February 15, 2018
Motortrivia Team (10075 articles)

ทดลองขับ Suzuki Swift GLX 2018 มาครบทั้งสมรรถนะและอุปกรณ์

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ • ภาพ : ซูซูกิ ประเทศไทย

● ย้อนหลังไปประมาณ 1 สัปดาห์ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ All New Suzuki Swift เจนเนอเรชั่นที่ 3 แบ่งเป็น 4 รุ่นย่อย GA, GL, GLX และ GLX-Navi รูปลักษณ์ภายนอกและภายในเปลี่ยนใหม่หมด แพล็ตฟอร์มใหม่ HEARTECT เพิ่มความกว้าง ลดความสูง เน้นความสปอร์ตบนทรงกะทัดรัดแบบแฮทช์แบ็ค เครื่องยนต์ใหม่ รหัส K12M หัวฉีดคู่ DUALJET ทุกรุ่นใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT และมีรุ่นดิสก์เบรก 4 ล้อ

WE STANDOUT ยกระดับอีโคคาร์

● รูปลักษณ์ของสวิฟท์ใหม่สะดุดตาด้วยดีไซน์สไตล์ยุโรป โดยรวมดูทันสมัยทั้งภายในและภายนอก มิติตัวถัง สั้นลง เตี้ยลง ฐานล้อและความกว้างช่วงล้อมากขึ้น และน้ำหนักเบาลง โดยมีความยาว 3,840 มิลลิเมตร (รุ่นเดิม 3,850 มิลลิเมตร) กว้าง 1,735 มิลลิเมตร (รุ่นเดิม 1,695 มิลลิเมตร) สูง 1,495 มิลลิเมตร (รุ่นเดิม 1,510 มิลลิเมตร) ฐานล้อ 2,450 มิลลิเมตร (รุ่นเดิม 2,430 มิลลิเมตร) ระยะต่ำสุด 120 มิลลิเมตร (รุ่นเดิม 140 มิลลิเมตร) รุ่น GLX และ GLX Navi มีความกว้างช่วงล้อหน้า/หลัง 1,520/1,525 มิลลิเมตร (รุ่นเดิม 1,490/1,495 มิลลิเมตร) น้ำหนัก 875-910 กิโลกรัม (รุ่นเดิม 960-975 กิโลกรัม) วงเลี้ยว 4.8 เมตร (รุ่นเดิม 5.2 เมตร) รุ่น GA และ GL ให้ยาง 175/65 R15 เบรกหน้าดิสก์ขนาด 13 นิ้ว ด้านหลังดรัม ส่วนรุ่น GLX และ GLX-Navi ให้ยาง 185/55 R16 ดิสก์เบรก 4 ล้อ ดิสก์หน้าขนาด 14 นิ้ว

● เครื่องยนต์เบนซิน 1,197 ซีซี DUALJET หัวฉีดคู่ ฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงหลังวาล์วไอดีเหมือนเครื่องยนต์ปกติ ไม่ได้ฉีดตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้หรือไดเร็คอินเจ็คชั่น หัวฉีดทั้ง 2 หัวเป็นแบบ 6 รู ฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมกัน ฝาสูบแบบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมระบบแปรผันวาล์ว Dual VVT ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย ติดตั้งระบบ EGR นำไอเสียบางส่วนหมุนวนกลับเข้าสู่ห้องเผาไหม้ พร้อมระบบระบายความร้อนไอเสียก่อนเข้าห้องเผาไหม้ด้วยน้ำและรังผึ้ง ลด NOx ในไอเสีย ผ่านข้อกำหนดของ Eco Car Phase 2 ที่ค่ามลพิษในไอเสียต้องผ่าน EURO 5

● เครื่องยนต์ของสวิฟท์ใหม่ มีรหัส K12M ฝาสูบแบบ DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมระบบแปรผันวาล์วทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย Dual VVT (รุ่นเดิม VVT ฝั่งไอดี) ระบบหัวฉีดคู่ DUALJET กระบอกสูบ 73 มิลลิเมตร ช่วงชัก 71.5 มิลลิเมตร (รุ่นเดิม 73 และ 74.2 มิลลิเมตร) ความจุ 1,197 ซีซี (รุ่นเดิม 1,242 มิลลิเมตร) อัตราส่วนการอัด 11.5:1 (รุ่นเดิม 11.0:1) กำลังสูงสุด 83 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที (รุ่นเดิม 91 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที) แรงบิดสูงสุด 11.0 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบต่อนาที (รุ่นเดิม 12.0 กก.-ม. ที่ 4,800 รอบต่อนาที)

