March 16, 2018
Motortrivia Team (10191 articles)

Honda Connect เทคโนโลยีใหม่บนสมาร์ทโฟนที่ใช้งานได้จริง


ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

 

● ฮอนด้าพัฒนา Honda Connect ขึ้นเพื่อให้คนและรถยนต์สามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น Honda Connect บนสมาร์ทโฟน โดยใช้เทคโนโลยี Telematics ที่ผสมผสานการทำงานระหว่าง Telecommunication & Information โดย Honda Connect ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ

1. TCU หรือ Telematics Control Unit อุปกรณ์ควบคุมการรับส่งข้อมูลทางไกล
2. Cloud Technology การจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ความเร็วสูง
3. Mobile Application แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่อการใช้งาน


● ผู้ใช้รถยนต์ฮอนด้าตั้งแต่ ปี 2012 เป็นต้นไป สามารถนำรถยนต์ไปติดตั้ง Honda Connect ได้ที่ศูนย์บริการฮอนด้า (ยกเว้นรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์นำเข้ารุ่น ฟรีด, สเตปแวกอน และซีอาร์- ซี) ในราคา 5,900 บาท ฟรีค่าติดตั้งและค่าสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์เพื่อการส่งข้อมูลรายปี รวม 2 ปี และถ้าติดตั้งก่อน 31 มีนาคม 2561 นี้ จะได้รับคูปองมูลค่า 3,000 บาท หลังจาก 2 ปีไปแล้วจะมีค่าสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์ ปีละประมาณ 1,000 บาท

● Honda Connect ทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยมี TCU (Telematics Control Unit) ที่ติดตั้งในรถยนต์ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลสำคัญของรถยนต์และส่งไปยัง Cloud Technology เพื่อจัดเก็บและประมวลผล โดยส่งผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ความเร็วสูง จากนั้นข้อมูลจะแสดงผลสถานะต่างๆ ของตัวรถที่แอพพลิเคชั่น Honda Connect

● โดย TCU มีการเชื่อมต่อรับสัญญาณ GPS จากดาวเทียมด้วย ระบบการทำงานของ Honda Connect ประกอบด้วย:

1. สถานะความพร้อมของรถยนต์
– Car Status สถานะรถยนต์
– Service History ประวัติเข้ารับบริการ
– Next Periodical Maintenance กำหนดการเข้ารับบริการ
– Dealer Appointment นัดหมายศูนย์บริการล่วงหน้า

2. ข้อมูลลักษณะการขับขี่
– Driving behavior พฤติกรรมการขับขี่
– Trip Log บันทึกการเดินทาง

3. ตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์
– Find My Car แสดงพิกัดรถยนต์
– Car Location สถานะพิกัดรถยนต์เมื่อรถยนต์ถูกเคลื่อนย้าย

4. ติดต่อเพื่อช่วยเหลือฉุกเฉิน SOS
– Airbag Deployment สถานะถุงลม
– Call Center ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า
– Emergency Call โทรฉุกเฉินเลขหมายสำคัญ

5. ข่าวสารและสิทธิพิเศษ
– Message แจ้งเตือนข่าวสารและโปรโมชั่นต่างๆ
– Renew Insurance & Tax แจ้งเตือนต่อประกันภัยและภาษีรถยนต์

6. ค้นหาและแชร์การเดินทาง
– Location Search ค้นหาเส้นทาง
– Facebook Posting แชร์เส้นทางการเดินทางพร้อมรูปถ่ายบนเฟซบุ๊ก


คุณวราภรณ์ เล้าประเสริฐ ผู้จัดการฝ่าย ประชาสัมพันธ์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล ( ประเทศไทย) จำกัด


● กิจกรรมทดลองใช้ Honda Connect เริ่มต้นที่ The Black Forest Café สุขุมวิท 107 หรือซอยแบริ่ง ได้รับเกียรติจาก คุณวราภรณ์ เล้าประเสริฐ ผู้จัดการฝ่าย ประชาสัมพันธ์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล ( ประเทศไทย) จำกัด กล่าวต้อนรับและร่วมเดินทางไปด้วยตลอดทริป

● การลงทะเบียนใช้งาน Honda Connect สามารถใช้บัญชีเดียวกับ Facebook หรือจะสร้างบัญชีใหม่ก็ได้ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือและอีเมล พร้อมป้อนข้อมูลต่างๆ ของตัวรถ โดยรถยนต์ 1 คันจะลงทะเบียนได้เพียงบัญชีเดียวเพื่อความเป็นส่วนตัว ถ้ามีรถยนต์ 1 คันแต่มีผู้ขับหลายคน ก็สามารถใช้บัญชีเดียวกันได้ แต่ระบบจะแสดงผลที่สมาร์ทโฟนเครื่องที่ล็อกอินเพียงเครื่องเดียว ไม่สามารถดูสถานะของรถพร้อมกันหลายเครื่องได้ ด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่ถ้ามีรถยนต์ฮอนด้าหลายคัน และทุกคันติดตั้ง Honda Connect ก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ลงทะเบียนแยกรถยนต์แต่ละคันได้

