June 24, 2017
Motortrivia Team (10196 articles)

F1 Azerbaijan GP 2017 Preview : สตรีทเซอร์กิตความเร็วสูง


Posted by : Fascinator.

 

●   สนามที่ 8 ของการแข่งขัน ฟอร์มูล่าวันประจำฤดูกาล 2017 ได้บินครึ่งโลกจาก แคนาดา มายังริมฝั่งทะเลสาบแคสเปี้ยน กับการแข่งขันสตรีทเซอร์กิตที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจัน

●   บากูซิตี้เซอร์กิต แห่งเมืองบากู ได้ถูกจัดเข้ามาอยู่ในปฏิทินการแข่งขันครั้งแรกในปี 2016 โดยในตอนนั้นมันถูกใช้ชื่อรายการว่า ยูโรเปี้ยนกรังด์ปรีซ์ ถึงแม้ว่าตัวเมืองจะตั้งอยู่บนฝั่งเอเชียก็ตาม ในปีนี้บากูได้ถูกเปลี่ยนชื่อรายการเป็น อาเซอร์ไบจันกรังด์ปรีซ์ แต่มันยังคงความเป็นสตรีทเซอร์กิตเช่นเดิม

●   มันถูกตั้งเป้าให้เป็นสตรีทเซอร์กิตที่เร็วที่สุดในโลก บากูซิตี้เซอร์กิตนั้นมีช่วงกดคันเร่งผ่านทางตรงหน้าพิทเลนที่ยาวมาก มันยาวถึง 2.19 กิโลเมตร ที่ซึ่งเครื่องยนต์จะต้องทำงานอย่างหนักในการรีดกำลังทั้งหมดที่มีแหวกอากาศ ส่วนความเร็วสูงสุดที่วัดได้ในสนามนี้นั้นก็ไม่ธรรมดาทีเดียว ปีที่แล้ว วาลท์เทรี บ็อตตาส ทำความเร็วสูงสุดในการควอลิฟาย และด้วยความช่วยเหลือจากการสลิปสตรีม นักแข่งฟินน์ก็กดตัวเลขไปได้ถึง 366.1 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลยทีเดียว

●   นอกจากจะเป็นสตรีทเซอร์กิตที่ทำความเร็วได้สูงสุดแล้ว ที่นี่ยังเป็นสตรีทเซอร์กิตที่แคบที่สุดอีกด้วย ช่วงที่ผังสนามวิ่งเข้าไปยังตัวเมืองเก่า จุดที่ผ่านปราสาทเก่าของเมืองนั้นตัวสนามมีความกว้างเพียง 7.6 เมตร เท่านั้น

ใครมีโอกาสชนะมากที่สุด?

●   อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น บากูซิตี้เซอร์กิตเป็นสตรีทเซอร์กิตที่เร็วที่สุดในโลก ผังสนามส่วนใหญ่เป็นทางตรงสลับกับโค้ง 90 องศา ฉะนั้นการเร่งเครื่องแล้วลากยาวๆ จำเป็นจะต้องอาศัยประสิทธิภาพเครื่องที่ยอดเยี่ยม ซึ่งในส่วนนี้เมอร์เซเดสยังคงเหนือกว่าเฟอร์รารีอยู่เล็กน้อย

●   ในส่วนของอากาศพลศาสตร์นั้น สนามนี้เป็นสนามที่เซตอัตราส่วน ดาวน์ฟอร์ซ ยากมากทีเดียว ช่วงทางตรงหน้าพิทเลนนั้นต้องการดาวน์ฟอร์ซเพียงแค่ระดับเดียวกับมอนซ่า ในขณะที่ส่วนเมืองเก่าต้องการดาวน์ฟอร์ซระดับ โมนาโค ฉะนั้นทีมที่มีความยืดหยุ่นในการสร้างดาวน์ฟอร์ซทั้ง 2 แบบ นี้บนรถจะได้เปรียบไป ซึ่งยังคงสังเกตได้ไม่ชัดเจนระหว่างเมอร์เซเดสกับเฟอร์รารี

