June 25, 2017
Motortrivia Team (10069 articles)

Child safety seat ตอนที่ 3 : มารู้จักกับประเภทของ Child Car Seat กัน

เรื่อง : PandaTrueno

●   อุ่นเครื่องกันมา 2 ตอน หวังว่าคงจะช่วยกระตุ้นให้บรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย เห็นความสำคัญของ เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก กันบ้างไม่มากก็น้อย และสำหรับคนที่เริ่มเห็นความสำคัญ และอยากที่จะซื้อมาใช้งานสักตัว ในวันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องของประเภทเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กกันก่อน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยลดความเสี่ยงในกรณีที่ซื้อผิด และเป็นการเลือกซื้อเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานและงบประมาณที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

●   ส่วนใหญ่แล้วเมื่อค้นหาข้อมูลตามอินเตอร์เนตจะพบว่า เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ แต่ถ้าดูในบางเว็บของผู้ผลิตเบาะชื่อเรียกหรือประเภทอาจจะแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ไม่ต้องใส่ใจกันมากนัก เพราะโดยหลักๆ แล้วก็มีหลักการหรือรูปแบบเดียวกันเพียงแต่ถูกแบ่งตามรูปแบบของตำแหน่งทางการตลาด และเรียกต่างกันเท่านั้นเอง

●   ทางที่ดีการเช็คข้อมูลให้เข้าไปดูพวกเว็บไซต์ของ หน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความปลอดภัย เช่น NHTSA จะดีกว่า โดยพิมพ์คำว่า car seat เข้าไปใน google เดี๋ยวก็มีออกมาให้เลือกอ่านกันเอง

สำหรับ 4 แบบของเบาะนั่งนิรภัยถูกแบ่งออกตาม อายุ ขนาด และน้ำหนักของเด็ก ซึ่งสามารถเลือกดูได้จากอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบการตัดสินใจก็ได้ เหมือนกับเอารถเข้าศูนย์นั่นแหล่ะครับ ระยะทางกับระยะเวลาอย่างไหนถึงก่อนกัน เพราะเด็กบางคนอายุมาก แต่น้ำหนักตัวน้อย หรือเตี้ย อีกคนอายุน้อย แต่สูง หรือผอม

●   แบบแรกคือ เป็นเบาะที่เรียกว่า Infant Carrier Seats สำหรับเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ 9.09 กิโลกรัม หรือ 20 ปอนด์ และความสูงประมาณ 26 นิ้ว (ภาพหมายเลข 1) ซึ่งบางยี่ห้อจะขายเป็นลักษณะคล้ายแปลหิ้วแบบ Built-in รวมกับชุดรถเข็นเลยก็มี เรียกว่าแบบ 3-1 ซื้อมาแล้วได้ทั้งเบาะนั่งนิรภัย รถเข็น หรือแปลหิ้วเวลาพาเจ้าตัวเล็กไปหาหมอ

●   แบบที่ 2 เรียกว่า Rear-Facing Convertible Seats (ภาพหมายเลข 2) สำหรับเด็กที่มีอายุ 6 เดือนจนถึง 1 ปี ซึ่งมีน้ำหนักไม่เกิน 13.6 กิโลกรัม หรือ 30 ปอนด์ และเมื่อนั่งในเบาะแล้ว ขอบบนของเบาะมาจนถึงด้านบนของศีรษะเด็กจะต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 1 นิ้ว เพื่อความปลอดภัยในกรณีที่อาจจะกระแทก เพราะเบาะแบบนี้ยังต้องติดตั้งในลักษณะ Rear Facing หรือหันหัวเด็กไปทางด้านหน้าของรถเหมือนกับแบบแรก

●   แบบที่ 3 เรียกว่า Forward Facing Seat (ภาพหมายเลข 3) หรือ Toddle Booster Seat แต่กับการรณรงค์ครั้งใหม่ที่อยากให้เด็กนั่งแบบ Rear Facing จนถึงอายุ 4 ขวบอาจจะไม่เหมาะที่เรียกเบาะแบบนี้ด้วยชื่อนี้ ซึ่งเบาะแบบที่ 3 สำหรับใช้กับเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักไม่เกิน 40 ปอนด์ หรือ 18.8 กิโลกรัม หรือดูจากเมื่อเด็กนั่งอยู่ในเบาะ บนสุดของหัวไหล่จะต้องอยู่ในระดับต่ำกว่าแนวของเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดของตัวเบาะ

