October 18, 2017
Motortrivia Team (10191 articles)

Honda ปิดโรงงานเก่าแก่ เดินหน้าเอาจริงผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า


Posted by : Man fron the Past

 

●   หลังรอดูจังหวะในการปรับตัวสอดรับกระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในที่สุดฮอนด้าก็เดินหน้าเอาจริงด้วยการประกาศปิดโรงงานประกอบรถยนต์ Sayama ซึ่งเป็นโรงงานเก่าแก่ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1964 หรือ 53 ปีที่แล้ว โดยโรงงานแห่งนี้จะยุติการดำเนินงานในวันที่ 31 มีนาคม 2022 หลังทยอยเก็บข้าวของพร้อมกับย้ายคนงานไปยังโรงงานแห่งอื่นๆ โดยเฉพาะ Yorii ซึ่งเป็นโรงงานใหม่ล่าสุดที่เปิดสายการผลิตเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

●   ฮอนด้าได้วางแผนจะเปิดโรงงานใหม่ให้เป็นศูนย์การดำเนินงานระดับโลก เพื่อการพัฒนาวิทยาการและกรรมวิธีการผลิตรถ EV ชนิดไม่มีแบรนด์ไหนเทียบ ทั้งนี้โรงงานทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ที่จังหวัดซายามะทางตอนเหนือกรุงโตเกียว

●   Automotive News รายงานว่า การปิดโรงงานและเตรียมการยกระดับโรงงานของฮอนด้า จะช่วยแก้ปัญหาหนักอกที่โรงงานในญี่ปุ่นมีกำลังผลิตเกินความต้องการ กับปัญหาความจำเป็นที่จะต้องผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าให้มากกว่าเดิมเพื่อรับมือกฏควบคุมมลพิษที่นับวันจะเข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งการปิดโรงงานซายามะจะช่วยเพิ่มอัตราการใช้งานโรงงาน และยังเป็นการขยับตัวไปสู่เป้าหมายปี 2030 ที่รถฮอนด้า 2 ใน 3 คันที่จำหน่ายทั่วโลกจะต้องเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

●   “ส่วนใหญ่แล้วฮอนด้าจะมุ่งปรับเปลี่ยนการปฏิบัติการผลิตกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์”  Takahiro Hachigo ประธานคณะผู้บริหาร กล่าวต่อสื่อมวลชนระหว่างการให้สัมภาษณ์แจกแจงแผนงานเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา

กำลังการผลิตล้น

●   โดยปกติแล้ว การปิดโรงงานในญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก จากการที่รัฐบาลมักกดดันบริษัทให้รักษาระดับการจ้างงาน และยืนหยัดใช้ฐานผลิตในประเทศเพื่อการผลิตสินค้า ยกตัวอย่างคูู่แข่งเช่นโตโยต้าและนิสสัน ที่มักพูดอยู่เสมอถึงความพยายามในการเพิ่มการผลิตในประเทศ ซึ่ง ฮาชิโกะ กล่าวว่า การผนวกงานที่โรงงานโยอิริและการปิดโรงงานซายามะ จะต้องใช้การลงทุนและจัดงบการใช้จ่ายเสียใหม่ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีมูลค่าเท่าไรในขณะนี้

●   “เราจำเป็นจะต้องเพิ่มพลังการผลิตในญี่ปุ่นเพื่อให้ประสิทธิภาพการผลิตทั่วโลกมีอัตราส่วนที่ดีขึ้น”  ฮาชิโกะ เสริม “จากความเปลี่ยนแปลงทางภาวะตลาด เราไม่สามารถเพิ่มยอดขายในประเทศตามที่คาดหมายเอาไว้ อีกทั้งเรายังไม่สามารถเพิ่มการส่งออกได้ด้วย”

●   ตัวเลขจำนวนการผลิตในโรงงานซายามะ และโยอิริ ทั้ง 2 โรงงานมีกำลังการผลิตรถปีละ 500,000 คัน ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตในประเทศปีละ 1.06 ล้านคัน ทว่าในช่วงที่ผ่านมาฮอนด้ามักผลิตรถต่ำกว่ากำลังผลิต โดยฮอนด้าได้เตรียมหั่นกำลังการผลิตในประเทศให้เหลือราว 810,000 คัน ด้วยการปิดโรงงานซายามะ ขณะเดียวกันก็พยายามรักษากำลังผลิตทั่วโลกให้เหมือนเดิม

