December 4, 2017
Motortrivia Team (10076 articles)

มาทำความรู้จักกับรถไร้คนขับหรือ Self-driving car กันเถอะ


Posted by : Man from the Past

 

●   รถยนต์ไร้คนขับนั้นเป็นเทคโนโลที่ใหม่ และมีคนสนใจกันมาก น.ส.พ. นิวยอร์ค ไทมส์ จึงตีพิมพ์บทความอธิบายในเชิงลึกว่ารถยนต์ประเภทนี้ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้อย่างไร โดยปล่อยออนไลน์ไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2017 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อเรื่อง The Race for Self-Driving Cars หรือการแข่งขันด้าน (เทคโนโลยีการพัฒนา) รถยนต์ไร้คนขับ

●   รถยนต์ไร้คนขับนัั้น ปัจจุบันมีชื่อเรียกกันค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Autonomous car, Driverless car, Robotic car หรือ Self-driving car เหล่านี้ล้วนแต่เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองในความหมายโดยนัย ซึ่งนิวยอร์ค ไทมส์ ได้เกริ่นให้ผู้อ่านทราบว่า “รถไร้คนขับนั้นมาแล้ว” ดูจากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำต่างทุ่มเงินกันเป็นพันๆ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในลักษณะนี้ ขณะที่บริษัทวิทยาการชั้นสูงอย่างรถแท็กซี่อูเบอร์และเจ้าของเว็บไซต์กูเกิลได้นำรถไร้คนขับตามแบบฉบับของตนออกทดสอบในเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐ

●   ใต้หัวเรื่องดังกล่าวมีเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ How a Car Drives Itself หรือเจ้ารถไร้คนขับนั้น ขับเคลื่อนตัวเองได้อย่างไร พร้อมด้วยภาพประกอบที่เป็นภาพลายเส้นรถไร้คนไร้ขับของกูเกิล แสดงส่วนประกอบสำคัญของชุดระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

●   เริ่มกันที่ Lidar Unit หรือหน่วยไลดาร์… คำว่า lidar ย่อจาก light detection and ranging หรือการตรวจจับแสงและวัดระยะห่าง ซึ่งเป็นการทำงานแบบเดียวกับเรดาร์ ต่างกันตรงที่ไลดาร์จะทำงานได้เร็วกว่า และให้รายละเอียดสูงกว่ามาก เพราะใช้แสงเลเซอร์เป็นสื่อ หลายคนน่าจะได้เห็นของจริงกันมาแล้วบนท้องถนนบ้านเรา ตำแหน่งติดตั้งอยู่บนหลังคารถในโคมแก้วสีแดงสะดุดตา

●   หน้าของมันคือ การหมุนกวาดตลอดเวลาเพื่อกระจายแสงเลเซอร์ตรวจจับภาพรอบลำตัวรถโดยรอบในรัศมี 360 องศา อีกทั้งยังมีกล้องถ่ายภาพหลายตัวเพื่อบันทึกภาพที่แสงเลเซอร์จับได้ โดยบันทึกพร้อมกับวัดระยะระหว่างของวัตถุต่างๆ ที่อยู่ในภาพ พร้อมกับสังเกตป้ายและไฟสัญญานจราจร บวกความเคลื่อนไหวของคนขี่จักรยานและคนเดินเท้าในเวลาเดียวกัน

●   ส่วน Additional Lidar Units ที่อยู่กลางกระจังหน้า เป็นอุปกรณ์แบบเดียวกันกับที่อยู่บนหลังคา ทว่ามันจะมีหลายตัวและถูกติดตั้งเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และยังมี Radar Sensors หรือ อุปกรณ์ตรวจจับด้วยเรดาร์ที่ติดตั้งข้างกระโปรงหน้าทั้งสองข้างกับใต้กระจังหน้า หน้าที่คือ การวัดระยะระหว่างรถกับสิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนตัว

●   และสุดท้าย Main Computer คอมพิวเตอร์หลักที่จะคอยวิเคราะห์ข้อมูลจากการตรวจจับ และนำไปเปรียบเทียบกับแผนที่นำทางที่มีอยู่แล้ว เพื่อประเมินสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

เจ้ารถยนต์ประเภทนี้ “เห็น” อะไร?

