May 4, 2018
Motortrivia Team (10019 articles)

สัปดาห์ของเซนน่า และ 10 โมเมนต์ที่ไม่อาจลืมของ ไอร์ตัน เซนน่า

Posted by : FascinatorFJ.

 

●   ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ “สัปดาห์ของเซนน่า” เนื่องจากวันที่ 1 พฤษภาคม 1994 เป็นวันที่ ไอร์ตัน เซนน่า ตำนานนักขับเอฟวันชาวบราซิล เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการแข่งขันที่สนามอิโมล่า ถึงแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเกินกว่า 20 ปี แล้ว แต่ความทรงจำต่อสุดยอดตำนานคนนี้ยังมิอาจลืมเลือนไปจากใจแฟนๆ

●   ในช่วงอาชีพนักแข่งเอฟวัน 10 ปี ของ เซนน่า นั้น เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่อัดแน่น ทั้งการคว้าแชมป์โลก ทำสถิติ ต่อสู้อย่างหนักหน่วงกับคู่แข่งที่มีฝีมืออันสุดยอด และนี่คือ 10 โมเมนต์ ที่เราได้เลือกมา

 

10. เจแปนนีสกรังด์ปรีซ์ 1990

●   น่าจะเป็นความทรงจำที่ติดตาแฟนๆ ยุคเก่าหลายๆ คน แต่มันออกจะเป็นความทรงจำไปในทางที่ไม่ดีสักเท่าไหร่ เซนน่าและคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง อแลง พรอสต์ กลับมาแข่งขันกันในรายการเจแปนนีสกรังด์ปรีซ์ ที่ซึ่งในปีก่อนนั้นพวกเขาแข่งกันอย่างดุเดือดจนชนกันเองในขณะที่เป็นเพื่อนร่วมทีมกัน ในปีนี้พวกเขาอยู่คนละทีมกัน และสถานการณ์ก็พลิกกลับจากปีก่อนหน้านั้น ปีก่อนพรอสต์มีคะแนนนำเซนน่า แต่ในปีนี้เซนน่ามีคะแนนนำพรอสต์

●   มีประเด็นก่อตัวตั้งแต่ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น เมื่อเซนน่าเรียกร้องว่าตำแหน่งโพลนั้นควรจะอยู่ฝั่งสะอาดของกริด เซนน่าและ แกร์ฮาร์ด แบร์เกอร์ ได้เข้าพบสจ๊วตเพื่อให้แก้ไขในจุดนี้ แต่ก็ถูกปฏิเสธจาก ฌอง มารี บาเลสเตร ประธาน FISA ในขณะนั้น เซนน่าโกรธมากและได้ให้คำมั่นสัญญาหลังได้ฟังการตัดสินใจของ FIA ว่า หากพรอสต์ชิงสตาร์ทขึ้นนำเขาได้ พรอสต์จะไม่มีทางเข้าโค้งแรกได้ เพราะเขาจะไปอยู่ตรงนั้นและทำทุกอย่างเพื่อชิงโค้งแรกจากพรอสต์โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา และในวันแข่งขันเขาก็ทำเช่นนั้นจริงๆ โดยไม่ยกคันเร่งและชนกับพรอสต์จนต้องออกจากการแข่งขันทั้งคู่ ทำให้เซนน่าคว้าแชมป์โลกในปีนั้นไป


9. มีเรื่องมีราวกับชูมัคเกอร์

●   เป็น 2 นักขับยอดฝีมือ ที่ต้องมาเป็นคู่แข่งกันและแข่งกันอย่างหนักหน่วงเสียด้วย โดยเหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ปี 1992 ที่ มิคาเอล ชู มัคเกอร์ นักแข่งเยอรมันในวัยหนุ่มเริ่มต้นการแข่งขันเต็มฤดูกาลเป็นครั้งแรก

●   ความไม่ลงรอยกันเริ่มต้นในการแข่งขันบราซิเลียนกรังด์ปรีซ์ เมื่อชูมัคเกอร์ต่อว่าเซนน่าถึงการขับที่ไม่คงเส้นคงวา โดยนักขับบราซิเลียนได้ออกมาโต้ตอบว่ารถของเขามีปัญหาเครื่องยนต์

