October 1, 2018
Motortrivia Team (10069 articles)

ก่อนถึงบุรีรัมย์ : อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 ครั้งแรกในประเทศไทย (ตอน 3)

Posted by : Man from the Past

 

●   มาถึงตอนที่ 3 ของเรื่องราวเกี่ยวกับการแข่งขันจักรยานยนต์ชิงรางวัลใหญ่ MotoGP หรือ Grand Prix Motorcycle racing หรือในชื่อเต็มยศชนิดเป็นทางการ FIM Road Racing World Championship Grand Prix ของสหพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ ซึ่งในปีนี้ชื่อรายการอย่างเป็นการในบ้านเรา ยึดตามสปอนเซอร์หลักเหมือนกับสากล ซึ่งในที่นี้คือ PTT Thailand Grand Prix

●   ชื่อย่อ MotoGP ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้ ถูกนำมาใช้แทนคำว่า Grand Prix เมื่อปี 2002 หลังจากที่มีการเปลี่ยนกฏเครื่องยนต์ที่ใช้ในการแข่งรุ่น 500 ซีซี. หรือที่เรียกว่ารุ่น MotoGP เพื่อให้มีการนำเครื่องยนต์ 4 จังหวะเข้ามาใช้แทนเครื่องยนต์ 2 จังหวะในรุ่นนี้ ซึ่งทำให้จักรยานยนต์ที่ลงแข่งในรุ่นนี้มีความแรงยิ่งขึ้น และเพิ่มรสชาติให้กับการแข่งขันมากขึ้น

●   เดิมทีมีการกังวลว่า การใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะอาจจะสร้างปัญหาให้กับทีมแข่ง เนื่องจากมีความคุ้นเคยก่อนแล้วกับการโมดิฟายเครื่องยนต์ 2 จังหวะ และอาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนา แต่ปรากฏว่า ในปีต่อมาทุกทีมก็ต่างก็พร้อมใจกันติดตั้งเครื่องยนต์ 4 จังหวะให้กับรถรุ่น 500 ซีซี.

●   จากนั้นเหตุการณ์ที่ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์การแข่งรถ 2 ล้อเครื่องในช่วงหลังปี 1989 ซึ่ง ปีนี้เป็นปีสิ้นสุด 4 ทศวรรษของรายการแข่งจักรยานยนต์สุดยิ่งใหญ่รายการนี้ และปีถัดไปคือปี 1990 ก็คือปีเริ่มต้นรอบทศวรรษใหม่ที่ขณะนี้กำลังใกล้จะครบ 3 ทศวรรษ รวมแล้วมีการแข่งจักรยานยนต์รายการที่จัดโดยสหพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติมาแล้วใกล้ 70 ปี

●   หมายเหตุ : ต้องขออภัย ที่ตอนใกล้จบตอนที่แล้วเขียนผิดไปว่า การแข่งจักรยานยนต์รายการ MotoGP ได้ผ่านมาแล้ว 5 ทศวรรษ เพราะเผลอไปนับปี 1949 ซึ่งเป็นปีที่อยู่ในอีกทศวรรษทั้งๆ ที่อยู่แค่ปีเดียว

●   ปี 1990 มีการปรับกฏการจัดแถวในการออกสตาร์ท เพื่อลดช่องแข่งจาก 5 คันต่อ 1 ช่องให้เหลือ 4 คัน จากนั้นในปี 1992 ฮอนด้าได้นำจักรยานยนต์รุ่น NSR500 มาลงแข่งในรายการ พร้อมนำเสนอว่านี่เป็นจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ในระดับ big bang engine หรือเครื่องยนต์ที่จะสร้างความอลังการให้กับวงการ เช่นเดียวการกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพในจักรวาลกันเลยทีเดียว

●   และในปี 1993 ฮอนด้าก็ทำได้จริงๆ ในปีนี้ Shinichi Itoh นักบิดของทีมได้พา NSR500 วิ่งทำลายกำแพงความเร็วของได้เกิน 200 ไมล์ต่อชั่วโมง (หรือราว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) บนสนาม Hockenheimring ซึ่งใช้จัดการแข่งขัน German GP โดยที่สนามแห่งนี้ และรายการนี้ ยังไม่เคยมีมอเตอร์ไซค์คันไหนวิ่งได้เกินความเร็วดังกล่าว… ความสำเร็จนี้เกิดจากการผลิตกำลังของเครื่องยนต์ fuel-injected engine ที่เชื้อเพลิงถูกฉีดตรงเข้ากระบอกสูบ

●   นอกจากนี้ ในปีเดียวกันยังมีอีก 2 เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นได้แก่ การเสียชีวิตของ Nobuyuki Wakai นักบิดทีมซูซูกิ ระหว่างการซ้อมก่อนลงแข่งรายการ Spanish Grand Prix ที่สเปนในรุ่น 250 ซีซี. รวมแล้วตั้งแต่ปี 1972 ที่เป็นปีแรกที่มีการเสียชีวิตจนถึงปีดังกล่าว มีนักบิดมอเตอร์ไซค์ระดับโลกเสียชีวิตไปแล้ว 4 ราย และอุบัติเหตุที่ส่งผลให้ Wayne Rainey สุดยอดนักบิดอเมริกันเจ้าของสถิติแชมเปี้ยนรุ่น 500 ซีซี. 3 สมัยติดต่อกันถึงกับทุพลภาพ หลังการชนในสนาม Misano ประเทศญี่ปุ่น

●   ปี 1994 เป็นอีกครั้งที่มีนักบิดเสียชีวิต ครั้งนี้เป็น Simon Prior นักบิดชาวอังกฤษที่เป็นนักแข่งในตำแหน่งพ่วงข้างที่ขี่โดย Yoshisada Kumugaya อีกหนึ่งยอดนักแข่งจักรยานยนต์พ่วงข้างชาวญี่ปุ่น ทั้งคู่เป็นนักแข่งในสังกัดทีม LCR-ADM การเสียชีวิตเกิดขึ้นระหว่างช่วงการชนอย่างชุลมุนที่มีจักรยานยนต์พ่วงข้างอยู่ในเหตุการณ์ถึง 7 คัน และก็เป็นอีกครั้งที่สนามที่เกิดอุบัติเหตุคือ Hockenheimring เจ้าเก่า

●   ปี 1998 เริ่มมีการเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดปลอดสารตะกั่วในการแข่งรุ่น 500 ซีซี. และในปีเดียวกันนี้ Mick Doohan นักบิดผู้ยิ่งใหญ่ชาวออสเตรเลียได้ขี่จักรยานยนต์ฮอนด้าคว้าตำแหน่งแชมเปี้ยนรุ่น 500 ซีซี. เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน จากนั้นในปีส่งท้าย 1999 Alex Criville นับเป็นนักแข่งจักรยานยนต์ชาวสเปนคนแรกที่เป็นแชมเปี้ยนรุ่น 500 ซีซี.

●   ก้าวสู่ปี 2000 ปีเริ่มต้นสหัสวรรษ Kenny Roberts Jr. เป็นผู้ชนะเลิศการแข่งรุ่น 500 ซีซี. เขาคว้าชัยชนะเป็นปีแรกอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องจากเขาเป็นลูกชายของ Kenny Roberts นักบิดอเมริกันชื่อก้องนั่นเอง ดังนั้นการคว้าตำแหน่งชนะเลิศของเขา จึงทำให้เขาและบิดาเป็นนักแข่งจักรยานยนต์พ่อ/ลูกเพียงคู่เดียว ที่สามารถทำผลงานในลักษณะนี้ได้สำเร็จแบบรุ่นสู่รุ่น

●   ปี 2001 นับเป็นอีกหนึ่งปีที่สุดแสนจะยิ่งใหญ่ เมื่อ Valentino Rossi ยอดนักบิดอิตาลีขวัญใจแฟนๆ การแข่งมอเตอร์ไซค์วัยทีนทั่วโลก ออกทะยานมาคว้าตำแหน่งชนะเลิศประจำปีในรุ่น 500 ซีซี. อีกทั้งยังเป็นผู้ชนะเลิศคนสุดท้ายที่ใช้ตัวแข่งแบบเครื่องยนต์ 2 จังหวะด้วย

