April 2, 2018
Motortrivia Team (10196 articles)

อวสานของ Uber (ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และกรณีอุบัติเหตุของรถไร้คนขับ

Posted by : Man from the Past

 

●   เป็นข่าวใหญ่ลามไปหลายวงการ ไม่เฉพาะในแวดวงรถยนต์เท่านั้น เมื่อบริษัทแท็กซี่แบบแบ่งปันที่นั่งอย่าง Grab ได้เข้าซื้อกิจการของ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นกิจการที่ให้บริการในรูปเดียวกัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ฝ่ายหลังได้ชื่อว่าเป็นบริษัทเปิดใหม่ที่มีวิสัยทัศน์และอนาคตไกลลิบ

●   ในช่วงเดือนมกราคม 2018 ที่ผ่านมานี้เอง อูเบอร์เพิ่งระดมเงินทุนได้ถึง 1,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาทจากกลุ่มนักลงทุนที่นำโดยธนาคาร Softbank แห่งญี่ปุ่น โดยขณะนั้นมูลค่าของบริษัทถูกประเมินเอาไว้ที่ 68,000 ล้านเหรียญ หรือ 2.17 ล้านล้านบาท การเข้าซื้อเฉพาะกิจการอูเบอร์ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เป็นทั้งบ้านเกิดและตลาดหลักของแกร็บจึงนับเป็นเรื่องใหญ่ และแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ในการดำเนินงานนั้น มีลักษณะพิเศษอะไรบางอย่างที่อูเบอร์ขบไม่แตก

●   ณ เวลานี้ จำนวนเงินที่แกร็บจ่ายออกไปยังไม่มีการเปิดเผย ข้อมูลเบื้องต้นมีเพียงว่า อูเบอร์จะได้ถือหุ้นร้อยละ 27.5 ในแกร็บ รวมทั้งผู้ที่เป็น CEO จะได้นั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริษัทที่เข้าซื้อ และนอกจากกิจการรถแท็กซี่แล้ว แกร๊บยังได้เป็นเจ้าของ UberEATS หรือธุรกิจรับส่งอาหารถึงบ้านด้วย แต่ก่อนจะลงลึกเข้าไปดูเบื้องหลังและผลที่จะเกิดจากการซื้อขาย ผมอยากชวนผู้อ่านให้เข้าไปดูกรณีอุบัติเหตุ รถไร้คนขับ ของอูเบอร์ ชนคนข้ามถนนเสียชีวิตในสหรัฐฯ เสียก่อน เพราะเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วทุกวงการไม่แพ้การซื้อขายบริษัทในครั้งนี้

รถไร้คนขับ กับแผนงานที่สะดุดเป็นครั้งที่ 2

●   ในวงการรถไร้คนขับนั้น ปัจจุบันได้รับการคาดการณ์ (หรือแบกรับความหวัง) ว่า อนาคตของโลกการเดินทางจะถูกผูกเอาไว้กับบริการรถแท็กซี่ในลักษณะนี้ เพราะการไม่ใช้มนุษย์ควบคุมยานพาหนะ จะทำให้ตัวรถมีจำนวนมากพอๆ กับผู้ใช้บริการได้ ซึ่งจะทำให้จำนวนของรถมีจะสม่ำเสมอมากขึ้นในระดับทุกๆ ชั่วโมง หากตัวระบบมีการบริหารจัดการที่สมบูรณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ ผู้คนจะสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ทุกที่และทุกเวลาโดยไม่ต้องพึ่งพายานพาหนะแบบอื่น หรือแม้แต่ยานพาหนะส่วนตัว

●   อุบัติเหตุครั้งล่าสุดของอูเบอร์นี้ เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2018 เวลา 22 น. เมื่อ Elaine Herzberg สตรีวัย 49 ปี ถูกชนเข้าอย่างจังในขณะจูงจักรยานเดินข้ามถนนนอกทางม้าลายในเมืองเทมเป รัฐแอริโซนา และไปเสียชีวิตที่โรงพยายาล… ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รถไร้คนขับประสบอุบัติเหตุ มันเคยเกิดแล้วหลายครั้ง และมีสถิติอย่างเป็นทางการออกมาให้เห็นส่วนหนึ่งในแง่ความบกพร่องของระบบ รวมทั้งครั้งหนึ่งก็เคยเกิดขึ้นกับอูเบอร์เองเมื่อปีที่แล้ว หลังรถ SUV ของวอลโว่ที่ถูกดัดแปลงให้เป็นรถไร้คนขับเวอร์ชั่นทดสอบ เกิดพลิกคว่ำในรัฐเดียวกัน ทว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีคนเสียชีวิต ดังนั้นการเสียขีวิตในอุบัติเหตุครั้งนี้ จึงนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รถไร้คนขับด้วย (ไม่นับกรณีของเทสล่า มอเตอร์ ที่มีผู้ขับนั่งอยู่หลังพวงมาลัย)

