September 29, 2018
Motortrivia Team (10170 articles)

ก่อนถึงบุรีรัมย์ : อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 ครั้งแรกในประเทศไทย (ตอน 1)

Posted by : Man from the Past

 

●   การแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบ MotoGP สนามที่ 15 ของฤดูกาล 2018 ภายใต้ชื่อรายการ PTT Thailand Grand Prix 2018 กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า วันนี้เราจะมาไล่เรียงดูความเป็นมาของการแข่งขัน MotoGP ซึ่งเป็นรายการมอเตอร์สปอร์ตระดับโลก และมีชื่อเสียงน้องๆ รายการ Formula One Grand Prix ไปด้วยกัน

●   MotoGP เป็นรายการแข่งขันที่ไม่น้อยหน้ารถสูตรหนึ่ง และยังเป็นรายการแข่งกีฬาที่มีชื่อเสียง มีหน้ามีตาเท่าๆ กับรายการ Open Championship สำหรับกีฬายอดนิยมอย่างเทนนิสหรือกอล์ฟรายการยักษ์ ด้วยเหตุนี้คนไทยที่เป็นคอมอเตอร์สปอร์ตทุกคนจึงไม่ควรจะพลาดการชมรายการนี้ ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2561 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์… ใครจะขี่บิ๊กไบค์ไปชม ก็น่าจะเพิ่มรสชาติได้มากขึ้น ไปแล้วก็อย่าลืมไปชมชีวิตยามราตรีที่ เซราะกราว วอล์คกิ้ง สตรีท ที่กำลังเป็นถนนคนเดินติดอันดับโลกด้วย

●   Grand Prix motorcycle racing หรือการแข่งรถจักรยานยนต์รางวัลใหญ่ คำนี้เป็นชื่อการแข่งรถจักรยานยนต์ชั้น premier class หรือชั้นสูงสุดที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ Federation Internationale de Motocyclisme หรือ สหพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ (FIM) ในอดีตคือกลุ่มนักกีฬาจักรยานยนต์ที่รวมตัวกันเป็นสโมสร และร่วมกันจัดรายการแข่งขันเพื่อชิงแชมป์ระดับโลก ซึ่งโลกของเรามีการแข่งรถมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว

●   ต่อมาเมื่อการแข่งขยายจากระดับท้องถิ่น, ประเทศ จนเป็นระดับนานาชาติ ก็มีการเติมคำว่า Grand Prix ที่แปลว่า “รางวัลใหญ่” เข้าไปเพื่อเพิ่มความสำคัญ และเพื่อให้การแข่งขันมีความเป็นทางการ ได้รับการยอมรับระดับสากล จากนั้นปี 1938 จึงมีการก่อตั้งสหพันธ์ภายใต้ชื่อ Federation Internationale des Clubs Motocyclistes หรือสหพันธ์สโมสรจักรยานยนต์นานาชาติ (FICM) โดยริเริ่มจัดรายการแข่ง European Championship เป็นอันดับแรก… แต่โชคไม่อำนวย เพราะปีต่อมาเผอิญเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอหลังสงครามสงบปี 1945 การจัดการแข่งก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะโลกต้องเผชิญปัญหาขาดเชื้อเพลิง

●   ต้องรออีก 4 ปีหลัง จึงมีการเปลี่ยนชื่อสหพันธ์ และมีการจัดการแข่งที่ใช้ชื่อปัจจุบันโดยแบ่งออกเป็น 4 รุ่น ผู้ชนะเลิศรุ่น 500 ซีซี. ในการแข่งขันนัดประเดิมคือ Leslie Graham นักบิดสัญชาติชาวอังกฤษซึ่งใช้รถจักรยานยนต์ AJS ที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้นนั้น และยังดังเข้ามาในไทยด้วย

●   ตามมาด้วยรุ่น 350 ซีซี. ผู้ชนะเลิศคือ Freddie Frith นักบิดอังกฤษเช่นกัน เขาใช้รถ Velocette ซึ่งผลิตในสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกับ AJS ทว่าปัจจุบันได้ปิดตัวลงไปแล้ว ส่วนรุ่น 250 ซีซี. Bruno Ruffo นักบิดอิตาลี ได้ใช้ Moto Guzzi ที่ยังดังไม่รู้จบจนทุกวันนี้ และปิดท้ายด้วยรุ่น 125 ซีซี. Nello Pagani ใช้ Mondial รถจักรยานยนต์แบรนด์ดังของอิตาลีที่การผลิตได้รับการฟื้นฟูเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยนักบิด 3 คนหลังยังได้ครองตำแหน่งผู้ชนะเลิศระดับโลกประจำปี หรือแชมเปี้ยนโลกของรุ่น 350 ซีซี. รุ่น 250 ซีซี. และรุ่น 125 ซีซี.ตามลำดับด้วย