● สำหรับการทดลองใช้งาน Honda Connect ทางฮอนด้าได้แจกสมาร์ทโฟนที่ลงทะเบียนสร้างบัญชีไว้ให้แล้ว ตลอดเส้นทางทดสอบ กรุงเทพฯ-อัมพวา มีภารกิจหรือ Mission ให้เล่นแก้เหงา เป็นเกมที่ต้องใช้ฟังก์ชั่นหลักของ Honda Connect เริ่มจากภารกิจแรก เปลี่ยนรูปโปรไฟล์และฉากหลังของ Honda Connect ซึ่งออกแบบระบบมาให้ใช้งานง่าย ถ้าเล่น Facebook เป็นหรือใช้สมาร์ทโฟนคล่องๆ ก็สามารถปรับแต่งหรือสั่งงาน Honda Connect ได้ไม่ยาก

● ออกจากจุดสตาร์ทด้วย ฮอนด้า ซีวิค แฮทช์แบ็ค มุ่งหน้าลงใต้ แวะพักที่ Porto Chino ถนนพระราม 2 ระหว่างพัก Honda Connect มีการแจ้งเตือนว่าพบข้อบกพร่องในรถ 2 จุด ซึ่งเกิดจากทีมงานฮอนด้าตั้งใจทำให้รถผิดปกติ เมื่อคลิกเข้าไปดูก็จะเห็นคำเตือน 2 จุด เกี่ยวกับระบบเบรก และเมื่อคลิกที่แต่ละคำเตือนก็จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมให้อีก ในหน้าจอนี้ที่แถบด้านล่างจะมีให้คลิกที่ผู้จำหน่าย, ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า และบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง สำหรับภารกิจที่ 2 ต้องค้นหาศูนย์บริการที่ใกล้ตำแหน่งปัจจุบันที่สุด เพื่อนำรถยนต์ไปตรวจสอบ จึงต้องคลิกไปที่เมนูผู้จำหน่าย

● เมื่อเข้าสู่หน้าผู้จำหน่าย ด้านบนสุดจะเป็นชื่อผู้จำหน่ายที่รถยนต์คันนี้เข้ารับบริการล่าสุด ถัดลงมาจึงเป็นผู้จำหน่ายที่ใกล้ตำแหน่งปัจจุบันที่สุด ซึ่งเมื่อคลิกเลือกแล้วก็จะมีรายละเอียดของผู้จำหน่ายพร้อมเมนูเส้นทางและโทรศัพท์ เลือกเมนูเส้นทาง ระบบก็จะเริ่มนำทางจากตำแหน่งปัจจุบันให้ เมื่อสมาชิกในรถพร้อมก็ออกเดินทาง

● สังเกตว่าบนชุดมาตรวัดมีไฟเตือนสีส้มเกี่ยวกับระบบเบรกพร้อมข้อความ Check System แสดงว่าข้อมูลที่รถยนต์ส่งออกมาโดยผ่าน TCU นั้นมีความถูกต้อง ส่วนความแม่นยำของตำแหน่งและระยะของระบบนำทางก็เชื่อถือได้ ใช้เวลาไม่นานก็เดินทางถึง บริษัท สมุทรสาครฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด ตั้งอยู่ริมถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 28 ระหว่างรอให้ทีมงานแก้ไขข้อบกพร่องของตัวรถที่ตั้งใจทำไว้ แวะขึ้นไปเยี่ยมชมห้องรับรองลูกค้าที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีขนมและเครื่องดื่มไว้เตรียมต้อนรับ และสามารถมองเห็นการเซอร์วิสด้วย เมื่อปัญหาของรถยนต์ได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว ข้อความแจ้งเตือนในสมาร์ทโฟนจะยังคงอยู่ เจ้าของรถยนต์จะต้องลบข้อความด้วยตัวเอง

● นั่งพักได้ไม่นาน ก็ต้องเตรียมตัวสำหรับภารกิจถัดไป นั่นคือ การหาเส้นทางไปยัง ร้านอาหารรัญจวน ซึ่งเป็นร้านอาหารเปิดใหม่ ยังไม่มีในสารบบ จึงต้องพลิกแพลงเล็กน้อยด้วยการหาสถานที่ใกล้เคียง จากนั้นจึงให้ระบบนำทางไป ออกจากโชว์รูมเป็นคันสุดท้าย ก็เลยต้องขับตามระบบนำทางโดยปริยายเพราะไม่มีใครให้ตาม มีจังหวะได้ลองความแรงของเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี เทอร์โบ 173 แรงม้า แรงบิด 22.4 กก.-ม. ที่มาในช่วงรอบกว้าง 1,700-5,500 รอบต่อนาที ขับสนุกพอตัว บังเอิญเจอเพื่อนสื่อมวลชนขับอยู่ข้างหน้าเลยอาศัยตามไปด้วย ไม่ต้องดูแผนที่ในสมาร์ทโฟน กลายเป็นว่าพากันหลงทั้ง 2 คัน ถึงร้านอาหารล่าช้าไปเล็กน้อย

