November 7, 2017
Motortrivia Team (10185 articles)

ทำไมรถยนต์ที่มีล้อในรูปแบบ 3 ล้อถึงไม่ได้รับความนิยม?

Posted by : Man from the Past

●   รัฐบาลไทยกำลังพยายามผลักดันรถ 3 ล้อตุ๊กตุ๊กให้เป็นรถไฟฟ้า โดยหวังเป็นยวดยานตามมาตรฐานและมีการนำไปใช้ในโลก เห็นการดำริแล้วรู้สึกดีใจ เพราะลู่ทางที่จะได้รับความสำเร็จมีเหลือล้น แต่อยากแนะนำเล็กน้อยว่า อย่าได้คิดพัฒนารถตุ๊กตุ๊กให้เป็นรถระดับเดียวกับรถยนต์ ยกตัวอย่างเช่น มีรูปร่างคล้ายกัน เข้า-ออก-นั่ง สบายเหมือนกัน และใช้งานได้เหมือนกัน… เพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้

●   ถึงจะทำได้ แต่ก็จะไม่มีวันได้รับความนิยมเท่า เพราะไม่ว่าจะพัฒนาแค่ไหน รถตุ๊กตุ๊กก็ยังจะเป็นรถตุ๊กตุ๊ก แทนจะพัฒนาให้เหมือนรถยนต์ควรพัฒนาให้เป็นพาหนะในแบบทางเลือกจะดีกว่า คือเลือกนำไปใช้ในบางโอกาสหรือบางกรณี ตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่นเป็นรถขับเล่นหาความสนุก พาคนเที่ยว หรือรถที่ใช้สร้างสีสันให้กับขบวนแห่ หากทำเช่นนี้อาจจะมีหลายครอบครัวที่สนใจ นอกจากนั้น หลายองค์กรก็คงอยากมีไว้ใช้

●   ทว่าสิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ การเรียนรู้ว่า “ทำไมรถยนต์ 3 ล้อไม่ว่าจะเป็นแบบใด ถึงไม่ได้รับความนิยมเท่ารถยนต์ 4 ล้อ”

เรียนรู้จากล้อทั้งสาม

●   รถยนต์คันแรกของโลกที่เป็นรถยนต์ 3 ล้อคือ Benz Patent-Motorwagen ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1886 หรือ 131 ปีที่แล้ว รูปแบบการจัดวางของล้อเป็นแบบด้านหน้า 1 ล้อ ด้านหลัง 2 ล้อ เหมือนกับรถตุ๊กๆ ในบ้านเรา

หมายเหตุ  :  ภายหลังมันถูกจัดอยู่ในรถประเภทที่เรียกว่า “Three-wheeler” รถประเภทนี้ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทว่ามีการปรับรูปแบบการจัดวางล้อบ้าง เช่น ด้านหน้ามี 2 ล้อ ด้านหลังมี 1 ล้อ โดยมันถูกเรียกว่ารถทรง Y หรือรถ 3 ล้อประเภท “Reverse-trike” เช่น Toyota i-TRIL Concept เป็นต้น อย่างไรก็ตาม Reverse-trike ถูกนับเป็นหมวดย่อยในกลุ่มรถ Three-wheeler

●   จากนั้นหลายปีต่อมาก็ยังมีการผลิตและพัฒนารถยนต์ 3 ล้อเป็นลำดับ ก่อนที่รถยนต์อย่าง Ford Model T จะกำเนิดขึ้นในปี 1908 และปูความนิยมพร้อมกับวางมาตรฐานให้กับรถยนต์ 4 ล้อ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการผลิตรถยนต์ 3 ล้อตามวาระ โดยรถที่นับเป็นรถยนต์ 3 ล้อที่คลาสสิคที่สุดก็คือ Morgan Aeros Super Sport ที่บริษัท Morgan Motor แห่งสหราชอาณาจักรผลิตระหว่างปี 1927 – 1939 มันเป็นรถทรง Y ที่มีล้อด้านหน้า 2 ล้อ ด้านหลัง 1 ล้อ ซึ่งเป็นการใช้รูปแบบเดียวกับรถมอเตอร์ไซค์ 3 ล้อที่บริษัทสร้างขึ้นตอนต้นศตวรรษ

●   นอกจากนี้ ตัวรถยังใช้เครื่องยนต์ของมอเตอร์ไซค์ในการขับเคลื่อน ดูแล้วเป็นรถตุ๊กตุ๊กมากกว่า และนี่เป็นประเด็นที่นักพัฒนารถตุ๊กตุ๊กไทยควรให้ความสนใจ