● เพิ่มอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ที่กำลังมองหารถให้ความสนใจ นอกเหนือจากราคาและความสวยงาม เช่น แอร์แบ็ค 6 ใบ ระบบรักษาเสถียรภาพ EPS ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS รวมทั้ง ABS และ EBD รวมทั้งระบบ Hill Hold ช่วยออกตัวบนทางลาดชัน โดยเบรกจะทำงานทั้ง 4 ล้อ ไฟหน้า LED 4 หลอด ให้ความสว่างเทียบเท่า HID Xenon มีสวิตช์ปรับความสูงได้ 5 ระดับ เริ่มจาก 0 สำหรับนั่งคนเดียว พร้อมโคมโปรเจ็คเตอร์รวมแสง และไฟ DRL แบบ LED เมื่อเปิดไฟหรี่ ไฟ DRL จะลดความสว่างลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ไฟท้ายแบบ LED เช่นกัน

● กลางชุดมาตรวัดมีจอแสดงข้อมูลการขับ รวมทั้งแจ้งการทำงานของระบบ Idling Stop ว่าทำงานไปกี่วินาที ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้เท่าไร และสามารถเซตเวลาการทำงานของ Idling Stop ได้ 3 ระดับ คือ Comfort 50 วินาที Standard 90 วินาที และ Economy 120 วินาที ระบบนี้จะยกเลิกการทำงานเมื่อเปิดประตูฝั่งผู้ขับ ปลดเข็มขัดนิรภัย เลื่อนคันเกียร์ หรือยกเท้าออกจากเบรก และแม้จะตั้งเวลาไว้ แต่ถ้าอุณหภูมิในห้องโดยสารสูงกว่าที่ตั้งระบบแอร์ไว้ เครื่องยนต์ก็จะทำงาน มีครูสคอนโทรล ทำงานได้ตั้งแต่ความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

ลองขับบนทางคดเคี้ยวและทางโล่ง

● เริ่มต้นทดลองขับรุ่น GLX จากโรงแรม Flora Creek จังหวัดเชียงใหม่ มาแปลกด้วยการให้ขับคนละคันแบบ Free Run มีรถทีมงานคอยดูแลอยู่ห่างๆ และแจ้งเส้นทางผ่านวิทยุสื่อสาร แอบกังวลนิดๆ เพราะไม่รู้เส้นทาง ก็เลยคิดว่าจะขับตามคันหน้าไปเรื่อยๆ เซต 0 ก่อนออกเดินทาง ด้วยการกดปุ่ม INFO ค้าง คิดว่าทดสอบอีโคคาร์จะขับกันช้าๆ เน้นอัตราสิ้นเปลือง ทีไหนได้ พอหัวรถตรงก็กดคันเร่งกันสุดตั้งแต่ออกจากโรงแรม ทำให้ต้องกดคันเร่งตามเพราะกลัวหลง แล้วยังมีเพื่อนๆ คันหลังตามมากดดันอีกด้วย

● แค่ช่วงแรกเป็นถนน 2 เลน ได้ลองทั้งสมรรถนะกันแบบครบๆ เครื่องยนต์ใหม่ดูจากสเปคแล้วความจุน้อยลง แรงม้าแรงบิดน้อยลง แต่ขับจริงกลับให้การตอบสนองดีกว่ารุ่นเดิมที่ใช้อยู่ เกียร์อัตโนมัติ CVT ตอบสนองได้ฉับไวพอสมควร ใช้เวลาทำความคุ้นเคยไม่นานก็ควบคุมจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ขึ้น-ลงได้อย่างใจ มีสวิตช์เปิดใช้งานโหมดสปอร์ตอยู่ตรงหัวเกียร์ กดใช้งานแล้วจะมีไฟสัญญาณ S สีส้มด้านบนของชุดมาตรวัด รอบจะขยับสูงขึ้นอีกหน่อยที่ความเร็วเท่าเดิม ทำให้อัตราเร่งกระฉับกระเฉงขึ้นอีกนิด ช่วยหน่วงในจังหวะผ่อนคันเร่ง และพุ่งเร็วขึ้นเพื่อกดคันเร่งออกจากโค้ง รวมทั้งเร่งแซงได้รวดเร็วขึ้นอีกหน่อย เพราะไม่ต้องเสียเวลาคิ๊กดาวน์ ก็เลยเปิดใช้โหมดสปอร์ตไปก่อน เหลือบมองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย 11 กิโลเมตรต่อลิตรกว่าๆ ไม่แปลกใจเพราะเลี้ยงรอบไว้แถวๆ 3,000 รอบฯ เกือบตลอดทางช่วงแรก

