September 29, 2017
Motortrivia Team (10170 articles)

Renault-Nissan เตรียมขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ทุกด้านภายใน 5 ปี


Posted by : Man from the Past

 

●   หลังจากขึ้นเป็นบริษัทรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดแทนโฟล์คสวาเก็น ตามด้วยโตโยต้าเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา * โดยมียอดรวมทั้งสิ้น 5.27 ล้านคันในระยะครึ่งปีแรกของปี 2017 นี้ ล่าสุด เรโนลต์-นิสสัน อัลลายแอนซ์ ซึ่งปรับเปลี่ยนเป็น เรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ อัลลายแอนซ์ (Renault-Nissan-Mitsubishi Alliance) ได้ประกาศจะเดินหน้าสู่ความเป็นบริษัทรถยิ่งใหญ่ทุกด้านภายใน 5 ปี โดยเมื่อถึงปี 2022 คาดว่า บริษัทจะมียอดขายรถรวมทั้งสิ้น 14 ล้านคัน โดยเพิ่มจาก 10.5 ล้านคันที่คาดว่า จะเป็นยอดขายทั้งปีในปี 2017 นี้

●   และถ้าทำได้… คาดว่าบริษัทฝรั่งเศสผสมญี่ปุ่นแห่งนี้จะมีรายรับรวมกันถึง 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 7.92 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าปัจจุบัน 3 เท่า


* ยอดจำหน่ายทั่วโลกในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม – มิถุนายน 2017) เรโนลต์, นิสสัน และมิตซูบิชิ มียอดรวมทั้งสิ้น 5,268,079 คัน ตามมาด้วยโฟล์คสวาเก็น 5,155,600 คัน ปิดท้ายด้วยโตโยต้า 5,129,000 คัน


●   ทั้งนี้คาดว่า ยอดรายรับที่เพิ่มส่วนใหญ่จะมาจากการขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่เอี่ยมรวม 12 รุ่น โดยทุกรุ่นได้รับการวางตลาดเพื่อตอกย้ำการที่บริษัทเป็นเจ้าตลาดรถไฟฟ้าเจเนเรชั่นหรืออายุรุ่นปัจจุบัน หลังประสบความสำเร็จในการบุกเบิกตลาดรถไฟฟ้าที่ทำมา 8 ปีแล้ว โดยมีรถ Nissan Leaf กับรถ Renault Zoe เป็นหัวขบวน

●   คาดว่าในอีก 5 ปียอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งรถไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด จะสูงถึงร้อยละ 30 ของยอดขายรถทั้งหมด ทว่าไม่ใช่ยอดขายเท่านั้นที่จะเป็นตัวดึงความยิ่งใหญ่ที่จะกำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากยังมียังมีประเด็นเรื่องการลดค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะทำได้เกือบ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 396,000 ล้านบาท เมื่อถึงปีเป้าหมาย โดยการลดงบประมาณส่วนใหญ่จะเกิดจากการร่วมมือกับบริษัทมิตซูบิชิ ซึ่งเรโนลต์-นิสสันได้เข้าไปเทกโอเวอร์กิจการในปีที่แล้ว กับการส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มรถร่วมกันในการผลิตรถยี่ห้อร่วมกัน ทั้งๆ ที่การควบรวมเป็นบริษัทเดียวกันเกิดขึ้นตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว (ปี 1999)

●   มีการคาดกันแล้วว่า เมื่อถึงปี 2022 จำนวนแพลตฟอร์มที่ใช้ร่วมกันจะมีถึง 4 แพลตฟอร์ม โดยในช่วงเดียวกันบริษัทยังอาจให้มิตซูบิฃิพัฒนารถรุ่นใหม่ที่ใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวอีกด้วย

●   การประกาศของเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ ในครั้งนี้ เกิดระหว่างการให้สัมภาษณ์ของนาย Carlos Ghosn ประธานคณะกรรมการบริษัท โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์ที่กรุงปารีสเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยในการให้สัมภาษณ์นั้นได้สร้างความโอฬารให้เกิดขึ้นกับบริษัทรถสองสัญชาติแห่งนี้