●   ในชั้นต้น ผลของอุบัติเหตุในครั้งนี้อาจส่งผลให้ผู้คนยิ่งกลัวการนั่งอยู่ในรถไร้คนขับมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดวงการรถไร้คนขับอาจไม่สามารถขจัดความกลัวนี้ออกไปได้ ซึ่งเป็นความกลัวที่อาจกลายเป็นประเด็นหลักที่คนในวงการต้องแก้ไข และหามาตรการป้องกัน เพราะมีการสำรวจกันแล้วว่า เฉพาะคนอเมริกันที่แสดงความไม่มั่นใจในเทคโนโลยีรถไร้คนขับนั้น มีจำนวนมากกว่าครึ่งของจำนวนประชากร ซึ่งยังไม่นับผู้คนสัญชาติอื่นๆ ที่ยังไม่มีการสำรวจ

●   โดยปกติการชนคนข้ามถนนนอกทางม้าลาย คนถูกชนจะถูกนับเป็นผู้กระทำผิด แต่ในกรณีนี้ การกระทำผิดได้ถูกปัดไปให้อูเบอร์ในฐานะเจ้าของรถที่เป็นรถไร้คนขับ ดังนั้นประเด็นหลักของการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ คือต้องให้ความปลอดภัยครบถ้วนทั้งคนในรถและนอกรถ คือ “ต้องไม่มีความผิดพลาด” ในการให้ความปลอดภัยใดๆ และตัวรถต้องมีระบบป้องกันและเตือนภัยอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Lidar, กล้อง, แผนที่ หรือเซ็นเซอร์ที่ช่วยให้รถได้ “มองและระบุตำแหน่งตัวเอง พร้อมกับวัตถุทุกชนิดรอบทิศ”

●   ชุดระบบของอูเบอร์นั้น ใช้ Lidar ของบริษัท Velodyne หนึ่งในผู้พัฒนาระดับหัวก้าวหน้าจากซิลิคอน แวลลีย์ จับคู่กับระบบควบคุมและประมวลผลที่พัฒนาโดยอูเบอร์เอง ตรงนี้ทำให้เหตุการณ์ล่าสุดบานปลายออกไปในอีกแง่มุมหนึ่ง นั่นคือการทะเลาะกันเองระหว่างบริษัททั้งสอง โดยต่างฝ่ายต่างยืนกรานว่า ระบบของตนถูกพัฒนามาแล้วอย่างล้ำเลิศ และไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง

●   จากหลักฐานหลักที่เป็นคลิปวิดีโอ 2 คลิปที่ตำรวจเมืองเท็มเปนำมาเปิดเผย คลิปแรกเผยให้เห็นว่า นาง Herzberg ถูกชนกระเด็นจากการที่รถไม่ได้ชะลอความเร็วแม้แต่น้อย ขณะที่คลิปที่สองเผยให้เห็นว่า Rafaela Vasquez ผู้ควบคุมรถที่เป็นสตรีในฐานะ เจ้าหน้าที่ควบคุมรถในโปรแกรมการวิ่งเก็บข้อมูล หรือ “developmental vehicle operator” ได้ก้มหน้ามองอะไรบางอย่างในรถ ก่อนรถจะชนผู้เคราะห์ร้าย โดยตลอดเวลาที่ระบบอัตโนมัติขับรถ เธอไม่ได้เหลือบตาดูสถานการณ์ข้างหน้ารถ จนกระทั่งไม่กี่วินาทีก่อนรถชนที่คลิปได้แสดงภาพใบหน้าเธอที่ต็มไปด้วยอาการตกตะลึง

●   หลังจากเกิดอุบัติเหตุ อูเบอร์ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ พร้อมกับยืนยันว่ารถไร้คนขับในโปรแกรมทดสอบเก็บข้อมูลทุกคันได้หยุดวิ่งแล้ว ซึ่งหลังจากประกาศของอูเบอร์ ในวันถัดมาทางยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าก็ออกมาประกาศหยุดวิ่งเก็บข้อมูลเช่นเดียวกัน