● ถนนช่วงนี้เป็นทางคดเคี้ยวขึ้น-ลงเขา มีโค้งแคบๆ ให้ลองช่วงล่าง หลังจากลองเข้าโค้งที่ความเร็วปกติแล้วรู้สึกว่าเกาะถนนได้ดี ก็เลยลองเพิ่มความเร็วขึ้นทีละนิด และเกินการขับใช้งานปกติไปเล็กน้อย ก็ยังรู้สึกว่าช่วงล่างหนึบแน่นดี เช่นเดียวกับระบบเบรกที่ควบคุมง่ายและสร้างแรงเบรกได้ดี เบรกมั่นใจไม่มีอาการเบรกไหล การตอบสนองและความเฉียบคมของพวงมาลัยอยู่ในระดับกลางๆ การผ่อนแรงยังรู้สึกว่าเบาไปนิด แต่ไม่ถึงกับหวิวหรือต้องประคอง โดยรวมถือว่าควบคุมง่าย

● สำหรับถนนคดเคี้ยวลาดชัน เครื่องยนต์ใหม่ก็ยังเร่งได้ทันใจและแซงได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องอาศัยจังหวะอยู่บ้าง พวงมาลัยและช่วงล่างที่ให้ความรู้สึกมั่นคง ช่วยให้การเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงกว่าปกติเป็นเรื่องสนุก

● เลี้ยวซ้ายออกถนนใหญ่ รถค่อนข้างโล่ง ลองกดคันเร่งไล่จากความเร็วต่ำ ก็ทำได้ทันใจพอสมควรเมื่อเทียบกับขนาดของเครื่องยนต์ เกียร์อัตโนมัติซีวีทีไม่มีช่วงรอบตก ช่วยให้อัตราเร่งต่อเนื่อง การเร่งแซงต้องใช้รอบสูงเข้าช่วย เกียร์ทำงานค่อนข้างไว กดคันเร่งเร็วและลึกหน่อยก็จะคิ๊กดาวน์ให้ ที่ความเร็วสูงช่วงล่างยังให้ความมั่นใจ นิ่งและมั่นคงกว่ารุ่นเดิม ควบคุมง่าย ลองโยนเข้าโค้งกว้างด้วยความเร็วค่อนข้างสูง รถเริ่มมีอาการนิดๆ น่าจะเป็นเพราะยางที่เป็นใช้แบบประหยัดเชื้อเพลิง และหน้ายางแคบไปนิดสำหรับการทำความเร็วสูง ถ้าขยับไซส์ยางหรือเปลี่ยนเป็นยางสปอร์ต การยึดเกาะถนนน่าจะดีกว่านี้อีกพอสมควร

● ห้องโดยสารออกแบบได้ทันสมัยกว่าเดิม ดูสปอร์ตด้วยโทนสีดำ พวงมาลัย 3 ก้าน ขอบวงล่างตัดตรงหลบต้นขา ปรับได้ 4 ทิศทาง เสียงเปิด-ปิดประตูให้ความรู้สึกแน่นหนาหนักแน่น เบาะผู้ขับนั่งสบาย กระชับกำลังดีและปรับสูง-ต่ำได้ เบาะหลังมีพื้นที่วางขาและพื้นที่เหนือศีรษะกว้างกว่าเดิมเล็กน้อย มุมพนักพิงยังคงตั้งชันมากไปนิด