●   ปี 2002 มีการเปลี่ยนชื่อการแข่งรุ่น 500 ซีซี. จาก 500 cc class มาเป็น MotoGP พร้อมทั้งแก้กฏเพื่อให้มีการนำเครื่องยนต์ 4 จังหวะกลับมาใช้อีก และยังสามารถขยายขนาดความจุกระบอกสูบไปจนถึง 950 ซีซี. ได้ด้วย ในขณะที่เครื่องยนต์ 2 จังหวะยังคงถูกจำกัดความจุกระบอกสูบเอาไว้ที่ 500 ซีซี. เช่นเดิม จากนั้นในปีถัดมา (2003) ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ที่ยิ่งใหญ่แห่งอิตาลีอย่าง Ducati ได้ลงแข่งรายการชิงรางวัลกรังด์ปรีซ์เป็นปีแรกในรุ่น MotoGP ที่เพิ่งเปิดให้มีการใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะอีกครั้ง ซึ่งในปีเดียวกันนี้ Daijiro Kato นักแข่งชาวญี่ปุ่นก็ได้เสียชีวิตในรายการแข่งชิงรางวัลใหญ่ประเทศญี่ปุ่นที่สนาม Suzuka ในรุ่น MotoGP ขณะขับให้กับทีมในสังกัดบริษัท ฮอนด้า เรซซิ่ง

●   ปี 2004 มีการปรับกฏการจัดแถวออกสตาร์ทอีกครั้ง เพื่อลดตำแหน่งจาก 4 คันต่อ 1 ช่องให้เหลือเพียง 3 คัน สำหรับการแข่งรุ่น 500 ซีซี. ส่วนรุ่นที่เหลือ 125 และ 250 ซีซี. ยังคงมีจำนวน 4 คันเช่นเดิม…

●   ปี 2005 การแข่ง MotoGP มีการเปลี่ยนกฏการวิ่งในช่วงตีธงระหว่างฝนตก โดยอนุญาติให้นักแข่งสามารถเปลี่ยนรถคันใหม่ที่ติดตั้งยางฝนได้ และในปีเดียวกันนี้ยังเป็นอีกปีที่สำคัญสำหรับ Valentino Rossi หรือ เดอะ ด็อกเตอร์ นั่นเพราะเขาสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศ MotoGP ได้เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน

●   ปี 2007 มีการจำกัดเครื่องยนต์สำหรับการแข่งรุ่นสูงสุดไว้ที่ 800 ซีซี. 4 จังหวะ ในปีนี้ Ducati สามารถคว้าทั้งตำแหน่งควบทั้งประเภทผู้ผลิต และนักบิดยอดเยี่ยมประจำปี แถมด้วยการเป็นผู้ผลิตจากยุโรปรายแรกที่ทำผลงานดังกล่าวได้ในรอบ 30 ปี หลังจากที่ 2 รางวัลใหญ่นี้ได้หลุดจากมือผู้ผลิตยุโรปไปสู่มือผู้ผลิตญีปุ่นมาเป็นระยะเวลานาน

●   ปี 2008 มีการจัดการแข่งขึ้นที่กาต้าร์… รัฐในตะวันออกกลางที่ฝันจะเป็นที่หนึ่งในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก โดยยังนับเป็นการแข่งขันแบบไนท์เรซ หรือการจัดแข่งในช่วงเวลากลางคืนเป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัด ยังช่วยให้แฟนรถ 2 ล้อเครื่องชาวยุโรปสามารถดูการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ในช่วงเวลาบ่ายได้… อีกเหตุการณ์ที่สำคัญในปีนี้ก็คือ บริษัทผู้ผลิตชื่อดังอย่าง Dunlop ได้ถอนตัวออกจากการเป็นซัพพลายเออร์ยางให้กับบรรดาทีมแข่ง MotoGP