●   ในการแข่งขันปีแรก ยังมีการแข่งรถจักรยานยนต์แบบมีที่นั่งข้าง หรือ sidecar motorcycle ด้วย โดยมีคลาสย่อยแข่งขัยเพียงรุ่นเดียวคือ 600 ซีซี. ผู้ชนะเลิศคลาสนี้เป็น 2 นักบิดชาวอังกฤษ Eric Oliver กับ Denis Jenkinson รถที่ใช้เป็นรถ Norton รถตำนานอังกฤษที่เคยเข้ามาดังในสยามเช่นเดียวกับ AJS ซึ่งการแข่งรถจักรยานยนต์แบบมีที่นั่งข้างในรายการ MotoGP ได้รับการจัดอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี 1951 จึงยุติลง

●   เข้าสู่ทศวรรษ 1950 กับยุคของบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์สัญชาติอิตาลี นอกจาก Mondial และ Moto Guzzi จะรวบรางวัลชนะเลิศระดับโลกแล้ว ยังมี Gilera กับ MV Agusta ที่เข้ามาสร้างชื่อเช่นกัน เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีเป็นประเทศผู้นำการผลิตรถจักรยานยนต์ ตามมาด้วยอังกฤษ และเยอรมนี ทั้งนี้เราคงต้องพูดถึง MV Agusta ที่รวบตำแหน่งชนะเลิศโลกประจำปีทุกรุ่น ไล่ไปตั้งแต่ปี 1958 – 1960 รวม 3 ปีติดต่อกัน ในขณะที่ยึดครองตำแหน่งชนะเลิศโลกประจำปีรุ่น 500 ซีซี. นานถึง 17 ปี ตั้งแต่ปี 1958 ถึง 1974 ซึ่งนานแบบไม่น่าเชื่อจะมีใครทำได้

●   การรวบตำแหน่งแบบยึดครองบัลลังก์เช่นนี้ สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของอิตาลีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะอ่อนแอลงในต้นทศวรรษ 60 เมื่ออุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นโดดเด่นขึ้นมา…

●   ใครที่สนใจความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นควรศึกษา เพราะไม่ใช่แค่ผลิตเก่งเท่านั้นถึงจะครองตลาดได้ แต่ยังจะต้องออกแบบเก่ง สร้างภาพลักษณ์เก่ง โฆษณาเก่ง และประชาสัมพันธ์เก่ง ซึ่ง 3 กรณีหลังนี้วิธีดีที่สุดก็คือ ส่งรถไปลงแข่งรายการระดับโลก ไม่ใช่แค่แข่งกันเองในประเทศ หรือในภูมิภาค… อยากรุ่งต้องกล้าเข้าไปท้าชิงในเวทีโลก

●   ภายหลังการรุกคืบเข้าไปในสังเวียนระดับโลก ยักษ์ใหญ่รถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นฮอนด้า, ซูซูกิ หรือยามาฮ่า ต่างก็คว้าตำแหน่งผู้ชนะเลิศประจำปีของรายการ MotoGP ได้เป็นครั้งแรก โดยกวาดเรียบในรุ่น 125, 250 และ 500 ซีซี. ขณะที่ซูซูกิถือโอกาสเอาดีทางรถเล็กและเข้ายึดตำแหน่งชนะเลิศรุ่น 50 ซีซี. ยาวนาน หลังจากรุ่นนี้เริ่มมีการแข่งในปี 1962 จุดประสงค์ก็คือยกระดับรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก หรือรถสกู๊ตเตอร์ที่กำลังแพร่หลายไปยังอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่บรรดาแม่บ้านพากันค้นพบความสะดวกในการใช้รถมอเตอร์ไซค์เล็ก แทนจะต้องใช้รถยนต์คันที่ 2 ของครอบครัว ซึ่งมักเป็นรถมือสองที่เครื่องยนต์ขัดข้องประจำ แถมยังใช้น้ำมันเปลืองอีกต่างหาก

●   ฝั่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ธรรมดา ในช่วงนั้นประเทศในแถบนี้กำลังรุ่งขึ้นมา และคนที่เริ่มลืมตาอ้าปากต่างก็อยากมีรถจักรยานยนต์บ้าง… ได้เท่านี้พอแล้ว ไม่ต้องเสียใจไปที่ไม่ได้ครอบครองรถยนต์เหมือนบรรดาเสี่ยใหญ่…