●   ที่ผ่านมา อูเบอร์ได้ทดลองใช้รถไร้คนขับในพื้นที่ทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วยนครซานฟรานซิสโก นครพิตต์สเบิรก นครโตรอนโตในแคนาดา และนครฟีนิกซ์ในรัฐแอริโซนา ซึ่งพื้นที่หลังนั้นเป็นเมืองที่เกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุดนี้ โดยการทดลองของอูเบอร์นั้น เริ่มที่นครพิตต์สเบิรกราว 2 ปีที่แล้ว ก่อนจะหยุดไปพักใหญ่ในช่วงปีต่อมาเมื่อรถทดสอบเกิดพลิกคว่ำตามที่กล่าวข้างต้น

●   นอกจากอูเบอร์ แล้วอีกบริษัทที่สนใจทดลองรถไร้คนขับก็คือโตโยต้า ซึ่งเฉพาะในสหรัฐฯ ได้มีการทดสอบระบบที่รัฐมิชิแกน และรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยทำการทดสอบบนถนนจริง ทั้งนี้โตโยต้าเคยประกาศจะให้รถบางแบบรุ่นเป็นรถไร้คนขับในปี 2020 ซึ่งก็เช่นกัน โตโยต้าได้ประกาศยุติโปรแกรมการทดสอบ ทว่าจะจำกัดวงเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น ในประเทศอื่นการทดสอบยังคงดำเนินการต่อไป

●   อุบัติเหตุที่เกิดกับรถไร้คนขับอูเบอร์ก่อให้เกิดกระแสถกเถียงใหม่ โดยเป็นการตั้งคำถามว่า วิทยาการรถไร้คนขับนั้นพร้อมหรือยังสำหรับการนำรถออกมาวิ่งทดสอบ ทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ ศาสตราจารย์วิชาวิศวกรรมท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยดุ๊ค ได้ทวีตข้อความแนะนำรัฐสภาคองเกรสส์ให้สนใจ และยุติการรีบเร่งใช้วิทยาการไร้คนขับที่ยังเป็นวิทยาการในลักษณะที่ไม่สมบูรณ์มากพอ

●   อันที่จริง มีการพูดถึงประเด็นนี้กันนานแล้ว ถึงขั้นมีการเสนอให้ผู้มีอำนาจดำเนินการวางมาตรฐานการทดสอบรถไร้คนขับให้เข้มข้นกว่าเดิม การโต้แย้งของคนกลุ่มนี้น่าจะมีคนเห็นด้วยไม่น้อย เนื่องจากศูนย์วิจัย Pew Research Center ได้สำรวจความเห็นของคนอเมริกัน และพบว่ากว่าครึ่งกลัวถึงขนาดไม่ต้องการนั่งรถไร้คนขับถึงแม้จะได้รับโอกาสในการทดสอบก็ตาม ทั้งยังมีผู้แสดงความเห็นในด้านความปลอดภัยอีกหลายแง่มุม ยังผลให้ความวิตกนี้ไปถึงขั้นที่เชื่อกันว่า “รถไร้คนขับไม่มีวันที่จะเป็นรถปลอดภัยเต็มรูปแบบ”

●   หมายเหตุ : การทดสอบรถไร้คนขับ ขอยกยอดไปสัปดาห์หน้าครับ โดยเราจะพ่วงประวัติความเป็นมาของรถไร้คนขับ โดยมีหัวข้อหลักเป็นเบื้องหลังการซื้อขายกิจการรถอูเบอร์ ซึ่งมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ แต่ก่อนจะไปถึงรายละเอียดนั้น ขอประเดิมด้วยการเล่าประวัติความเป็นมาของบริษัทดวงอับแห่งนี้กันเสียก่อน

●   อูเบอร์นั้นเดิมชื่อ UberCab ก่อตั้งในเดือนมีนาคม 2009 หรือเพิ่งจะครบ 9 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งคือ Garrett Camp ผู้ซึ่งที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง StumbleUpon เว็บไซต์แนะนำคอนเทนต์ดีๆ ตามเว็บไซต์ต่างๆ กับ Travis Kelanick ซึ่ง 2 ปีก่อนหน้าเพิ่งขายกิจการเว็บไซต์แลกเปลี่ยนแฟ้มเก็บข้อมูลที่ใช้ชื่อ Red Swoosh และรับเงินไปราว 19 ล้านเหรียญ หรือราว 600 ล้านบาท