● การเก็บเสียงทำได้ดีทั้งเสียงยางและเสียงลม ส่วนเสียงเครื่องยนต์ยังมีอยู่บ้างเมื่อลากรอบสูง รุ่น GLX ที่ทดลองขับต่างจากรุ่น GLX-Navi ที่ชุดเครื่องเสียงและหน้าจอสัมผัส ชุดเครื่องเสียงที่ให้มาในรุ่น GLX ก็หน้าตาดีไม่ขี้เหร่

● ขับไปประมาณ 40 กิโลเมตรแล้วกลับรถ ช่วงท้ายๆ ของการทดสอบ การจราจรเริ่มหนาแน่น ได้ลองความคล่องตัวเมื่อใช้งานในเมืองบ้าง ที่ความเร็วต่ำการตอบสนองของเครื่องยนต์และเกียร์สัมพันธ์กับน้ำหนักในการกดคันเร่ง ทำให้ควบคุมความเร็วได้ง่าย พวงมาลัยเบาให้ความคล่องตัว ลัดเลาะเปลี่ยนเลนได้ฉับไว

● ขากลับทำความเร็วไม่ได้เท่าขาไป เพราะสภาพการจราจร สังเกตตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ถ้าขับด้วยความเร็วปกติและต่อเนื่องก็น่าจะได้มากกว่า 23 กิโลเมตรต่อลิตรตามที่ระบุไว้ และเป็นไปตามคุณสมบัติของอีโคคาร์ รุ่นที่ 2 ปิดทริปด้วยระยะทาง 81.4 กิโลเมตร ใช้เวลาขับ 1.13 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 68 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 15.8 กิโลเมตรต่อลิตร สมน้ำสมเนื้อกับลักษณะการขับที่ใช้รอบสูงบ่อยๆ

● แฟนๆ สวิฟท์ ที่ติดตามข่าวสารต่างประเทศ จะเห็นว่าในตลาดโลกมีสวิฟท์รุ่นแรงๆ ขาย ทั้ง สวิฟท์ สปอร์ต เครื่องยนต์เบนซิน 1,400 ซีซี เทอร์โบ 140 แรงม้า หรือเครื่องยนต์ 1,000 ซีซี เทอร์โบ 109 แรงม้า ซึ่งในช่วงถาม-ตอบ คุณวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชี้แจงว่า ซูซูกิก็อยากจะนำสวิฟท์ รุ่นแรงมาทำตลาดในเมืองไทยเป็นภาพลักษณ์ แม้ราคาจะค่อนข้างสูงแต่ก็เชื่อว่ามีกลุ่มลูกค้า แต่ที่นำเข้ามาไม่ได้เพราะเหตุผลเรื่องสัญญากับ BOI ถ้านำสวิฟท์รุ่นอื่นเข้ามาทำตลาด ก็จะเสียสิทธิ์ในการทำตลาดรถอีโคคาร์ ●

ขอบคุณ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการทดสอบ

Specification: Suzuki Swift GLX-Navi

– แบบตัวถัง แฮทช์แบ็ค 5 ประตู
– ยาว x กว้าง x สูง 3,840 x 1,735 x 1,495 มิลลิเมตร
– ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,520/1,525 มิลลิเมตร
– ระยะต่ำสุด 120 มิลลิเมตร
– ฐานล้อ 2,450 มิลลิเมตร
– น้ำหนัก 910 กิโลกรัม
– แบบเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว Dual VVT
– ความจุ 1,197 ซีซี
– กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73 x 71.5 มิลลิเมตร
– อัตราส่วนการอัด 11.5:1
– กำลังสูงสุด 83 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที
– แรงบิดสูงสุด 11.0 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบต่อนาที
– ระบบส่งกำลัง อัตโนมัติ CVT
– ระบบขับเคลื่อน ล้อหน้า
– ระบบบังคับเลี้ยว แร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์
– ระบบกันสะเทือนหน้า แม็กเฟอร์สันสตรัต คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง
– ระบบกันสะเทือนหลัง ทอร์ชั่นบีม คอยล์สปริง พร้อม ESP และ TCS
– ระบบเบรกหน้า/หลัง ดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน/ดิสก์ พร้อม ABS และ EBD
– ผู้จำหน่าย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
– โทรศัพท์ 1800-600-900 (โทรฟรี) และ 1401-600-900
– เวบไซต์ www.suzuki.co.th.

2018 Suzuki Swift : Group Test