June 19, 2017
Motortrivia Team (11363 articles)

จีนเตรียมออกมาตรการควบคุมบริษัทสตาร์ทอัพรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

เรื่อง : AREA 54

●   คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ NDRC – National Development and Reform Commission ประกาศระงับใบอนุญาตในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพในจีนชั่วคราว อย่างน้อยก็จนกว่าจะถึงปีหน้า (2018) เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบความเหมาะสมของบริษัทหน้าใหม่, กลุ่มทุน รวมถึงข้อกำหนดเบื้องต้นในด้านคุณภาพของงานวิศวกรรมด้วย

●   สำนักข่าว รอยเตอร์ ให้ข้อมูลว่า แหล่งข่าวซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพของจีนให้ความเห็นว่า ทางการจีนเตรียมเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากต้องการคัดกรองบริษัทหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ให้เหลือแต่เฉพาะบริษัทที่มีศักยภาพมากพอ และต้องการเป็นผู้เล่นในแวดวงการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจังเท่านั้น ใขณะที่ NDRC ระบุว่า บริษัทรถยนต์ที่ถือครองใบอนุญาตบางบริษัท ก็ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้คุณภาพเช่นกัน

●   ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้แปลไม่เคยคิดเสียเวลามานั่งแปลหรือหาข้อมูลรถประหลาดๆ ในจีนที่จัดแสดงตามงานเปิดตัวรถใหม่เลย เนื่องจากบางแบรนด์ไม่ได้ใช้ความพยายามมากพอที่จะออกแบบและผลิตรถรุ่นนั้นๆ อย่างจริงจังและตรงไปตรงมา ใครที่ชอบข่าวรถแปลกๆ จากประเทศจีนน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่า รถเหล่านี้มันจะสามารถผลิตออกมาขายได้จริงๆ หรือ? และจะมีคนซื้อหามันมาขับกี่มากน้อยกัน?

●   ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากการออกแบบและผลิตรถต้นแบบ (หรือแม้แต่รุ่นจำหน่ายจริง) อย่างมักง่าย ยกตัวอย่างเช่น VIDOEV ที่เคยจัดแสดงรถไฟฟ้า 2 รุ่นที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับ BMW i3 และ VW New Beetle (ใครอยากเห็นภาพลองเสิร์ชด้วยคำว่า VIDOEV ดูครับ) ซึ่งนอกจากงานออกแบบจะมีปัญหาอย่างรุนแรงแล้ว ประสิทธิภาพของระบบขับเคลื่อนยังแทบจะไม่ต่างจากรถพาณิชย์ประเภทความเร็วต่ำคลาส NEV อีกต่างหาก… บางรุ่นใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลังประมาณ 20 กิโลวัทท์ (ราว 27 แรงม้า) พ่วงกับแบตเตอรี่ตะกั่วกรดแบบรถกอล์ฟในยุคก่อนด้วยซ้ำ

●   ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในจีนเริ่มบูมอย่างจริงจังในช่วงปี 2015 เนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศ โดยรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการสนับสนุนรถมลพิษศูนย์มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ซื้อ หรือมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับแบรนด์ผู้ผลิตต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในจีนอย่างจริงจัง (ในกรณีของเทสล่าที่ไม่มีโรงงานในจีน และจำหน่ายแบบรถนำเข้าราคาสูง ช่วงปี 2014 ทางการจีนก็มีมาตรการเกี่ยวกับป้ายทะเบียนช่วยเหลือให้ เป็นต้น)

●   อย่างไรก็ตาม การจำกัดการอนุญาตในการผลิตรถหรือตั้งมาตรฐานทางวิศวกรรมของตัวรถให้สูงขึ้น น่าจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสียสำหรับผู้ผลิตในจีนเอง อย่างน้อยรถที่ผ่านเกณฑ์ใหม่ (ซึ่งยังไม่สรุป ณ เวลานี้) ก็คงจะมีมาตรฐานในระดับสากล มีงานออกแบบที่พึ่งพามันสมองจากนักออกแบบมากขึ้น

●   แต่ก็อย่างที่เห็นครับ บริษัทที่ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น (หมายถึงมีกลุ่มทุนสนับสนุน มีรถและมีโรงงานผลิตเป็นตัวเป็นตน) มีเพียงไม่กี่บริษัท และเกือบ 100% เป็นรถในระดับซูเปอร์คาร์ที่ใช้องค์ความรู้จากต่างชาติเสียส่วนใหญ่ เช่น ไฮเปอร์คาร์ NIO EP9, SUV 7 ที่นั่ง NIO ES8 ของบริษัท NIO, ครอสโอเวอร์ 1,000+ แรงม้า FF 91 ของบริษัท Faraday Future หรือซีดาน 1,000 แรงม้า Lucid Air ของบริษัท Lucid Motors… เหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ (ในแวดวงการผลิตรถยนต์) ที่มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของจีนสนับสนุนทั้งสิ้น ดังนั้นกฏเกณฑ์ใหม่ที่จะมีขึ้นในอนาคต นอกจากจะเพื่มมาตรฐานในการออกใบอนุญาตให้กับผู้ผลิต ก็ควรจะช่วยเหลือบริษัทสตาร์ทอัพน้องใหม่ที่มีไอเดียเจ๋งจริงๆ ในการผลิตรถบ้านสำหรับบุคคลทั่วไป แต่ไม่มีกลุ่มทุนสนับสนุนด้วยส่วนหนึ่ง   ●

หมายเหตุ :
1.   รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมอย่าง Beijing Auto, BYD, Changfeng, Dongfeng, JAC หรือบริษัทร่วมทุนอาทิ Brilliance/BMW ไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ
2.   ภาพประกอบ Youxia X รถต้นแบบจากบริษัทสตาร์ทอัพ Youxia Motors ซึ่งมีข้อครหาว่าเหมือนเทสล่ามากเกินไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

•   อังกฤษตามฝรั่งเศส เตรียมแบนรถดีเซลเบนซินหลังปี 2040.
•   ฝรั่งเศสเตรียมแบนการขายรถเบนซิน, ดีเซล ในปี 2040.
•   แคนาดาเตรียมพัฒนากลยุทธ์รถไฟฟ้าแห่งชาติในปี 2018.
•   ปี 2030 ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีราคาถูกกว่ายานยนต์สันดาปภายใน.
•   ปารีส, มาดรีด, เม็กซิโกซิตี้ เตรียมยกเลิกรถดีเซลภายในปี 2025.
•   รัฐบาลเยอรมันโหวตยกเลิกเครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2030.
•   อินเดียตั้งเป้าจำหน่ายแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในปี 2030.
•   จีนเตรียมออกมาตรการควบคุมบริษัทสตาร์ทอัพรถยนต์พลังงานไฟฟ้า.
•   Toyota จับมือ Shell เปิดสถานีเติมไฮโดรเจนในแคลิฟอร์เนีย.
•   แบรนด์รถยนต์ร่วมพัฒนาระบบชาร์จแบบ Ultra-Fast ในยุโรป.