October 31, 2017
Motortrivia Team (10156 articles)

Honda ประเทศไทย พาชม 45th Tokyo Motor Show 2017 : Part 2


เรื่อง  :  นาธัส แสงสุริยะ

 

ตอนที่ 2 : เยือน Honda Collection Hall

●   หลังจากทดลองขับรถเสร็จแล้ว ก็ย้ายไปทำกิจกรรมกันต่อที่ ฮอนด้า คอลเลคชั่น ฮอลล์ ซึ่งจะได้ทดลองใช้พาหนะส่วนบุคคล ยูนิ-คับ เบต้า (UNI-CUB β) และนวัตกรรมเครื่องช่วยเดิน Walking Assist และนั่งชมโชว์จาก อาซิโม ที่พัฒนาเพิ่มความสามารถ ทั้งการวิ่ง กระโดด และเข้าใจภาษาต่างๆ ได้มากขึ้น


ยูนิ-คับ เบต้า (UNI-CUB β)

●   เริ่มด้วยยูนิ-คับ ก่อนลองใช้ก็กล้าๆ กลัวๆ แต่เมื่อได้รับคำแนะนำแล้วพบว่าใช้งานง่าย ควบคุมทิศทางด้วยน้ำหนักตัว เอนไปด้านหน้าเพื่อให้เครื่องเดินหน้า และถ้าเอนไปมากๆ ความเร็วก็จะเพิ่มขึ้น และเมื่อต้องการจะเบรกก็แค่ตั้งตัวตรง การเลี้ยวก็ใช้การถ่ายน้ำหนักไปด้านที่ต้องการจะเลี้ยว แต่ไม่สามารถถอยหลังได้ ซึ่งก็ไม่มีความจำเป็น เพราะตัวเครื่องมีขนาดเล็กสามารถหมุนกลับหลังได้

●   ส่วนเครื่องช่วยเดิน ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนเมื่อผู้ใช้งานไม่ค่อยแข็งแรง ลองใช้งานแล้วพบว่ามีการออกแบบให้ใส่และถอดได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบา เหมาะกับผู้ใช้ที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก ทดลองเดินบนพื้นราบ พบว่าเครื่องช่วยส่งขาในจังหวะก้าวแบบพอรู้สึกได้ และเครื่องจะช่วยมากขึ้นเมื่อเดินขึ้นบันได ระหว่างที่กำลังก้าวขึ้นบันไดเจ้าหน้าที่ของฮอนด้าจะแอบปิดเครื่อง เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความแตกต่างได้แบบไม่อุปทาน และจากการทดลองใช้ก็พบว่าช่วยได้พอสมควร

●   ยูนิ-คับ เบต้า (UNI-CUB β) พาหนะส่วนบุคคล ที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนได้มากยิ่งขึ้น เปิดตัวครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นพาหนะส่วนบุคคลรูปแบบใหม่ ที่ผสมผสานเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัว และระบบล้อขับเคลื่อนรอบทิศทาง (Omni-Direction Driving Wheel System หรือ Honda Omni Traction Drive System) ซึ่งพัฒนามาจากการค้นคว้าและวิจัยหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ของฮอนด้า อาซิโม (ASIMO) ซึ่งช่วยให้ ยูนิ-คับ สามารถเคลื่อนที่ได้รอบทิศทางอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งเดินหน้า ถอยหลัง ด้านข้าง และแนวทแยง ได้อย่างง่ายดาย เพียงโน้มน้ำหนักตัวไปในทิศทางที่ต้องการ ทั้งยังมีรูปทรงกะทัดรัด จึงตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนได้เป็นอย่างดี เหมาะเป็นพาหนะส่วนบุคคล ที่เหมาะสำหรับการใช้งานภายในอาคาร เช่น สำนักงาน และห้างสรรพสินค้า

●   นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 ฮอนด้าได้ทดสอบการใช้งานจริงของ ยูนิ-คับ ผ่านโครงการความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น หรือมิไรคัง (National Museum of Emerging Science and Innovation: Miraikan) โดยพนักงานของมิไรคังได้ทดลองใช้ ยูนิ-คับ ในการเดินทางภายในอาคาร รวมถึงผู้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในหลายช่วงอายุยังได้ทดลองใช้ ยูนิ-คับ ในการทัวร์ชมพิพิธภัณฑ์โดยรอบอีกด้วย