●   ทว่าเขาไม่ได้กล่าวถึงประเด็นที่นักลงทุนตลอดจนผู้ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการรถยนต์อยากรู้แม้แต่น้อย… นั่นคือ การควบรวมบริษัททั้งสองจะเกิดหรือไม่ก่อนถึงปี 2022 เนื่องจากปัจจุบันเรโนลต์และนิสสันอยู่ร่วมกันในฐานะ “พันธมิตรทางธุรกิจ” หรือ Strategic Partner

●   ที่ผ่านมายังไม่มีการโอนหุ้นนิสสันให้เรโนลต์เป็นทางการ และการที่ทั้งสองบริษัทยังไม่ควบรวมกันนั้น เชื่อกันว่าเป็นเพราะเรโนลต์มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นรัฐบาลฝรั่งเศส โดยยังเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจออกเสียงสูงกว่าจำนวนหุ้นสองเท่า ดังนั้นเรโนลต์จึงน่าจะกลัวเรื่องการแทรกแซง นอกจากนั้นยังอยากรู้นายใหญ่ชาวฝรั่งเศสคนนี้จะดำเนินการอย่างไรให้การหาคนมาดำรงตำแหน่งแทนเขา หลังจากที่นั่งเป็นพระเอกคนเดียวมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยไม่มีวี่แววว่าเมื่อไหร่จะลุกจากตำแหน่ง เพียงแต่แย้มเล็กน้อยเมื่อเดือนมิถุนายนว่า เขากำลังหาคนที่จะมาเป็นรองประธานคณะกรรมการ (ในปี 2012 มีข่าวว่า Carlos Ghosn อาจจะลาออกจากตำแหน่ง)

●   ส่วนการควบรวมสองบริษัทนั้น ถึงจะยังมีการดำเนินการต่อไป แต่จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อโครงสร้างการบริหารจัดการ ทั้งนี้เดือนเมษายนที่ผ่านมา Ghosn ได้ลุกจากตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดบริษัทนิสสันเพื่อเป็นประธานคณะกรรมการตำแหน่งเดียว และเขามีกำหนดจะต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเรโนลต์ในปีหน้า หลังสัญญาจ้างงานหมดอายุ

●   นอกจากนั้นเขายังแย้มระหว่างการสัมภาษณ์ที่กรุงปารีสว่า อีกไม่นานเรโนลต์จะวางจำหน่ายรถ Renault Kwid ในจีน ทว่ามินิ-ยูเอสวีรุ่นนี้จะไม่ใช่รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ความจุ 0.8 ลิตร แบบในปัจจุบัน แต่จะเป็นรุ่นที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบไฟฟ้าล้วน เพื่อให้รับกับกระแสการบูมของรถไฟฟ้าในประเทศนี้.

●   แต่ถึงจะวางแผนดีอย่างไร นักสังเกตการณ์ยังไม่ค่อยแน่ใจถึงความสำเร็จของเรโนลต์-นิสสันเมื่อถึงปีเป้าหมาย เพราะทราบกันดีถึงการขัดแย้งกันในหมู่วิศวกรของทั้งสองบริษัท จนส่งผลกระทบต่อการลดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายด้านการพัฒนาเครื่องยนต์และระบบขับเคลื่อน… นี่ยังไม่ได้พูดถึงการร่วมมือกับมิตซูบิชิที่เริ่มขึ้นในช่วงระหว่างการลดค่าใช้จ่าย “เป็นประเด็นสำคัญ” ดังนั้นการดำเนินการคงต้องเผชิญปัญหาอยู่ไม่น้อย

●   หลังจากนี้ยังจะมีประกาศสำคัญจากบริษัททั้งสามอีก เพราะทั้งเรโนลต์, นิสสัน และมิตซูบิชิ ต่างก็เตรียมให้สัมภาษณ์แบบเฉพาะเกี่ยวกับแผนงานกลางปี โดยเรโนลต์จะเริ่มเป็นรายแรกในวันที่ 6 ตุลาคม 2017 นี้… ติดตามกันดีๆ เพราะจะได้รับทราบภาวะความเป็นไปของกิจการรถยนต์ทั่วโลกไปพร้อมๆ กัน   ●