● ในร้านอาหารมีป้ายภารกิจที่ 4 ให้ทดลองใช้ฟังก์ชั่น Find My Car เมื่อรถถูกเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้ใช้กุญแจ หรือถูกตัดกระแสไฟฟ้า แอพพลิเคชั่นจะส่งสัญญาณแจ้งเตือน เจ้าของรถสามารถใช้ฟังก์ชั่น Find My Car เพื่อตรวจสอบพิกัดของรถได้ เมื่อกดเลือกตรวจสอบพิกัด ระบบจะส่งพิกัดผ่านทางอีเมลที่ลงทะเบียนไว้

● อิ่มแล้วเริ่มภารกิจตามหารถยนต์ ตามพิกัดแจ้งว่ารถอยู่ห่างไปกว่า 6 กิโลเมตร คณะสื่อมวลชนต้องนั่งรถตู้ตามหา แต่ก็มีเซอร์ไพรส์เล็กๆ เพราะนั่งรถตู้ไปแค่ไม่กี่ร้อยเมตร ก็ต้องลงแล้วต่อเรือ ล่องชมวิว 2 ข้างทางของแม่น้ำแม่กลอง รถยนต์ทุกคันจอดอยู่ที่ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร หรือ วัดบ้านแหลม จึงถือโอกาสไหว้พระก่อนเดินทางรวดเดียวกลับกรุงเทพฯ

● แม้อยากรีบกลับเพราะกลัวรถติดช่วงเย็น แต่ก็รีบได้ไม่มากนัก เพราะยังมีภารกิจสุดท้าย คือ การบันทึกข้อมูลการขับขี่ คันไหนขับได้เนียนสุด มีการเบรกหรือเร่งกะทันหันน้อยที่สุด ภารกิจนี้ก็จะได้คะแนนสูงสุด กลับมาถึงจุดหมายปลายทางก็มีการตอบข้อสงสัยหลังจากได้ทดลองใช้งาน Honda Connect ซึ่งสรุปได้ว่า

– ตำแหน่งการติดตั้งอุปกรณ์ TCU จะแตกต่างกันในรถยนต์แต่ละรุ่น และไม่เป็นที่เปิดเผย เพื่อป้องกันการโจรกรรม

– TCU มีซิมในตัว รับสัญญาณจากเครือข่ายหลัก ไม่ใช่ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง ดังนั้นเมื่ออยู่ในจุดอับสัญญาณของผู้ให้บริการรายหนึ่ง ระบบจะสลับไปรับสัญญาณที่แรงกว่าโดยอัตโนมัติ

– TCU มีแบตเตอรี่ในตัว เผื่อในกรณีถูกตัดไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เมื่อไม่มีไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ TCU จะส่งสัญญาณเตือนไปยังแอพพลิเคชั่น Honda Connect เพื่อแจ้งเตือนเจ้าของรถ โดยช่วงแรกที่ถูกตัดไฟฟ้า จะส่งสัญญาณต่อเนื่อง เพื่อให้ระบุตำแหน่งของรถยนต์ได้ และหลังจากนั้นจะลดความถี่ในการส่งสัญญาณลงเพื่อประหยัดแบตเตอรี่ โดยหลังจากถูกตัดไฟฟ้าแล้ว แบตเตอรี่ใน TCU สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่องประมาณ 2 วัน

– แบตเตอรี่ของ TCU เป็นแบบนิเกิล ไฮดราย รับประกัน 1 ปี และโดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุการใช้งานประมาณ 2-3 ปี ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่อยู่ในระดับราคาหลักร้อยบาท

– TCU มีความสามารถในการส่งสัญญาณออกและรับสัญญาณเข้า แต่ช่วงแรกฮอนด้าจะเน้นการส่งสัญญาณออกเป็นหลัก ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของตัวรถ เพราะปัจจุบันยังมีการเจาะข้อมูลของรถผ่านเครือข่ายระบบสั่งงาน ทางฮอนด้าจึงปิดฟังก์ชั่นการรับสัญญาณเข้าไว้ก่อน จนกว่าจะแน่ใจเรื่องความปลอดภัย

– ถ้าเปิดฟังก์ชั่นการรับสัญญาณเข้าของ TCU จะสามารถสั่งงานระบบต่างๆ ของรถเพิ่มเติมได้ เช่น การสตาร์ทเครื่องยนต์, เปิดแอร์ หรือการล็อครถ

– สาเหตุที่ยังไม่สามารถติดตั้ง Honda Connect ในรถยนต์ไฮบริดได้ เพราะรถยนต์ไฮบริดมีการส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลและซับซ้อนกว่า จึงต้องพัฒนาและทดสอบให้แน่ใจว่า ระบบสามารถรองรับและแสดงผลข้อมูลของรถยนต์ไฮบริดได้อย่างสมบูรณ์และมีความเสถียรก่อน

● สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ www.honda.co.th/th/hondaconnect