●   ล่าสุดเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีการผลิตรถ Morgan อีกครั้ง โดยเลียนแบบรถรุ่นดังกล่าว และใช้ชื่อ Morgan 3 Wheeler ผู้ผลิตยังคงเป็น Morgan Motor ใช้พละกำลังจากเครื่องยนต์ของมอเตอร์ไซค์ Harley-Davidson โดยเป็นเครื่อง 2 สูบ V ขนาด 1,800 ซีซี. ที่ใช้งานอยู่ใน Harley-Davidson CVO พร้อมชุดอัพเกรด “Screamin’ Eagle” เวลาวิ่งสุดฤทธิ์จะเรียกม้าออกมาได้ 100 HP ฉุดรถให้วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดราว 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

●   นับตั้งแต่ปี 2011 บริษัท Morgan สามารถขายรถได้เฉลี่ยปีละ 400 – 600 คัน การผลิตยังคงเป็นแบบแฮนด์เมดเช่นเดียวกับการผลิตรถยุคก่อน กำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 14 คันต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 700 คันต่อปีเท่านั้น ผู้ที่อยากได้มันมาเป็นเจ้าของต้องรอรถกันนานทีเดียว

●   ทั้งนี้ ในช่วงปี 2016 Morgan ยังเผยแผนจะผลิตรถรุ่นนี้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ใช้ชื่อว่า Morgan EV3 เชื่อกันว่ารถ Morgan ทั้งชนิดพลังงานปกติและพลังงานไฟฟ้าจะช่วยให้คนหันมาใช้รถยนต์ 3 ล้อแทนการใช้รถยนต์ 4 ล้อเพียงอย่างเดียว… แต่ถึงกระนั้นยังมีการวิเคราะห์กันว่า ทำไมที่ผ่านมารถยนต์ 3 ล้อถึงไม่ได้รับความนิยม

●   สาเหตุแรกก็คือ ความไม่เสถียรในการทรงตัวของรถในขณะที่วิ่งความเร็วสูง และมีโอกาสเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ หากต้องเผชิญความไม่ปกติในสภาพการขับและการจราจร เฉพาะสาเหตุนี้สาเหตุเดียว ผู้คนก็แทบจะไม่อยากใช้รถยนต์ 3 ล้อกันแล้ว สาเหตุรองลงมาจากนั้นก็คือ ถึงจะเป็นรถเล็ก แต่ในความจริงมันกลับเป็นรถใหญ่ คือมีขนาดเดียวกับรถยนต์ 4 ล้อ หากวัดความยาวกับความกว้างของตัวรถ ดังนั้นจึงมันกินพื้นที่ในขณะขับ และใช้เนื้อที่ในการจอดไม่แพ้กัน ในขณะที่การบรรทุกผู้โดยสารกลับเทียบกันไม่ติด

●   รถยนต์ 3 ล้อ ปกติจะบรรทุกผู้โดยสารได้ 2 – 3 คน ขณะที่รถยนต์นั่งแบบ 4 ล้อที่เป็นรถยนต์นั่ง 4 ประตูแบบปกติจะบรรทุกผู้โดยสารได้ 4 – 5 คน โดยทุกคนยังสามารถนั่งได้ด้วยความสบาย ทว่าสิ่งที่น่าจะเป็นความได้เปรียบที่สำคัญที่สุดก็คือ “ความปลอดภัย” ซึ่งคนนั่งรถยนต์ 4 ล้อ ต่างก็รู้สึกว่าตัวรถมีความปลอดภัยมากกว่าชนิดที่ว่ารถยนต์ 3 ล้อเทียบไม่ติด

●   ทั้งนี้ปมด้อยของรถยนต์ 3 ล้อยังเคยถูกนำไปเป็นประเด็นล้อเลียนด้วยการนำรถ Reliant Robin หรือเจ้า “Plastic Pig” รุ่นตัวถังไฟเบอร์กลาสของบริษัท Reliant Motor Company ที่เคยมีการผลิตในสหราชอาณาจักรตอนต้นทศวรรษ 1970 จนถึงต้นทศวรรษ 2000 มาวิ่งจนกลิ้งโคโร่เป็นที่ขบขันโดยรายการยอดนิยมอย่าง Top Gear ของ BBC ด้วย ซึ่งแฟนๆ รถตัวยงคงจะผ่านตากันมาแล้ว

