July 13, 2017
Motortrivia Team (10069 articles)

Takata จบคดีแอร์แบ็คบกพร่อง เส้นทางสู่กระบวนการล้มละลาย


Posted by : Fascinator.

 

●   Takata Corporation ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยจากประเทศญี่ปุ่น ยุติการดำเนินงานนับจากการเปิดบริษัทในปี 1933 โดย CEO ของทาคาตะคนปัจจุบัน ชิเกฮิสะ ทาคาดะ ได้ค้อมศีรษะขออภัยเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในงานแถลงข่าวเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2017 ที่ผ่านมา และเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์สินทรัพย์ตามกฏ Chapter 11 ในสหรัฐฯ รวมทั้งยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลายในประเทศญี่ปุ่นเอง

●   ก่อนหน้าที่จะมีการเรียกคืน กล่องอินเฟลเตอร์ ครั้งประวัติศาสตร์นั้น ทาคาตะเคยมีปัญหากับการผลิตเข็มขัดนิรภัยมาก่อนในปี 1995 ในครั้งนั้นคมนาคมของสหรัฐฯ หรือ DOT (Department of Transportation) มีคำสั่งให้เรียกรถยนต์ที่ผลิตขึ้นระหว่างปี 1986 – 1991 และติดตั้งเข็มขัดนิรภัยของทาคาตะเข้ามาแก้ไขข้อบกพร่องถึงกว่า 8.4 ล้านคัน ยังผลให้รถญี่ปุ่นที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ไดฮัทสุ, ฮอนด้า, อีซูซุ, มาสด้า, มิตซูบิชิ, นิสสัน หรือซูบารุ รวมถึงรถรีแบดจ์ในเครือไครสเลอร์, เจนเนอรัล มอเตอร์ และฟอร์ดบางรุ่นด้วย

●   กล่องอินเฟลเตอร์ของทาคาตะ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ถุงลมนิรภัยพองตัวโดยการใช้แอมโมเนียมไนเตรต สาเหตุหลักของปัญหาก็คือ เมื่อมีการทำงานของถุงลมนิรภัย แอมโมเนียมไนเตรตจะทำให้เกิดแรงระเบิดที่มากเกินไป ทำให้เศษชิ้นส่วนที่ความแหลมคมจากการระเบิดของกล่องอินเฟลเตอร์ ส่งผลให้ถึงกับผู้ที่โชคร้ายถึงกับเสียชีวิตในบางกรณี

●   ทาคาตะเริ่มพัฒนาและผลิตถุงลมนิรภัยในรถยนต์ช่วงปี 1988 โดยมีมาร์เกทแชร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รถบ้านขนาดเล็กจากญี่ปุ่น, รถสปอร์ตอิตาเลียน ไปจนถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายอดนิยมอย่างเทสล่า ล้วนใช้บริการของทาคาตะทั้งสิ้น ซึ่งการเรียกคืนครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์นี้เริ่มขึ้นในช่วงปี 2013 เมื่ออินเฟลเตอร์ที่ผลิตในเม็กซิโกถูกเรียกคืนเป็นลอทแรกจำนวน 3.6 ล้านกล่อง โดยหลังจากช่วงปี 2014 ฮอนด้าได้แจ้งว่าพบความเกี่ยวข้องระหว่างการทำงานที่ผิดปกติของถุงลมจากทาคาตะ มีอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 100 ราย และมีกรณีที่ผู้บาดเจ็บถึงแก่ชีวิต ณ เวลานั้น 8 ราย แบ่งเป็นสหรัฐฯ 7 ราย และมาเลเซีย 1 ราย

●   ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2017) ตัวเลขการเสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการคือ 17 ราย และมีผู้บาดเจ็บจากกรณีนี้ราว 180 ราย ไม่นับรวมเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้มีการสอบสวนอย่างเป็นกิจลักษณะ

●   นอกจากนี้ หน่วยงานการจราจรเพื่อความปลอดภัยแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ NHTSA (National Highway Traffic Safety Administration) ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้การเรียกคืนกล่องอินเฟลเตอร์ที่ใช้แอมโมเนียม ไนเทรต จะจบเฟสไปในปี 2018 ทว่าถุงลมนิรภัยที่ใช้กล่องอินเฟลเตอร์รุ่นใหม่ที่ใช้แคลเซียม ซัลเฟท เป็นสารดูดความชื้นของทาคาตะ และใช้สารเคมีที่ “เสถียรกว่า” อย่างซีโอไลท์ (zeolite) ก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายในลักษณะเดียวกัน ซึ่งทาคาตะจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามันมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะใช้งานภายในปี 2019 ไม่เช่นนั้น การเรียกคืนลอทใหญ่ก็จะต้องเริ่มขึ้นอีกครั้ง