●   จากนั้นในปี 2009 บริษัทยางชั้นนำอย่าง MICHELIN ก็เดินตามรอยดันลอปออกไป… ทำให้เหลือเพียง Bridgestone เพียงบริษัทเดียวที่ยังทำการผลิตและส่งมอบยางให้กับทีมแข่ง ทั้งนี้ในปีเดียวกัน บริษัทจักรยานยนต์ Kawasaki ยังส่งจักรยานยนต์ลงแข่งเพียงคันเดียวภายใต้สังกัดทีม Hayate Racing หลังจากที่ทีมแข่งโรงงานของตัวเองถอนตัวออกจากการแข่งรายการ MotoGP ทุกรุ่น

●   ปี 2010 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นถึง 5 เหตุการณ์ เริ่มจากการเปลี่ยนชื่อการแข่งรุ่น 250 ซีซี. จาก 250 cc GP เป็น Moto2 ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นรองจาก 500 ซีซี. หรือรุ่น MotoGP ซึ่งเป็นรุ่นสูงสุด เครื่องยนต์ที่ใช้กับรถรุ่น Moto2 ทุกคันจะได้รับการผลิตโดยฮอนด้า ตัวเครื่องยนต์เป็นแบบ 4 สูบแถวเรียง 4 จังหวะ ความจุกระบอกสูบ 600 ซีซี. กำลังสูงสุดผลิตได้ถึง 125 BHP และมีรอบที่จัดถึง 16,000 รอบต่อนาที

●   เหตุการณ์ที่ 2 เป็นการเสียชีวิตของ Shoya Tomizawa นักขี่รุ่น Moto2 ที่เพิ่งคว้าชัยชนะที่กาตาร์ เขาเสียชีวิตที่สนาม Misano ในรายการกรังด์ปรีซ์ญี่ปุ่น… เหตุการณ์ที่ 3 ปีนี้เป็นปีแรกที่สเปนได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งจักรยานยนต์ชิงรางวัลใหญ่มากถึง 4 รายการในปีเดียวกัน ส่วนเหตุการณ์ที่ 4 มีการออกกฏ Rookie rule หรือกฏนักขี่มอเตอร์ไซค์หน้าใหม่ โดยเป็นกฏที่ห้ามไม่ให้นักขี่ปีแรกลงขี่ให้กับทีมโรงงาน ปิดท้ายด้วยเหตุการณ์ที่ 5 คาวาซากิประกาศวางมือจากการลงแข่งหลังเจรจากับ Dorna Sports ผู้ถือลิขสิทธิ์รายการแข่งไม่ประสบความสำเร็จ โดยประกาศว่าจะยังคงเข้าร่วมในกิจกรรมการแข่งขัน ทว่ามอเตอร์ไซค์ที่แข่งนั้นจะใช้แบบที่มีขายทั่วไป และจะยังให้การสนับสนุนผู้ใช้รถที่จะนำรถลงแข่งรายการต่างๆ ต่อไป

●   ปี 2011 Marco Simoncelli นักแข่งชาวอิตาลีกับสัญลักษณ์ทรงผมที่ฟูเต็มศรีษะ เสียชีวิตขณะลงแข่งรายการมาเลย์เซีย กรังด์ปรีซ์ ที่จัดขึ้นที่สนามเซปัง และในปีเดียวกันนี้ อีกหนึ่งผู้ผลิตจากญี่ปุ่นอย่างซูซูกิ ก็ประกาศถอนตัวออกจากการเข้าร่วมรายการ MotoGP หลังสิ้นสุดฤดูกาล

●   ปี 2012 มีการเปลี่ยนชื่อการแข่งรุ่น 125 ซีซี. จาก 125 cc class เป็น Moto3 รถที่ลงแข่งถูกเปลี่ยนขนาดเครื่องยนต์จาก 125 ซีซี. เป็นเครื่องยนต์สูบเดี่ยว 250 ซีซี. 4 จังหวะ จากนั้นในปีเดียวกัน ยังมีการปรับขนาดเครื่องยนต์สูงสุดที่สามารถลงแข่งรุ่น MotoGP ไปเป็น 1,000 ซีซี. แถมด้วยการเปิดตัวทีมแข่งที่ลงแข่งภายใต้กฏ claiming rule teams ซึ่งกฏนี้เปิดโอกาสให้ทีมแข่งอิสระสามารถส่งรถลงแข่งได้… กฏนี้มีผลบังคับใช้หลังมีการขยายขนาดความจุกระบอกสูบเครื่องยนต์สำหรับรถที่จะลงแข่งรุ่น MotoGP ไปเป็น 1,000 ซีซี. นั่นเอง