●   หลังจากนั้นชูมัคเกอร์ก็พบเจอกับความเกรี้ยวกราดของเซนน่า เมื่อนักแข่งเยอรมันชนท้ายนักแข่งบราซิเลียนจนออกจากการแข่งขันที่ฝรั่งเศส ในช่วงที่มีธงแดงขึ้น เซนน่าได้เข้าไปพูดคุยกับชูมัคเกอร์ด้วยความเย็นยะเยือกแกมประจานต่อหน้ากล้องที่กำลังถ่ายทอดสดไปทั่วโลก “ก่อนที่นายจะทำอะไรไม่เข้าท่าแบบที่บราซิล ฉันจะบอกนายไว้ก่อน ถ้านายมีปัญหาให้เดินเข้ามาหาฉัน แต่อย่าทำอะไรแบบนั้นอีก”


8. ปะทะคารมกับสจ๊วต

●   หลังจากเหตุการณ์เจแปนนีสกรังด์ปรีซ์ 1990 สนามต่อมาที่แอดิเลด เซนน่าก็ได้มีการปะทะคารมกับรุ่นใหญ่ เซอร์ แจ็คกี้ สจ๊วต ตำนานแชมป์โลกเอฟวัน 3 สมัย สจ๊วตนั้นกล่าวว่า เซนน่ามีการปะทะกับนักแข่งคนอื่นมากกว่าแชมป์โลกคนก่อนๆ ทุกคนรวมกัน นั่นจึงทำให้นักแข่งบราซิเลียนตอบโต้กลับอย่างรุนแรง “ผมพบว่ามันน่าทึ่งที่คุณพูดอะไรแบบนี้นะสจ๊วต เพราะว่าคุณนั้นมีประสบการณ์ คุณรู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับการแข่งขัน”

●   หลังจากนั้นวาทะเด็ดของเซนน่าก็ได้เกิดขึ้นในการตอบคำถาม “ถ้าคุณไม่ยอมมุดช่องแซงที่มีอยู่ คุณก็ไม่ใช่นักแข่งรถ”


7. บดล้อกับแมนเซล

●   การที่เซนน่าถูกแซงนั้นเป็นเรื่องที่หายาก แต่ครั้งหนึ่งเขาได้มีการแบทเทิลและถูกแซงโดย ไนเจล แมนเซล ในการแข่งขันสแปนิชกรังด์ปรีซ์ 1991

●   มันเป็นการแย่งอันดับ 2 กันระหว่างเซนน่าและแมนเซล ท่ามกลางสภาพแทร็คกึ่งเปียกกึ่งแห้ง แมนเซลชิงออกจากโค้งสุดท้ายได้ดีกว่าและขึ้นมาตีคู่เซนน่าบนทางตรงหน้าพิทเลน ก่อนที่จะแซงไปได้ในโค้งแรก มันแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนในการคุมรถของทั้งคู่เป็นอย่างมาก จากความเร็วสุดทางตรงตรงนั้น 320 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยที่บี้ล้อห่างกันไม่ถึงนิ้ว และต้องเบรกอย่างหนักลงมาเกียร์ 2 ในสภาพแทร็คกึ่งเปียกกึ่งแห้ง นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า เซนน่านั้นแข่งขันอย่างหนัก แต่ก็แฟร์ได้ถ้าหากเขาต้องการ


6. เจแปนนีสกรังด์ปรีซ์ 1988

●   ปีแห่งแชมป์โลกครั้งแรกของเซนน่าที่ได้มาแบบต้องไปไล่ไขว่คว้า เขาจะเป็นแชมป์โลกทันทีหากเขาชนะในวันนี้ แต่แล้วเขากลับมีปัญหาในการสตาร์ทและหล่นไปถึงอันดับ 8 ในรอบแรก อย่างไรก็ตามฝนเริ่มลงเม็ดลงมาบนแทร็ค และมันก็เข้าทางสายลุยฝนอย่างเขา เซนน่าไล่พรอสต์ทันในรอบที่ 28 และแซงขึ้นไปได้ในระหว่างที่ทั้งคู่กำลังไล่แบ็คมาร์คเกอร์ ซึ่งมันเป็นการกลับมาคว้าชัยชนะพร้อมแชมป์โลกได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว


