January 11, 2018
Motortrivia Team (10022 articles)

อนาคตของรถยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เกี่ยวเนื่อง : ตอนที่ 1


Posted by : Man from the Past

 

●   ในช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา มีการพูดกันมากถึงเรื่องของทิศทางอนาคตรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในยุคต่อไป เหตุผลหลักๆ ก็เนื่องมาจากการเป็นรูปเป็นร่างของรถแปลกๆ ใหม่ๆ ที่คนเราได้แต่จินตนาการกันมานาน ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่กำลังจะใช้งานได้ดีในชีวิตประจำวันเหมือนรถเชื้อเพลิงฟอสซิลในยุคปัจจุบัน, รถไร้คนขับ ที่แน่นอนแล้วว่าจะมีการผลิตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แม้กระทั่งพาหนะประเภท flying car หรือรถบิน ก็ยังทำท่าว่าจะมีทางเป็นไปได้ในเชิงธุกิจ.

●   เพราะรถเหล่านี้กำลังจะปรากฏโฉม ผู้คนจำนวนมากจึงอยากรู้เรื่องราวในอนาคตว่ามันจะมุ่งไปในทิศทางใด บรรดาสื่อรถยนต์ยักษ์ใหญ่จึงมีเรื่องราวของอนาคตรถยนต์ให้อ่านกันตลอดเวลา รวมถึงอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย

●   หนึ่งในนั้นคือ Automotive News น.ส.พ.รายสัปดาห์ของวงการรถยนต์สหรัฐฯ ซึ่งในฉบับสัปดาห์สุดท้ายของปี 2017 ได้เสนอบทความที่น่าสนใจมากอย่าง “How fast is the automotive landscape changing?” หรือ ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดไหน? ผู้เขียนได้แก่ Daron Gifford หัวหน้าที่ปรึกษาด้านรถยนต์แห่งสำนักการบัญชีและที่ปรึกษา Plante Moran ในนครดีทรอยต์ เมืองหลวงอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ

●   เขาเริ่มบทความด้วยการทำนายอนาคต ทั้งตัวรถและอุตสาหกรรมการผลิตว่า ยุคแห่งการที่ผู้คนจะเป็นเจ้าของรถ และเป็นคนขับรถ ซึ่งเป็นยุคที่มีอายุนานกว่า 1 ศตวรรษกำลังจะมีภาพค่อยๆ เล็กลงบนกระจกส่องหลังภายในรถที่วิ่งทั่วอเมริกา และในที่สุดภาพนั้นจะเลือนหายไปเพื่อขยับเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการเดินทางไปไหนมาไหน

●   และนั่นทำให้ผู้คนที่ซื้อรถยนต์ทุกวันนี้ไม่ค่อยตะลึงตาตะลานใจไปกับรูปลักษณ์ของรถ หรือขนาดความจุของเครื่องยนต์ในแบบคนยุคเก่าอีกต่อไป ในขณะที่หนี้ค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยที่ชาวอเมริกันที่เรียนจบเกือบทุกคนต้องแบก ซึ่งหนี้ก้อนนี้คือเครื่องจักรในการดูดเงินที่มนุษย์ยุคสหัสวรรษปกติมีไว้สำหรับผ่อนรถ

●   นอกจากนี้ ธรรมเนียมการใช้งานรถในลักษณะ ride-sharing หรือการแบ่งปันการใช้รถ ก็กำลังจะเป็นทางเลือกใหม่ในระบบขนส่งด้วย

●   ทั้งนี้ ผู้เขียนบทความได้อ้างถึง Bob Lutz หนึ่งในคนดังระดับไม่ธรรมดาที่เป็นทั้งนักพัฒนารถระดับอัจฉริยะ และอดีตรองประธานฯ บริษัทรถยนต์จีเอ็ม ซึ่งออกมาให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์กำลังอยู่บน”โค้งที่เปิดจังหวะให้มีการเร่งความเร็วเพื่อเปลี่ยนเลน” ในความหมายก็คือ การผลิตรถยนต์แบบที่เราคุ้นเคยกันนี้ บางทีอาจจะจบลงในเร็ววันนี้… จบเพื่อให้ผู้ที่เคยนั่งรถแบบเดิมๆ เปลี่ยนไปนั่งรถแบบใหม่ที่จะผลิตเป็นโมดูล คือจะไม่ผลิตเป็นคันๆ ซึ่งแต่ละคันมีทุกอย่างครบครัน แต่จะผลิตเฉพาะส่วนที่เป็นโครงรถกับระบบพื้นฐานที่ช่วยในการขับ จากนั้นผู้ซื้อสามารถนำไปเพิ่มเติมอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ ซึ่งรวมทั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

