าจะจอดได้ดีกว่าเร็วกว่าผู้ที่ถอยจอดไม่เก่งนัก เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกและใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน   ●

ขอบคุณ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย อำนวยความสะดวกตลอดการทดสอบ


2017 BMW 5 Series Test Drive