●   มีการประเมินกันว่า เมื่อถึงปี 2022 รถเหล่านี้ประมาณ 700,000 คันจะถูกจำหน่ายในประเทศ และ 100,000 คันถูกส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลก หากเป็นไปตามแผน อัตราการใช้กำลังผลิตจะขยับเข้าใกล้ร้อยละ 100 จากปัจจุบันประมาณร้อยละ 76 อย่างไรก็ดี เทียบแล้วฮอนด้ามีอัตราการใช้กำลังผลิตทั่วโลกดีกว่า เพราะอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 94… ไม่แปลกใจเลยที่การผลิตในประเทศลดลงเสมอ ขณะที่การผลิตนอกประเทศทะยานขึ้นตลอดเวลา

●   ปี 2010 ฮอนด้าผลิตยวดยานไป 992,502 คันในญี่ปุ่น และลดลงเหลือ 820,026 คันปีที่แล้ว ขณะเดียวกันการผลิตในฝั่งโพ้นทะเลกลับพุ่งจาก 2.7 ล้านคันเป็น 4.2 ล้านคัน โดยระหว่างนั้นการส่งออกจากญี่ปุ่นยังลดจาก 305,412 คันเหลือเพียง 147,185 คันด้วย

การผลักดันรถ EV

●   ในการพุ่งเป้าหมายไปที่ยวดยานไฟฟ้านั้น ฮาชิโกะ แถลงว่า “ญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องมีตำแหน่งนำด้านการผลิตยวดยานไฟฟ้า รวมทั้งการทำยวดยานให้ใช้พลังงานนี้ เราต้องพิจารณานำกระบวนการเหล่านี้ทั้งหมดไปใช้กับโรงงานอื่นทั่วโลกด้วย”

●   โรงงานโยอิริได้ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในระดับโลก ดังนั้นที่นี่จึงจะถูกใช้เป็นต้นแบบสำหรับการผลิตในโพ้นทะเล ในขณะที่ฮอนด้าต้องทำการเปิดตัวรถยนต์ไฮบริดและรถ EV ในตลาดโพ้นทะเลเพิ่มขึ้น ซึ่งฮอนด้าได้ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน 2017 ที่ผ่านมาว่าได้ทำการก่อตั้งฝ่ายพัฒนายวดยานไฟฟ้า เพื่อสร้างสรรค์รถ EV ที่ใช้แพลทฟอร์มสำหรับรถไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งนับเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และยังเป็นการเดินออกมาจากจุดยืนเดิมของฮอนด้าด้วย

●   ในฐานะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ฮอนด้าได้ผลิตรถกรีนในปริมาณน้อยนิด เพียงเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏของทางการ ในขณะที่คู่แข่งอย่างนิสสันต่างทยอยเปิดตัวรถกรีน พร้อมๆ กับแบรนด์อื่นๆ ที่ดูแล้วต้องการจำหน่ายรถยนต์ของตนในตลาดขนาดใหญ่ อีกทั้งคู่แข่งรายอื่นอย่างฟอร์ดและโฟลคสวาเกน ต่างก็ประกาศแผนงานมหึมาเพื่อให้รถทุกแบรนด์ในสังกัดเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า

●   นอกจากฮอนด้าแล้ว โตโยต้าก็เป็นอีกแบรนด์ที่เพิ่งเปิดฝ่ายพัฒนารถ EV ของตัวเองในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมา อีกทั้งหนึ่งสัปดาห์ก่อนการให้สัมภาษณ์ของประธานฮอนด้า โตโยต้ายังประกาศร่วมทุนกับมาสด้าและเดนโซ่ ก่อตั้งบริษัทร่วมทุน EV C.A. Spirit อันเป็นโครงการที่จะวางรากฐานวิทยาการและวิธีการผลิตรถไฟฟ้าทุกด้านอย่างครบองค์ประกอบ

