November 4, 2017
Motortrivia Team (10069 articles)

Toyota Yaris G แฮทช์แบ็กรุ่นท๊อป ครบจบในคันเดียว


เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ  •  ภาพ : โตโยต้า ประเทศไทย

 

●   โตโยต้า ยาริส เปิดตัวในไทยครั้งแรกเดือนมกราคม 2549 หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2556 ก็เปิดตัวยาริส เจนเนอเรชั่นที่ 2 ใช้เครื่องยนต์ 1,200 ซีซี ทำตลาดในแบบอีโคคาร์ ยาริสมียอดขายรวมเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อนนับตั้งแต่เปิดตัวในประเทศไทย และมียอดจำหน่ายสะสมรวมกว่า 154,000 คัน (ข้อมูลถึงเดือนสิงหาคม 2560) ส่วนยาริสโฉมล่าสุด เปิดตัวช่วงกลางเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา เน้นกลุ่มเป้าหมายชายหญิง อายุ 22-39 ปี ชอบความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร ไลฟ์สไตล์สนุกสนานทันสมัย เป็นนักศึกษา พนักงานบริษัท หรืออาชีพอิสระ ที่กำลังต้องการซื้อรถยนต์เป็นคันแรก

●   ยาริส รุ่นปรับโฉมพัฒนาขึ้นภายใต้ 4 จุดมุ่งหมายหลัก คือ ดีไซน์ภายนอกที่โดดเด่น ทันสมัยคล่องตัว, ความสะดวกสบายในการขับ ห้องโดยสารกว้างขวาง อุปกรณ์มาตรฐานครบครัน ฝากระโปรงท้ายออกแบบใหม่ กว้างขึ้น 124 มิลลิเมตร สูงขึ้น 25 มิลลิเมตร เพิ่มฉนวนกันเสียง เบาะหลังแยกพับในรุ่น G และ E และเบาะหลังพับได้ในรุ่น J และ J ECO, สมรรถนะการขับที่สนุกสนาน ประหยัด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือ มาตรฐานความปลอดภัยที่ครบครัน รุ่นสูงสุดให้มาครบๆ ทั้ง ABS, EBD และ BA รวมทั้ง VSC, TRC และ HAC มีแอร์แบ็ก 7 ใบ เป็นครั้งแรกในรถระดับนี้

●   ยาริส แฮทช์แบ็ก และ ยาริส เอทีฟ ซีดาน ใช้พื้นฐานหลักร่วมกัน โดยยาริส แฮทช์แบ็ก จะตกแต่งสไตล์สปอร์ตเพื่อให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์แบบ 5 ประตู เริ่มจากกระจังหน้าลายสปอร์ต คิ้วฝากระโปรงหลังสีดำ สปอยเลอร์หลัง และที่ปัดน้ำฝนหลัง มิติตัวถัง มีความยาว 4,145 มิลลิเมตร กว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,500 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 135 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,087 กิโลกรัม ส่วนเอทีฟ ซีดาน มีความยาว 4,425 มิลลิเมตร กว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 133 มิลลิเมตร

●   ระบบกันสะเทือนหน้าอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม พร้อมเหล็กกันโคลง ปรับปรุงค่าการดูดซับของช๊อคฯ หน้าและหลัง และปรับค่าความแข็งของสปริงหลังให้เหมาะสมกับท้ายรถที่สั้น ปรับจุดยึดช่วงล่างด้านหลังกับตัวถังให้สัมพันธ์กับเหล็กกันโคลง เพื่อให้การควบคุมช่วงล่างหลังนิ่งขึ้น พร้อมปรับค่าความหนืดรวมหรือ Total Pre-Load ของชุดแร็คพวงมาลัยให้น้อยลง ช่วยผ่อนแรงหมุนพวงลัย เพิ่มความคล่องตัวเมื่อขับในที่คับแคบ และปรับจูนกล่องเกียร์ให้ตอบสนองดีขึ้น

●   การทดสอบยาริสครั้งนี้ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ระยะทางรวมไป-กลับ ประมาณ 400 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ขับแบบ Free Run ไม่ต้องขับตามกันเป็นขบวน จึงค่อนข้างตรงกับการใช้งานจริง ออกเดินทางจากแถวสาทร ช่วงสายๆ ของวันธรรมดา การจราจรไม่ติดขัดมากนัก ขึ้นทางด่วนมุ่งออกนอกเมืองใช้ถนนบรมราชชนนีต่อเนื่องเพชรเกษม ขับความเร็ว 110-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รอบเครื่องยนต์ประมาณ 2,400-2,600 รอบต่อนาที ถ้าค่อยๆ กดคันเร่งเพิ่มรอบ ไฟ ECO จะไม่ดับจนถึงรอบประมาณ 3,000 รอบต่อนาที อัตราสิ้นเปลืองดีที่สุดประมาณ 17 กิโลเมตรต่อลิตร

