September 25, 2017
Motortrivia Team (10076 articles)

เหลียวมองรอบด้าน…เชิญพบกับด้านมืดของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า


Posted by : Man from the Past

 

●   ในอดีตที่ผ่านมา มีการศึกษากันมาอย่างต่อเนื่องว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้า นั้นส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศน์เช่นเดียวกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพียงแต่แตกต่างกันในรูปแบบและกระบวนการ อย่างไรก็ตาม เราต่างก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้านั้นอย่างไรก็ต้องมาถึง ทว่าอย่างน้อยเราก็ควรจะรู้กันสักนิดว่าด้านมืดของรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นมีอะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง

●   เว็บไซท์ Digital Trends ได้ยกตัวอย่างการบูมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในยุคปัจจุบัน นั่นคือความสำเร็จของบริษัท Tesla ซึ่งดูเหมือนว่าผู้คนทั่วไปจะไม่สนใจด้วยซ้ำว่ามันสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง ล่าสุดรถรุ่นใหม่ภายใต้การผลักดันของ Elon Musk ยอดบุรุษแห่งวงการยานยนต์คนใหม่อย่าง Tesla Model 3 สามารถทำยอดจองได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยมียอดจองก่อนเปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2017 เกือบ 500,000 คัน ซึ่งในด้านการขายหลังจากนั้น มีการคาดการณ์กันว่า Model 3 น่าจะยังคงสถานะ “รถขายดี” ต่อไป และกลายเป็นรถที่ขายดีที่่สุดในประวัติศาสตร์รุ่นหนึ่ง

●   ดังนั้นการจะเข้าใจถึงผลกระทบที่รถ Tesla มีต่อระบบนิเวศน์ เราจำเป็นต้องเข้าใจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า “ทุกยี่ห้อ” ที่กำลังจำหน่าย รวมทั้งที่กำลังจะลงสู่ตลาด (โลก) ในอนาคตด้วย

●   รถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วนแบบแบตเตอรี่, รถไฮบริด, รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือแม้แต่ฟิวเซลล์ ทั้งหมดล้วนเป็นรถที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนในการสำรองพลังงานทั้งสิ้น ส่วนประกอบสำคัญของมันก็คือแร่ลิเธียม ซึ่งเป็นแร่หายากที่อาจหมดไปจากโลกได้หากมีการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจนถึงจุดๆ หนึ่ง ไม่เพียงเท่านี้ ภาวะการขาดแคลนลิเธียมยังอาจทำให้เกิดการขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรด้วย เนื่องจากประเทศที่มีแร่ชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็น โบลิเวีย, จีน หรือแอฟกานิสถาน ล้วนอ่อนไหวต่อการกระทบกระทั่งกันในระดับสากล

●   มีการประเมินว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า (2020) ตลาดซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ประเภทนี้ จะมีมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.48 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันมากขึ้น จากการมีผู้ได้รับผลประโยชน์กระจายตัวทุกหนแห่ง ทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้อ จากปัจจุบันที่จำกัดเฉพาะในประเทศใหญ่และทันสมัย

●   ปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์รายใหญ่สุดก็คือประเทศจีน ที่นอกจากจะเป็นเจ้าของแหล่งแร่ลิเธียมใหญ่สุด ยังเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่มากที่สุดด้วย ดังนั้นถ้ามีอะไรไปกระทบผลประโยชน์ มีหรือที่จีนจะไม่ลุกขึ้นมาคำราม? นี่ยังไม่พูดถึงการที่จีนกำลังเป็นประเทศปล่อยมลพิษสูงสุดของโลก (และกำลังจะตั้งเป้าเป็นผู้นำการผลิตรถ BEV และ PHEV) ดังนั้นถ้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น จีนย่อมปล่อยมลพิษทำลายระบบนิเวศน์มากกว่าเดิม จนปัญหาโลกร้อนที่ทุกคนกำลังกังวลอาจส่งผลร้ายเร็วกว่าที่คาดไว้

การผลิตแบตเตอรี่ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

●   ลองมาดูกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ และการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันบ้าง ทั้ง 2 อย่างมีการใช้พลังงานไม่น้อยโดยเฉพาะ “พลังงานไฟฟ้า” ในกรณีของจีน พลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากถ่านหิน ดังนั้นจึงยิ่งส่งผลกระทบให้หนักขึ้นไปอีก ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น ร้อยละ 45 ของพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานที่ผลิตจากถ่านหิน โดยในรัฐเทกซัส, เพนน์ซิลเวเนีย และโอไฮโอ ซึ่งล้วนเป็นรัฐใหญ่ ยังคงผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมด

●   ทั้งนี้นับตั้งแต่ช่วงปี 2013 ที่ผ่านมา โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐฯ หลายแห่งได้ปิดตัวลงก่อนหมดอายุใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ ยังผลให้โรงงานไฟฟ้าแบบถ่านหินและก๊าซต้องเข้ามาทดแทนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

●   ดังนั้นปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งในแง่ของการผลิตและการใช้งานตัวรถ ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างรุนแรงแน่นอน ซึ่งขัดกับภาพลักษณ์ทั่วไปที่มีการจัดให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็น “รถที่สะอาดทุกแง่มุม” คือไม่ว่าจะดูตรงไหน ไม่มีอะไรที่จะไปทำลายสิ่งแวดล้อมได้เลย

ภาพลักษณ์ที่ย้อนแย้ง

●   ในการศึกษาผลกระทบนั้น มีการนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไปเปรียบเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยทำการเปรียบเทียบในแง่มุมที่จะสร้างผลกระทบอันส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน เริ่มตั้งแต่การขุดเจาะแร่และน้ำมัน, การผลิตแบตเตอรี่, การผลิตน้ำมัน และการผลิตตัวรถยนต์ ไล่ไปจนถึงการใช้งานในชีวิตประจำวัน ผลปรากฏว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสร้างผลกระทบที่ไม่ได้น้อยไปกว่ารถน้ำมันเชื้อเพลิงเลย

●   ถ้าวัดเฉพาะการใช้งานเพียงอย่างเดียว รถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังได้เปรียบอยู่ โดยจะเป็นหนึ่งในวงจรที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยกว่ารถน้ำมันเบนซินร้อยละ 24 และน้อยกว่ารถน้ำมันดีเซลราวร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 14

●   แต่หากรวมด้านอื่นๆ เข้าไปด้วย ตั้งแต่การขุดแร่, ขุดเจาะน้ำมัน, ผลิตแบตเตอรี่, ผลิตน้ำมัน, ผลิตรถ รวมถึงขั้นตอนการในการขนส่งทุกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย ปัจจัยในการก่อภาวะโลกร้อนกลับไม่ได้น้อยกว่ากันเลย ถ้ารวมการใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินในการผลิตด้วยแล้ว โอกาสในการก่อมลภาวะจะสูงกว่าเสียด้วยซ้ำ โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะก่อมลภาวะสูงกว่ารถดีเซลร้อยละ 17 และสูงกว่ารถเบนซินถึงร้อยละ 27

●   ในด้านสุขภาพ ลิเธียมแบตเตอรี่ที่ใช้สำรองไฟให้กับรถ มีสารหลายตัวที่ก่อให้เกิดโรค ไล่ไปตั้งแต่มะเร็งจนถึงโรคที่เกี่ยวกับสมอง และสารร้ายแรงที่สุดก็คือ สารโคบอลท์ ซึ่งมนุษย์ไม่ควรสัมผัสอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเกิดเพลิงลุกไหม้ โดยเฉพาะในกรณีของ Tesla นั้น ทุกครั้งที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ต้องเป็นข่าวใหญ่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้สูง เพราะแร่ลิเธียมไวไฟพอๆ กับน้ำมัน มีคุณสมบัติที่ติดไฟง่าย และมีความร้อนจำเพาะที่สูงมากโดยตัวของมันเอง

●   อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทผู้ผลิตก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการพยายามมองหาหนทางลดการใช้พลังงานในการผลิตรถต่อหน่วย เช่น โรงงาน Gigafactory ของ Tesla ซึ่งเริ่มดำเนินงานในช่วงต้นปี 2016 ที่ผ่านมา โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถในเครือได้ราว 5 แสนคันต่อปี จุดเด่นคือฟาร์มโซลาร์เซลล์ (Solar Farm) ขนาด 70 เมกะวัทท์บนหลังคาโรงงานสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงโรงงานได้เกือบทั้งโรงงาน เป็นต้น

●   แต่ถึงจะมีภัยมากเพียงไร ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ยุคของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างไรก็ต้องมาถึง เพียงแต่เราควรตระหนักรู้และควรมองมันให้ครบทุกแง่มุม ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย… สัปดาห์หน้าเรามาติดตามกันต่อไปว่า เจ้าแบตเตอรี่ที่จากเราไปแล้ว มันไปอยู่กันที่ไหน?   ●