September 19, 2018
Motortrivia Team (10019 articles)

Ford และ ม. Vanderbilt เผยลดการจราจรติดขัดได้ด้วย Adaptive Cruise Control

Press Release

 

●   ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ เผยผลสาธิตให้เห็นว่า ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ หรือ Adaptive Cruise Control (ACC) ที่มีใช้งานอยู่ในรถเกือบทุกรุ่นของฟอร์ด สามารถช่วยลดปัญหาจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทีมนักวิจัยได้จัดการสาธิตที่เชื่อว่าเป็นการทดลองที่ใหญ่และเสมือนจริงที่สุดเท่าที่เคยมีการทดลองในลักษณะนี้ แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถลดปัญหาจราจรแบบ “Phantom traffic jam” ที่ไม่ควรเกิดขึ้นได้

●   การทดลองมีขึ้นที่สนามทดลองของฟอร์ดในเมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ใช้รถที่ถูกเลือกมาแบบสุ่ม 36 คน ทดลองขับรถในสภาวะเดียวกับสภาพการจราจรบนไฮเวย์ปกติ โดยใช้ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (ACC) ที่สามารถเบรคและเร่งความเร็วตามรถคันหน้าโดยไม่สร้างความเหนื่อยล้าให้แก่ผู้ขับ ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ใช้รถดังกล่าวยังต้องลองแบบทดสอบเดียวกันแต่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี ACC ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะต้องเบรคและเร่งความเร็วด้วยตัวเอง

●   ผลปรากฏว่า รถยนต์ที่ใช้ระบบ ACC ช่วยให้การเบรคแบบกะทันหันมีความนุ่มนวลกว่ารถยนต์ที่ผู้ขับเป็นคนเหยียบเบรคเอง แม้ว่ารถยนต์ในการทดลองจะมีเพียง 1 ใน 3 ที่มีระบบ ACC แต่ผลที่ออกมาก็แสดงให้เห็นว่า ระบบนี้สามารถช่วยลดปัญหาจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

●   “แผนการท่องเที่ยวบนถนนที่น่าสนุกสนานของครอบครัวจะกลายเป็นความน่ารำคาญภายในพริบตาเมื่อคุณต้องเจอกับการจราจรที่เชื่องช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณรู้ว่ามันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะต้องมาติดอยู่แบบนี้”  ไมเคิล เคน (Michael Kane) ผู้ดูแลและพัฒนาเทคโนโลยี Ford Co-Pilot360 กล่าว “เราอยากให้ผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดได้ลองใช้ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติในการท่องเที่ยวครั้งหน้า โดยเราหวังว่าเทคโนโลยีอันชาญฉลาดของเราจะช่วยให้การเดินทางของคุณง่ายขึ้น”

●   “นักวิจัยการจราจรและวิศวกรได้พยายามคิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดมานานกว่าหลายปี ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่สามารถสื่อสารกันได้ หรือระบบที่ทำให้สามารถคาดการณ์สภาพการจราจรบนถนนข้างหน้าได้” แดเนียล เวิร์ค (Daniel Work) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์กล่าว “การทดลองนี้เป็นโอกาสที่ดีในการทำความเข้าใจว่าระบบช่วยขับขี่ที่มีอยู่ในรถยนต์ในตลาดจะสามารถส่งผลดีต่อการจราจรได้อย่างไร”

●   แดเนียล และ ด็อกเตอร์ ราฟาเอล สเติร์น (Raphael Stern) นักวิจัยในทีมได้ร่วมกันทำงานโดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation) โดยทำการทดสอบว่า เทคโนโลยีอัจฉริยะจะช่วยค้นหาหนทางใหม่ๆ ในการบรรเทาปัญหาจราจรรวมไปถึงการประหยัดเชื้อเพลิงได้อย่างไร ทั้งคู่วางแผนที่จะตีพิมพ์ผลการทดลองของฟอร์ดในบทความวิชาการที่กำลังจะเผยแพร่ในเร็วๆ นี้

ปัญหาที่ไร้ต้นตอของ phantom traffic jam

●   นอกเหนือจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า การขับรถแบบไม่มีสมาธิ พฤติกรรมการขับที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนการเบรคโดยไม่จำเป็น เช่น การที่รถคันแรกเบรคก็จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ทำให้รถคันหลังเบรคต่อๆ กันไปเรื่อยๆ จะส่งผลให้การจราจรต้องหยุดชะงัก

●   “ปัญหาจราจรแบบ Phantom traffic jam ต่างจากอุบัติเหตุหรือการก่อสร้าง เพราะการจราจรติดขัดแบบนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีสาเหตุ” เวิร์ค อธิบาย “พฤติกรรมการขับของชาวเอเชีย ส่งผลให้การจราจรติดขัดคิดเป็นเวลาที่เพิ่มขึ้น 52 นาทีโดยเฉลี่ยในแต่ละวัน หรือคิดเป็นจำนวน 13 วันที่เพิ่มขึ้นในหนึ่งปี”

●   ปีนี้ฟอร์ดได้เปิดตัวเทคโนโลยี Ford Co-Pilot360 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในกลุ่มประเภทช่วยเหลือผู้ขับ หรือ ADAS (Advanced driver-assistance systems) ซึ่งจะเป็นหนึ่งในมาตรฐานในการช่วยให้ผู้ใช้รถสามารถฟันฝ่าไปถึงจุดหมายได้ไม่ว่าสภาพการจราจรจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เทคโนโลยีใน Ford Co-Pilot360 จะประกอบด้วย:

(1) ระบบเบรคฉุกเฉินอัตโนมัติ ทำงานร่วมกับระบบตรวจจับคนเดินเท้าและผู้ที่กำลังขี่จักรยาน – automatic emergency braking with pedestrian detection
(2) ระบบตรวจจับรถในจุดบอด – blind spot information system
(3) ระบบรักษาช่องทางขับขี่ – lane keeping system
(4) กล้องมองหลัง – rear backup camera
(5) ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัตโนมัติ – auto high-beam headlamps

●   สำหรับประเทศไทยนั้น รุ่นรถที่ติดตั้งเทคโนโลยีนี้ได้แก่ Ford Ranger และ Ford Everest

ACC และการแก้ไขปัญหา Phantom traffic

●   ในการทดลอง ฟอร์ดและ ม. แวนเดอร์บิลท์ ใช้ถนน 3 เลนที่ในแต่ละเลนจะมีรถยนต์ 12 คันวิ่งอยู่ ตัวถนนถูกออกแบบให้เป็นการจราจรแบบปิดรูปวงรีที่จำลองมาจากไฮเวย์ รถคันแรกของแต่ละเลนจะลดความเร็วลงจาก 60 เหลือ 40 ไมล์ต่อชั่วโมง เพื่อเลียนแบบการรบกวนบนท้องถนน

●   ผู้ขับรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ จะทำการเบรคแรงกว่ารถคันหน้า ซึ่งส่งผลให้เกิดคลื่นการเบรคต่อไปเรื่อยๆ ในเลนนั้นๆ อีกนัยหนึ่งก็คือ การขับรถโดยไม่มีระบบ ACC จะทำให้การเบรคมีความแรงมากขึ้นกว่าเดิม ในบางกรณีอาจทำให้การจราจรช้าลงจนกลายเป็นการขยับไปอย่างช้าๆ ได้ในที่สุด

●   การทดลองดังกล่าวได้ทำซ้ำอีกครั้ง… ครั้งนี้รถยนต์ทุกคันใช้ระบบ ACC โดยตั้งค่าไว้ที่ 62 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่ารถคันหน้าเล็กน้อยเพื่อให้มั่นใจว่ารถยนต์อยู่ในย่านความเร็วเดียวกัน จากการทดลองนี้ ACC สามารถแสดงประสิทธิภาพได้เหนือกว่าการขับของมนุษย์ในแทบทุกการเบรค

●   ในรอบหนึ่ง ระบบ ACC สามารถหยุดปัญหาที่เกิดจากรถคันแรกๆ ชะลอความเร็ว ที่ส่งผลให้รถคันหลังๆ ต้องชะลอตามจนเกิดภาวะลูกโซ่ได้ โดยรถคันสุดท้ายของขบวนมีการลดความเร็วลงเพียง 5 ไมล์ต่อชั่วโมงเท่านั้น แทนที่จะต้องหยุดนิ่ง

●   “การที่เราได้เห็นระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัตินี้สามารถลดปัญหาการจราจรได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจเป็นอย่างมาก” เวิร์ค กล่าว “ถึงแม้เราจะรู้ว่าความสำเร็จนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นในทุกกรณี แต่มันก็ให้ความหวังว่าระบบนี้สามารถช่วยเหลือผู้ขับขี่ได้จริงในสภาพการขับขี่ที่เกิดขึ้นในทุกวัน”

●   ทีมวิจัยยังได้ลองลดจำนวนของพาหนะที่มีระบบ ACC ลงเหลือเพียง 33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจุดที่นักวิจัยเชื่อว่าน้อยที่สุดที่จะสามารถลดปัญหาการจราจรแบบ Phantom traffic ได้ และผลลัพธ์ที่ได้ก็คล้ายคลึงกับการทดลองที่รถยนต์ทุกคันใช้งานระบบ ACC

●   “ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ ไม่เคยเหนื่อยหรือถูกรบกวน ระบบนี้ยังคงมองไปที่รถยนต์คันข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ” เคน กล่าว “นอกจากนั้น ระบบนี้ยังถูกโปรแกรมให้เหลือพื้นที่ระหว่างรถอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการตอบสนองต่อความเร็วและระยะห่างกับรถยนต์คันหน้าได้ดีขึ้น”

●   อย่างไรก็ตาม เวิร์ค ระบุว่า ในขณะที่ระบบอัตโนมัติสามารถทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ มนุษย์ก็ยังคงมีข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าระบบเครื่องยนต์ นั่นก็คือทัศนวิสัยที่สามารถมองเห็นรถยนต์ได้ไกลกว่านั่นเอง ซึ่งทำให้มนุษย์ยังสามารถตอบสนองต่อการเบรคหรือลดความเร็วได้แม่นยำกว่า

●   “สิ่งหนึ่งที่เราได้จากการทดลองทั้งหมดนี้ก็คือ การที่ทุกคนได้ประโยชน์จากการฝึกการขับที่ดี เว้นระยะห่างระหว่างรถคันข้างหน้าอย่างเพียงพอ และตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่นี้ก็ช่วยให้การจราจรราบรื่นขึ้น และช่วยให้เราทุกคนไปถึงที่หมายได้ตรงเวลา” เคน กล่าวปิดท้าย