●   นอกจากนี้ ผู้คนส่วนหนึ่งยังมองรถยนต์ 3 ล้อในแง่ไม่ดี เช่นเป็นรถที่ผลิตขึ้นมาในสถานการณ์ที่ผิดปกติ ใช้ช่วยลดค่าภาษีและค่าธรรมเนียม หรือแม้กระทั่งเลี่ยงจ่ายภาษีในกรณีที่ตัวรถอาจเข้าข่ายเป็นรถมอเตอร์ไซค์ และถูกตีตราเช่นนี้ครอบคลุมถึง รถตุ๊กตุ๊ก ที่คนตะวันตกส่วนใหญ่จะมองเป็นรถคนจนประเทศโลกที่ 3 ซึ่งถึงจะยกระดับภาพลักษณ์อย่างไร แต่ตัวรถโดยสถานะก็ยังจะเป็นรถคนจนตลอดไป

งานออกแบบที่ทันยุคทันสมัย

●   มีการวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนารถยนต์ 3 ล้อเพื่อให้ทันยุค โดยรถที่ถูกยึดเป็นแม่แบบก็คือ Morgan 3 Wheeler นั่นเอง มันเป็นรถที่มีได้รับการวิจารณ์ว่ามีเสน่ห์ตรงที่เป็นรถสปอร์ตคลาสสิค มีความสวยงาม มีความเท่เหมือนรถสปอร์ตยุคอดีต ช่วยเสริมบุคลิกให้ผู้ขับ แน่นอนว่าการสวมหมวกแก๊ป ใส่แว่นกันลมคาดศรีษะ พร้อมๆ กับผูกผ้าเช็ดหน้ารอบคอ มองดูแล้วเหมือนสุภาพบุรุษอังกฤษทุกกระเบียดนิ้ว

●   เสน่ห์ในลักษณะนี้ ผู้พัฒนารถตุ๊กตุ๊กไทยน่าจะลองมองหาลู่ทางดู เพื่อให้ทั้งคนขับและคนนั่งถูกมองด้วยความชื่นชมเวลารถแล่นผ่าน

●   ปัจจุบันกำลังจะมีรถยนต์ 3 ล้อรุ่นใหม่ๆ ทยอยออกมา แม้ว่าการตอบรับจะยังไม่ดีนัก แต่ก็มีบางรุ่นที่มีผู้คนเคยให้ความสนใจมาก ยกตัวอย่าง Aptera ของบริษัท Aptera Motors, Inc. สตาร์ทอัพที่ปิดตัวไปในปี 2011 ก่อนที่กลุ่ม Zhejiang Jonway Group แห่งประเทศจีนจะเข้ามาเป็นเจ้าของ การผลิตมีขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ แล้วนำมาประกอบที่เมืองซานตาโรซ่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

●   ตัวรถถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นรถสไตล์สปอร์ตขับสนุกในลักษณะขับเพื่อโชว์รถ โดยมีเพื่อนนั่งไปด้วยหนึ่งคน ห้องโดยสารถูกออกแบบให้เหมือนกับรถสปอร์ตชั้นดี มีที่วางสัมภาระกว้างขวาง ตัวถังเหมือนรถในยุคอนาคต ประเด็นนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพราะผู้ผลิตต้องการให้รถช่วยจุดกระแสการเป็นรถในอนาคตของรถยนต์ 3 ล้อ โดยยังมีการเตรียมงานที่จะดัดแปลงรถให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าด้วย

●   จะว่าไปแล้ว รถยนต์ 3 ล้อน่าจะเหมาะกับการใช้พลังงานชนิดนี้ที่สุด ทั้งนี้มีการนำแพลทฟอร์มของ Aptera ไปทดลองดัดแปลงเป็นรถใช้งานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการบรรทุกผู้คนหรือบรรทุกสิ่งของ ปรากฏว่าการดัดแปลงสามารถทำได้โดยง่ายและใช้งานได้ดี นี่เป็นประเด็นที่นักพัฒนารถตุ๊กตุ๊กไทยไม่ควรมองข้าม กล่าวคือ ตัวรถควรจะมีรูปแบบที่สามารถนำไปดัดแปลงเพื่อใช้งานได้ตามต้องการ โดยที่การดัดแปลงนั้นๆ ต้องทำได้ง่าย และไม่วุ่นวายมากนัก