●   ดังนั้นรถยุคใหม่นอกจากจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังจะเป็นรถไร้คนขับ ซึ่งจะวิ่งไปไหนมาไหนโดยคนในรถไม่ต้องยุ่งเกี่ยว นอกจากระบุจุดหมายปลายทางเท่านั้น (ยกตัวอย่าง Volkswagen Sedric Autonomous Concept) ทุกโมดูลจะมีรูปแบบและองค์ประกอบเกือบจะเหมือนกัน โดยชื่อที่ใช้เรียกยวดยานประเภทนี้คือ “autonomous standardized module” แปลว่า โมดูลที่ผลิตตามมาตรฐานที่กำหนด และมีความอัตโนมัติครบถ้วน


ต้นแบบโมดูลเคลื่อนที่ของโฟล์คสวาเก้น Sedric Autonomous Concept


●   ถึงตอนนี้ กิ๊ฟฟอร์ด ตั้งคำถามกับผู้อ่านว่า มันน่าพิศมัยหรือไม่ เพราะการเข้าไปนั่งในโมดูลเคลื่อนที่คงเหมือนการถูกนำตัวไปขังในตู้คอนเทนเนอร์?

●   อย่างไรก็ดี ถึง กิ๊ฟฟอร์ด จะเชื่อว่าภูมิทัศน์และอนาคตของรถยนต์กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่เขาก็คิดว่า Lutz พูดเกินไปกรณีที่ออกมาเตือนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ทุกคนมีเวลา 5 ปีในการที่จะนำเอารถของเขาหรือของเธอออกไปจากท้องถนน” หรือถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็ให้ “ขายมันเป็นเศษเหล็กไปเสีย”

●   เมื่อไม่เห็นด้วยกับ Lutz แล้วอนาคตของรถยนต์ควรจะมีหน้าตาอย่างไร? ผู้ใช้ ผู้ผลิต และผู้ส่งมอบ ตลอดจนคนทั้งโลกจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง? คำถามนี้ กิ๊ฟฟอร์ด ตอบว่า สำหรับบางคน รถเชื้อเพลิงเบนซิน/ดีเซลแบบที่เห็น โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็นรถคัสตอมหรือรถระดับไฮเอนด์ “จะยังคงเป็นสัญลักษณ์สถานะสังคมหรือเป็นศิลปะวัตถุ” ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

●   คำถามต่อมา… สหรัฐฯ กำลังเสี่ยงต่อการสูญเสียตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ให้กับจีนใช่หรือไม่? คำตอบสำหรับนักให้คำปรึกษาคนนี้คือ “จีนกำลังกระโดดข้ามหัวสหรัฐฯ ในการพยายามสร้างความได้เปรียบ”

●   วิธีการก็คือ การผันตัวเองเข้าสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นยุครถไฟฟ้า ทั้งนี้ยวดยานไฟฟ้าชนิดใช้งานได้ครบ เมื่อผนวกกับระบบขับขี่อัตโนมัติครบถ้วนตามการกำกับของคอมพิวเตอร์ จะทำให้ผู้คนค่อยๆ ก้าวข้ามความรู้สึกผูกพันกับเครื่องยนต์สันดาป รวมทั้งประสบการณ์ในการวางมือบนพวงมาลัย โดยระยะแรกๆ การก้าวข้ามนั้นจะเกิดขึ้นในหมู่ชุมชนคนเมือง และในหมู่คนอายุน้อยซึ่งเป็นการเปลี่ยนถ่ายเจนเนอเรชั่นตามปกติ (ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้มีใครโหยหาหรืออยากใช้งานเรือกลไฟกันหรือไม่? นอกจากจะมองมันในแง่ของความคลาสสิค)