●   ยูนิ-คับ เบต้า (UNI-CUB β) ได้รับการพัฒนาจากการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลที่เป็นประสบการณ์จากการใช้งานจริงในโครงการการทดสอบ จากแผนงานดังกล่าวนี้ ฮอนด้าได้ก้าวไปอีกขั้นในการพิจารณาและศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้งาน ยูนิ-คับ เบต้า ในเชิงธุรกิจที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการให้เช่าซื้อ (fee-based leasing program)


คุณลักษณะสำคัญของ ยูนิ-คับ เบต้า (UNI-CUB β)
–   ขนาดเล็กลงและเบากว่าเดิม เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ โดยเบาะที่นั่งได้รับการปรับให้เตี้ยลง และมีน้ำหนักเบากว่าเดิม จึงทำให้ ยูนิ-คับ เบต้า (UNI-CUB β) สามารถรองรับการใช้งานจากผู้ใช้ได้หลากหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น
–   ความก้าวหน้าด้านการออกแบบและวัสดุ ฮอนด้านำเสนอดีไซน์ใหม่ที่ผสมผสานระหว่างผู้ใช้งานและพาหนะส่วนบุคคลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้แนวคิด “การอยู่ร่วมกันกับผู้คน” (Harmony with People) และ “ความกลมกลืนในพื้นที่การใช้งาน” (Harmony with Space) วัสดุของเบาะที่นั่งจึงได้รับการออกแบบให้นั่งสบายมากขึ้น และช่วยลดแรงกระแทกเมื่อไปชนกับคนหรือวัตถุอื่น
–   การปรับปรุงลักษณะการใช้งาน ด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานขาตั้ง จึงทำให้สามารถขึ้นและลงพาหนะส่วนบุคคลนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ฟังก์ชั่นขาตั้งยังทำให้พาหนะส่วนบุคคลนี้ สามารถใช้งานเป็นเก้าอี้นั่งได้ เมื่อไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน

ลักษณะเฉพาะของยูนิ-คับ เบต้า (UNI-CUB β)
–   ขนาด (ยาว×กว้าง×สูง) 510×315×620 มิลลิเมตร
–   ความสูงของที่นั่ง 620 มิลลิเมตร
–   น้ำหนัก 25 กิโลกรัม
–   ชนิดแบตเตอรี่ ลิเธียม อิออน
–   ความเร็วสูงสุด 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
–   ระยะเวลาการใช้งานต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง 6 กิโลเมตร (หรือประมาณ 1.5 ชั่วโมง ที่ความเร็ว 4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
–   สภาพแวดล้อมในการใช้งาน ภายในอาคารที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง

นวัตกรรมเครื่องช่วยเดิน Walking Assist

●   จากความมุ่งมั่นในการสร้างความสุขให้กับผู้คนในการเดินทาง และการใช้ยานพาหนะต่างๆ จึงทำให้ฮอนด้าศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องช่วยเดิน Walking Assist มาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งพัฒนามาจากการศึกษาทฤษฎีท่าทางการเดินของมนุษย์ ผ่านการวิจัยและพัฒนา อาซิโม หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ที่ฮอนด้าคิดค้นขึ้น และนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา จากความร่วมมือของโรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์กว่า 50 แห่งในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้นำเครื่องช่วยเดิน Walking Assist ไปใช้งานจริง จึงทำให้ฮอนด้าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการใช้งานอุปกรณ์ช่วยเดินดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

●   เครื่องช่วยเดิน Walking Assist มีฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถก้าวเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยรูปแบบการแกว่งสลับกันไปมา ซึ่งเป็นทฤษฎีการรักษาสมดุลในการก้าวเดินด้วยขาทั้งสองข้างอย่างเป็นจังหวะ และได้รับการออกแบบมาเพื่อนำไปใช้ในการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพการเดินของผู้ที่เข้ารับการรักษา ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ และนักกายภาพบำบัด

●   ฮอนด้าเริ่มให้มีการเช่าซื้อเครื่องช่วยเดิน Walking Assist สำหรับโรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศญี่ปุ่นแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558