●   แนวคิดในการก่อตั้งอูเบอร์แค๊บ (แค๊บหมายถึงแท๊กซี่) เกิดจากคืนส่งท้ายปีเก่าคืนหนึ่ง Camp ต้องจ่ายเงินถึง 800 เหรียญ หรือราว 25,600 บาทในการเช่ารถพร้อมคนขับพาเพื่อนตระเวณร่วมงานฉลอง โดยชื่ออย่างเป็นทางการของอูเบอร์คือ Uber Technologies Inc. ซึ่งคำว่า uber นั้นมาจากภาษาเยอรมันที่แปลว่า เหนือกว่าเหนือ หรือเหนือกว่าคำว่า topmost ที่แปลว่าสุดยอด กับคำว่า super

ไอเดียที่ดี กับหลากบริการเฉพาะกลุ่ม

●   เมื่อพูดถึงบริการของอูเบอร์ คนส่วนใหญ่มักคิดบริการในแง่ของการรับ-ส่งผู้โดยสารแบบรถแท็กซี่ ทว่าอันที่จริงแล้ว เฉพาะบริการด้านรับ-ส่งผู้โดยสารอูเบอร์ มีให้เลือกมากถึง 10 แบบ เรื่มจาก UberBLACK ที่ให้บริการรับ-ส่งผู้ที่จะไปงานสำคัญ ดังนั้นรถทื่ใช้จึงเป็นรถหรูขนาดใหญ่สีดำ, UberKids บริการรับส่งครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ดังนั้นรถจึงมีที่นั่งเด็กติดตั้งมาให้, UberPETS บริการรับส่งสัตว์เลี้ยง, UberPOP ที่ใช้รถขนาดเล็กให้บริการ, UberSelect ใช้รถที่มีของใช้หรูๆ และเครื่องประดับที่เย็บด้วยหนังแท้, UberSUV บริการรับ-ส่งที่ใช้รถตามชื่อ, UberX บริการรับ-ส่งทั่วไปที่คนส่วนมากใช้บริการกัน แต่ต้องไม่เกิน 4 คน, UberXL บริการแบบหมู่คณะที่เกิน 4 คน แต่ไม่เกิน 6 คน และ UberWAV บริการรับ-ส่งผู้ทุพลภาพที่ใช้รถที่มีประตูและเนื้อทื่พิเศษรองรับตามความเหมาะสม ปิดท้ายด้วย UberAUTO ที่ให้บริการเฉพาะในปากีสถาน รถที่ใช้เป็นรถประเภท auto rickshaw หรือรถลากอัตโนมัติ ซึ่งก็มีกายภาพคล้ายๆ ตุ๊กตุ๊กในบ้านเรา

●   บริการเหล่านี้ น่าจะทำให้นักสตาร์ทอัพไทยได้ฉุกคิดว่า การวิเคราะห์และมองหาช่องว่างในการทำธุรกิจ เป็นเรื่องของมุมมองคมๆ ทางความคิด หาจุดเริ่มต้นลงตัวได้เมื่อไหร่ก็เริ่มลงมือทำเสีย

●   ไม่เพียงเท่านี้ อูเบอร์ยังมี UberGo ที่ให้บริการเฉพาะในอินเดีย รถที่ใช้เป็นรถนั่งแบบท้ายตัด และ UberBOAT บริการเรือแท็กซี่ที่เดิมเปิดให้บริการเฉพาะในกรุงอิสตันบูล เพื่อรับ-ส่งผู้ต้องการเดินทางข้ามช่องแคบบอสพอรัส แต่ต่อมาถูกขยายไปยังชายฝั่งประเทศโครเอเชียในช่วงฤดูร้อน ตามด้วยพื้นที่ในอีกหลายประเทศที่มีงานประจำปีใหญ่ๆ อย่างงานสัปดาห์ศิลปะนครไมอามีที่ UberBOAT ให้บริการเดินทางข้ามอ่าวบิสเคย์น และนอกจากบริการรถและเรือแท็กซี่ อูเบอร์ยังมี UberAIR บริการเครื่องบินแท็กซี่ที่เตรียมจะเปิดตัวในปี 2020 โดยจะเปิดที่นครดัลลัสบวกฟอร์ทเวิร์ธ นครดูไบ และนครลอสแอนเจลิส ใช้เครื่องบินที่ขึ้น-ลงในแนวดิ่งอย่าง flying car