●   รถคอนเซปท์ที่ฮอนด้านนำออกแสดงในระยะหลังๆ ได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทวางแผนอะไรไว้บ้างในด้านการผลิตและออกแบบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า อาทิ  ในงานแสดงรถยนต์แฟรงค์เฟิร์ตครั้งล่าสุด เมื่อเดือนที่แล้ว ฮอนด้าได้เปิดตัวรถซิตี้คาร์แบบใหม่ Honda Urban EV Concept ที่จะขายในยุโรปปีหน้า ส่วนที่ งานแสดงรถยนต์กรุงโตเกียวเดือนตุลาคม 2017 นี้ ฮอนด้าจะเปิดตัวรถคอนเซ็ปท์ที่เป็นรถสปอร์ตไฟฟ้าขนาดเล็กสมรรถนะสูง Sports EV Concept เพิ่มเติม โดยทั้งสองคันจะใช้แพลทฟอร์มในการผลิตแบบเดียวกัน และด้วยแพลทฟอร์มนี้ ในปีหน้าฮอนด้าจะนำไปใช้กับรถไฟฟ้าที่จะจำหน่ายในจีนด้วย สรุปคือ ฮอนด้ากำลังหาทางใช้ประโยชน์เต็มที่จากการพัฒนาความรู้ในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

เรื่องเล่าของสองโรงงาน

●   ฮอนด้าเปิดโรงงานโยริอิ อันทันสมัยชนิดไม่มีใครเทียบในปี 2013 โดยมีกำลังผลิตถึง 250,000 คันต่อปี โรงงานแห่งนี้ผลิตรถครอสโอเวอร์ขนาดซับคอมแพคท์ Honda Vezel หรือที่รู้จักกันในต่างประเทศภายใต้ชื่อ Honda HR-V นั่นเอง นอกจากนี้ยังผลิตรถขายดีอย่าง Honda Fit ซึ่งต่อมายังใช้แพลทฟอร์มรถทั้ง 2 นี้แปลงโฉมให้เป็น Honda Grace รถซีดานไฮบริด กับ Honda Shuttle รถตรวจการณ์ไฮบริด แถมโรงงานโยอิริยังรับหน้าที่ผลิต Honda Civic สำหรับจำหน่ายในประเทศด้วย

●   ฮอนด้าทำการเผยแผนงานสร้างโรงงานโยอิริเป็นครั้งแรกในปี 2006 โดยเบื้องต้นตัวโรงงานถูกกำหนดให้เริ่มผลิตรถในปี 2010 ทว่าวิกฤติการณ์การเงินโลกได้ล้มทับจนแผนงานถูกระงับชั่วคราว กระทั่งปี 2007 การก่อสร้างโรงงานโยริอิจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง แต่แล้วโครงการก็ถูกชะลอไปถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกจากวิกฤติการเงินโลก และครั้งหลังจากการเพิ่มค่าเงินเยน ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสูง

●   อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2010 Takanobu Ito ประธานบริษัทคนก่อน ได้สั่งเดินหน้าโครงการจนโรงงานได้รับการก่อสร้างแล้วเสร็จ สายพานการผลิตของโยอิริมีการผลิตบางวิธีที่ล้ำสมัยจนฮอนด้าเปรียบเปรยว่าโรงงานนี้ก็เหมือนจาน petri dish สำหรับเพาะเชื้อสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เนื่องจากบนสายผลิตที่นี่มีการบุกเบิกเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ

●   ฮอนด้าแถลงข่าวในช่วงเปิดโรงงานว่า เทคโนโลยีการผลิตอันทรงประสิทธิภาพของโรงงาน จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับโรงงานซายามะ

●   ทั้งนี้โรงงานซายามะมีกำลังผลิตปีละ 250,000 คัน ส่วนใหญ่มุ่งผลิตรถขนาดใหญ่อย่างเช่น มินิแวน Honda Odyssey, Honda Accord Hybrid, Honda Jade, Honda Freed และ Acura RLX รถซีดานหรูไฮบริดและเชื้อเพลิง โดยการผลิตยวดยานเหล่านี้จะถูกย้ายไปที่โยอิริ หรือที่ซูซูกะ ซึ่งเป็นโรงงานอีกแห่งของฮอนด้า ตั้งอยู่ในแถบภาคกลางของประเทศญี่ปุ่น

●   ภายใต้ข่าวคราวการสลับสับเปลี่ยนสถานที่ผลิต ฮอนด้าจะเข้าเป็นเจ้าของบริษัท Yachiyo Industry เต็มตัว บริษัทนี้เป็นผู้ผลิตรถ Honda S600 ที่เป็นรถสปอร์ตขนาดมินิ กับรถมินิสำหรับใช้งานพาณิชย์ ซึ่งเดิมฮอนด้าเข้าไปร่วมลงทุนเพื่อนำบริษัทมาอยู่ในเครือ และนี่อาจเป็นอีกวิธีที่บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้จะใช้ในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตัวเองนับจากนี้   ●


Honda Yorii Plant