January 29, 2018
Motortrivia Team (10191 articles)

Folding Car อีกหนึ่งความพยายามในการพัฒนายานยนต์ส่วนบุคคล


Posted by : Man from the Past

 

●   รถพับได้ เป็นรถประเภทหนึ่งที่นักประดิษฐ์มีความพยายามในการพัฒนากันในกลุ่มเล็กๆ เจ้า foldable car, folding car หรือ stackable car นี้ ไม่ว่าจะเรียกกันด้วยชื่อใด ตัวรถล้วนต่างพับได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเภทหลัง เมื่อพับแล้วยังมีแนวคิดในการออกแบบให้สามารถนำไปวางเรียงกันเป็นแถวแบบรถเข็นในซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้สะดวกในการจัดเก็บที่ใช้พื้นที่น้อย เช่นชั้นที่จัดไว้เฉพาะในอาคาร และช่องเก็บภายในยานพาหนะขนาดใหญ่อย่างรถไฟหรือรถราง


ตัวอย่างการระดมความคิดของนักคิดยุคใหม่ ในวีดิโอข้างต้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานของ MIT Media lab ที่ปล่อยออกมาในช่วงปี 2001 หรือราว 17 ปีมาแล้ว จะเห็นได้ว่า นอกจากการนำเสนอในเชิง “แนวคิด” ด้านกรรมวิธีการผลิตในทางเทคนิค มันสามารถเป็นไปได้เช่นกัน


●   รถยนต์หรือพาหนะที่พับได้นั้นมีการพูดถึงกันมานานแล้ว ทว่าการคิดที่จะพัฒนาและต่อยอดมายังการผลิตจริงนั้น เริ่มขึ้นหลังการเปลี่ยนศตวรรษ กล่าวคือ เมื่อย่างเข้าศตวรรษที่ 21 คนในวงการรถยนต์ต่างพากันเห็นว่า โลกเราได้ก้าวมาสู่ยุคที่คนเราควรจะสามารถไปไหนมาไหนได้สะดวก ซึ่งชื่อที่ใช้เรียกกันอย่างเป็นทางการคือ “ยุค mobility age” เพราะเกือบทุกเมืองใหญ่รวมทั้งหลายประเทศในโลก ต่างก็มีระบบคมนาคมอันทันสมัยกระจายไปทั่ว จนผู้คนส่วนหนึ่งไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ในการเดินทาง

●   การเดินทางนั้นทำได้ทั้งใต้ดิน บนดิน และทางอากาศ อีกทั้งการจะไปขึ้น-ลงยวดยาน คนเหล่านั้นอาจเดิน ขี่จักรยาน ใช้ยานพาหนะที่มีล้อเลื่อน หรือใช้บริการรถแบ่งปัน ซึ่งหมายถึงอาจเป็นรถของตัวเอง และนำไปหารายได้พิเศษขณะที่ไม่ได้ใช้งาน


แนวคิดหลักของ MIT Media lab คือ การใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าในเมืองใหญ่


●   ด้วยเหตุผลเหล่านี้ คนในวงการนักคิดจึงเริ่มมองว่า มันน่าจะมีรถยนต์ (หรือพาหนะที่ไม่จำกัดขนบธรรมเนียมและรูปแบบ) แบบใหม่ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เช่น รถพับได้สำหรับการใช้งานในเมืองใหญ่ที่แออัด ซึ่งเป็นรถที่ผู้คนสามารถขับมันได้เหมือนรถปกติ แต่สะดวกในการเคลื่อนย้ายเวลาไม่ใช้งาน อาทิ การนำไปจอดในที่จอดที่เป็นซอกเล็กๆ ข้างอาคาร ไม่ต้องไปจอดตรงที่จอดริมถนน ซึ่งเป็นปัญหาของทุกเมืองไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก รวมทั้งไม่ต้องไปจอดบนอาคารจอดที่สร้างบนที่ดินที่นับวันจะมีราคาพุ่งพรวดพราด และน่าจะนำไปพัฒนาเป็นสถานที่ๆ มีคุณค่าในตัวเองมากกว่าลานจอดรถ