●   ส่วน UberEATS ที่เพิ่งถูกขายให้แกร็บ ความพิเศษของบริการรับ-ส่งอาหารนี้คือ ประกันการจัดส่งให้ถึงผู้รับภายใน 30 นาที และเนื่องจากมีบริการรับ-ส่งอาหารในมือ ดังนั้นอูเบอร์จึงมีบริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์รวมอยู่ด้วย นั่นคือ UberRUSH หรือบริการอูเบอร์แบบเร่งด่วนที่เปิดในนครชิคาโก นครนิวยอร์ก และนครซานฟรานซิสโก

●   ไม่น่าเชื่อใช่ไหมว่าอูเบอร์ต้องขายบริการส่วนหนึ่งออกไป ที่ผ่านมาอูเบอร์มีแนวทางอย่างชัดเจนในการคิดค้นแนวทางธุรกิจใหม่ๆ มากมาย อย่างธุรกิจที่ถูกเรียกว่า limited services หรือธุรกิจเฉพาะ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้บริการเจาะจงลงไปเฉพาะเรื่อง อย่าง UberCHOPPER ซึ่งในวันชาติสหรัฐฯปี 2014 ได้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์รับ-ส่งผู้ที่ต้องการเดินทางจากนครนิวยอร์กไปย่านพักผ่อน The Hamptons ในรัฐลองไอส์แลนด์ โดยคิดค่าโดยสารรายละ 3,000 เหรียญ หรือเกือบหนึ่งแสนบาท ในขณะที่ UberCOPTER ก็เปิดให้บริการเฮลิคอปเตอร์รับ-ส่งในลักษณะเดียวกัน แต่เป็นธุรกิจที่ทำร่วมกับบริษัทสร้างเครื่องบินแอร์บัสในปี 2016 เพื่อทดลองเปิดบริการเฮลิคอปเตอร์แท็กซี่เป็นเวลา 1 เดือน โดยเปิดที่นครซานเปาโลที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติด และคิดค่าโดยสารคนละ 63 เหรียญ หรือ 2,000 บาทเศษ

●   ทั้งนี้ UberCOPTER ยังให้บริการในช่วงเทศกาลสำคัญระดับโลก ซึ่งรวมทั้งเทศกาลภาพยนตร์คานส์ในฝรั่งเศส และเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในสหรัฐฯ ด้วย โดยกิจกรรมอื่นๆ ที่อูเบอร์เคยเข้าร่วม มีอาทิ การให้บริการด้วยรถ DeLorean DMC-12 เพื่อให้แฟนๆ ภาพยนตร์ได้รำลึกถึงการปรากฏตัวของรถคันนี้ในภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future ในปี 1985

●   ยังมีการเข้าร่วมรณรงค์ในเดือนเดียวกัน เพื่อให้นักฟุตบอลอเมริกันอาชีพเดินทางด้วยความปลอดภัย การจับมือกับ Dream Drive บริการให้เช่ารถสุดหรูในสิงคโปร์ เพื่อให้บริการเดินทางด้วยรถสุดหรูเมื่อเดือนมีนาคม 2015 โดยมีทั้งลัมบอร์กินีและมาเซอราติ และยังจับมือกับเมืองต่างๆ เพื่อทำกิจกรรมเช่น National Ice Cream Month หรือเดือนไอศครีมแห่งชาติ โดยในเมืองเหล่านี้ผู้ใช้บริการอูเบอร์สามารถเรียกรถส่งไอศครีมให้มาส่งไอศครีมถึงบ้าน หรือ National Cat Day วันแมวแห่งชาติ โดยในวันนี้ผู้ขับรถอูเบอร์จะนำแมวไปให้ผู้ที่อยากกอดแมวได้กอด โดยจะได้กอดมันเป็นเวลา 15 นาที แต่ต้องบริจาคเงินก่อสร้างสถานเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเป็นการตอบแทน รวมทั้งจัดส่งต้นคริสมาสในเดือนธันวาคมที่มีการฉลองเทศกาลคริสมาสด้วย

การมองโอกาสในเชิงธุรกิจ

●   หากตัดเรื่องข่าวคราวอื้อฉาวทั้งหลายแหล่ออกไป… เราอยากให้ผู้อ่านมุ่งไปที่แนวคิดของอูเบอร์ในเรื่องการมองหาโอกาสเป็นหลัก อูเบอร์ยังมีการวิจัยเพื่อทดลองให้บริการการเดินทางในเมืองรูปแบบอื่น โดยในเดือนเมษายน 2012 ที่ชิคาโก ผลงานแรกเป็นการให้ผู้ใช้บริการอูเบอร์สามารถเลือกรถที่จะมารับได้ทั้งรถแท็กซี่จริง หรือรถอูเบอร์แท็กซี่ ตามมาด้วยการเปิดกิจการร้านโชห่วยออนไลน์ Uber Essentials ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ช่วงเดือนสิงหาคม 2014 โดยมีสินค้าให้เลือกซื้อประมาณ 100 รายการ ทว่ากิจการการทดลองนี้ต้องปิดตัวลงเมื่อถึงเดือนมกราคมปีถัดมา