●   ต่อกันที่เรื่องที่เราไม่ทันเฉลียวใจ What the Car Sees รถยนต์ในลักษณะนี้เห็นอะไร? ในเบื้องต้นระบบตรวจจับของรถจะคอยรวบรวมข้อมูลวัตถุที่อยู่รอบรถ เช่นขนาด หรืออัตราความเร็ว โดยจะแยกแยะวัตถุเหล่านี้เป็นหมวดหมู่ เช่น คนขี่จักรยาน คนเดินเท้า รถยนต์ หรือเป็นวัตถุอื่นๆ โดยอาศัยการแยกแยะข้อมูลจากอากัปกิริยาที่วัตถุเหล่านั้นแสดงออก และเมื่อภาพวัตถุไปปรากฏในคอมพิวเตอร์ จะมีรูปทรงเป็นกล่อง… สีแดง หมายถึงคนขี่จักรยาน สีชมพู เป็นรถยนต์ หรือเป็น รั้วสีแดง หากเป็นบริเวณที่ตัวรถจะต้องหยุดเคลื่อนไหว

●   หัวข้อถัดมาคือ Self-Driving Features You May Have Already Used หรือ ตัวช่วยในการช่วยให้รถไร้คนขับ สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง โดยที่ฟีเจอร์หรือคุณสมบัติเหล่านั้น ส่วนใหญ่ใครๆ ก็คงเคยใช้กันมาแล้ว เพราะมีติดตั้งอยู่แล้วในรถยนต์ปกติ

●   จะเห็นได้ว่า ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบ 100% (Level 5 ตามมาตรฐาน SAE) นั้น ยังคงพึ่งพาตัวช่วยอย่าง “ระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ” (Level 3) ที่เราใช้อยู่ทั่วไปนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นระบบ Collision avoidance ที่ช่วยรถให้หลีกเลี่ยงการชน อย่างไรก็ดี ระบบเตือนการชนที่ติดตั้งอยู่บนรถไร้คนขับนั้นใช้ทั้งระบบเรดาร์ ระบบเลเซอร์ และระบบกล้องบันทึกภาพ โดยในบางกรณีที่ต้องหยุดรถ ระบบจะสั่งห้ามล้อรถให้ทำงานทันที คือไม่ต้องรอให้คนนั่งที่นั่งหลังพวงมาลัยทำหน้าที่นี้

●   อันดับที่สอง ระบบ Drifting warning ชุดระบบเตือนการลื่นไหลของรถ ซึ่งจะทำการเตือนทันทีที่ๆ รถเคลื่อนออกจากช่องทางวิ่ง และนอกจากจะเตือนแล้ว พวงมาลัยยังจะถูกสั่งการให้ดึงรถกลับเข้ามาในเลนของตัวเองทันที

●   อันดับที่สาม Blind-spot detectors สำหรับช่วยตรวจจับจุดบอดบนถนน ซึ่งกล้องหรืออุปกรณ์ตรวจจับที่ติดตั้งกับรถไร้คนขับยังสามารถแจ้งให้ผู้นั่งหลังพวงมาลัยทราบว่า ขณะนั้นตัวรถกำลังเคลื่อนตัวในบริเวณที่เป็นจุดบอด ซึ่งเป็นบริเวณที่รถไม่สามารถมองเห็นชัดเจน เช่นจังหวะที่กำลังอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ห่างกันชนรถคันหน้า และสองข้างยังมีรถวิ่งประกบ การแจ้งเตือนก็เพื่อให้คนที่นั่งตรงนั้นเข้าไปควบคุมรถ โดยการเตือนจะมีทั้งแบบใช้แสงหรือเสียง

●   อันดับสี่ Enhanced cruise control หรือระบบเพิ่มการควบคุมการเคลื่อนตัวของรถอัตโนมัติ โดยกำหนดระยะห่างระหว่างรถคันหน้า และหากรถคันหน้าชะลอความเร็วลง ระบบก็จะชะลอความเร็วรถลงตามความเหมาะสม ปิดท้ายด้วยระบบยอดนิยม Self parking หรือระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ ทั้งแบบขนานและเข้าซอง ทั้งนี้รถไร้คนขับในปัจจุบันสามารถจอดรถด้วยตัวเองผ่านระบบกล้องหรือระบบเสียงสะท้อน แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้กันในรถบ้าน การห้ามล้อและการเลือกเปลี่ยนเกียร์ ยังคงต้องมีการใช้คนร่วมอยู่บ้าง

