October 22, 2017
Motortrivia Team (10073 articles)

วุฒิสภาสหรัฐ เปิดทางสะดวกให้เทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ


Posted by : Man from the Past

 

●   นอกจากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้ว เวลานี้วงการรถยนต์กำลังตื่นตัวเรื่อง Autonomous car หรือ รถยนต์ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งเป็นรถที่ไม่ต้องใช้คนขับ แต่จะขับด้วยตัวเองผ่านระบบระบุเส้นทางที่จะส่งสัญญานแบบออนไลน์ หรือไม่ก็วิ่งไปตามเส้นทางพิเศษที่จัดไว้เฉพาะ โดยใต้เส้นทางมีสายเคเบิลส่งสัญญานบอกทางพร้อมกับรางไฟฟ้าสำหรับจ่ายกระแสไฟให้ตัวรถ

●   ความน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับการมาถึงของเทคโนโลยีประเภทนี้ก็คือ บรรดาบริษัทรถและบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ต่างก็ทุ่มเงินทุนในการพัฒนา และบริษัทที่อยู่หัวแถวสุดในปัจจุบันก็คือ กูเกิล ที่มีข่าวตลอดเวลาเกี่ยวกับรถอัตโนมัติ ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2016 ที่ผ่านมา เพิ่งก่อตั้งบริษัท Waymo เพื่อให้รับช่วงการพัฒนารถอัตโนมัติที่ทดสอบอยู่ก่อนหน้าร่วมกับ Alphabet Inc. (บริษัทแม่ของกูเกิล) บริษัทการลงทุนเงินหนาที่เน้นลงทุนเฉพาะกิจการรุดหน้า

●   นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ยังทุ่มเงินให้กับการล็อบบี้รัฐบาลและสภาทุกระดับ เพื่อให้พวกเขาเห็นชอบในการร่างกฏหมายที่จะเป็นประโยชน์ โดยในขณะเดียวกันยังจะคัดค้านร่างกฏหมายที่จะเป็นอุปสรรค ซึ่งประเด็นในส่วนของอุปสรรคนี่เองที่ทำให้ข่าวการผ่านร่างกฏหมายที่เปิดไฟเขียวให้กับการพัฒนาและการใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเป็นข่าวใหญ่ เพราะนอกจากจะเป็นร่างฯ ที่ผ่านโดยวฺุฒิสภาสหรัฐที่เป็นสภาสูงทรงอิทธิพลแล้ว ยังเป็นร่างที่ทำให้ผู้พัฒนาตลอดจนผู้ที่ตระเตรียมจะเป็นเจ้าของรถ ไม่ต้องห่วงว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองจะถูกวางยาจนเส้นทางไปสู่การปรากฏโฉมของรุ่นจำหน่ายจริงขาดๆ หายๆ

●   การวางยาในลักษณะดังกล่าวจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เพราะร่างฯ ได้ห้ามไม่ให้สภาและรัฐบาลท้องถิ่นทุกแห่งออกกฏที่ไม่เป็นผลดีต่อการเกิดของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ คือไม่ว่ากฏอะไรที่ออกมาจับผิด หรือสะกัดไม่ให้รถอัตโนมัติได้เกิดอย่างสะดวก ในทางเทคนิคทั้งสภาและรัฐบาลท้องถิ่นจะไม่สามารถทำได้… จริงอยู่ร่างฯ เพิ่งผ่านวาระแรก ดังนั้นจึงยังไม่ได้เป็นกฏหมาย แต่การที่สภาสูงสหรัฐแสดงเจตนาเช่นนี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการปลื้มปิติในหมู่ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า รวมทั้งที่จะทยอยเปิดตัวตามออกมา

●   รถยนต์ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัตินั้นกำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก ปัจจุบันเด็กวิทยาลัยราชมงคลของไทยเราเองก็คิดจะเอาดีทางด้านนี้กันมาระยะหนึ่งแล้ว


Chevrolet Bolt ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งเป็นรถทดสอบของบริษัท GM Cruise LLC บริษัทลูกของเจนเนอรัล มอเตอร์ส


คำตอบสำหรับผู้คนในเจนเนอเรชั่นต่อไป

●   ทำไมเหล่าบริษัทดังกล่าวถึงดีใจกันอย่างออกหน้า คำตอบก็คือ นอกจากจะการเป็นการเปิดทางสะดวกให้กับการผลิตแล้ว ยังเป็นการคลายปมปัญหาต่อไปให้กับคนรุ่นมิลเลนเนียล หรือผู้ที่เกิดในช่วงเปลี่ยนศตวรรษใหม่ และปัจจุบันกำลังเติบโตเป็นวัยรุ่นที่เริ่มขับรถ ในอนาคตคนเหล่านี้อาจจะไม่ซื้อรถ แต่จะใช้วิธีอื่นๆ เช่น การแบ่งปันการใช้รถ หรือการเปลี่ยนไปใช้รถจักรยาน หรือแม้แต่ใช้ยานพาหนะในรูปแบบอื่นๆ แต่หากมีเทคโนโลยีรถยนต์อัตโนมัติออกมาเป็นทางเลือก คนรุ่นนี้อาจจะเปลี่ยนใจ เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ไม่เคยมีให้สัมผัสกันมาก่อน