●   ครั้นถึงปลายทศวรรษ 60 ความสนใจของแฟนมอเตอร์ไซค์ก็พลิกจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ขับ หรือนักแข่ง นั่นเพราะในช่วงนี้ Giocomo Agostini นักแข่งชาวอิตาลีได้ฉายแสงการเป็นซูเปอร์นักบิดเต็มที่ด้วยการคว้าตำแหน่งชนะเลิศโลกได้ถึง 10 ครั้งจากจำนวนทั้งหมด 15 ครั้ง โดย 3 ฤดูกาลติดต่อกัน เขายังครองตำแหน่งพร้อมกันในรุ่น 350 และ 500 ซีซี. ด้วย

●   ยุคทองของ Agostini เริ่มขึ้นปี 1968 ทีมแข่งที่เขาสังกัดก็คือ MV Agusta และลงแข่งจนถึงปี 1977 จึงอำลาวงการ แต่ชื่อก็ยังได้รับการจดจำอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

●   ปลายทศวรรษ 60 ถึงช่วงเวลาที่บรรดาบริษัทรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นพากันถอนตัว เหลือเพียงยามาฮ่าเพียงเจ้าเดียว เนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายในการทำทีมแข่งที่พุ่งขึ้นตลอดเวลา… เพื่อแก้ปัญหานี้ FIM ได้แก้กฏจำกัดเครื่องยนต์สำหรับรถรุ่น 50 ซีซี. เอาไว้ที่สูบเดี่ยว รุ่น 125 กับ 250 ซีซี. อยู่ที่ 2 สูบ และรุ่น 350 กับ 500 ซีซี. จบที่ 4 สูบ

●   ผลก็คือ การผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะการแข่งขันรุ่นต่างๆ ระหว่างบริษัทรถจักรยานยนต์ยุโรป ซึ่งได้แก่ Bultaco, Kriedler, Morbidelli, MV Agusta กับบริษัทรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งได้แก่ Kawasaki, Suzuki และ Yamaha และบริษัทรถจักรยานยนต์อเมริกาเหนือ ซึ่งจะเป็นบริษัทอะไรไปไม่ได้นอกจาก Harley Davidson ที่ยึดครองตลาดบิ๊กไบค์มาตลอดช่วงอายุ

●   ในกรณีบริษัทญี่ปุ่น พวกเขาสามารถทำลายการยึดครองชัยชนะในรุ่นสูงสุดของ MV Agusta ได้เมื่อถึงกลางทศวรรษ 70 และนับแต่นั้นมาสังเวียน MotoGP ก็ตกเป็นของบริษัทรถจักรยายนต์ญี่ปุ่นมาจนทุกวันนี้

●   ปลายทศวรรษ 70 มีการเคลื่อนไหวของฮอนด้าในช่วงที่กลับเข้ามาแข่งขันในรายการ MotoGP และพอถึงปี 1983 ฮอนด้าก็ได้สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับแบรนด์ตัวเองด้วยการเปลี่ยนเครื่องยนต์จากแบบ 4 จังหวะมาเป็น 2 จังหวะ นำโดยเครื่องยนต์ NS500 สำหรับรถรุ่น 500 ซีซี. ผลก็คือการคว้าตำแหน่งชนะเลิศโลกได้เป็นครั้งแรกในปีดังกล่าว รวมทั้งเป็นครั้งแรกสำหรับฮอนด้าหลังกลับมาลงแข่งอีกครั้งด้วย

●   ทั้งนี้ในฤดูกาลก่อนหน้า การแข่งรุ่น 350 ซีซี. ได้ยุติลงหลังจากที่มีการแข่งขันมาอย่างยาวนานถึง 34 ปี เหลือเพียงรุ่น 50, 125, 250 และ 500 ซีซี. และสำหรับรุ่น 50 ซีซี. นั้น ในปี 1984 ยังมีการถูกทดแทนด้วยรุ่น 80 ซีซี. เช่นกัน… อย่างไรก็ดี การแข่งขันในรุ่นนี้มีขึ้นเพียง 6 ฤดูกาล โดยใน 4 ฤดูกาล ตำแหน่งสูงสุดระดับโลกตกเป็นของผู้ผลิตรถแบรนด์ Derbi แบรนด์รถมอเตอร์ไซค์สัญชาติสเปนอายุ 96 ปี (ก่อตั้งในช่วงปี 1922 และมีสำนักงานใหญ่ที่บาร์เซโลน่า)

●   ในจำนวนดังกล่าว 3 ฤดูกาลเป็นชัยชนะที่เกิดจากนักบิดฝีมืออมตะชาวสเปน ที่ชื่อ Jorge Martinez ซึ่งหลังเลิกแข่งปี 1997 ได้ก่อตั้งและบริหารทีม Aspar ที่สร้างนักบิดดังหลายคนในเวลาต่อมา ทั้งยังมีบทบาทในการส่งเสริมกีฬาแข่งรถมอเตอร์ไซค์อย่างต่อเนื่อง