●   ต่อกันที่ What Automakers Are Doing ว่ากันด้วยเรื่องที่กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ว่าในขณะนี้กำลังทำอะไรกันบ้างเกี่ยวกับรถยนต์ไร้คนขับ

●   บริษัทผลิตรถชื่อดังเกือบทั้งหมด ไล่ไปตั้งแต่เมอร์เซเดส-เบนซ์, ออดี้, บีเอ็มดับเบิลยู จนถึงฮุนได ได้เริ่มพัฒนา หรือร่วมเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรที่มีวิทยาการการขับแบบไม่ต้องใช้คนกันหมดแล้ว โดยจำนวนหนึ่งยังได้ลงทุนด้วยทรัพยากรขนาดมหึมา เพื่อตัวเองจะได้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับ อันดับแรกที่จะกล่าวถึงก็คือ General Motors บริษัทรถอันดับหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกาที่ซื้อหุ้นมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 16,500 ล้านบาท เพื่อจะได้เป็นหุ้นส่วนกับ Lyft บริษัทที่ให้บริการรถแท็กซี่แบบเดียวกับอูเบอร์ และยังประกาศจะทดสอบรถแท็กซี่ไฟฟ้าไร้คนขับ บนถนนปกติภายใน 1 ปี

●   นอกจากนี้ จีเอ็มยังจ่ายเงินประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ หรือราวๆ 33,000 ล้านบาท เพื่อซื้อกิจการบริษัท Cruise Automation ที่เป็นผู้ผลิตระบบและอุปกรณ์รถไร้คนขับ และยังเตรียมที่จะก่อสร้างศูนย์พัฒนารถยนต์ไร้คนขับที่เมืองซานฟรานซิสโก เมืองใกล้หุบเขาอันแสนไฮเทคอย่าง Silicon Valley ที่นับว่ามีแต่คนหัวก้าวหน้าอยู่รายรอบ

●   ต่อจากจีเอ็มคงต้องเป็นคู่ปรับหลักอย่าง Ford Motors บริษัทนี้มีการลงทุนที่ใหญ่และมองการณ์ไกลมาก โดยเป็นการลงทุนด้วยเงินถึง 1,000 ล้านเหรียญในบริษัท Argo AI… ชื่อก็บอกอยู่แล้วเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ และที่สำคัญ บริษัทปัญญาประดิษฐ์แห่งนี้ได้รับก่อตั้งโดยอดีตพนักงานกูเกิลและอูเบอร์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าบริษัทต้องไปไกลแน่ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ต่อไปรถยนต์ในโลกจะกลายเป็นรถที่ใช้งานทั้งแบบขับส่วนตัวกับขับบริการผู้โดยสารที่ใช้สมาร์ทโฟนเรียกรถผ่านแอพพ์แบ่งปันการใช้งานในคันเดียวกัน นั่นทำให้ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อที่ข้อมูลจะได้ไปปรากฏบนเครือข่ายแบ่งปันการใช้รถ

●   ทั้งนี้ ฟอร์ดได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาประกาศว่า บริษัทกำลังเตรียมจัดรถไร้คนขับเพื่อออกให้บริการผู้โดยสารที่รอรถข้างทางในปี 2021 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า โดยจะทำเป็นธุรกิจในเชิงพาณิชย์เหมือนบริษัทรถแท็กซี่ทั่วไป

●   อันดับต่อมาคือ Tesla ซึ่งดังจนฉุดไม่อยู่แล้วในขณะนี้ บริษัทรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งหุบเขาซิลิคอนนี้ เคยมีเรื่องให้ถกเถียงกันอย่างหนักในช่วงกลางปีที่แล้ว เมื่อระบบ Autopilot ใน Tesla Model S เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน่าเศร้า แม้ข่าวคราวและข้อสรุปจะเงียบหายไปแล้ว ทว่า Joan Claybrook อดีตเจ้าหน้าที่ NHTSA : National Highway Traffic Safety Administration หน่วยงานการจราจรเพื่อความปลอดภัยแห่งสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นว่า เทสล่าทำเรื่องที่เสี่ยงมากในกรณีนี้ และไม่ควรปล่อยให้ผู้คนทั่วไปทำ beta-test (เพื่อเก็บข้อมูลความบกพร่อง)