●   กิ๊ฟฟอร์ด เขียนต่อไปว่า การที่อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดังนั้นจึงเริ่มมีการพยากรณ์กันแล้วว่า การผลิตรถไร้คนขับจะเริ่มปีขึ้นอย่างจริงจรังในช่วงปี 2021 – 2025 โดยจะมีการตื่นตัวในหมู่ผู้ผลิตหลายแบรนด์หลากยี่ห้อกันเลยทีเดียว

●   นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2035 หรืออีก 17 ข้างหน้า รถไร้คนขับที่วิ่งบนถนนในสหรัฐฯ อาจมีจำนวนถึง 21 ล้านคัน… อย่างไรก็ดี การให้ผู้คนปรับตัวเพื่อให้การยอมรับรถไร้คนขับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนเรานั้นมีธรรมชาติอย่างหนึ่งคือ “ไม่ไว้ใจเครื่องจักร” โดยเฉพาะถ้าเป็นเครื่องจักรที่ถูกนำไปใช้เป็นพลขับรถพาตัวเขาเอง และคนที่เขารักไปไหนมาไหน

●   การจะทำให้สาธารณชนยอมรับรถไร้คนขับ จำเป็นจะต้องมีการกั้นรั้วที่เรียกว่า geo-fencing หรือรั้วภูมิศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการกั้นช่องทางรถวิ่ง เพื่อให้รถไร้คนขับกับรถปกติวิ่งแยกจากกัน เนื่องจากการให้รถทั้ง 2 แบบวิ่งปะปนกัน ดูแล้วคงเป็นเรื่องที่ไม่สู้ดีนัก เมืองต่างๆ อาจจะต้องแยกช่องทางการจราจรเพื่อให้รถไร้คนขับมีทางวิ่งแยกออกไปต่างหาก จากนั้นเมืองเหล่านี้จะต้องจัดการปัญหาในเชิงประชากรควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในกรณีของ รถไร้คนขับ กับ รถปกติ คำว่าประชากรที่เป็นปัญหาในที่นี้ หมายถึงคนอเมริกันที่มี อายุน้อย กับ อายุมาก นั่นเอง

●   อย่างที่เรารู้กัน เด็กอายุระหว่าง 16 – 18 ปีไม่ค่อยจะขับรถไปไหนไกลกันนัก เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่อายุเกินกว่า 70 ปี (ซึ่งเป็นจำนวนที่กำลังทวีขึ้นอย่างมาก) ที่มีความมั่นใจน้อยกว่าเดิมมากเวลานั่งอยู่หลังพวงมาลัย หรือไม่ก็เลิกขับรถไปแล้ว

●   วิธีการบริหารจัดการคือ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ต่อไปทั้งเด็กวัยรุ่นและคนชราจะไม่เป็นภัยกับการจราจร ซึ่งหลังจากจัดการปัญหาของคน 2 กลุ่มนี้แล้ว จะไม่มีอะไรให้วิตกเลยใช่หรือไม่? คำตอบในเบื้องต้น (สำหรับปัญหาหลักในเบื้องต้น) คือ “ใช่”

●   ที่สำคัญ ในอนาคตเรายังไม่ต้องทำใบขับขี่ด้วย เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องขับรถเอง เวลานำรถไปออกวิ่ง การควบคุมบังคับพวงมาลัย คันเร่ง และห้ามล้อ จะถูกกระทำโดยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือระบุจุดหมายปลายทางเพียงอย่างเดียว… นอกจากนี้ คนที่อยู่บนถนนในขณะนั้นก็จะไม่ต้องตกใจเมื่อเห็นรถไร้คันขับวิ่งเบียดกัน เนื่องจากรถที่กำลังวิ่งนั้นจะพูดคุยสื่อสารกันเองกับรถที่วิ่งใกล้เคียงกันตลอดเวลา