สรุปแผนงาน อัลลายแอนซ์ 2022

Alliance 2022:
– เปิดตัวโลโก้และระบบออนไลน์ใหม่ของกลุ่มอัลลายแลนซ์
– เป้าหมายการลงทุนร่วมกันต่อปีที่ 1 หมื่นล้านยูโร
– คาดการณ์ยอดจำหน่าย 14 ล้านคัน
– รายได้รวม 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
– รถยนต์มากกว่า 9 ล้านคันจะใช้ 4 แพลทฟอร์มร่วมกัน
– ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันที่ผลิตบน 2 แพลทฟอร์มในปี 2016
– การใช้ระบบขับเคลื่อนร่วมกันจะขยายตัวจาก 1 ใน 3 เป็น 3 ใน 4
– ครอบคลุมระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า, การเชื่อมต่อ และเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ
– รถไฟฟ้า 12 รุ่นจะใช้แพลทฟอร์มและชิ้นส่วนร่วมกัน
– รถ 40 รุ่นจะเปิดตัวพร้อมเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ (AD: autonomous drive)
– ให้บริการรถร่วมโดยสารที่ขับเคลื่อนโดยหุ่นยนต์ (robo-vehicle ride-hailing services)
– การเติมความสำคัญในกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์น้ำหนักเบา (LCV)

แผนงานเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า:
– 70 เปอร์เซ็นต์ของรถไฟฟ้าจะผลิตบนแพลทฟอร์มเดียวกันภายในปี 2022
– แบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้ารุ่นใหม่จะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2020
– แบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้านี้จะใช้งานกับทุกบริษัทในเครือ
– รถไฟฟ้า 12 รุ่นใหม่จะเปิดตัวภายในปี 2022
– รถไฟฟ้าที่มีระยะทางขับเคลื่อนมากกว่า 600 กม. (NEDC) จะเปิดตัวภายในปี 2022
– ต้นทุนแบตเตอรี่จะลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ระหว่าง 2016 – 2022
– ปี 2022 การชาร์จไฟ 15 นาทีจะมอบระยะทางขับเคลื่อน 230 กม. (NEDC)
– แบตเตอรี่จะมีลักษณะแบนราบ ช่วยเพิ่มพื้นที่ในห้องโดยสาร มีความยืดหยุ่นด้านการออกแบบมากขึ้น
– เทคโนโลยีปลั๊ก-อิน ไฮบริด ของมิตซูบิชิ จะเป็นระบบที่ใช้ร่วมกันในรถ C และ D-segment ในปี 2022

แผนงานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติและรถไร้คนขับ
– ปี 2018 ระบบใช้งานบนถนนไฮเวย์ ผู้ขับยังคงควบคุมสถานการณ์ต่อเนื่อง
– ปี 2022 ระบบชั้นสูงสำหรับใช้งานในเมือง ผู้ขับยังคงควบคุมสถานการณ์ต่อเนื่อง
– ปี 2022 ระบบขั้นสูงสำหรับใช้งานบนไฮเวย์ ผู้ขับควบคุมสถานการณ์เป็นครั้งคราว
– ปี 2022 ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องมีผู้ขับตรวจสอบสถานการณ์

●   ปัจจุบัน เทคโนโลยีไร้คนขับ กำลังมีการทดสอบการใช้งานจริงอย่างต่อเนื่องร่วมกับหุ้นส่วนอย่าง DeNA จากญี่ปุ่น และ Transdev จากฝรั่งเศส ทางกลุ่มตั้งเป้าหมายเป็นผู้ให้บริการหลักของการบริการรถยนต์ร่วมโดยสารแบบไร้คนขับ ซึ่งจะมีหุ้นส่วนเพิ่มเติมในอนาคต นอกจานี้ยังมีการสนับสนุนการเชื่อมต่อและบริการด้านการขับเคลื่อน (Alliance Connected Vehicles and Mobility Services) โดยกำลังพัฒนาบริการด้านการขับเคลื่อนรูปแบบใหม่

●   ทั้งนี้โซลูชั่นการเชื่อมต่อรุ่นใหม่จะพร้อมให้บริการตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป ประกอบด้วย ระะบบอินโฟเทนเมนท์ที่ใช้ร่วมกันในรถยนต์ และระบบการเชื่อมต่อที่ใช้ร่วมกันในรถยนต์, การเปิดตัวแพลทฟอร์ม Connected Cloud เพื่อจัดการอินเฟอร์เฟซข้อมูลทั้งหมด โดยแพลทฟอร์มระบบคลาวด์จะเปิดทางให้เกิดการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับบริการรถยนต์ไร้คนขับ รถขนส่งสินค้าอัตโนมัติ และรถรับ-ส่งขับอัตโนมัติ   ●