●   ผมว่าเบาะในกลุ่มนี้มีความซับซ้อน และรูปแบบที่กว้าง ทำให้ผู้ปกครอง (ซึ่งก็รวมถึงตัวผม) เวียนหัวกับการเลือก ต่างจากเบาะ 2 แบบแรกที่ขนาดตัวของเด็กและอายุเป็นตัวกำหนดการใช้งาน เพราะว่าเบาะนั่งในกลุ่มนี้สามารถใช้กับเด็กที่มีอายุ 1 ปีไล่ไปจนถึง 5-6 ปีเลยก็มี ก่อนที่พวกเขาจะเปลี่ยนมาใช้เบาะประเภทต่อมาที่เรียกว่า Booster หรือเบาะนั่งเสริม ทำให้มีแบบหรือรุ่นให้เลือกสารพัดจนงง

●   แบบที่ 4 คือ Booster หรือเบาะนั่งเสริม (ภาพที่ 4) มีทั้งรูปแบบที่เป็นเบาะทั้งอันมีทั้งที่รองและพนักพิงหลัง ซึ่งเรียกว่า High Back Booster หรือว่าเป็นแค่เบาะรองนั่งอย่างเดียว โดยจะใช้งานร่วมกับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดของเบาะหลัง ซึ่งเบาะประเภทนี้เป็นจุดสุดท้ายของเบาะนั่งนิรภัยก่อนที่ตัวเด็กจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การโตเต็มวัยสำหรับการใช้เข็มขัดนิรภัยในรถยนต์

●   โดยปกติแล้ว Booster จะใช้กับเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-8 ปี ซึ่งมีความสูง 4 ฟุต 9 นิ้ว หรือ 142 เซ็นติเมตร และก็รวมถึงผู้ใหญ่มีความปิดปกติกับสรีระด้วย เพราะตัวเบาะจะช่วยรองให้ระดับในการนั่งของเด็ก ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับการใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดในเบาะหลังของรถ

●   นอกจากนั้นยังมีเบาะนั่งอีกประเภท ที่เป็นเบาะพิเศษสำหรับเด็กแรกเกิด หรือ Special Seat ที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ ตัวเบาะจะมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายกับแปล (ภาพที่ 5) และจะมีรูปแบบการติดตั้งที่แตกต่างจากเบาะนั่งเด็กอ่อนในแบบแรก เพราะต้องวางในแนวราบกับพื้นเบาะ และหันหัวเด็กไปทางฝั่งซ้ายหรือขวาของตัวรถ (ไม่ใช่ด้านหน้าหรือหลังเหมือนกับ Infant Carrier Seats)

●   นอกจากการแบ่งตามข้างบนแล้ว ในฝั่งยุโรปยังใช้วิธีแบ่งประเภทของเบาะออกเป็นขั้น หรือ Stage ตามมาตรฐานการทดสอบของยุโรปที่เรียกว่า ECE ซึ่งมี 2 มาตฐาน คือ ECE R44.03 และ ECE R44.04 (ภาพที่ 6) แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ต่างจากการแบ่งข้างบนสักเท่าไร และผมคิดว่าวิธีนี้ทำให้เลือกซื้อเบาะได้ง่าย และสะดวกกว่าด้วยซ้ำ และคิดว่าในไทยน่าจะยึดรูปแบบมาตรฐานตามฝั่งยุโรป หรือญี่ปุ่นเป็นหลักมากกว่าฝั่งอเมริกา