●   ครั้นแล้ว ในช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2017 ที่ผ่านมา คนในวงการรถยนต์และชาวโลกก็ได้พบกับการปรากฏตัวของรถพับได้ในนาม “Earth-1” ของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่น Four Link Systems สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เจ้ารถที่ปรากฏตัวที่ญี่ป่นในวันที่ 28 ธันวาคม 2017 หรือ 3 วันก่อนปีใหม่นี้ ผู้ที่ทำการออกแบบ Kunio Okawara นักออกแบบแมคคานิคส์วัย 70 ปีที่เป็นคนแรกในโลกที่ได้รับการระบุว่ามีอาชีพเป็น mechanical designer หรือ นักออกแบบเครื่องกล และเขาก็คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานออกแบบอนิเมะที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง Mobile Suit Gundam นั่นเอง

หมายเหตุ : ในแวดวงอนิเมะนั้น มีนักออกแบบซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหลัก เช่น แคแรคเตอร์ดีไซน์ (ของตัวละคร) ในกรณีของ โอคาวาระ นั้น ทักษะในด้านแคแรคเตอร์ดีไซน์ของเขา หมายถึงการออกแบบความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคของหุ่นยนต์โดยเฉพาะ

●   ในครั้งนี้ เขาได้นำความสามารถเฉพาะตัวอันโดดเด่นมาสร้างสรรค์แคแรคเตอร์เฉพาะของรถยนต์พับได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก หาก Earth-1 จะมีหน้าตากระเดียดไปทางส่วนหัวของ Gundam แบบที่คุ้นตากันในอนิเมะ

●   Earth-1 เป็นรถซิตี้คาร์ขนาดเล็กแบบ 2 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนแบบแบตเตอรี่ (BEV) ไฟฟ้า 2 ที่นั่ง ประตูเปิดด้านหน้าสไตล์ค๊อกพิต Gundam ล้อทั้ง 4 สามารถแยกการทำงานได้อิสระ เพื่อให้ตัวรถหมุนกลับตัวได้แบบ 360 องศาโดยไม่ต้องใช้วงเลี้ยว (วงเลี้ยวเท่ากับศูนย์) ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ตัว ราคาจำหน่ายในเบื้องต้นประเมินว่าจะอยู่แถวๆ 8 ล้านเยน หรือประมาณ 2.4 ล้านบาท… นับว่าค่อนข้างสูงมาก ราคาไล่ๆ กับเลกซัสรุ่นท๊อปๆ กันเลยทีเดียว

●   อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์กันในแง่ของสะสมตามออกมาด้วย มีความเป็นไปได้ว่าราคาของมันอาจจะพุ่งขึ้นไปอีก โดยมันอาจจะกลายเป็นรถที่ถูกนำไปประดับอาคาร หรือวางเอาไว้โชว์ตัวกลางสนามเพื่อดึงดูดผู้คนที่สนใจ เนื่องจากชื่อของ โอคาวาระ นั้น “ขายได้” (มากกว่าผลงานในเชิงเทคนิคของ Four Link Systems ด้วยซ้ำ)… อันนี้อยากฝากให้นักประดิษฐ์ไทยดูเป็นตัวอย่าง ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มมูลค่าในสิ่งประดิษฐ์ยุคใหม่ๆ ได้บ้าง?


คุนิโอะ โอคาวาระ ชายผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบ Gundam


●   ในอดีต Four Link Systems เป็นบริษัทซัพพลายเออร์ที่ผลิตข้อต่อเหล็กสำหรับใช้ประกอบคานรับแรงสั่่นสะเทือนในรถยนต์ 5 ปีก่อนหน้า Four Link Systems เคยวางแผนงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อแข่งกับยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ทว่าแผนงานนั้นออกจะลำบากสักหน่อย เนื่องจากโดยพื้นฐาน ตัวบริษัทเองนั้นมีทรัพยากรในมือที่จำกัด และที่สำคัญยังขาดในเรื่องของ “ชื่อเสียง” ด้วย ดังนั้นจึงมีการปรับทิศทางแผนงานเสียใหม่ โดยเริ่มออกแบบรถยนต์ที่เน้นไปในทางรูปร่างหน้าตา เพราะการสร้างสรรค์ในเชิงของการออกแบบนั้นง่ายกว่าการพัฒนาสมรรถนะและยังสามารถเพิ่มมูลค่าแบรนด์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ Four Link Systems เลือกจับมือหรือขอยืมชื่อของนักออกแบบแคแรคเตอร์หุ่นยนต์มือเยี่ยมอย่าง โอคาวาระ