●   ต่อจาก Aptera รถที่ได้รับการจับตามองมากอีกรุ่นหนึ่งก็คือ Elio ของบริษัท Elio Motors แห่งรัฐอริโซน่า ซึ่งมีการเตรียมจำหน่ายในช่วงปี 2019 ตัวรถเป็นรถยนต์ 3 ล้อที่ถูกจัดให้เป็นรถประหยัดประเภท economy commuter ที่มาก็คือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนยุโรปต่างอยากเป็นเจ้าของรถ แต่ไม่มีเงิน ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตสำคัญๆ ทั้งเยอรมัน อิตาลี และสหราชอาณาจักรจึงพากันผลิตรถยนต์รูปแบบใหม่ที่เป็นรถเล็ก บอบบาง และมีสมรรถนะพอสมควร (กับราคา) เพื่อให้สามารถจำหน่ายในราคาถูกได้

●   อย่างไรก็ตาม รถบางรุ่นมีการออกแบบให้ดูแปลกตา เพื่อจะได้เป็นจุดสนใจเวลาวิ่งบนถนน (รวมถึงเป็นจุดขายของรถ) รถเหล่านี้ต่อมาถูกเรียกว่า economy commuter หรือรถที่ขับไปขับมาด้วยความประหยัด รุ่นรถที่ยืนอยู่ในแถวหน้าก็คือ Messerschmitt ของ Messerschmitt AG แห่งเยอรมนี และ Isetta ของบริษัท Iso Autoveicoli แห่งอิตาลีที่เราคุ้นตากันจาก BMW Isetta นั่นเอง

●   บางรุ่นที่มีหลังคาแก้วจะถูกเรียก Bubble car หรือรถฟองสบู่ ซึ่งรถฟองสบู่ที่ได้รับการยกย่องว่าเลิศที่สุดคือ Peel Trident ของบริษัท Peel Engineering Company แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งผลิตขึ้นในปี 1996 อันเป็นช่วงที่รถฟองสบู่ก้าวได้ก้าวขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุด ปัจจุบันมีการนำชื่อนี้กลับมาสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง โดยมีทั้งแบบใช้น้ำมันและไฟฟ้า

เรื่องของตุ๊กตุ๊ก

●   ปัจจุบันมีการจัดประเภทของรถรถตุ๊กตุ๊กให้อยู่ในหมวด utility หรือประเภทใช้งานเอนกประสงค์ ซึ่งที่โดดเด่นตั้งแต่เริ่มผลิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รถที่ได้รับการกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ Piaggio Ape ของ Piaggio & C. SpA แน่นอนว่าคำแรกก็คือชื่อของบริษัทโด่งดังจากสกู๊ตเตอร์อย่าง Vespa ส่วนคำที่สองก็แปลตรงตัวว่า “ลิง” นั่นแหละครับ ใครไปอิตาลีก็จะเห็นมันวิ่งในทุกพื้นที่ ซึ่งใช้งานบรรทุกหลากหลาย ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ มันมีสีที่สดชนิดที่เรียกว่า “สดมากๆ” ดูแล้วสะดุดตาในทันที และนี่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ตัวรถยังคงดูดีและไร้กาลเวลา

●   ใครเห็นหุ่นของเจ้ารถลิง ก็คงต้องนึกถึงรถตุ๊กตุ๊กที่เวลานี้กำลังออกโรงวิ่งอยู่หลายเมืองในสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นย่านเมืองเก่าที่มีอาคารโบราณและถนนแคบคดเคี้ยว (ดูแล้วก็เข้ากันดี) นอกจากนี้ บรรดาโรงแรมหรูและสถานที่สำคัญใจกลางเมือง ยังนิยมใช้รถตุ๊กตุ๊กไทยที่กำลังจะเป็นรถ “อี-ตุ๊กตุ๊ก” (e-TukTuk) พลังงานไฟฟ้าสำหรับวิ่งขนของเพื่อดึงดูดความสนใจด้วย… มีการประเมินกันว่า ตัวรถน่าจะมีอนาคตที่ไกลกว่านี้ หลังได้รับการดัดแปลงให้เป็นรถ อี-ตุ๊กตุ๊ก พลังงานไฟฟ้า เพราะเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ กำลังตอบรับการมาถึงยุคของรถยนต์พลังงานกรีน

●   นอกจากนี้ รถยนต์ 3 ล้อนั้นยังมีลู่ทางอันสดใสที่จะถูกผลิตในแบบรถสปอร์ต เพราะเหมาะที่จะได้รับการดัดแปลงให้เป็นรถไฟฟ้า อีกทั้งในอนาคตทั่วโลกจะมีบริการขนส่งสาธารณะทั้งใต้ดิน-บนดิน รวมทั้งบริการคาร์แชริ่งที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ดังนั้นความต้องการของรถยนต์นั่ง (ที่นั่งได้หลายคน) จึงน่าจะลดลงโดยอัตโนมัติ

