August 25, 2017
Motortrivia Team (10167 articles)

Toyota Fortuner 2.4V 4WD Σ4 ดีสำหรับทางลุย พอสำหรับทางเรียบ


เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ  •  ภาพ : โตโยต้า ประเทศไทย

 

●   ตั้งแต่ปี 2013 ถึงปัจจุบัน รถเอสยูวีรุ่นเครื่องยนต์เล็กมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นทุกปี และเมื่อ 2 ปีที่ผ่าน มียอดจำหน่ายเพิ่มจาก 5 เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โตโยต้าจึงเพิ่มทางเลือกให้ฟอร์จูนเนอร์รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2,400 ซีซี ด้วยการติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ SIGMA4 (Σ4) เป็นแบรนด์เดียวในปัจจุบันที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อในรุ่นเครื่องยนต์เล็ก พร้อมเพิ่มดิสก์เบรกหลังในทุกรุ่นย่อย และเพิ่มอุปกรณ์ทั้งภายนอกและภายใน ล่าสุดจัดทดสอบแบบกลุ่มทั้งทางเรียบและทางฝุ่น บนเส้นทางกรุงเทพฯ-เขาใหญ่ พร้อมลุยทางออฟโรดพิสูจน์สมรรถนะที่ไร่ทองสมบูรณ์


คุณรุ่งโรจน์ ขันชะลี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย


●   ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นปรับโฉม มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดปลีกย่อยบางจุด ภายนอกเปลี่ยนบันไดข้างเป็นสีเงิน และไฟตัดหมอกหน้าแบบ LED ภายในเพิ่มเบาะไฟฟ้าปรับ 8 ทิศทางที่ฝั่งผู้ขับ (เฉพาะรุ่น V และ TRD) เน้นการตกแต่งที่ประณีต ใช้วัสดุที่อ่อนนุ่มและใช้ด้ายจริง เพิ่มความรู้สึกนุ่มนวลในการใช้งานเช่น การเปิด-ปิดฝาปิดที่เก็บของหรือที่วางแก้วน้ำ ใส่ใจรายละเอียดปลีกย่อย เช่นการเพิ่มวัสดุหุ้มรางเบาะ หน้าปัด Optitron และ MID จอแสดงข้อมูลแบบหน้าจอสี ไฟส่องสว่างห้องโดยสารแบบ LED

●   สะดวกสบายด้วยระบบ Smart Entry และปุ่ม Start/Stop เครื่องเล่น DVD และระบบนำทางผ่านดาวเทียม ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผู้โดยสารเบาะแถว 3 เข้า-ออกสะดวกด้วยการเบาะแถว 2 แบบจังหวะเดียว One-Touch Tumber up เบาะนั่งปรับได้หลายรูปแบบ เบาะแถว 2 เลื่อนเดินหน้าถอยหลังได้ มีช่องเก็บความเย็น และช่องจ่ายไฟฟ้า 220 โวลต์ ประตูบานท้ายเปิดปิดด้วยระบบไฟฟ้าพร้อมระบบป้องกันการหนีบ

เหลือเฟือสำหรับทางลุย

●   วันแรกนั่งรถตู้จาก Toyota Driving Experience Park บางนา กม. 3 มุ่งหน้าไร่ทองสมบูรณ์เพื่อทดลองขับแบบออฟโรดก่อน มีรถทั้งหมด 4 คัน เป็นรุ่น 2.4V 4WD 3 คัน ระยะทางทดสอบแบบออฟโรดประมาณ 500 เมตร นั่งคันละ 4 คน มี Instructor ประจำรถ 1 คน และอีก 3 คนเป็นสื่อมวลชน ที่จะหมุนเวียนกันขับคนละ 1 รอบ รถทุกคันเข้าเกียร์ L4 โดยจะต้องเข้าเกียร์ว่างก่อน แล้วหมุนและกดปุ่มเลือกระบบขับเคลื่อน จึงจะเข้า L4 ได้ ตลอดการขับใช้เกียร์ S1 และ S2 ควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่คันเกียร์หรือ Paddle Shift ที่พวงมาลัย

●   ระบบขับเคลื่อน Σ4 หรือซิกม่าโฟร์ สามารถเลือกโหมดการขับได้ทั้ง H2, H4 และ L4 ทำงานร่วมกับระบบ DAC หรือ Down Hill Assist Control และ A-TRC หรือ Active Traction Control โดยโหมด H2 จะเป็นระบบขับเคลื่อน 2 ล้อสำหรับสภาพถนนปกติ, โหมด H4 ขับเคลื่อน 4 ล้อสำหรับสภาพถนนเปียกลื่นและลูกรัง และโหมด L4 ขับเคลื่อน 4 ล้อสำหรับเส้นทางวิบาก และเส้นทางที่ต้องการใช้งานแรงบิดสูงสุด

