January 17, 2018
Motortrivia Team (10196 articles)

Formula 1 เผยรายละเอียดกฏใหม่สำหรับฤดูกาล 2018


Posted by : Fascinator.

 

●   หลังจากที่เอฟวัน มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในปี 2017 ซึ่งทำให้เราได้เห็นรถแข่งที่กว้างขึ้น เร็วขึ้น ปี 2018 ก็จะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับปี 2017 แต่ใช่ว่ามันจะไม่สำคัญเลยเสียทีเดียว และแน่นอนว่าทีมแข่งก็ยังคงต้องปวดหัวกับการเตรียมความพร้อมรถคันใหม่ของพวกเขาเช่นทุกปี

ลาก่อน ปีกตัว T และ ครีบฉลาม

●   เมื่อตอนที่กฎปี 2017 ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรก แน่นอนว่าแต่ละทีมมองหาช่องโหว่ภายในกฎ บล็อกสีแดงในรูปนั้นเป็นส่วนที่ FIA ห้ามไม่ให้ทีมแข่งทำการพัฒนาใดๆ ตรงจุดนี้ อย่างไรก็ตามมันมีช่องว่างตรงกลางระหว่างบล็อกซึ่งทีมแข่งได้จับจ้องและพัฒนาตรงจุดนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นจึงเป็นที่มาของปีกตัว T และครีบฉลาม ซึ่งหลักๆ ช่วยในเรื่องของการจัดเรียงอากาศไปยังปีกหลัง

●   ในปี 2018 กฎได้ระบุอย่างชัดเจนว่าห้ามมิให้ทำการติดตั้งปีกตัว T และครีบฉลาม นั่นจึงทำให้เราอาจจะเห็นรูปแบบฝาครอบเครื่องยนต์แบบเซาเบอร์ ในการทดสอบเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาที่ออสติน ในปีนี้แทน

ทักทายเฮโล

●   เฮโล อุปกรณ์ป้องกันส่วนหัวของนักขับ จะเป็นสิ่งที่ทุกคนสังเกตเห็นอย่างง่ายดายในปี 2018 จากรูปข้างต้น ทีมแข่งจะต้องทำการออกแบบเฮโลให้สามารถรับแรงในทิศทางต่างๆ ตามปริมาณที่กำหนด อย่างไรก็ตามทุกทีมยังคงมองหาช่องโหว่และน่าจะทำการออกแบบลูกเล่นเกี่ยวกับแอโรไดนามิกส์บนอุปกรณ์ตัวนี้ไว้เรียบร้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกทีมจะต้องปวดหัวกันอย่างแน่นอนกับเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้คือน้ำหนัก ในปี 2018 น้ำหนักขั้นต่ำของตัวรถถูกเพิ่มขึ้นอีก 6 กิโลกรัม เป็น 734 กิโลกรัม เพื่อชดเชยกับน้ำหนักเฮโลที่เพิ่มมา อย่างไรก็ตามจุดยึดของเฮโลจะต้องมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับแรงกระแทกที่ส่งต่อจากเฮโลตามกฎ และนั่นอาจทำให้น้ำหนักจริงๆ หลังจากเพิ่มอุปกรณ์ตัวนี้มาอยู่ที่ 14 กิโลกรัม ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อนักแข่งที่ตัวใหญ่และน้ำหนักมากกว่า รวมทั้งลูกเล่นในการวางตัวถ่วงน้ำหนักของทีมอีกด้วย

ปิดฉากลูกเล่นระบบช่วงล่าง

●   ลูกเล่นระบบช่วงล่างอันชาญฉลาดที่จะเปลี่ยนความสูงพื้นรถแปรผันกับองศาการหักของพวงมาลัย FIA เชื่อว่าทีมแข่งบางทีมได้ใช้เทคนิคอันนี้ปรับเปลี่ยนความสูงพื้นรถในการเข้าโค้งแต่ละโค้งเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ในด้านอากาศพลศาสตร์ เรดบูลล์และเฟอร์รารีเป็นตัวอย่างของทีมที่ใช้เทคนิคนี้โดยการต่อลิงก์เล็กๆ จากช่วงล่างด้านหน้าไปยังคอม้า FIA เชื่อว่าการเปลี่ยนความสูงของพื้นรถในขณะเข้าโค้งเป็นเรื่องปกติ แต่ในปี 2018 ความสูงที่เปลี่ยนแปลงนี้จะต้องไม่เกิน 5 มิลลิเมตร และทีมแข่งจะต้องแสดงหลักฐานการทำงานของระบบที่เข้ากับกฎข้างต้น

ปรับเปลี่ยนระบบลงโทษลดกริด

●   เชื่อว่าแฟนๆ หลายท่านน่าจะงงงวยกับระบบลงโทษลดกริดของนักแข่งกันพอสมควรครับ นักแข่งหลายคนโดนลงโทษลดกริดจากการเปลี่ยนชิ้นส่วนเครื่องยนต์พร้อมกันและทำให้อันดับในการควอลิฟายกับอันดับในการสตาร์ทแตกต่างกันมาก เพื่อลดความสับสนตรงนี้ลง FIA จึงได้ทำการปรับเปลี่ยนกฎใหม่ โดยนักแข่งที่ถูกลงโทษลดกริดมากกว่า 15 กริด จะต้องไปสตาร์ทท้ายแถวในทันที และหากมีนักแข่งหลายคนที่ถูกลงโทษพร้อมกัน คนที่ถูกลงโทษทีหลังจะต้องไปอยู่หลังสุด


เข้มงวดการจัมพ์สตาร์ท

●   สืบเนื่องมาจากการสตาร์ทของ วาลท์เทรี บ็อตตาส ที่ออสเตรียในปีที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชัดเจนว่านักแข่งฟินน์ได้มีการขยับก่อนไฟแดงจะดับลง แต่กลับไม่ถูกพิจารณาโทษจาก FIA และอีกกรณีที่ เซบาสเตียน เวทเทล จอดรถออกนอกกริดตัวเองไปมาก จนทำให้ระบบไม่สามารถตรวจจับรถของนักแข่งเยอรมันบนกริดได้ ในปีนี้ FIA จึงได้เข้มงวดกับการสตาร์ทมากขึ้น โดยนักแข่งจะถูกลงโทษหากได้กระทำการดังต่อไปนี้

1.    ขยับก่อนจะมีการให้สัญญาณในการสตาร์ท การตัดสินลงโทษนั้นจะถูกพิจารณาโดย FIA รวมทั้งใช้ตัวจับเวลาในการประกอบการตัดสิน
2.    จอดรถบนกริดในตำแหน่งที่ตัวจับเวลาไม่สามารถตรวจจับรถแข่งบนกริดได้   ●


ที่มา :
•   www.espn.com.
•   www.motorsport.com.