●   อย่างไรก็ดี เทสล่ายังคงประกาศนับครั้งไม่ถ้วนเกี่ยวกับแผนงานจำหน่ายรถไร้คนขับของตน และล่าสุดได้ประกาศว่า รถยนต์ที่จะจำหน่ายจะยังคงใช้ซอฟท์แวร์ควบคุมชนิดเดียวกับที่ใช้ในรถคันที่เกิดอุบัติเหตุต่อไป (เวอร์ชั่นอัพเกรด)

●   อันดับ 4 ได้แก่ Fiat Chrysler หรือบริษัทเฟียตที่เข้าไปควบรวมกับไครสเลอร์ บริษัทรถยนต์อเมริกันยักษ์ใหญ่อันดับ 3 นั่นเอง ณ เวลานี้เฟียต ไครสเลอร์ถือว่าน่าจับตามากทีเดียวในเรื่องรถไร้คนขับ เพราะได้จับมือกับ Alphabet บริษัทแม่กูเกิล เพื่อนำวิทยาการรถไร้คนขับที่กูเกิลบุกเบิกและพัฒนา มาทดลองใช้กับรถมินิแวนอย่าง Chrysler Pacifica หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการทาบทามแอ๊ปเปิล ทว่าถูกยักษ์ใหญ่ไอทีเมินเสีย

●   ล่าสุด Alphabet เข้าไปเปิดสำนักงานที่รัฐมิชิแกน เพื่อจะได้ใกล้ชิดหุ้นส่วนลูกผสมอิตาลีและสหรัฐแล้ว… คาดว่าคงจะได้เห็นรถเฟียตไร้คนขับวิ่งกันในอีกไม่นาน โดยยังอาจจะมีทั้งรถบรรทุกเล็กและรถโดยสารเล็กไร้คนขับด้วยตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

●   สำหรับอันดับ 5 อย่าง Honda มีหรือที่ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นรายนี้จะไม่สนใจเทคโนโลยีรถไร้คนขับ เพราะรถไร้คนขับไม่จำเป็นต้องเป็นรถคันใหญ่โต มันอาจจะเป็นรถซิตี้คาร์คันเล็กจิ๋วก็ได้ รายงานล่าสุดในขณะนี้ก็คือ ฮอนด้ากำลังพัฒนารถไร้คนขับต้นแบบที่จะใช้ระบบ “emotion engine” หรือเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้สึก… ฟังดูเหลือเชื่อ แต่โดยหลักการมันจะเป็นเครื่องที่รับอากัปกิริยาความรู้สึกและคำพูดของผู้ขับ เพื่อนำไปประมวลและอำนวยการให้รถไร้คนขับปฏิบัติตาม ไม่ธรรมดาแน่ ถ้าเครื่องยนต์แบบนี้ได้รับการพัฒนาจนสำเร็จ เพราะคงถูกนำไปใช้งานอื่นอีกสารพัด ไม่เฉพาะกับรถยนต์ไร้คนขับ

●   อันดับ 6 Volvo ถึงจะเงียบแต่ยักษ์ใหญ่รถยนต์สวีเดนนำรถไร้คนขับไปให้ชาวเมือง Gothenberg ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทใช้แล้ว รถที่ทดลองเป็นรถ SU ภายใต้โครงงานทดสอบขั้นทดลองเพื่อเก็บข้อมูลว่า ตัวรถควรมีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรบ้าง โดยในอีกไม่นานจะมีการขยับขยายไปยังกรุงลอนดอนและประเทศจีนด้วย นอกจากนี้วอลโว่ยังทดสอบแบบเดียวกันร่วมกับบริษัทรถแท็กซี่อูเบอร์ในเมืองพิตต์สเบิร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่าแปลกใจถ้าต่อไปจะเห็นรถแท็กซี่อูเบอร์ขับเคลื่อน 4 ล้อไร้คนขับ พาผู้โดยสารเดินทางข้ามป่า เขา รวมทั้งทะเลทราย ใครอยากมีประสบการณ์แหวกแนวเพียงใช้แอพพ์เรียกรถให้มารับ

แล้วพวกเขากำลังทำอะไร?