–   แผนการให้เช่าซื้อเครื่องช่วยเดิน Walking Assist (ในประเทศญี่ปุ่นช่วงปีแรก) 450 เครื่อง
–   ราคาเช่าซื้อ 45,000 เยนต่อเดือน (หรือประมาณ 12,000 บาท) ภายใต้การทำสัญญาเช่าซื้อ 36 เดือน (ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการตรวจเช็คสภาพประจำปีตามระยะเวลาการใช้งาน และการอบรมการใช้งานให้กับเจ้าหน้าที่ 2 ท่านด้วยอุปกรณ์จริง)

คุณสมบัติสำคัญของเครื่องช่วยเดิน Walking Assist
–   ขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาจากการใช้มอเตอร์ขนาดเล็ก และระบบควบคุมที่ฮอนด้าพัฒนาขึ้นเอง
–   ใช้โครงสร้างแบบการสวมเข็มขัด ซึ่งง่ายต่อการสวมใส่และถอดออก
–   ใช้โครงที่สามารถปรับขนาดได้ จึงเหมาะกับผู้ใช้ที่มีรูปร่างแตกต่างกัน
–   เครื่องช่วยเดิน Walking Assist มีฟังก์ชั่นการประเมินที่แสดงรูปแบบการเดิน และสถานะการฝึกทำกายภาพบำบัดของผู้ใช้งานแต่ละคนบนอุปกรณ์แท็บเล็ต

●   เครื่องช่วยเดินมีโหมดการฝึกทำกายภาพบำบัดใน 3 รูปแบบ ได้แก่:

1.   Following mode เครื่องช่วยเดินจะช่วยให้ผู้ใช้ก้าวเดินตามจังหวะของผู้ใช้งานเอง
2.   Symmetric mode จากรูปแบบการเดินของผู้ใช้ เครื่องช่วยเดินจะช่วยให้ผู้ใช้รักษาสมดุลในการก้าวเดินด้วยขาทั้งสองข้างอย่างเป็นจังหวะ เช่น การงอ และการยืดขาทั้งสองข้าง
3.   Step mode เครื่องช่วยเดินจะช่วยพยุงการเดินของผู้ใช้งาน และทำให้สามารถถ่ายเทน้ำหนักได้อย่างเหมาะสมในระหว่างการก้าวขาสลับกันไปมา (Rocker functions*)


*Rocker functions เป็นการก้าวขาสลับกันไปมา ที่มีการถ่ายเทน้ำหนักอย่างเหมาะสม จากส้นเท้าไปยังฝ่าเท้า และจากฝ่าเท้าไปยังนิ้วเท้า

ลักษณะเฉพาะของเครื่องช่วยเดิน
–   ขนาดตามรอบวงสะโพก ประมาณ 430-495 มิลลิเมตร
–   น้ำหนัก ประมาณ 2.7 กิโลกรัม (รวมแบตเตอรี่)
–   ระยะเวลาการใช้งานต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ประมาณ 60 นาที
–   แบตเตอรี่ ลิเธียม อิออน (Lithium ion) ขนาด 22.2 V-1Ah
–   กำลังเครื่องยนต์ แรงบิดสูงสุด 4 นิวตันเมตร
–   สถานที่ใช้งาน ในร่มและกลางแจ้ง (ห้ามใช้ในขณะฝนตก) ใช้บนพื้นเรียบ
–   ระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการจัดเก็บ ระหว่าง -20 องศาเซลเซียส ถึง 55 องศาเซลเซียส
–   ระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน ระหว่าง 10 องศาเซลเซียส ถึง 30 องศาเซลเซียส
–   ระดับความชื้นที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน ระหว่าง 30- 85 เปอร์เซ็นต์


R E L A T E D   L I N K S :
•   ตอนที่ 1 ทดลองขับรถฮอนด้าหลากรุ่นที่สนาม Twin Ring Motegi.
•   ตอนที่ 2 กลับไปเยือน Honda Collection Hall กันอีกครั้ง.
•   ตอนที่ 3 เข้าชมงาน โตเกียว มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 ณ บูธฮอนด้า.
•   ตอนที่ 4  :  ร่วมพูดคุยกับผู้บริหารฮอนด้าถึงแนวทางในอนาคต ณ สำนักงานใหญ่ ตึกอาโอยามะ.


Honda@2017 Tokyo Motor Show : Part 2