5. บราซิเลียนกรังด์ปรีซ์ 1991

●   จะมีอะไรดีไปกว่าการคว้าชัยชนะในบ้านท่ามกลางแฟนๆ ที่ขนกันมาเชียร์อย่างล้นหลาม อย่างไรก็ตามชัยชนะในบ้านเกิดที่บราซิลของเซนน่านั้นไม่ได้มาง่ายดายเสียทีเดียว

●   ในปี 1991 เขาได้กลายเป็นแชมป์โลก 2 สมัย ไปแล้ว แต่… เขากลับยังไม่สามารถคว้าชัยชนะในบ้านเกิดได้เลย และกว่าจะได้มานั้นเรียกได้ว่าเลือดตาแทบกระเด็นกันเลยทีเดียว แมนเซลนั้นไล่เซนน่าเกือบตลอดการแข่งขัน แต่แล้วนักแข่งสหราชอาณาจักรฯ ก็เกิดปัญหาและรีไทร์ไป ทำให้เซนน่านำห่าง ริคคาร์โด พาเทรซี ถึง 40 วินาที สถานการณ์ดูเหมือนจะเข้าข้างเขา แต่แล้วรถของเขาก็เกิดปัญหาเกียร์ค้างอยู่ที่เกียร์ 6 และนั่นทำให้พาเทรซีขยับเข้ามาใกล้เขารอบละ 6 วินาที

●   ถ้าหากการที่เกียร์ค้างยังเลวร้ายไม่พอ เซนน่าต้องพบกับฝนที่เริ่มกระหน่ำลงมา เขางัดทุกสกิลที่เขามีติดตัวออกมาใช้จนหมดสิ้น และเขาก็คว้าชัยชนะไปได้ในที่สุด ในสภาพที่ตะคริวกินลุกออกจากรถไม่ได้ไปพักใหญ่เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามเรี่ยวแรงของเขาก็กลับมามากพอที่จะยกถ้วยรางวัลต่อหน้าแฟนๆ เจ้าถิ่นให้ชื่นชมด้วยความปิติได้


4. โมนาโคกรังด์ปรีซ์ 1984

●   เซนน่ามาถึงวงการเอฟวันในปี 1984 ด้วยชื่อเสียงที่มีอย่างพรั่งพรูจากซีรีย์จูเนียร์ และไม่ต้องรอช้า เขาก็ตอกย้ำว่าชื่อเสียงดีกรีที่เขาได้มานั้นไม่ใช่ของปลอมแต่อย่างใดด้วยการเกือบคว้าชัยชนะครั้งแรกได้ตั้งแต่สนามที่ 5 ของการแข่งขันของเขา ในรถที่ไม่มีโอกาสชนะเลยอย่างโทลแมน

●   เรารู้กันเป็นอย่างดีว่าเซนน่าคือปรมาจารย์แห่งสายฝน และนี่คือสนามแรกที่เขาแสดงความเป็นปรมาจารย์ออกมา เขาไล่แซง นิกิ เลาด้า แชมป์โลก 3 สมัย ได้อย่างง่ายดาย และไล่พรอสต์ผู้นำเข้าไปเรื่อยๆ ใน 4 รอบสุดท้าย ก่อนที่ธงแดงจะขึ้นยุติการแข่งขันเนื่องจากฝนที่ลงเม็ดหนาขึ้นเรื่อยๆ เซนน่าไล่ระยะห่างจาก 21 วินาที เหลือเพียง 7 วินาที และถึงแม้ว่าเขาจะไม่ชนะในวันนั้น แต่โลกก็ได้รู้จัก “เวทมนต์ของเซนน่า” ในสายฝนนับตั้งแต่นั้นมา


3. โปรตุกีสกรังด์ปรีซ์ 1985

●   มันคือชัยชนะครั้งแรกของเซนน่าที่มาท่ามกลางสายฝน ไม่น่าแปลกใจเลยใช่ไหม?