●   ปี 2013 มีการนำกฏแพ้คัดออกมาใช้ในการควอลิฟายเพื่อคัดเลือกรถที่จะเข้าไปแข่งในรอบต่อๆ ไป ต่อด้วยการยกเลิกกฏ rookie rule ที่ห้ามไม่ให้นักขี่ปีแรกลงขี่ให้กับทีมโรงงาน นอกนั้นอีกเหตุการณ์สำคัญก็คือ Marc Marquez นักแข่งที่จะกลายเป็นนักบิดชื่อก้องในอนาคต ได้เป็นนักแข่งหน้าใหม่ที่คว้าตำแหน่งชนะเลิศรายการแข่ง MotoGP ในรูปแบบปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นแชมเปี้ยนรายการนี้ที่มีอายุเพียง 20 ปี หรือน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการ

●   ปี 2014 มีการยกเลิกทีมแข่งที่ลงแข่งตามกฏ claiming rule เพื่อเปิดทางการมีการแข่งรุ่น Open Class หรือรุ่นที่เปิดให้นักแข่งอิสระส่งมอเตอร์ไซค์ลงแข่งได้ ไม่จำกัดเฉพาะบริษัทผู้ผลิตเท่านั้น โดยในปีนี้ Marc Marquez ยังสร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการด้วยการคว้าชัยประจำสนามได้ถึง 10 สนามในฤดูกาลเดียว และยังเป็นชัยชนะแบบติดต่อกันเสียด้วย

●   ปี 2015 บริษัทซูซูกิกลับเข้าสู่การแข่งรายการ MotoGP ในฐานะทีมโรงงาน หลังจากวางมือไปนาน 4 ปี จากนั้นในปี 2016 บริษัทยาง MICHELIN ได้หวนกลับมาเป็นผู้ส่งมอบยางแทนที่ Bridgestone อีกครั้ง และในปีเดียวกันนี้ Louis Salom ยอดนักแข่งชาวสเปนที่คิดเอาดีในการแข่งรุ่นเล็ก ซึ่งได้แก่รุ่นที่ต่อมาถูกเรียก Moto2 และ Moto3 เสียชีวิตระหว่างการซ้อมเพื่อลงแข่งในรุ่น Moto2 รายการ Catalan Grand Prix ในสเปน

●   และในปี 2017 บริษัท KTM แห่งออสเตรีย ได้ส่งทีมแข่งลงแข่งขันรายการ MotoGP เป็นครั้งแรก

●   ตอนต่อไปเราจะไปดูกติกาการแข่งขันโดยรวมของ MotoGP ด้วยกัน จากนั้นจะเป็นคิวของบริษัทผู้ผลิตจักรยานยนต์ที่มีทีมแข่งในฐานะทีมโรงงาน และปิดท้ายด้วยการรู้จักกับนักแข่งชั้นยอดทั้งในอดีตและปัจจุบัน

●   สำหรับ MotoGP ที่บุรีรัมย์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ น่าจะทำรายได้ให้ประเทศมากถึง 25,000 ล้านบาท หวังว่าส่วนหนึ่งของเม็ดเงินเหล่านี้จะตกถึงมือคนในพื้นที่รองๆ ไม่ใช่คนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ อย่างน้อยความสำเร็จของการแข่งขันน่าจะกระตุ้นให้คนเมืองรองมองเป็นตัวอย่าง และหาทางทำให้เมืองของตัวเองมีกิจกรรมในทำนองเดียวกันบ้าง…

●   กระจายๆ ความเจริญกันไปให้ถ้วนหน้าบ้างก็จะดีไม่น้อย   ●


อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 บุรีรัมย์

•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 01.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 02.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 03.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 04.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 05.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 06.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 07.