●   ยาวมากสำหรับบทความของนิวยอร์ค ไทมส์ ชิ้นนี้ เพราะยังมีอีกหัวเรื่องหลัก นั่นคือ The New Entrants: What Technology Companies Are Doing ถ้าจะแปลคงแปลว่า ในบรรดาผู้มาใหม่ที่เป็นบริษัทวิทยาการ พวกนี้กำลังทำอะไร? ส่วนนี้เป็นการพูดถึงบริษัทไฮเทคทั้งหลายที่ก้าวเข้ามาในวงการรถยนต์ไร้คนขับ ดังนั้นพวกเขาจึงถูกมองว่าเป็นบริษัทรถยนต์ไร้คนขับ “หน้าใหม่”

●   ทั้งนี้ที่ผ่านมาดูเหมือนกูเกิลจะเอาพื้นทื่ข่าวไปครองเพียงผู้เดียว โดยเริ่มจาก Google Car ที่น่าจะเป็นรถไร้คนขับคันแรก ทั้งๆ ที่ความจริงยังมีบริษัทไฮเทครายอื่น ซึ่งรวมทั้งที่ดังมากๆ จากจีนด้วย แน่นอนในบรรดาผู้ที่มาใหม่เหล่านี้คงต้องให้กูเกิลเป็นอันดับ 1 เพราะจากรถคันดังกล่าว เวลานี้รถได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Waymo ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับบริษัทที่จะผลิตและจำหน่าย

●   ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก Alphabet บริษัทเจ้าของกูเกิล ได้นำหน่วยงานที่กำลังพัฒนารถไปเปิดเป็นบริษัท เพื่อการบริหารจัดการและการระดมทุนจะได้ทำได้สะดวก ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ยังบ่งชี้ว่า รถไร้คนขับแบรนด์เวย์โมคงจะมีการวางจำหน่ายในไม่ช้า

●   ตามด้วย Apple ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าความทะเยอทะยานสูงสุดของบริษัทตราผลแอ๊ปเปิลแหว่งรายนี้เป็นอย่างไร? เพราะที่ผ่านมาข่าวเกี่ยวกับการพัฒนารถไร้คนขับมักถูกปกปิดอย่างมิดชิด เราทราบกันแต่เพียงว่ารถดังกล่าวเดิมมีชื่อรหัสว่า Titan อย่างไรก็ตาม แอ๊ปเปิลเพิ่งได้รับใบอนุญาติทดสอบรถ จากรัฐแคลิฟอร์เนียให้สามารถลงวิ่งทดสอบบนถนนหลวงได้ เบื้องต้นชุดระบบติดตั้งอยู่ยน Lexus RX… ลงตัวเมื่อไหร่แฟนๆ คงได้เฮกันแน่ สำหรับรถไร้คนขับที่มีตราผลแอ๊ปเปิลถูกกัดอยู่บนกระจังหน้าหรือฝากระโปรง (หรืออาจจะเป็นที่อื่นๆ เพื่อความแหวกแนว)

●   ด้าน Uber อีกหนึ่งบริษัทที่เรียกได้ว่าดังสนั่นโลก บริษัทรถแท็กซี่รายนี้หลังจับมือบริษัทผลิตรถในการนำต้นแบบรถยนต์ไร้คนขับไปดัดแปลงเป็นรถแท็กซี่ และนำรถไปทดลองวิ่งที่เมืองพิตต์สเบิร์กในรัฐเพนน์ซิลเวเนีย และที่เมือง Tempe ในรัฐแอริโซน่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอูเบอร์มีเรื่องวุ่นวายใจพอสมควร จากกรณีการยื่นฟ้องร้องระหว่าง เวย์โม/OTTO/อูเบอร์ ในข้อหาขโมยทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อนำไปพัฒนารถไร้คนขับ ซึ่งอูเบอร์แม้จะเหมือนว่า “ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง” แต่ก็ทำให้กลายเป็นเรื่องที่นัวเนียติดพันมาจนถึงทุกวันนี้