●   ยังมีการขยายความร่วมมือกับ BYD Auto บริษัทผลิตรถยนต์ในจีนเมื่อเดือนมีนาคมปี 2015 ทดลองให้คนขับรถอูเบอร์ในชิคาโกได้เช่ารถไฟฟ้า ตามด้วยโครงงานใหญ่ระดับโลกที่เป็นการประกาศจะจับมือกับองค์กร UN Women องค์กรรณรงค์เพื่อความเสมอภาคทางเพศแห่งสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันเป็นพันธมิตรในการสร้างงานให้ได้ถึง 1 ล้านตำแหน่งสำหรับผู้หญิงทั่วโลกภายในปี 2020… อย่างไรก็ดี โครงงานนี้ UN Women ไม่เอาด้วย เนื่องจากกลัวอันตรายที่จะเกิดกับผู้หญิงที่ขับแท็กซี่ อีกทั้งยังถูกกดดันจากบรรดาสหพันธ์แรงงานและองค์กรสิทธิสตรี ต่อด้วยอีก 2 โครงงานใหญ่ระดับโลก ซึ่งได้แก่ การจับมือกับ GrabOn เจ้าของกิจการบัตรคูปองทางออนไลน์ในอินเดียในเดือนพฤศจิกายน 2015 เพื่อให้ลูกค้าในนครไฮเดอราบัด ได้นั่งบอลลูนลอยฟ้า คิดค่าบริการ 1,000 รูปี หรือราว 480 บาท และจับมือกับบริษัทเครื่องสำอางค์ BobbiBrown ในเดือนกันยายน 2016 โดยในช่วงดังกล่าวบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นชุดรีทัชใบหน้า และใครที่เรียกใช้รถอูเบอร์และต้องการการรีทัช จะมีช่างแต่งหน้ารอในรถ โดยระหว่างนั้นจะสอนถึงวิธีรีทัชใบหน้าในขณะนั่งรถด้วย

●   ในเดือนเมษายน 2017 อูเบอร์ประกาศโครงการซื้อสิทธิบัตรที่ใช้ชื่อว่า UP3 เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการซื้อ เดือนตุลาคมปีเดียวกันอูเบอร์จับมือกับธนาคารบาร์เคลย์สและบริษัทบัตรเครดิตวีซ่า เพื่อออกบัตรเครดิตของตัวเอง โดยเป็นบัตรที่ให้การตอบแทนหลายรายการ รวมทั้งการคืนเงินบางส่วนให้ลูกค้า ยังไม่รวมโครงการวิจัยรถไร้คนขับ ซึ่งจะเก็บไว้เขียนตอนหน้า

●   การบริหารกิจการได้รับการดำเนินการเต็มรูปแบบ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่จำนวนเที่ยวในออกบริการของอูเบอร์ได้ขยับไปถึงหลัก 1,000 ล้านในปี 2015 และพอถึงเดือนตุลาคมปี 2016 เฉพาะเดือนนี้เดือนเดียว จำนวนเที่ยวได้ขยับถึง 40 ล้าน ส่วนจำนวนเงินที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายในเดือนดังกล่าวเฉลี่ยแล้วตกประมาณคนละ 50 เหรียญ หรือ 1,600 บาท

●   อย่างไรก็ดี พอถึงปี 2017 ความผันผวนได้เริ่มมาเบือนอูเบอร์ กล่าวคือ หลังอูเบอร์มีส่วนแบ่งการตลาดรถแท็กซี่แบบแบ่งปันที่นั่งในสหรัฐฯ สูงถึงร้อยละ 84 ในช่วงต้นปี ทว่าถึงเดือนพฤษภาคม ส่วนแบ่งของอูเบอร์ได้ลดเหลือร้อยละ 77 ซึ่งนับได้ว่า “ไม่น้อย” สาเหตุหลักๆ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มขึ้น และการต้องเผชิญเรื่องที่ไม่ดีนักหลายๆ เรื่อง… เราจะมาว่ากันถึงปัจจัยเหล่านี้ในตอนหน้า เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้อูเบอร์มีอาการทรุดลง จนต้องขายกิจการบางส่วนให้แกร็บ   ●