●   โชคดีที่ถูกจัดให้ขับคนแรกในรถเบอร์ 1 ทางจึงยังไม่ช้ำ ออกจากจุดสตาร์ตลงเนินและโค้งซ้ายนิดๆ เจอขอนไม้ขวางเพื่อทดสอบพละกำลังของเครื่องยนต์ 2,400 ซีซี 150 แรงม้า และทดลองความนุ่มนวลของช่วงล่าง ซึ่งเป็นผลมาจากชิ้นส่วนของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้น้ำหนักรถเพิ่มขึ้นประมาณ 100 กิโลกรัม ช่วงล่างจึงนุ่มนวลขึ้น ต่อด้วยการขับเนินชันแบบมองเห็นแต่ท้องฟ้า เพื่อทดสอบระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชันหรือ HAC ขับขึ้นไปถึงกลางเนินแล้วเบรกให้รถหยุดนิ่ง จากนั้นปล่อยเบรก ระบบ HAC จะคงแรงเบรกต่อเนื่องให้ประมาณ 3 วินาที เพื่อให้ยกเท้าจากแป้นเบรกไปเหยียบคันเร่งได้โดยที่รถไม่ไหลถอยหลัง ถ้าปล่อยเบรกจนรถไหลถอยหลังแล้วเหยียบเบรก ระบบ HAC ก็จะทำงานอีก

●   ช่วงขับขึ้นเนินไต่ขึ้นได้ง่ายๆ แม้จะนั่งกัน 4 คน กดคันเร่งเบาๆ เลี้ยงรอบเครื่องยนต์ไว้แค่ 1,000 รอบต่อนาที ช่วงลงเนินแบบหน้าปักลงพื้นเพื่อลองระบบ DAC ควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน มีเซ็นเซอร์ตรวจสอบมุมของรถ แรงเบรกขึ้นอยู่กับความชัน ทางลงชันสุดๆ โดยไม่ต้องเหยียบเบรก ระบบจะควบคุมการเบรกให้อย่างนุ่มนวลและสัมพันธ์กับความชัน จากนั้นขับลงบ่อน้ำที่มีความลึกระดับบันไดข้าง พื้นด้านล่างเป็นหินและดิน ด่านนี้ผ่านได้สบายแม้ยางเดิมๆ

●   ขึ้นจากน้ำมีช่วงทางเรียบสั้นๆ สามารถเปลี่ยนเกียร์เป็น S2 ได้เพื่อลดรอบเครื่องยนต์ จากนั้นต่อเนื่องด้วยการทดสอบระบบ A-TRC ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีแบบ Active Traction Control เป็นทางแยกให้เลือกระหว่างเนินสลับหรือหลุมสลับแบบลึก เมื่อขับผ่านจะมีบางล้อที่ลอยจากพื้น เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจพบว่ามีล้อใดล้อหนึ่งเริ่มสูญเสียแรงขับเคลื่อน ระบบจะลดกำลังขับเคลื่อนที่ส่งไปยังล้อนั้นเพื่อป้องกันล้อหมุนฟรี และเพิ่มแรงขับเคลื่อนไปยังล้ออื่น เพื่อให้รถเคลื่อนที่ต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ด่านนี้ใช้รอบประมาณ 1,000-1,200 รอบต่อนาที รถก็สามารถเคลื่อนที่ไปได้อย่างต่อเนื่องและนุ่มนวล

●   จากนั้นเข้าสู่สถานีที่หวาดเสียวที่สุด คือ เนินเอียง Instructor ให้ข้อมูลว่าตัวรถออกแบบมาให้สามารถเอียงได้สูงสุดประมาณ 45 องศา ไฮไลต์อยู่ที่ช่วงสลับจากเอียงซ้ายเป็นขวา ซึ่งก็ทำได้อย่างนุ่มนวลโดยคำแนะนำของ Instructor ที่นั่งไปด้วย ควบคุมรอบเพียง 1,000 รอบต่อนาที ในเกียร์ S1 ปิดท้ายด้วยการทดสอบระบบ HAC อีกครั้งก่อนเสร็จสิ้นการทดสอบ