●   การสั่งปรับ การชดใช้ค่าเสียหายกับบริษัทรถ และการวางกรอบแก้ไขปัญหามีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่าความเสียหายจะกินวงกว้างจนเกินความสามารถในการควบคุมของทาคาตะ แม้ว่าทาคาตะจะพยายามจ้างที่ปรึกษาด้านการเงินและกฎหมายเข้ามาเพื่อช่วยหาทางออกที่ดีที่สุด ทว่าในช่วงปี 2015 – 2016 หุ้นของทาคาตะได้ร่วงลงไปถึง 72% คิดเป็นความสูญเสียถึง 271 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่นับมูลค่าความเสียหายที่ต้องชดใช้ให้กับแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์

●   ล่าสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม 2017 ที่ผ่านมา 4 ค่าย ผู้ผลิตรถในสหรัฐฯ ได้ข้อยุติกรณีแอร์แบ็คของทาคาตะบกพร่อง โดยทาคาตะยอมชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 553 ล้านดอลลาร์ ซึ่งครอบคลุมรถที่ได้รับผลกระทบเกือบ 16 ล้านคันในประเทศ

●   ในจำนวนนี้ โตโยต้า ได้รับเงินชดเชยมากที่สุดเป็นจำนวน 278.5 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย บีเอ็มดับเบิลยู 131 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ มาสด้า ได้รับเงินชดเชย 76 ล้านดอลลาร์ และ ซูบารุ ได้รับการชดเชย 68 ล้านดอลลาร์ ส่วนแบรนด์ผู้ผลิตอื่นๆ อาทิ ฮอนด้า, นิสสัน และฟอร์ด ยังไม่สามารถบรรลุข้อยุติร่วมกันได้ โดยค่าชดเชยที่ทางผู้ผลิตรถได้รับ พวกเขาจะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าต่อไป เม็ดเงินประมาณ 50 ล้านดอลลาร์จากกองเงิน 553 ล้านดอลลาร์ จะถูกใช้สำหรับจัดหารถเช่าให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นมันจะยังเป็นค่าชดเชยความสูญเสียในส่วนของค่าแรง ค่าเดินทาง และค่าเลี้ยงดูบุตร

●   เมื่อมองย้อนกลับไปยังเดือนมกราคม 2017 ทาคาตะได้ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานผลิตแอร์แบ็คที่บกพร่องและต้องชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์ โดยเงินจำนวน 25 ล้านดอลลาร์จะเป็นในส่วนของค่าปรับจากกระทรวงยุติธรรม ในขณะที่อีก 2 ส่วนจะแบ่งเป็น 125 ล้านดอลลาร์ สำหรับค่าชดเชยของผู้รับเคราะห์ และอีก 850 ล้านดอลลาร์ ในการชดเชยให้กับค่ายผู้ผลิตรถที่ได้รับความเสียหายจากการที่ต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่มีข้อบกพร่อง… เห็นได้ชัดว่าทาคาตะไม่มีทางออกใดๆ เหลืออยู่เลย

●   หลังการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกฏ Chapter 11 ในสหรัฐฯ และการขอความคุ้มครองการล้มละลายในประเทศญี่ปุ่น KSS หรือ Key Safety Systems บริษัทผู้พัฒนาระบบความปลอดภัยในรถยนต์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในมิชิแกน ได้เข้าครอบครองกิจการที่เหลืออยู่ทั้งหมดของทาคาตะ โดย KSS ซึ่งมีแบ็คอัพเป็นกลุ่ม Ningbo Joyson Electronic Corp. จากประเทศจีน ได้ใช้เงินทั้งหมด 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการปิดดีลนี้

●   สิ่งหนึ่งที่ทำให้ดีลนี้มีคุณค่าคือการการันตีตำแหน่งงานราว 1.4 หมื่นตำแหน่งให้ยังดำรงอยู่ต่อไป

●   ในอดีตที่ผ่านมา ทาคาตะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในเครือที่นอกเหนือจากถุงลมนิรภัย อาทิ เข็มขัดนิรภัยสำหรับรถบ้าน, เข็มขัดนิรภัยสำหรับรถแข่ง, ชุดระบบมัลติฟังก์ชั่นบนพวงมาลัย, เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก, อุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ที่ใช้งานในระบบ Lane Departure Warning เป็นต้น ซึ่ง KSS สามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมาย  ●