●   การคุยหรือการสื่อสารระหว่างรถยนต์ด้วยกันเองนี้ (Vehicle-to-vehicle หรือ V2V) จะทำให้ท้องถนนปลอดการชน ปลอดเสียงบีบแตร ปลอดการใช้ป้ายจราจร สัญญาณไฟ รวมถึงการให้ใบสั่ง และรถ “อาจ” ไม่จำเป็นต้องมีเข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัย ในขณะที่ผู้ขับนอกจากไม่ต้องมีใบขับขี่แล้ว ยังไม่ต้องมีการทำประกันภัยรถยนต์ด้วย… ทั้งหมดนี้จะทำให้องค์กรที่เป็นตัวแทนผู้ใช้รถและควบคุมการใช้รถยนต์ หมดความสำคัญจนถึงขั้นปิดตัวเอง

●   นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการอำลาสถานีบริการน้ำมัน และการต้อนรับการปรากฏโฉมของสถานีเติมประจุไฟฟ้าที่จะเป็นสถานที่ขนาดใหญ่ด้วย เพราะการเติมประจุไฟฟ้าไปยังแบตเตอรี่ยังคงต้องใช้เวลาอยู่บ้าง ดังนั้นเจ้าของรถจึงจะถือโอกาสในช่วงนี้พักผ่อน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางไกลที่อาจต้องนอนค้างคืน เมื่อเป็นเช่นนี้ ภายในสถานีจึงจะต้องมีบริเวณเพื่อให้เจ้าของรถนั่งเหยียดขา รวมทั้งเดินยืดเส้นยืดสาย รับประทานอาหาร และดื่มเครื่องดื่ม โดยบริเวณโซนต้อนรับนี้ จะดูคล้ายห้องพักผู้โดยสารภายในสนามบิน หรือไม่ก็เป็นโรงแรมไปเลย

●   ส่วนการที่ผู้ผลิตและผู้ส่งมอบจะต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ในการผลิตรถและผลิตชิ้นส่วน เกิดจากการที่ตัวรถจะต้องมีระบบอิเลกทรอนิกส์ยุ่งยากสลับซับซ้อน และใช้วัสดุราคาแพง เรื่องนี้หัวหน้าที่ปรึกษากล่าวว่า ต้นทุนได้รับการประเมินแล้วว่า จะลดลงอย่างรวดเร็วจากการที่จำนวนและขนาดการผลิตจะขยายตัวเรื่อยๆ (นึกภาพราคาเครื่องเล่น VDO หรือ DVD ในยุคแรกที่ตกลงอย่างรวดเร็ว) ส่วนอายุใช้งานยวดยานไฟฟ้าที่มีระบบอัตโนมัติครบถ้วน มีการคาดกันแล้วว่า “จะต้องสั้นกว่ายวดยานที่ใช้น้ำมัน” เนื่องจากการใช้แบบแบ่งปันที่กำลังจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหลัก จะทำให้ตัวรถเองมีผู้ใช้หลากหลายและถูกใช้งานตลอดทั้งวัน อีกทั้งรถยังจะต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่และชิ้นส่วนเป็นประจำ

●   ดังนั้น ในช่วงอายุที่สั้นลงนี้ จะมีโอกาสในการขายมากขึ้น ถึงตรงนี้ กิ๊ฟฟอร์ด ได้กล่าวในวงเล็บว่า มีผู้คิดค้นแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนคนหนึ่งกล่าวว่า แบตเตอรี่ชนิดที่จะใช้กับรถยนต์อัตโนมัตินั้น จะต้องทนทานกว่าเดิม

●   จากนั้นบทความได้พูดถึงการใช้พลาสติกผลิตกับรถประเภทนี้ว่า ต่อไปการผลิตอาจไม่จำเป็นต้องใช้หลักอย่างเหล็กและการพ่นสี และยังไม่จำเป็นจะต้องให้รถใช้กระจกที่ทำจากแก้ว ซึ่งกระจกแก้วนั้นมักก่อปัญหาตั้งแต่การติดตั้งในขณะผลิตรถ ไล่ไปจนถึงการขับ ปัญหาเหล่านี้ต่อไปจะเป็นอดีต ยกเว้นผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกระจกรถ รวมทั้งซ่อมตัวถังและพ่นสีที่ต้องเจอปัญหาหมดอาชีพ เช่นเดียวกับช่างยนต์ เนื่องจากต่อไปตัวรถจะมีเพียงแบตเตอรี่ แชสซีส์ กับอุปกรณ์เพิ่มเติมไม่กี่ตัว ทำให้ไม่จำเป็นจะต้องได้รับการบำรุงรักษามากมายนัก หรือการซ่อมแซมที่กินเวลาและมีราคาแพง โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นระบบขับเคลื่อน ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันดีว่าการซ่อมแต่ละครั้งสร้างปัญหาจุกจิกมากมาย

