February 21, 2018
Motortrivia Team (10191 articles)

5 สิ่งที่ต้องจับตาในการเปิดตัวรถ Formula One 2018


Posted by : FascinatorFJ.

 

●   เข้ามาถึงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่ F1 ฤดูกาล 2018 จะมีการเปิดตัวรถแข่งและทดสอบรถอย่างเป็นทางการครั้งแรก เรามี 5 สิ่ง ที่อยากให้แฟนๆ จับตาดูกับการเปิดตัวรถในครั้งนี้

1. งานออกแบบของเฟอร์รารีและเมอร์เซเดสจะเริ่มลู่เข้าหากันขนาดไหน?

●   ในปีที่ผ่านมาเฟอร์รารีและเมอร์เซเดสได้ทำการออกแบบหลายๆ อย่างในตัวรถที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ที่เห็นชัดที่สุดคือฐานล้อซึ่งเมอร์เซเดสนั้นเลือกที่จะทำฐานล้อรถยาวกว่าใครเพื่อน

●   ฐานล้อของเมอร์เซเดสที่ยาวนั้นทำให้พวกเขาได้ประโยชน์ในเชิงอากาศพลศาสตร์ แต่เสียเปรียบในเรื่องของน้ำหนัก ซึ่งถึงแม้ว่าประโยชน์ในทางอากาศพลศาสตร์จะสามารถกลบจุดด้อยในเรื่องของน้ำหนักได้ แต่เมอร์เซเดสรู้ดีว่าพวกเขาอยู่ในจุดที่ใกล้จะถึงขีดจำกัดของน้ำหนักในทางกติกา และนี่น่าจะเป็นจุดที่เมอร์เซเดสโฟกัสแก้ไขในช่วงการทดสอบฤดูหนาว

●   ทางด้านเฟอร์รารีนั้นก็อาจจะยืดฐานล้อรถให้ยาวขึ้น ซึ่งรถ SF70-H ของพวกเขาได้เปรียบในสนามแข่งที่ทางตรงสั้นและมีโค้งคดเคี้ยว แต่กลับเสียเปรียบในสนามแข่งที่มีโค้งความเร็วสูงลื่นไหลหรือสนามที่ต้องใช้ความเร็วสูง

●   นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับยางอีก เนื่องจากในปีนี้พิเรลลีได้ปรับสูตรยางให้แต่ละชนิดของยางมีความนิ่มลง และนั่นจะส่งผลในเรื่องของอัตราการสึกหรอของยาง ดังนั้นแต่ละทีมจะต้องโฟกัสไปกับการพัฒนารถที่สามารถป้องกันการสึกหรอของยางที่น่าจะเป็นปัญหากับพวกเขาในปีนี้

2.    แต่ละทีมจะก็อปปี้อะไรกันไปบ้าง?

●   ฟอร์มูล่าวันนั้นนอกจากการแข่งขันความเร็วในสนามแล้ว การพัฒนาตัวรถก็มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเช่นกัน และวิธีที่จะพัฒนารถของตัวเองให้ทันผู้นำนั้น วิธีที่เร็วที่สุดคือการ “ก็อปปี้ และนำมาพัฒนาต่อยอด”

●   คอนเซ็ปที่ดีบางอย่างนั้นอาจต้องใช้เวลาในการลอกแบบเพื่อพัฒนาต่อ ดังนั้นหากพวกเขาทำในระหว่างฤดูกาลแข่งขันไม่ได้ ช่วงรอยต่อฤดูกาลอย่างการทดสอบฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่พวกเขามักจะทำในสิ่งเหล่านี้กัน

●   ในปีที่ผ่านมาเมอร์เซเดสและโทโรรอสโซได้ออกแบบคอนเซ็ปช่วงล่างที่ดันไปเหมือนกันโดยมิได้นัดหมาย พวกเขายกปีกนกบนสูงขึ้นมาจากเดิมและต่อลิงก์จากคอม้าขึ้นไปซัพพอร์ท นั่นช่วยให้อากาศไหลผ่านปีกนกไปยังส่วนกลางตัวรถได้ดียิ่งขึ้น

●   คอนเซ็ปที่คาดว่าน่าจะโดนก็อปปี้มาใช้ในปีนี้อย่างมากมายแน่นอนคือคอนเซ็ปไซด์พอดของเฟอร์รารี เฟอร์รารียังคงทำให้ไซด์พอดตั้งฉากกับเส้นกึ่งกลางรถได้โดยการติดครีบรีดอากาศด้านบนที่เอียงทำมุมกับตัวรถ ซึ่งทำให้เมื่อมองจากด้านบนไซด์พอดจะดูเหมือนทำมุมกับตัวรถตามที่กติกากำหนด และการออกแบบตัวนี้ทำให้ไซด์พอดข้างของเฟอร์รารีสั้นลงอีกด้วย

●   คอนเซ็ปอันชาญฉลาดของเฟอร์รารีนั้นทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ทีมคู่แข่งจะก็อปปี้ในระหว่างฤดูกาล ดังนั้นมันจะต้องโผล่มาให้เห็นอย่างแน่นอนในช่วงการทดสอบรถฤดูหนาวนี้

3. ทีวิงจะกลับมาได้ไหม?