●   Earth-1 ยังคงใช้การบังคับควบคุมด้วยพวงมาลัยแบบเดียวกับที่รถยนต์โดยทั่วไป การพับและการคืนรูปทรงทำได้ผ่านคันบังคับแบบโยกขึ้น-ลง และเนื่องจากตัวรถยังไม่มีแชสซีส์ที่ผลิตสำเร็จ ทุกส่วนจึงสร้างจากชิ้นส่วนที่หาได้และนำมาประกอบเข้าด้วยกัน

●   จุดสำคัญ มันวิ่งใช้งานบนท้องถนนได้ไหม?… ณ เวลานี้ Earth-1 ยังไม่ได้รับอนุญาติให้วิ่งบนถนนสาธารณะ ปัจจุบันรถไฟฟ้าล้วน หรือ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่มีขนาดเล็กที่สุดในญี่ปุ่นคือ Mitsubishi i-MiEV (ปี 2016 ขายได้ราว 80 กว่าคัน) ซึ่ง i-MiEV นั้นผ่านการทดสอบชนและอื่นๆ อย่างถูกต้องตามกฏหมายมาแล้วอย่างหนัก ในขณะที่ Earth-1 รุ่นแรกนั้นไม่น่าจะผ่านการทดสอบได้ในส่วนนี้ อีกทั้งในด้านสมรรถนะ ตัว Earth-1 เองคงจะเป็นรถไฟฟ้าในคลาส City speed (ความเร็วสูงสุด 50 – 79 กม./ชม.) หรือ Low speed (ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 49 กม./ชม.) เท่านั้นตามกฏหมาย

●   อย่างไรก็ดี รถไฟฟ้านั้นมีการแข่งขันที่นับวันจะเข้มข้นยิ่งขึ้น จากการที่บริษัทรถญี่่ปุ่นต้องเผชิญคู่แข่งหน้าใหม่จากประเทศจีนที่ยกระดับความเชี่ยวชาญ และหน้าเก่าที่เป็นบริษัทผู้ผลิตรถจากยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งได้ใช้ความเชี่ยวชาญรถแบบที่ใช้ในปัจจุบันมาปรับใช้กับรถไฟฟ้า (ยกตัวอย่าง BMW i3 มียอดจำหน่ายในญี่ปุ่นดีขึ้นเรื่อยๆ นับจากปี 2011 เป็นต้นมา)

●   การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ ทำให้มีการคาดกันว่า ในอนาคตผู้ที่ครองตลาดรถยนต์น่าจะไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่จะเป็นจีน ยุโรป และสหรัฐฯ โดยเฉพาะบริษัทรถจากสหรัฐฯ อย่าง Tesla ที่กำลังจะปล่อย Tesla Model 3 อกมาทำตลาดในกลุ่มราคาไม่สูงนัก

●   สำหรับบริษัทอย่าง Four Link Systems นั้น คงจะไม่ได้เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดอะไรในกลุ่มนี้ ทางบริษัทให้ข้อมูลว่า หลังการเปิดตัว Earth-1 ก็ได้รับการสั่งซื้อไปแล้ว 30 คันจากลูกค้าในหลายประเทศ หลักๆ ก็คือ ในญี่ปุ่นเอง จีน และดูไบ นอกจากนี้ยังมีผู้ซื้อรายหนึ่งที่เป็นบริษัทท่าอากาศยานในต่างประเทศ โดยระบุว่าเป็นการสั่งซื้อเพื่อนำไปให้บริการรับส่งผู้โดยสารแบบรถแบ่งปัน

●   ทั้งนี้ Four Link Systems ประเมินแล้วว่า ตลาดท่าอากาศยานกับตลาดแหล่งท่องเที่ยว น่าจะเป็นตลาดใหญ่สำหรับรถพับได้ ดังนั้นในจำนวนรถที่จะผลิต 300 คันต่อปีส่วนใหญ่จะเป็นการขายให้กับผู้ซื้อใน 2 ตลาดนี้เป็นหลัก

●   นักประดิษฐ์ไทยหรือเหล่าสตาร์ทอัพคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง? รถแบบนี้จะผลิตเพียง 300 คันต่อปีเท่านั้น   ●