●   ระบบต่างๆ ของฟอร์จูนเนอร์ ช่วยให้คนที่ไม่ได้ขับออฟโรดบ่อยๆ อย่างผมสามารถขับผ่านได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัย และนุ่มนวล รถไม่ช้ำ เครื่องยนต์ 2,400 ซีซี 150 แรงม้า จับคู่กับอัตราทดเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อที่เหมาะสม ทำให้ขับผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้โดยไม่ต้องรีดเค้นเครื่องยนต์ นอกจากนั้นต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่ง ให้กับการออกแบบระยะโอเวอร์แฮงค์หรือระยะยื่นทั้งด้านหน้าและหลังที่สั้น เพิ่มมุมปะทะด้านหน้า และเพิ่มมุมจากด้านหลัง ทำให้การขับผ่านเนินชันมากๆ ได้โดยตัวรถไม่เสียหาย

ทางเรียบไม่หวือหวา

●   วันรุ่งขึ้นได้ทดลองรถรุ่น 2.4V 4WD บนทางเรียบ ตัวเลขโรงงานระบุอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 13.9 กิโลเมตรต่อลิตร อยู่ในระดับที่พอรับได้ รถรุ่นนี้ใช้เกียร์ลูกเดียวกับรุ่น 2.8 แตกต่างที่อัตราทดเฟืองท้ายรุ่น 2.8 ที่ใช้ 3.909 ส่วนรุ่น 2.4 ใช้ 4.100 เพื่อชดเชยกำลังแรงบิดที่น้อยกว่ารุ่น 2.8 แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องรอบสูงเมื่อใช้ความเร็วสูง ที่ความเร็ว 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้รอบประมาณ 1,400-1,500 รอบต่อนาที และที่ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้รอบประมาณ 2,000 รอบต่อนาที ข้อดีของเครื่องยนต์ดีเซลก็คือ เมื่อเพิ่มความเร็วขึ้น รอบจะขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

●   รุ่น 2.4V 4WD การเร่งเพิ่มความเร็วแบบต่อเนื่องยาวๆ ทำได้ทันใจพอสมควร ส่วนการเร่งแซงที่ความเร็วปานกลางขึ้นไป ต้องอาศัยจังหวะบ้าง รุ่นที่ทดลองขับมี Paddle Shift ผู้ขับสามารถควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ได้เอง ช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉงขึ้นอีกนิดขณะเร่งแซง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยไม่ได้เซต 0 ก่อนออกเดินทาง ถึงจุดสลับรถกดดูข้อมูลการขับเห็นตัวเลข 12.0 กิโลเมตรต่อลิตร ถือว่าน่าพอใจเพราะเกือบตลอดทางเป็นถนน 2 เลนสวน ต้องเร่งแซงบ่อยครั้ง

●   โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ 2.4V 4WD Σ4 ใหม่ ลุยทางวิบากได้สบายๆ ด้วยอัตราทดเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ และระบบช่วยเหลือต่างๆ ส่วนสมรรถนะบนทางเรียบก็อยู่ในระดับปานกลาง เหมาะกับการเดินทางแบบไปเรื่อยๆ ประหยัดน้ำมันถ้าขับด้วยความเร็วคงที่ต่อเนื่อง ราคา 1,499,000 บาท ถูกกว่ารุ่น 2.8V 4WD Σ4 159,000 บาท ประหยัดกว่าทั้งตอนซื้อ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตลอดการใช้งาน มาพร้อมการรับประกัน 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร   ●

Specification: Toyota Fortuner 2.4V 4WD

–   แบบตัวถัง อเนกประสงค์ 5 ประตู
–   ยาว x กว้าง x สูง 4,795 x 1,855 x 1,835 มิลลิเมตร
–   ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,545/1,550 มิลลิเมตร
–   ระยะต่ำสุด 193 มิลลิเมตร
–   ฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร
–   แบบเครื่องยนต์ ดีเซลคอมมอนเรล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว เทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์
–   ความจุ 2,393 ซีซี
–   กระบอกสูบ ช่วงชัก 92.0 x 90.0 มิลลิเมตร
–   อัตราส่วนการอัด 15.6:1
–   กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 3,400 รอบต่อนาที
–   แรงบิดสูงสุด 40.76 กก.-ม. ที่ 1,600-2,000 รอบต่อนาที
–   ระบบส่งกำลัง อัตโนมัติ 6 จังหวะ
–   ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
–   ระบบบังคับเลี้ยว แร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์
–   ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระ ปีกนก 2 ชั้น คอยล์สปริง เหล็กกันโคลง
–   ระบบกันสะเทือนหลัง โฟร์ลิงก์ คอยล์สปริง เหล็กกันโคลง พร้อม VSC และ TRC
–   ระบบเบรกหน้า/หลัง ดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ พร้อม ABS, EBD และ BA
–   ผู้จำหน่าย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
–   โทรศัพท์ ลูกค้าสัมพันธ์ 0-2386-2000
–   เวบไซต์ www.toyota.co.th/model/fortuner.


2017 Toyota Fortuner 2.4V 4WD Σ4 Test Drive