●   FIA และทีมแข่งต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะเอาทีวิงและครีบฉลามอันแสนน่าเกลียดออกไปในปี 2018 พวกเขาได้กำหนดกติการะบุพื้นที่ที่ห้ามมิให้มีชิ้นส่วนใดๆ ของตัวรถในบริเวณเดิมของครีบฉลาม แต่แน่นอนว่าตอนนี้ทีมแข่งทุกทีมได้เห็นประโยชน์จากการมีทีวิงแล้ว นั่นจึงทำให้พวกเขาต้องมองหาช่องโหว่ในกติกาเพื่อที่จะดึงทีวิงกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน

●   อย่างหนึ่งที่เป็นไปได้คือ ทีวิงแบบที่วิลเลียมส์และเซาเบอร์เคยได้ลองนำมาใช้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งวิลเลียมส์และเซาเบอร์นั้นติดทีวิงในตำแหน่งที่ต่ำลงมาบริเวณใกล้กับปลายท่อไอเสีย

4. แพ็ดดี้ โลว์ จะทำให้วิลเลียมส์คันใหม่เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน?

●   วิลเลียมส์นั้นแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความไม่ยินดีกับผลงานตัวแข่ง FW40 ในปีที่ผ่านมา ดังนั้นพวกเขาจึงคาดหวังเป็นอย่างสูงกับ แพ็ดดี้ โลว์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค คนใหม่ที่พึ่งย้ายเข้าสังกัดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาจากเมอร์เซเดส

●   FW41 จะเป็นรถที่โลว์ออกแบบตั้งแต่รากฐานยันยอด ซึ่ง เฟลิเป้ มาสซ่า อดีตนักแข่งของทีมที่วางมือไปในปีที่ผ่านมากล่าวว่า โมเดลที่เขาเห็นในอุโมงค์ลมนั้นมีความแตกต่างจากโมเดลเก่าอย่างเห็นได้ชัด

●   วิลเลียมส์มีความจำเป็นที่จะต้องสปีดอัพตัวเองขึ้นไปอย่างช่วยไม่ได้ เพราะในปีนี้ทั้งแม็คลาเรนและเรโนลต์ต่างถูกคาดหวังที่จะปรับปรุงขึ้นมาจากปีที่แล้วมากทีเดียว ซึ่งเชื่อกันว่าการแย่งอันดับ 4 ในปีนี้นั้นจะดุเด็ดเผ็ดมันส์ระหว่างฟอร์ซอินเดีย, วิลเลียมส์, แม็คลาเรน และ เรโนลต์

5. เราจะรู้สึกชินกับเฮโลได้ไหม?

●   ความแตกแยกน่าจะเป็นคำที่เหมาะที่สุดสำหรับเฮโล หลังจากที่มันปรากฏตัวครั้งแรกบนรถแข่ง มันทำให้เสียงแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย อย่างชัดเจนภายในวงการถึงความต้องการและไม่ต้องการมัน อย่างไรก็ตามเฮโลได้ถูกกำหนดให้ทุกทีมต้องติดตั้งอุปกรณ์ตัวนี้บนรถในปีนี้ และมันน่าสนใจทีเดียวที่ทีมแข่งแต่ละทีมจะหาผลลัพธ์ของการใช้ประโยชน์จากมันอย่างไรให้ได้มากที่สุด

●   ในส่วนการออกแบบของเฮโลนั้น นอกจากสภาวะที่มันต้องทนทานได้จากการทดสอบในกติกา นอกเหนือจากนั้นทุกอย่างเป็นอิสระในการออกแบบทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละทีมจะต้องหาประโยชน์ในทางอากาศพลศาสตร์จากอุปกรณ์ตัวนี้ให้ได้เป็นอย่างน้อย เราอาจจะได้เห็นแฟริ่งหรือปีกขนาดเล็กติดอยู่บนเฮโลก็เป็นได้   ●


ที่มา :
•  www.motorsport.com.