●   เครื่องยนต์รหัส 3NR-FE 4 สูบ 16 วาล์ว Dual VVT-i ความจุ 1,197 ซีซี 86 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 11.0 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบต่อนาที พร้อมเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ขับเดินทางไกลได้สบายๆ ด้วยความเร็วตามกฎหมาย บางช่วงเป็นถนน 2 เลน ต้องเร่งแซงบ้าง อัตราเร่งก็เป็นไปตามระดับของเครื่องยนต์ ถ้ากดคันเร่งให้ถูกจังหวะ อัตราเร่งก็พอพึ่งพาได้ แต่ถ้าเป็นการเร่งหรือแซงฉุกเฉิน ก็ต้องใช้วิธีคิ๊กดาวน์ลากรอบสูงช่วยเพิ่มแรงบิด การเร่งแซงต้องเผื่อระยะมากหน่อยเพื่อความปลอดภัย อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวเลขโรงงานระบุ 15.7 วินาที

●   จุดเด่นของรถรุ่นนี้ไม่ได้อยู่ที่กำลังเครื่องยนต์ แต่อยู่ที่คุณภาพของการขับโดยรวมซึ่งให้ความรู้สึกที่ดี ทั้งความนุ่มนวลหนักแน่นของช่วงล่างและพวงมาลัย การเก็บเสียงที่ทำได้ดี ยกเว้นตอนลากรอบสูงจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ค่อนข้างชัด ห้องโดยสารกว้างขวางและใช้วัสดุที่ดูดี ช่วงพักมื้อกลางวันลองย้ายไปนั่งเบาะหลัง ผู้โดยสารมีความสูง 169 เซนติเมตร นั่งได้สบายๆ ทั้งพื้นที่เหนือศีรษะและที่วางขากว้างขวางพอตัว ที่เก็บของด้านหลังไม่แคบไม่กว้าง ขยายพื้นที่ได้อีกด้วยพนักพิงเบาะหลังที่แยกพับได้แบบ 60:40

●   ช่วงก่อนถึงที่พักเป็นทางชันและคดเคี้ยว ได้ลองช่วงล่างและอัตราเร่งอีกครั้ง เข้าโค้งแบบเกรงใจคนนั่งหลัง การควบคุมรถทำได้ง่าย พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าไม่เบาเกินไป ทำให้เข้าโค้งได้อย่างมั่นคง รีดสมรรถนะของเครื่องยนต์ด้วยการเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง S และ B เป็นบางครั้ง ทำให้เร่งแซงได้ฉับไวขึ้นและช่วยหน่วงความเร็วเมื่อขับลงเนิน ระบบเบรกหน้าดิสก์หลังดรัมพร้อมตัวช่วยครบครัน ฟิลลิ่งในการเหยียบเบรกทำได้ดี ไม่จับตัวเร็วเกินไปจนขาดความนุ่มนวล แรงเบรกสัมพันธ์กับน้ำหนักเท้าที่เหยียบแป้นเบรก และมีแรงเบรกเหลือเฟือ ยาง 185/60R15 ลงตัวทั้งการยึดเกาะถนนและความนุ่มนวล ถ้าอยากเพิ่มการยึดเกาะในส่วนนี้ ไม่จำเป็นต้องขยับไซส์ แค่เปลี่ยนยางคุณภาพดีขึ้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว

โตโยต้า ยาริส หมดช่วงโปรโมชั่น ปรับราคาขึ้นรุ่นละ 10,000 บาท
–   1.2G ราคา 619,000 บาท
–   1.2E ราคา 569,000 บาท
–   1.2J ราคา 539,000 บาท
–   1.2J ECO ราคา 489,000 บาท

Specification: Toyota Yaris G

–   แบบตัวถัง ซีดาน 4 ประตู
–   ยาว x กว้าง x สูง 4,145 x 1,730 x 1,500 มิลลิเมตร
–   ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,470/1,460 มิลลิเมตร
–   ฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร
–   ระยะต่ำสุด 135 มิลลิเมตร
–   น้ำหนัก 1,087 กิโลกรัม
–   แบบเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว DUAL VVT-i
–   ความจุ 1,197 ซีซี
–   กระบอกสูบ x ช่วงชัก 72.5 x 72.5 มิลลิเมตร
–   อัตราส่วนการอัด 11.5:1
–   กำลังสูงสุด 86 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที
–   แรงบิดสูงสุด 11.0 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบต่อนาที
–   ระบบส่งกำลัง อัตโนมัติ Super CVT-i พร้อม Shift Lock
–   ระบบขับเคลื่อน ล้อหน้า
–   ระบบบังคับเลี้ยว แร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS
–   ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระ แม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
–   ระบบกันสะเทือนหลัง ทอร์ชั่นบีม คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง มี TRC และ VSC
–   ระบบเบรกหน้า/หลัง ดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน/ดรัม พร้อม ABS, EBD และ BA
–   ผู้จำหน่าย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
–   โทรศัพท์ ลูกค้าสัมพันธ์ 0-2386-2000 ต่างจังหวัดโทรฟรี 1800-238-444
–   เวบไซต์ www.toyota.co.th.


2017 Toyota Yaris G Hatchback : Test Drive