●   ทางด้านของยางก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้ 2 ปัจจัยข้างต้น สนามแห่งนี้มีการยึดเกาะที่ต่ำเนื่องจากเป็นถนนสาธารณะและพึ่งใช้แข่งขันกันมาเพียงปีเดียว ดังนั้นอัตราการสึกหรอของยางจึงค่อนข้างต่ำ และการควบคุมอุณหภูมิทำงานของยางเป็นไปได้ยาก ในส่วนนี้นั้นเฟอร์รารีจึงอาจจะเหนือกว่าเมอร์เซเดสอยู่เล็กน้อย จากการที่ตัวรถของพวกเขาดูจะช่วยให้ยางทำงานในช่วงอุณหภูมิที่กว้างกว่าได้

●   จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น เฟอร์รารีกับเมอร์เซเดสท่าทางจะสูสีกันมากทีเดียวในสนามแห่งนี้ ลูวอิส แฮมิลตัน กับ เซบาสเตียน เวทเทล น่าจะฟาดฟันกันอย่างหนักในการชิงตำแหน่งโพลเช่นเดียวกับสนามที่ผ่านมา ในขณะที่ วาลท์เทรี บ็อตตาส กับ คิมี ไรค์โคเนน อาจจะเสียเปรียบกว่าคู่หูของพวกเขาเล็กน้อย จากสไตล์การขับของ 2 คนนี้ ที่ทำให้ยางทำอุณหภูมิได้ยาก

บันทึกความทรงจำ

●   ปีที่แล้วทุกอย่างดูจะเข้าทาง ลูวอิส แฮมิลตัน ไปหมด เมื่อเขาทำเวลาทดสอบติดหัวแถวทั้ง 3 รอบ เหนือกว่า นิโค รอสเบิร์ก เพื่อนร่วมทีม แต่แล้วเริ่มตั้งแต่วันควอลิฟาย เขาพลาดขับไปสะกิดกำแพงในรอบ Q3 ส่งผลให้เขาต้องไปสตาร์ทในกริดที่ 10 ไม่เพียงเท่านั้นในระหว่างการแข่งขัน รถของเขายังเกิดความผิดปกติในโหมดเครื่องยนต์ทำให้รีดกำลังไม่ได้ และมันเป็นสนามที่พึ่งออกกฎสั่งห้ามไม่ให้วิศวกรวิทยุสื่อสารช่วยเหลือนักขับอีกด้วย ซวยไปเลย ลูวอิส   ●



รายละเอียดสนามเพิ่มเติม

•   สนาม : บากูซิตี้เซอร์กิต
•   ความยาวสนามต่อรอบ : 6.003 กิโลเมตร
•   จำนวนรอบการแข่งขัน : 51 รอบ
•   เปิดใช้งานครั้งแรก : ปี 2016
•   ความเร็วสูงสุด : 360 กิโลเมตร/ชั่วโมง
•   แรง G สูงสุด : 3.6
•   การใช้คันเร่งเต็มที่ต่อรอบ : 49%
•   อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง : สูง (1.96 กิโลกรัม/รอบ)
•   อัตราสิ้นเปลืองเบรก : ปานกลาง
•   อัตราสิ้นเปลืองยาง : ต่ำ
•   ต้องการดาวน์ฟอร์ซ : ปานกลาง
•   จุดแซงสำคัญ : โค้ง 1
•   จุดสำคัญของสนาม : โค้ง 8-9-10-11-12
•   ยางที่สามารถใช้ได้ : ซุปเปอร์ซอฟต์, ซอฟต์, มีเดียม
•   DRS Zone : โซนคู่ โซนแรกอยู่ที่ระยะ 347 เมตร หลังผ่านโค้ง 20
•   โซนที่ 2 อยู่ที่ระยะ 54 เมตร หลังผ่านโค้ง 2 มีจุดตรวจจับเวลาจุดเดียวอยู่บนโค้ง 20
•   ผู้ชนะคนล่าสุด : นิโค รอสเบิร์ก – เมอร์เซเดส
•   ผู้ที่ได้ตำแหน่งโพลคนล่าสุด : นิโค รอสเบิร์ก – เมอร์เซเดส
•   ผู้ที่ชนะมากที่สุดในสนามนี้บนกริด : นิโค รอสเบิร์ก (2016)
•   สถิติสนาม : นิโค รอสเบิร์ก – เมอร์เซเดส – 1.46.485 – 2016
•   เวลาเร็วที่สุดของสนาม : นิโค รอสเบิร์ก – เมอร์เซเดส – 1.42.520 – 2016 (Q2)


ที่มา :
•  espnf1.com.
•  f1fanatic.co.uk.
•  en.wikipedia.org.