●   นอกจากนี้ยังมีการประหยัดด้านอุปกรณ์และของตกแต่งภายในรถ ซึ่งผู้ที่มีธุรกิจและอาชีพด้านนี้ก็ต้องเลิกทำหรือปรับตัว… เรื่องนี้ ถึงแม้ว่ารถไร้คนขับใช้ไฟฟ้าที่เป็นโมดูลจะยังไม่ได้รับการผลิต แต่มีการระบุแล้วว่า ตัวโมดูลจะมีลักษณะภายในแตกต่างจากที่เห็นกันในรถยนต์ยุคปัจจุบัน ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ ตู้รถนอนในรถไฟ และ ชั้นพิเศษบนเครื่องบิน ความเด่นคือ การมีที่นั่งหันหน้าเข้าหากัน กับไม่มีหน้าต่างข้าง


Mercedes-Benz F 015 Concept กับแนวคิดห้องโดยสารของรถยนต์ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ


●   ในกรณีที่โมดูลของบางบริษัทไม่มีกระจก พื้นที่ที่เคยเป็นหน้าต่าง ควรจะมีการติดตั้งจอภาพแบบสัมผัส เพื่อให้ผู้อยู่ภายในห้องโดยสารเห็นภาพนอกรถทุกในทุกแง่มุมผ่านกล้องรอบตัวรถ… ใครไม่อยากเห็นก็ให้เปิดดูรายการอื่นๆ แทนตามต้องการ นอกจากนั้น อีกหนึ่งความความเด่นของโมดูลในยุคหน้าคือ งานออกแบบที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ไม่ว่าอะไรที่อยู่ในห้องโดยสารล้วนน่ามอง น่าสัมผัส และน่าใช้ทั้งสิ้น เมื่อเข้าไปนั่งแล้ว คนในยุคเราๆ ท่านๆ น่าจะลืมกันไปเลยว่า การนั่งรถในปัจจุบันที่มีการจัดองค์ประกอบภายในอย่างที่เห็น มีอายุล่วงเลยมากว่า 100 ปีแล้ว

●   สุดท้าย นอกจากธุรกิจที่กล่าวแล้ว บทความชิ้นนี้ของ Automotive News ยังพูดถึงธุรกิจอื่นๆ ที่จะได้รับประโยชน์ต่อเนื่องด้วย… เริ่มจากธุรกิจทำป้ายที่จะได้รับงานทำป้ายโฆษณากันอย่างมหาศาล ตามมาด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตั้งต้นด้วยการที่อาคารพาณิชย์จะไม่จำเป็นต้องมีลานจอดรถ หรือหากมีก็ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตเปลืองพื้นที่มากนัก เพราะการแบ่งปันการใช้รถจะทำให้คนใช้รถน้อยลง

●   เรื่องนี้น่าจะเป็นข่าวดีแก่บรรดาเจ้าของอาคารที่มีโอกาสนำพื้นที่ๆ ว่างไปทำประโยชน์ จนต่อไปเราอาจเห็นอาคารเหล่านี้จำนวนมาก มีอาคารเกิดใหม่อยู่คู่กัน เช่นเดียวกับบ้านเรือนจำนวนมากที่จะมีห้องหรือพื้นที่พักผ่อนเพิ่มขึ้น เพราะไม่จำเป็นจะต้องมีทางสำหรับให้รถเข้า-ออกหรือแม้แต่การมีโรงจอดรถ

●   ทั้งนี้ หากใครยังอยากเป็นเจ้าของรถ… รถในโปรแกรมแบ่งปันที่ล้วนเป็นรถยนต์ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ นอกจากเจ้าของจะใช้งานส่วนตัวแล้ว ยังสามารถให้มันออกไปวิ่งรับจ้างแบบรถแท็กซี่ได้ด้วย ซึ่งภาพที่จะได้เห็นเป็นประจำในอนาคตก็คือ หลังจากที่ตัวรถพาเจ้าของออกไปส่งที่ทำงานจนเรียบร้อย ตัวรถก็จะออกวิ่งรับผู้โดยสารที่เรียกใช้บริการได้ด้วย (Elon Musk แห่ง Tesla ก็เคยมีแนวคิดในลักษณะนี้กับการใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ)