●   มาถึง Baidu ชื่อนี้ในแวดวง IT คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว บริษัทอินเตอร์เน็ตจากประเทศจีนที่มีชื่ออ่านว่า ไป่ตู้ เริ่มทดสอบวิทยาการรถยนต์ไร้คนขับในปี 2016 ที่ผ่านมา โดยนำวิทยาการไปติดตั้งบนรถของผู้ผลิต 3 รายในประเทศ จากนั้นก็มีการประกาศว่า ทางบริษัทคาดว่าจะนำรถไร้คนขับของตัวเองไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2018 ซึ่งคงจะต้องดูกันต่อไปว่าจะจำหน่ายหรือไม่อย่างไร

ซัพพลายเออร์ ผู้ปิดทองหลังพระ

●   ยัง… บทความของนิวยอร์ค ไทมส์ ยังไม่จบเท่านี้ เพราะนอกจากผูู้ผลิตรถยนต์แล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และบริษัทเหล่านี้ก็มีความเป็น “ยักษ์ใหญ่” และมีชื่อเสียงไม่แพ้ผู้ผลิตรถยนต์ด้วย ชื่อของพวกเขาเหล่านี้อยู่ภายใต้หัวเรื่อง Under the Hood: What Component Makers Are Doing หรือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนกำลังทำอะไรอยู่ใต้กระโปรงรถ?

●   เริ่มจาก Intel ซึ่งเราทราบกันดีว่าเป็นบริษัทผลิตสารกึ่งตัวนำระดับบันลือโลก เมื่อไม่นานมานี้ อินเทลได้ซื้อ Mobileye บริษัทผลิตกล้องและอุปกรณ์ตรวจจับแห่งอิสราเอล เพื่อปูทางให้ตัวเองจะได้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ใช้กับรถยนต์ไร้คนขับ ตามด้วย Autoliv บริษัทที่แค่ผลิตถุงลมก็ยิ่งใหญ่ได้ ไม่ต้องถึงขั้นผลิตรถ ทั้งนี้ บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้านการผลิตถุงลมจากสวีเดน กำลังคิดจะเอาดีทางด้านรถไร้คนขับด้วยเหมือนกัน โดยลงทุนร่วมกับวอลโว่เพื่อพัฒนารถประเภทนี้

●   ตามด้วย Harman International (อดีต) บริษัทแม่ของ Harman Kardon ผู้ผลิตเครื่องเสียงอันดับสูงสุดที่ผลิตอุปกรณ์และระบบให้ความบันเทิงทั้งเสียงและภาพสำหรับติดตั้งภายในรถยนต์ ซึ่งล่าสุดเมื่อดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว บริษัทเพิ่งถูกซัมซุงซื้อกิจการไป โดยการซื้อยังมีการโยงไปยังรถยนต์ไร้คนขับด้วย เพราะบริษัทสัญชาติอเมริกันแห่งนี้นอกจากจะเป็นจ้าววิทยาการระบบให้ความบันเทิงภายในรถยนต์ ยังเป็นจ้าววิทยาการชิ้นส่วนรถไร้คนขับ โดยเฉพาะด้านแผนที่นำทางชนิดรุดหน้า

●   ต่อที่บริษัท nuTonomy แม้ชื่อจะแปลก แต่ต้นตอนั้นยิ่งใหญ่ เพราะเป็นบริษัทที่แยกตัวออกมาจากห้องทดลองรถไร้คนขับของสถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐแมสซาชูเซตต์ หรือเอ็มไอที โดยขณะนี้บริษัทกำลังทดสอบรถพาณิชย์ในสิงคโปร์ และรถไร้คนขับในเมืองบอสตัน อีกทั้่งยังเป็นหุ้นส่วนร่วมกับบริษัท Lyft ในการนำรถไร้คนขับไปให้บริการแบบเดียวกับรถแท็กซี่อูเบอร์ด้วย

●   ด้าน Delphi เดิมทีบริษัทนี้เป็นฝ่ายชิ้นส่วนของจีเอ็ม การพัฒนาวิทยาการรถไร้คนขับของบริษัททำทั้งแบบ self-driving คือรถขับด้วยตัวเอง กับแบบ semi-automated หรือรถกึ่งขับด้วยตัวเอง โดยหวังจะขายผลิตภัณฑ์จากสองวิทยาการให้กับบริษัทผลิตรถ นอกจากนี้บริษัทยังกำลังทดสอบรถไร้คนขับของตัวเองที่สิงคโปร์ และกำลังร่วมมือกับโมบิลอายและอินเทล ในการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนร่วมกันสำหรับรถไร้คนชับ

