October 4, 2017
Motortrivia Team (10076 articles)

Tesla เปิดสถานีสำรองไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ขนาดยักษ์ Tesla Powerpack

Posted by : Man from the Past

 

●   อาทิตย์ที่ผ่านมา เราเกริ่นกันถึงความกลัวกันว่าหากมีการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น ต่อไปโลกจะขาดกระแสไฟฟ้าจนทำให้การใช้งานเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น โดยยังไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนแหล่งแร่ลิเธียม จนแบตเตอรี่รถไฟฟ้าที่ใช้แร่ชนิดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญจะต้องยุติการผลิต… อย่ากลัว เพราะเวลานี้บริษัทที่มาแรงที่สุดอย่าง Tesla กำลังเตรียมเปิดสถานีสำรองไฟฟ้าขนาดยักษ์เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าจากชุดผลิตพลังงานใหม่ล่าสุดนี้ในออสเตรเลีย

●   จากระบบสำรองพลังงานไฟฟ้าในบ้านอย่าง Tesla Powerwall สู่โรงงานผลิตไฟฟ้า Tesla Powerpack ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว Powerpack เป็นสถานีสำรองพลังงานที่ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery storage power station) ทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าสำรองที่เชื่อมต่อกับกริดไฟฟ้าเพื่อช่วยโรงไฟฟ้าจริงในขณะที่เกิดเหตุให้ต้องหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าแบบฉับพลัน… แน่นอนว่าในยุคนี้เมื่อไฟฟ้าดับ มันย่อมส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่

●   ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา วงการผลิตไฟฟ้าจึงต้องมีการวางแผนเตรียมไว้เพื่อแก้ไขเหตุการณ์ในลักษณะนี้ทั่วโลก เช่น สถานีสำรองพลังงานขนาด 20 เมกะวัตต์ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ BYD ในฮ่องกง หรือสถานีขนาด 56 เมกะวัตต์ของ Korea Electric Power Corporation ในเกาหลีใต้ เป็นต้น

●   ในกรณีของเทสล่านั้น พลังงานไฟฟ้าจะได้มาจากการสร้างกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก จากนั้นจะนำไปเก็บเอาไว้ในชุดแบตเตอรี่แพคขนาดมหึมา การใช้งานในอันดับแรกคือ “การรักษาระดับการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกให้คงที่” ในที่นี้คือโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ต้องเผชิญปัญหาไม่มีลมและไม่มีแดดอยู่เสมอ จนมีการบ่นถึงความไม่เสถียรมานาน

●   อันดับต่อมาก็คือ “การใช้งานเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรอง” โดยทันทีที่ไฟดับ ทางสถานีจะช่วยจ่ายกระแสไฟเสริมอย่างไม่รีรอ จากปกติที่ต้องรอเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่ม และปรับทิศทางการจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อให้พื้นที่ที่ไฟฟ้าดับมีไฟฟ้าใช้… อย่างไรก็ดี หากในพื้นที่ดังกล่าวมีโรงไฟฟ้าสำรองแบบมีกระแสไฟเตรียมเอาไว้แล้ว การดำเนินการแก้ไขทั้งสองรูปแบบก็จะไม่มีความจำเป็น

●   ทั้งนี้เทสล่าได้นำคำว่า Power Pack ไปใช้เป็นชื่อชุดระบบของตน โดยสะกดติดกันเป็นคำเดียวว่า “Powerpack” และยังเป็นแบตเตอรี่แพคชุดเดียวกับที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเครือ เพียงแต่เก็บกระแสไฟได้มากกว่าหลายเท่า หรือมากถึง 100 เมกะวัตต์ ดังนั้นสถานี Powerpack แห่งใหม่ของเทสล่าจึงอาจจ่ายไฟได้ถึง 129 เมกะวัตต์ชั่วโมง หรือมากกว่าโรงไฟฟ้าแบบเดียวกันในรัฐแคลิฟอร์เนียที่จ่ายไฟได้ 80 เมกะวัตต์ชั่วโมง และใช้ชุด Powerpack ของ Tesla เช่นกัน


สถานีสำรองพลังงานขนาด 80 เมกะวัตต์ ของเทสล่าในแคลิฟอร์เนีย


●   สถานีสำรองพลังงานแห่งใหม่นี้ยังนับเป็นโรงไฟฟ้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย เทียบแล้วโรงไฟฟ้าที่จะสร้างจะใหญ่กว่าร้อยละ 60 และในกรณีที่ไฟฟ้าดับจะสามารถจ่ายกระแสไฟให้บ้านเรือนได้มากถึง 4,000 หลังตลอดวัน

●   โรงไฟฟ้าใหม่ที่ว่านี้จะตั้งอยู่ที่รัฐเซาท์ออสเตรเลียในประเทศออสเตรเลีย การที่เทสล่าเลือกทำเลที่ตั้งที่นี่ก็เพราะนโยบายรัฐบาลรัฐนี้ต้องการให้รัฐเป็นแม่แบบของดินแดนแห่งพลังงานทางเลือก จากการที่มีพื้นที่ที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นลมหรือแสงแดด นอกจากนั้น ที่นี่ยังประสบปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนอยู่เป็นระยะ อีกทั้งเมื่อเดือนกันยายนปี 2016 ยังต้องเผชิญพายุใหญ่จนไฟฟ้าดับทั่วรัฐ ทำให้ประชาชนต่างพากันเรียกร้องให้รีบจัดการแก้ไข ซึ่งก็มีการดำเนินการด้วยการประกาศแผนสร้างโรงไฟฟ้าสำรองเมื่อเดือนมีนาคม 2017 ที่ผ่านมาโดยใช้งบประมาณถึง 550 ล้านเหรียญ