●   ทั้งนี้ร่างดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการพาณิชย์วิทยาศาสตร์และการคมนาคมของวุฒิสภา ก่อนจะส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร และสภานี้ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อเดือนกันยายน 2017 ที่ผ่านมา

●   น่าสนใจที่ตัวร่างฯ ได้อนุญาติให้สภาและรัฐบาลท้องถิ่นทุกระดับสามารถออกกฏควบคุมและอำนวยความสะดวกให้แก่การใช้รถอัตโนมัติในทุกด้าน ทั้งการลงทะเบียน การรับใบอนุญาติ การกำหนดความรับผิดชอบ และการตรวจสภาพ ยกเว้นด้านเดียวที่เป็น “มาตรฐานการขับขี่”

●   ทำไมถึงยกเว้น? หลายคนคงมีคำถาม คำตอบก็คือ เพราะมาตรฐานการขับขี่ของรถนั้นยังคงมีความเกี่ยวเนื่องกับการบังคับควบคุมของคนนั่นเอง ในขณที่รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติไม่จำเป็นต้องใช้คนในการบังคับควบคุม ดังนั้นการกำหนดมาตรฐานจึงไม่จำเป็น (อย่างน้อยก็ในเวลานี้)


Ford Fusion รถสาธิตระบบการบริหารการจัดส่งพิซซ่าแบบอัตโนมัติ สำหรับการเก็บข้อมูลของฟอร์ดและ Domino’s Pizza.


ในกรณีฉุกเฉิน คนยังมีความจำเป็นไหม?

●   สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันและเป็นเรื่องที่น่าคิดมากก็คือ การอนุญาติให้กำหนดมาตรฐานการขับขี่ของตัวรถที่จะเปิดทางไปสู่การพัฒนาระบบควบคุมรถ เช่น คนในรถอาจสามารถเข้าไปบังคับควบคุมรถในกรณีฉุกเฉินได้หรือไม่… ประเด็นนี้มีการโต้เถียงกันขนานใหญ่ เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้โต้แย้งว่า การเปิดทางให้ทำเช่นนี้ “น่าจะทำให้กรณีฉุกเฉินมีความฉุกเฉินมากขึ้นกว่าเดิม” เพราะรถอัตโนมัติถูกสร้างขึ้นมาเพื่อไม่ให้คนขับ ดังนั้นคนจึงไม่ควรขับไม่ว่ากรณีใด

●   อย่างไรก็ดี มีการเจรจารอมชอมกันหลังจากนั้น และในที่สุดมีการตกลงที่จะเพิ่มถ้อยความในร่างฯ ที่จะเปิดให้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ “ในกรณีที่รถได้รับการพิสูจน์ว่ามีความบกพร่องด้านระบบการขับขี่ด้วยตัวเอง”

●   หากยังจำกันได้ นี่คือคำตอบของคำถามที่ Carlos Ghosn ซีอีโอของ Renault-Nissan-Mitsubishi Alliance ได้ตั้งคำถามเอาไว้ในปี 2014 ว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ในเมื่อไม่ใครอยู่ในรถ?

●   สาระสำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจของของร่างฯ นี้ก็คือ การอนุญาตให้บริษัทที่ผลิตรถลงสู่ตลาดแล้วเป็นเวลา 3 ปี สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเป็นจำนวน 80,000 คันต่อปี หากสามารถพิสูจน์ได้ว่ารถยนต์รุ่นนั้นๆ เป็นรถที่มีความปลอดภัยในระดับเดียวกับรถยนต์ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน… โดยการจำกัดยอดจำหน่ายนี้ มีขึ้นเพื่อเปิดทางให้มีการปรับตัวก่อนที่รถยนต์อัตโนมัติจะออกมาวิ่งแทนรถยนต์ในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ เดิมร่างฯ ได้กำหนดยอดจำหน่ายเอาไว้ที่ 15,000 คันต่อปีเท่านั้นในช่วงปีแรก และสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คันต่อปีหลังจากการทำตลาดต่อเนื่อง 3 ปีเป็นต้นไป

●   นอกจากนี้ ตัวร่างฯ ยังให้หน่วยงานการจราจรเพื่อความปลอดภัยบนไฮเวย์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลกลาง ให้มีอำนาจ “ยกเว้นรถอัตโนมัติจากการถูกควบคุม” ในกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การควบคุมนั้นๆ ไม่มีความจำเป็น และให้ออกกฏควบคุมเฉพาะที่เป็นฉบับถาวรภายใน 10 ปี หลังจากที่หน่วยงานได้เข้าไปศึกษาผลกระทบของรถอัตโนมัติที่มีต่อการจราจร การเสื่อมโทรมของโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ และการใช้เชื้อเพลิง

●   อย่างไรก็ตาม… ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแม้แต่น้อยกับทางฝั่งรถบรรทุกที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือ self-driving commercial truck เพราะจะต้องมีกฏหมายออกมาควบคุมแยกต่างหาก โดยผู้รณรงค์หลักก็คือ สหพันธ์แรงงานทั่วสหรัฐ ซึ่งสำหรับประเทศนี้มีฝีมือล็อบบี้ไม่แพ้บริษัทรถและบริษัทวิทยาการชั้นสูง   ●