●   เวลาเราพูดถึงทีมแข่งกับนักแข่ง พวกเขามักเป็นคนยุโรปหรือคนญี่ปุ่น ทำไมจึงไม่เคยมีชื่อนักแข่งอเมริกันปรากฏขึ้นมา? ทั้งๆ ที่การแข่งรถเป็นกีฬาใหญ่ในสหรัฐฯ โดยมีการแข่งรถทุกประเภทรายการต่างๆ ทุกสัปดาห์ทั่วประเทศ… เมื่อถึงทศวรรษ 80 และ 90 ท่ามกลางการขับเคี่ยวอย่างดุเดือดระหว่างฮอนด้า, ซูซูกิ และยามาฮ่า มีการทำศึกครั้งยิ่งใหญ่เช่นกันระหว่างดารานักแข่งชาวอเมริกัน 5 คน นั่นคือ Eddie Lawson, Randy Mamola, Freddie Spencer, Wayne Rainey และ Kevin Schwantz

●   ในเวลาเดียวกัน ค่ายรถมอเตอร์ไซค์ยุโรปนำโดย Derbi, Garelli และต่อมา Aprilia ต่างก็ทำศึกเช่นกันกับค่ายรถมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่น… เห็นหรือไม่ รายการ MotoGP นั้นยิ่งใหญ่และมีรสชาติขนาดไหน มันเป็นการแข่งขันทั้งคน รถ และบริษัท ซึ่งเป็นการแข่งขันกันแบบหลายสัญชาติทั่วโลกเช่นเดียวกับมอเตอร์สปอร์ตรายการยักษ์อื่นๆ

●   ปลายทศวรรษ 90 หรือไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หนึ่งในนักแข่งรถจักรยานยนต์คนที่โด่งดังที่สุดคือ Mick Doohan นักบิดออสเตรเลียที่เป็นตำนานจากการคว้าชัยชนะรุ่น 500 ซีซี. ได้ถึง 5 ปีติดต่อกันให้กับตัวเองและค่ายฮอนด้า… น่าเสียดายที่นักบิดคนนี้ต้องยุติอาชีพอย่างกระทันหันในปี 1999 หลังเกิดอุบัติเหตุในสนามแข่งจนขาหัก และยังเป็นอุบัติเหตุครั้งที่ 2 ต่อจากครั้งแรกในปี 1992 ในสนามแข่งเช่นกัน ซึ่งในคราวนั้นขาขวาของเขาเกือบถูกตัดขาด

●   พ้นทศวรรษ 90 ก็คือการก่อกำเกิดของการแข่งขันรายการ MotoGP ยุคใหม่ อันเป็นยุคที่มีการแข่งรถเครื่องยนต์ 990 ซีซี. 4 จังหวะ ซึ่งมีความจุพอๆ กับเครื่องยนต์ของรถยนต์เล็ก กับยุคที่ถูกประเดิมด้วยการเข้ามาของซูเปอร์สตาร์อย่าง Valentino Rossi นักบิดหนุ่มชาวอิตาลีฉายา The Doctor ที่ชื่อเสียงครองใจวัยรุ่นทั้งโลก (ชนิดที่เรียกว่าไม่แพ้นักร้องนักแสดงที่ชื่อเสียงดังในระดับเท่าๆ กัน)

●   ยุคใหม่ของการแข่งรายการ MotoGP กำลังคืบหน้าอย่างไร? ขอปัดไปเป็นตอนต่อไปครับ

●   อย่างไรก็ดี ขอทิ้งท้ายเรื่องราวเกี่ยวกับการแข่งรถจักรยานยนต์รายการสุดยอดรายการนี้ ที่เราไม่อยากให้จบลงไปง่ายๆ เราอยากให้ไทยเป็น super-sport country หรือประเทศสุดยอดด้านกีฬากับเขาบ้าง ซึ่งรวมถึงการเป็นสังเวียนรองรับการแข่งขันกีฬาระดับโลกประเภทต่างๆ และรายการต่างๆ ด้วย

●   เมื่อไหร่ไทยจะรุ่งเรืองอย่างสมัยสุโขทัยและอยุธยา? สมัยที่สยามมีการติดต่อเชื่อมความสัมพันธ์และค้าขายกับหลายประเทศในโลก… อย่าคิดไทยแลนด์ 4.0 จะต้องสะสมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่านั้น ความก้าวหน้าทางกีฬาก็เป็นเรื่องสำคัญ   ●


อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 บุรีรัมย์

•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 01.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 02.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 03.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 04.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 05.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 06.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 07.