●   ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าในแผนงานนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะต้องใช้งบในการสร้างเท่าไหร่ ที่ตั้้งก็คือบริเวณโรงไฟฟ้าพลังลมที่เปิดใช้งานแล้วในชื่อ Hornsdale Wind Farm มีเสากังหันลมทอดตัวยาว 24 กิโลเมตร การเปิดประมูลหาผู้สร้างมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 90 ราย และถูกคัดเลือกจนเหลือเพียงสองราย หนึ่งในนั้นได้แก่ Carnegie Clean Energy แห่งออสเตรเลีย ที่มุ่งมั่นจะเป็นบริษัทผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำ ในขณะที่เทสล่าเข้าประมูลในนามบริษัท Hornsdale Power Reserve ที่ต่อไปจะถูกเรียกว่า “Power Reserve” เพื่อให้คุ้นหูจนชื่อนี้หมายถึงโรงไฟฟ้าในลักษณะดังกล่าว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า Power Reserve จะเกิดอีกมากมายในอนาคตทั่วโลก

●   ปัจจุบันผู้ถือหุ้นร่วมกับเทสล่าในโครงการนี้ นอกจากรัฐบาลรัฐดังกล่าวซึ่งเตรียมผันตัวมาเป็นผู้ลงทุนกิจการพลังงานทางเลือก (จากปกติที่จะทำหน้าที่ในลักษณะผู้ดำเนินการ) ยังมีบริษัท Neoen แห่งฝรั่งเศส หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทางเลือก ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย

●   มีข่าวว่า Power Reserve ได้รับคัดเลือกเนื่องจากสามารถเสนอราคาต่ำสุด และคุ้มค่าที่สุด เมื่อดูจากการที่เทสล่าสามารถลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไออนที่โรงงานขนาดมหึมาของเทสล่าเองในชื่อ Tesla Gigafactory ซึ่งครองตำแหน่งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ใหญ่ที่สุดในโลกที่รัฐเนวาด้าได้ถึงร้อยละ 30

●   ก่อนการลงนาม Elon Musk นักคิดคนดังที่เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของเทสล่าได้ประกาศเดิมพันว่า ถ้าบริษัทของเขาไม่สามารถสร้างและดำเนินกิจการสถานีสำรองไฟฟ้าได้ภายใน 100 วันหลังวันลงนาม เขาจะยกมันให้รัฐเซาธ์ ออสเตรเลีย ฟรีๆ แบบไม่คิดเงิน… รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลรัฐนี้รับคำท้าเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นเทสล่าจึงต้องสร้าง Power Reserve ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2017 นี้

●   ในการสร้างโรงไฟฟ้า Power Reserve เทสล่าต้องก่อสร้างหอแบตเตอรี่ (หรือ tower ทรงกล่องแบบเดียวกับการพ่วงฮาร์ไดร์ฟ) หลายร้อยชุดในบริเวณโรงไฟฟ้าพลังลม Hornsdale คิดแล้วมีปริมาณจ่ายกระแสไฟฟ้าถึง 129 เมกะวัตต์ชั่วโมง หรือเทียบเท่ากับที่จ่ายให้โรงงานผลิตรถยนต์ของเทสล่าที่รัฐแคลิฟอร์เนียติดต่อกัน 5 วัน ทั้งนี้ผลดีของโรงไฟฟ้าที่จะสร้างในออสเตรเลียนั้น นอกจากการช่วยรักษาความมั่นคงทางการไฟฟ้าให้กับรัฐเซาธ์ ออสเตรเลีย ยังช่วยสร้างรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับรัฐข้างเคียงในกรณีที่ต้องการ พร้อมๆ ไปกับการช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับโรงไฟฟ้าพลังลม ซึ่งจะช่วยลดเสียงบ่นเสียงตำหนิเช่นที่ผ่านมา

●   ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่ดีในแวดวงไฟฟ้าโลก และต้องไม่ลืมว่าสถานีสำรองไฟฟ้าไฮเทคจากแบตเตอรี่นี้ เป็นอีกหนึ่งผลงานของ Elon Musk นักประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นผู้ให้กำเนิดระบบชำระเงินออนไลน์อย่าง PayPal, บริการท่องอวกาศ SpaceX หรือ โหมดการเดินทางที่ 5 อย่าง Hyperloop ส่วนใครที่กลัวแร่ลิเธียมจะขาดแคลน ก็อย่าเพิ่งกังวลกันไปมากนัก เพราะมีข่าวว่านักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียกำลังหาทางนำแบตเตอรี่แบบ Zinc-Air (แบตเตอรีสังกะสี-อากาศ ใช้อากาศเป็นแคโทด และใช้สังกะสีเป็นแอโนด) มาใช้งานจริง เพื่อแทนที่แบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไออน

●   ส่วน Elon Musk จะมีส่วนด้วยหรือไม่ต้องติดตาม   ●


Tesla Powerpack