November 15, 2017
Motortrivia Team (10185 articles)

รัฐอิลลินอยส์หมดโอกาสเป็นที่ตั้งโรงงานรถไฟฟ้าของ 2 ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น


Posted by : Man from the Past

 

●   ในขณะที่รัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาพากันแย่งเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ 2 บริษัทรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น รัฐอิลลินอยส์ทางภาคกลางที่เป็นศูนย์อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศกลับถูกคัดชื่อออกจากรายนามรัฐ 4 แห่งที่กำลังได้รับการพิจารณารอบสุดท้าย และพลาดโอกาสในการจะมีโรงงานผลิตรถยนต์ภายในรัฐ อันจะเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถยนต์ร่วมกันระหว่าง โตโยต้า และ มาสด้า

●   เม็ดเงินในการตั้งโรงงานผลิตดังกล่าว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนถึง 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 59,000 ล้านบาท และสร้างงานได้ราว 4,000 อัตรา ประเด็นสำคัญคือ โรงงานแห่งนี้จะผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ทั้ง 2 บริษัทต่างก็พยายามจะมุ่งทำตลาดให้ได้ในอนาคต ตามรายงานกล่าวว่า อิลลินอยส์ถูกคัดชื่อออกเพราะไม่มีพื้นที่ๆ เอื้ออำนวยให้มีการก่อสร้างทันที และต้องมีการปรับปรุงก่อนจึงจะเริ่มก่อสร้างได้

●   แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ รัฐแห่งนี้ไม่มีกฏหมายให้สิทธิในการทำงานแก่คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือ “ต้องเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน” เท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ในการเข้าทำงานหรือถูกจ้างได้ ซึ่งสิทธิ์นี้สำคัญสำหรับบริษัทรถยนต์ต่างชาติที่ต้องการเปิดโรงงานในสหรัฐฯ และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้บริษัทชื่อดังไม่ว่าจะเป็น ฮอนด้า, เมอร์เซเดส-เบนซ์, นิสสัน และ โตโยต้า ต่างพากันเข้าไปตั้งโรงงานในรัฐภาคใต้ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จนบรรดารัฐทางภาคใต้กลายเป็นศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ทั้งๆ ที่แต่ไหนแต่ไรมาต้องเป็นรัฐในบริเวณภาคกลาง โดยเฉพาะรัฐมิชิแกนซึ่งเป็นที่ตั้งของนครดีทรอยต์นั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

●   ตามรายงานมีรัฐ 15 แห่งทั่วสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอขอเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งนี้ ในจำนวนนี้ 11 แห่งถูกคัดชื่อออกตามคำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษาด้านที่ดินตั้งโรงงาน ซึ่งปกติพวกนี้มักไม่เอาด้วยอยู่แล้วกับรัฐที่ไม่มีกฏหมายดังกล่าว

●   ถึงกระนั้น รัฐอิลลินอยส์ก็ยังได้เข้ารอบสุดท้าย พร้อมกับสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับกองเชียร์ ทั้งนี้ 3 รัฐที่เหลือในรอบสุดท้ายล้วนเป็นรัฐภาคใต้ และแต่ละแห่งต่างแข่งกันเสนอเงื่อนไขจูงใจขั้นสูงสุด เพราะผลที่จะได้รับนั้น นอกจากเงินลงทุนและการจ้างงาน ยังมีโอกาสที่จะได้เป็นศูนย์ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าชั้นนำของโลก ทำให้สามารถดึงดูดสถาบันศึกษาและค้นคว้าวิจัย ยังผลให้ผู้คนที่มีความรู้และรายได้สูงพากันเข้าไปพักอาศัย และเป็นผลดีต่อการขยายความก้าวหน้าอีกนานับประการ

●   โรงงานใหม่นี้คาดว่าจะเปิดทำการได้ในช่วงปี 2021 โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดต่อปีมากถึง 300,000 คัน ตามแผนงานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในโรงงานแห่งนี้จะถูกจัดสรรให้กับโตโยต้าและมาสด้าคนละครึ่ง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือในแผนงานอื่นๆ ของทั้ง 2 บริษัทอีกมากมาย

●   สิ่งที่น่าสนใจในข่าวนี้ก็คือ การพลาดโอกาสของรัฐอิลลินอยส์นั้น “อาจเป็นชนวนจุดการโต้เถียงเกี่ยวกับบทบาทสหพันธ์แรงงานในโลกสมัยใหม่” โดยจะเริ่มที่สหรัฐฯ ก่อน… ทว่าในท้ายที่สุดแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับความเหมาะสมในการออกกฏหมายที่เอื้อกับการจ้างงานน่าจะแพร่ออกไปทั่วโลก

●   นี่ยังไม่พูดถึงบทบาทแรงงานหุ่นยนต์ที่นับวันจะมีการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะในบรรดาบริษัทชั้นนำ… ประเด็นก็คือ ควรหรือไม่ที่จะให้การใช้แรงงานหุ่นยนต์ส่งผลกระทบการใช้แรงงานมนุษย์ แน่นอนว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะมีการลดผลกระทบได้อย่างไรบ้าง?   ●