–   Stage 1 = Groups 0 and 0+ แบบแรกสำหรับอายุ 6-9 เดือน น้ำหนักไม่เกิน 10 กก. อย่างที่ 2 สำหรับ 12-15 เดือน น้ำหนักไม่เกิน 13 กก.
–   Stage 2 = Group 1 เด็กที่มีน้ำหนักระหว่าง 9-18 กิโลกรัม หรือใช้ได้ตั้งแต่ 9 เดือนจนถึง 4 ปี
–   Stage 3 = Group 2 เด็กที่มีน้ำหนักระหว่าง 15-25 กิโลกรัม หรือใช้ได้ตั้งแต่ 4-6 ปี
–   Stage 4 = Group 3 เด็กที่มีน้ำหนักระหว่าง 22-36 กิโลกรัม หรือใช้ได้ตั้งแต่ 6-11 ปี

●   ถ้าว่ากันตามการแบ่งประเภทของยุโรปแล้ว จะเป็นเบาะสำหรับแรกเกิดที่อยู่ใน Group 0 และ 0+ (ภาพ 6) ตามด้วยแบบ Toddle ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Group 1 (ภาพ 7) และ Booster ที่อยู่ในกลุ่ม Group 2 และ 3 (ภาพ 8 และ 9)

●   แต่ในบางครั้งเบาะนั่ง 1 รุ่น อาจจะสามารถผ่านมาตรฐานการทดสอบโดยได้เรทที่รองรับ Stage ในกลุ่มที่สูงกว่า เช่น เบาะนั่งในแบบ Group 1 อาจรองรับกับการใช้งานใน Group 2 หรือ 3 ก็ได้ ถ้าสามารถผ่านการทดสอบภายใต้ข้อกำหนด เช่น Reacro Young Sport ที่ตัวเบาะจริงๆ ออกแบบสำหรับ Group 1 แต่สามารถผ่านการทดสอบจนได้ระดับ 2 กับ 3 ด้วย

●   ตรงนี้ต้องดูที่ป้ายบอกจากผู้ผลิตเบาะนั่งเด็กให้ดี หรือพูดง่ายๆ คือ ท่านผู้ปกครองควรหาข้อมูลจากเว็บไซต์ และทำการบ้านให้เยอะๆ ก่อนซื้อ เพราะบางทีอาจจะจ่ายทีเดียวแต่ใช้งานได้นานเลย

●   การจะเลือกซื้อเบาะแบบไหนนั้น ให้หันไปมองเจ้าตัวเล็กที่จะต้องนั่งเป็นหลัก และเวลาจะซื้อทุกครั้ง ควรนำลูกไปลองด้วยตัวเอง เพราะเด็กจะนั่งสบายหรือไม่สบายกับรูปทรงของเบาะ หรือวัสดุของตัวเบาะนั้น ต้องลองกับของจริงเท่านั้น ไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่ถูกใจ แต่ลูกบอกนั่งไม่สบายเลย

●   สำหรับคำว่า ISOFIX โดยเฉพาะกับเบาะนั่งสำหรับเด็กแรกเกิด มาจนถึงเบาะแบบ Toddler ส่วนพวก Booster อย่าง Group II/III จะถูกเรียกว่า ISOFIT ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกันแต่เรียกต่างกัน และใช้เข็มขัดนิรภัย 3 จุด เป็นตัวยึดรั้งเด็กเข้ากับเบาะนั่ง โดย ISOFIX นั้นเป็นมาตรฐานจุดยึดที่มีติดตั้งในรถยนต์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และรวมถึงบ้านเรา แต่ในสหรัฐอเมริกาจะเรียกว่า LATCH หรือ Lower Anchors and Tethers for Children

●   แล้วมาต่อกันในตอนต่อไปครับ… ตอนหน้าเป็นตอนจบกันแล้ว   ●


ตอนที่ 1 : จริงหรือที่เบาะนิรภัยสำหรับเด็กแพง?.
ตอนที่ 2 : เบาะเด็กหันหน้าหรือหันหลังดีกว่ากัน?.
ตอนที่ 3 : มารู้จักกับประเภทของ Child Car Seat กัน.
ตอนที่ 4 : ซื้อให้ถูกต้องติดตั้งให้ถูกด้วย (ตอนจบ).
ตอนที่ 5 : ตอนแถม… การเลือกซื้อเบาะนั่ง และ ISOFIX.