●   มันเป็นเพียงสนามที่ 2 ที่เขาแข่งขันในสังกัดโลตัส และไม่รอช้า ในการแข่งขันที่โปรตุเกสซึ่งมีฝนเทลงมาอย่างหนัก เซนน่าซึ่งสตาร์ทจากตำแหน่งโพลก็นำการแข่งขันทุกรอบจนกระทั่งเข้าเส้นชัย มีเพียง มิเคเล อัลโบเรโต้ คนเดียวเท่านั้นที่จบการแข่งขันในรอบเดียวกับเซนน่า และมีเพียงอัลโบเรโต้กับพรอสต์ที่ทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุดอยู่ในวินาทีเดียวกับเซนน่า และเท่ากับว่านี่คือแกรนด์สแลมครั้งแรกของเซนน่าด้วย


2. การควอลิฟายที่โมนาโค 1988

●   ได้รับการยอมรับว่าเป็นรอบควอลิฟายที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล สำหรับการควอลิฟายของเซนน่าที่โมนาโค ซึ่งทิ้งห่างอันดับ 2 ที่เป็นเพื่อนร่วมทีมอย่างพรอสต์ไปถึง 1.427 วินาที หลังจบควอลิฟายเขากล่าวว่า “ผมรู้สึกเหมือนกับขับโดยสัญชาตญาณ ผมนั้นตกลงสู่มิติที่แตกต่าง ผมอยู่ในอุโมงค์ ลึกลงไปเกินกว่าจิตใต้สำนึก บางจังหวะผมรู้สึกเหมือนถูกตัดขาดออกจากทุกๆ สิ่ง”

●   “ในวันนั้นผมได้พูดกับตัวเองว่า นั่นคือเต็มที่ของเรา ไม่มีช่องว่างเหลือสำหรับสิ่งอื่นใด ผมไม่เคยได้สัมผัสความรู้สึกนั้นอีกเลย”


1. ยูโรเปี้ยนกรังด์ปรีซ์ 1993

●   หากว่าการควอลิฟายที่โมนาโค 1988 คือการควอลิฟายที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล ยูโรเปี้ยน 1993 ก็คือการซิ่งรอบแรกที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล

●   จากกริดที่ 4 เซนน่าในรถแม็คลาเรนถูกเบียดจากชูมัคเกอร์และหล่นไปยังอันดับ 5 ก่อนที่เขาจะชิงครอสไลน์เอาอันดับคืนจากชูมัคเกอร์ในทันที หลังจากนั้นเขาไล่แซง คาร์ล เวนด์ลิงเกอร์ จากด้านนอกของโค้งแครนเนอร์ขึ้นไปยังอันดับ 3 และแซง ดามอน ฮิลล์ ทันทีที่ถึงจุดเบรกอีกครั้งขึ้นไปยังอันดับ 2 ในตอนนี้เหลือเพียงพรอสต์เท่านั้นที่อยู่หน้าเขา

●   วิ่งดิ่งลงเขามายัง เมลเบิร์น ชิเคน เซนน่าเสียบในแซงพรอสต์ขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นอีก 1 ชั่วโมง 50 นาที เขาก็ชนะการแข่งขัน โดยมีฮิลล์ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยระยะห่าง 1 นาที 23 วินาที และน็อครอบตั้งแต่อันดับ 3 ซึ่งก็คือพรอสต์ลงไป ตอกย้ำความเป็นเทพเจ้าแห่งสายฝนด้วยรถแม็คลาเรนที่เรียกได้ว่าแทบจะไร้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยเหลือใดๆ เมื่อเทียบกับวิลเลียมส์ของพรอสต์และฮิลล์   ●


ที่มา :
•   www.motorsport.com.