●   กิจวัตรของรถยนต์ในยุคหน้าจะเป็นไปในลักษณะนี้ จนถึงเวลาไปรับเจ้าของกลับบ้าน ซึ่งเมื่อถึงบ้าน ตัวรถจะพาตัวเองไปจอดยังช่องจอดที่มีระบบชาร์จไฟแบบไร้สาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบริเวณบ้านอีกต่อไป แต่จะเป็นโซนจอดรถที่ถูกจัดเอาไว้ให้สำหรับรถในยุคนั้นๆ จอด และรอจนกระทั่งเจ้าของเรียกตัวผ่านอุปกรณ์พกพา (ซึ่งอาจจะล้ำกว่าสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน) ตัวรถจึงจะพาตัวเองไปรับเจ้าของ และปฏิบัติกิจวัตรตามตารางการทำงานที่กำหนดเอาไว้แล้ว

●   ยังมีเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกหลายเรื่อง ซึ่งเรื่องที่กำลังมีการจับตามองกันในขณะนี้ก็คือ การทดลองบินของรถบินที่เป็นรถต้นแบบของบริษัทแอร์บัส และกำหนดให้มีขึ้นในช่วงปี 2018 นี้


ต้นแบบแนวคิดรถบินของแอร์บัส


●   คาดว่าอีกไม่นานเกินรอ รถบินจะได้ออกบินกันแบบในเชิงพาณิชย์แน่ๆ… ใครที่ห่วงว่าคงจะไม่มีโอกาสได้นั่งในชีวิตนี้หรือได้ครอบครองเป็นเจ้าของ อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะมีการประเมินกันแล้วว่า รถหรือพาหนะในกลุ่มนี้ ยังจะไม่ปล่อยกันให้เป็นพาหนะส่วนบุคคลกันได้ง่ายๆ ดังนั้นในยุคแรกๆ พาหนะในกลุ่มนี้จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทเอกชนอย่าง Uber หรือ Lyft เพื่อขยายการให้บริการแบบเดียวกับรถแท็กซี่ที่ทำอยู่แล้ว รวมทั้งอีกหลายบริษัทสตาร์ทอัพหัวก้าวหน้าที่ฝันจะร่ำรวยเหมือนทั้ง 2 บริษัทนี้ด้วย

●   เหตุที่รถบินหรือพาหนะในกลุ่มนี้จะยังไม่กระจายออกไปให้กับผู้คนส่วนใหญ่ง่ายๆ เพราะเมื่อถึงช่วงที่รถบินออกมาบินกันจนเป็นเรื่องปกติ ตัวรถน่าจะมีอันตรายร้ายแรงกว่ามากในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากการจัดการจราจรยวดยานบินได้จะไม่ง่ายเหมือนยวดยานที่วิ่งบนถนนในปัจจุบัน…

●   คำถามก็คือ หรือรถบินควรจะเป็นรถไร้คนขับอย่างสิ้นเชิงจริงๆ? เพื่อที่เวลาบินไปไหนต่อไหน จะได้คุยกันเองกับรถบินด้วยกันที่อยู่ใกล้เคียงว่าฉันอยู่ตรงนี้ ระวังตัวด้วย เพื่อที่โลกนี้จะได้ปลอดอันตรายจริงๆ จากการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศ

●   ปิดท้ายบทความตอนที่ 1 กันด้วยภาพ Vahana หรือ air taxi ของบริษัทแอร์บัสที่จะเริ่มทดสอบบินกันในปี 2018 นี้… ส่วนตอนหน้าเราจะไปดูกันว่า หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในวงการยานยนต์ที่ผ่านยุครุ่งเรืองและยุคถดถอยมาแล้วอย่าง Bob Lutz มองภาพรวมในอนาคตของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์เอาไว้อย่างไรบ้าง   ●