●   และสุดท้าย บริษัทที่มาแรงแซงโค้งผู้ผลิตชิปดั้งเดิมรายอื่นๆ อย่าง Qualcomm ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันด้านสารกึ่งตัวนำที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ขณะนี้กำลังพัฒนาระบบที่จะทำให้รถไร้คนขับแจ้งตำแหน่งที่อยู่แบบชัดเจน และตอบสนองแบบทันทีทันใด ล่าสุดได้ซื้อกิจการ NXP Semiconductors ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้กับรถยนต์ ด้วยเงินจำนวนถึง 47,000 ล้านเหรียญ หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

●   ยังครับ… นิวยอร์ค ไทมส์ ยังไม่หยุดให้ความรู้ เพราะยังมีหัวเรื่อง Where You Can Ride in a Self-Driving Car คุณสามารถนั่งรถไร้คนขับได้ที่ไหน? โดยกล่าวว่า พิตต์สเบิร์กเป็นเมืองแห่งแรกที่ใครๆ ก็สามารถโบกรถไร้คนขับให้หยุดรับได้ หลังอูเบอร์ได้นำรถไร้คนขับ 100 คันออกวิ่ง… อย่างไรก็ดี เวลาผ่านไปไม่ถึงปี ตอนนี้ชาวเมืองและเจ้าหน้าที่ต่างวิจารณ์แล้วว่า ตัวรถไม่ได้ดีอย่างที่คุยเอาไว้

●   หัวเรื่องต่อมา How Self-Driving Technology Differs วิทยาการขับด้วยตัวเองแแตกต่างอย่างไร เริ่มจากเทสล่าที่ใช้วิทยาการระบบ computer vision-based vehicle detection system หรือระบบตรวจจับยวดยานผ่านวิทยาการการมองเห็นด้วยคอมพิวเตอร์มองเห็น ซึ่งไม่ได้ใช้วิทยาการไลดาร์ที่กำลังเป็นวิทยาการที่บริษัทผลิตรถไร้คนขับรายอื่นๆ ต่างใช้งานกัน

●   เทสล่าชี้แจงว่า การที่พวกเขาใช้วิทยาการไม่เหมือนใครเพราะว่า ระบบของตนไม่ได้กำหนดว่าจะให้ตัวรถขับโดยไม่ต้องใช้คนขับอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้นการพัฒนาชิ้นส่วนที่จะใช้กับระบบเองยังไม่เสร็จ

●   ชุดระบบ Autopilot ของเทสล่า ประกอบด้วย Forward-facing camera กล้องจ้องจับภาพด้านหน้าที่ใช้กับรถไร้คนขับ ใช้ตรวจจับเส้นแบ่งช่องทาง ป้ายและไฟจราจร ป้ายชื่อถนน และวัตถุอื่นๆ, Forward radar สัญญานเรด้าร์ตรวจจับด้านหน้า เป็นสัญญานจากลำแสงไมโครเวฟสะท้อนกลับ ที่สามารถแจ้งตำแหน่งและความเร็วของรถที่อยู่รายรอบ แต่ไม่เสมอไปที่จะแจ้งว่ารถเหล่านั้นเป็นรถประเภทใด

●   Ultrasonic sensors อุปกรณ์ตรวจจับใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ใช้สำหรับการแจ้งระยะห่างระหว่างรถกับสิ่งที่อยู่รอบข้าง ปิดท้ายด้วย GPS ระบบแจ้งตำแหน่งบนแผนที่ๆ ใช้กับรถไร้คนขับ ทำงานโดยการกำหนดแผนที่ที่รวดเร็วมาก จนสามารถแจ้งตำแหน่งได้ตามเวลาจริง

ท้ายที่สุด…เรื่องของความปลอดภัย

●   มาถึงหัวเรื่องสุดท้าย Potential Danger: The First Fatal Self-Driving Accident โอกาสเกิดอันตราย และอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตคนครั้งแรกของรถไร้คนขับ.