●   ณ เวลานี้กำลังมีการพัฒนารถยนต์ 3 ล้อที่ใช้เป็นรถผาดโผนขับสนุก ยกตัวอย่าง รถยนต์กึ่งมอเตอร์ไซค์สัญชาติเนเธอร์แลนด์ Carver One ของบริษัท Vandenbrink ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น Carver Europe ผลงานของวิศวกรบริษัท Carver Technology ซึ่งตลอดทศวรรษที่แล้วได้พัฒนาเทคโนโลยีการทรงตัวจนมีบริษัทผลิตรถยนต์สนใจนำไปใช้

●   รถยนต์ 3 ล้อของบริษัทนี้เน้นความสามารถในการวิ่งด้วยท่าต่างๆ เช่น การแบนในขณะเลี้ยวแบบมอเตอร์ไซค์ ตัวรถถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้เป็นรถขับสนุก รีสอร์ทไหนอยากให้ผู้พักมีกิจกรรมสนุกๆ พักผ่อน ก็ควรจะมีรถในลักษณะนี้เป็นจุดขายแทนที่จะใช้จักรยาน

●   นี่แสดงให้เห็นว่า อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถแบบไหน หน้าตาอย่างไร ก็อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของรถยนต์ 3 ล้อได้ อีกตัวอย่างคือ รถ Bond Bug ที่สร้างโดยบริษัท Bond Cars Ltd และถูก Reliant Motor ซื้อไปในเวลาต่อมา มันถูกผลิตจำหน่ายระหว่างปี 1970 – 1974 รวมแล้ว 2,270 คัน ทุกคันกลายเป็นรถเก่าหายากราคาแพงจนถึงทุกวันนี้

●   ย้อนกลับไปยังแผนของรัฐบาลไทยที่จะพัฒนารถตุ๊กตุ๊กให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า แผนนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการ โดยเรียกรถประเภทนี้ว่า e-TukTuk ซึ่งกระทรวงฯ ได้โอนงานไปให้ กลุ่มวิจัยเพื่ออนุรักษ์พลังงาน หรือ EnConLab แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นผู้ดูแลการพัฒนา

●   เป้าหมายของแผนงานก็คือ การเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กที่ใช้น้ำมันและก๊าซ LPG ทั่วประเทศไทยให้กลายเป็นรถไฟฟ้าให้ได้ 100 คันปี 2561 และทยอยปรับเปลี่ยนจนครบ 22,000 คันภายใน 5 ปีข้างหน้า… แน่นอน ถ้าทำสำเร็จ นอกจากจะช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมันและก๊าซ ยังจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องเสียงด้วย

●   ยิ่งไปกว่านั้น e-TukTuk น่าจะช่วยปูทางให้ไทยได้เป็นประเทศมหาอำนาจรถไฟฟ้ากับเขาได้ด้วยในฐานะผู้ผลิตรายสำคัญ… เอาล่ะ ถ้าเป็นจริงก็คงได้เฮกันสนั่นโลกบ้าง วันไหน e-TukTuk ไทยวิ่งผ่านทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน หอไอเฟลกรุงปารีส หรือบิ๊กเบนในกรุงลอนดอน อยากฝากให้ชาวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีช่วยติดตามดูการเปลี่ยนแปลงทางทัศนะคติของชาวโลกที่มีต่อรถตุ๊กตุ๊กด้วย

●   การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง e-TukTuk น่าจะมีขึ้นให้เห็นกันเป็นระยะๆ นับจากนี้… ประเด็นก็คือ ทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ดี อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง จนในที่สุดโลกพร้อมที่จะใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าอย่างถ้วนหน้า

●   อย่าลืมว่าโลกนั้นหมุนเร็วขนาดไหน ในขณะที่เรากำลังคิด มีบริษัทผลิตตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้ว ผู้ผลิตรายใหญ่ในปัจจุบันก็คือ Tuk Tuk Factory ของเนเธอร์แลนด์ที่ระบุเอาไว้ในเว็บไซท์เลยว่าได้แรงบันดาลใจจากการมาเที่ยวแบกเป้ในเมืองไทย บริษัท eTukTuk จากสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของ Tuk Tuk Factory หรือ eTuk USA ของสหรัฐฯ เป็นต้น   ●