●   Joshua Brown หนึ่งในสมาชิกของ Tesla community วัย 45 ปี เสียชีวิตขณะนั่งหลังพวงมาลัยรถเทสล่า โมเดล เอส ซึ่งเพิ่งมีการใช้ระบบ Autopilot จริงหลังการวางจำหน่าย กรณีนี้มีการสงสัยในเรื่องความปลอดภัยของระบบที่ใช้ควบคุมบังคับรถเพื่อไม่ให้เกิดการชน ซึ่งเหตุที่ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตนี้ ก็เนื่องจากหลังอุบัติเหตุ เทสล่าได้เปิดตัวระบบใหม่ที่กำลังจะใช้งานพอดี

●   ผู้บริหารคนหนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบโดยตรงเห็นว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น อาจเกิดเพราะระบบหลีกเลี่ยงการชนที่ใช้กับรถถูกออกแบบให้ทำงานเฉพาะในกรณีระบบเรด้าร์และระบบคอมพิวเตอร์มองเห็น ต่างต้องเห็นตรงกันว่า “รถกำลังเผชิญสิ่งที่อาจเป็นอันตราย” ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมั่นใจว่า ถ้ารถคันดังกล่าวมีอุปกรณ์ไลดาร์สำหรับตรวจจับแสงและวัดระยะห่าง ตัวรถอาจสามารถหลีกเลี่ยงการชนได้

●   ส่วน อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดบริษัทเทสล่า ออกมาให้ความเห็นว่า การยกระดับระบบจะป้องกันอุบัติเหตุแบบนี้ได้ ตามด้วยเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางที่ดูแลกฏควบคุมความปลอดภัยที่ประกาศว่า พวกเขาไม่พบว่าระบบควบคุมบังคับรถมีความบกพร่อง

●   ทั้งนี้ ถ้าดูภาพประกอบทางด้านบน ตัวรถได้พุ่งเข้าชนรถบรรทุกพ่วงขณะวิ่่งในรัฐฟลอริด้าตอนเหนือ โดยขณะนั้นรถบรรทุกพ่วงกำลังเลี้ยวซ้ายตรงหน้า เมื่อชนแล้วรถเทสล่าได้พุ่งลอดออกไปใต้ท้องรถ และวิ่งต่อไปจนตกถนน พร้อมกับชนรั้วและเสาไฟฟ้าก่อนจะหยุดนิ่ง

●   จุดหมายเลข 1 : เป็นจุดที่รถบรรทุกพ่วงกำลังจะเลี้ยวซ้าย จุดหมายเลข 2 : รถบรรทุกพ่วงเลี้ยวแล้ว แต่รถเทสล่าไม่หยุดให้เลี้ยว ดังนั้นจึงพุ่งเข้าชนรถพ่วงที่รถบรรทุกพ่วงมา ซึ่งชนแล้วรถเทสล่ายังวิ่งลอดใต้รถพ่วงออกไป ส่วน จุดหมายเลข 3 : รถเทสล่าหลุดลงไปจากทางหลัก และชนรั้ว 2 รั้วกับเสาไฟฟ้า 1 ต้น (เว็บไซท์ jalopnik.com เคยวิเคระห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า Autopilot อาจระบุไม่ได้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ตามลิ๊งค์)

●   เป็นอย่างไรกันบ้างครับ… อ่านจบแล้วคงจะมองภาพรวมเรื่องรถไร้คนขับได้ชัดเจนขึ้นกันพอสมควร ยังไงก็ยังอยากฝากการพัฒนา “รถตุ๊กตุ๊กไร้คนขับ” เอาไว้กับคนรุ่นใหม่ด้วย และขอพ่วงรถ “อี-ตุ๊กตุ๊ก” ให้เป็นรถไร้คนขับด้วยยิ่งดี ใครจับงานนี้ได้คงรวยกันไม่รู้เรื่อง   ●

หมายเหตุ : บทความให้ความรู้ชิ้นนี้ นำมาจากบทความ “The Race for Self-Driving Cars” ของเว็บไซท์ของนิวยอร์ก ไทมส์ นอกจากจะให้ข่าวยังให้ความรู้ด้วย ขอขอบคุณเอาไว้ ณ ที่นี้