October 2, 2018
Motortrivia Team (10185 articles)

ก่อนถึงบุรีรัมย์ : อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 ครั้งแรกในประเทศไทย (ตอน 4)

Posted by : Man from the Past

 

●   มาต่อกันที่กฏกติกาคร่าวๆ ของการแข่งขัน MotoGP เริ่มกันตรงที่ starting grid หรือแถวลำดับในการออกสตาร์ทซึ่งประกอบด้วยทางวิ่ง 3 ช่องสำหรับการแข่งรุ่น MotoGP หรือรุ่น 500 ซีซี. ในขณะที่รุ่น 250 ซีซี. หรือรุ่น Moto2 กับรุ่น 125 ซีซี. หรือรุ่น Moto3 มี 4 ช่อง ซึ่งการจัดลำดับนี้ขึ้นอยู่กับการทำความเร็วของรถในระหว่างรอบคัดเลือก โดยรถที่ทำเวลาได้ดีที่สุดจะได้ออกสตาร์ทตรงจุดที่เรียกว่า pole position หรือธงนั่นเอง

●   ในการแข่งขันแต่ละครั้งจะกินเวลา 45 นาที โดยเป็นการแข่งแบบวิ่งเข้าเส้นชัยรวดเดียว ไม่มีการจอดพักเพื่อเติมเชื้อเพลิงหรือเปลี่ยนยาง ซึ่งในปี 2005 มีการวางกฏ flag-to-flag rule เพิ่มเติม เนื่องจากก่อนหน้านั้นกรรมการสามารถโบกธงแดงเพื่อหยุดการแข่ง จากนั้นจะให้แข่งใหม่หรือให้แข่งต่อก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เหมาะสม ในกรณีที่ฝนตก หากให้แข่งต่อ ตัวรถสามารถเปลี่ยนยางจาก slick tire เป็นยางสำหรับแทร็คเปียกหรือ wet tire ได้ ทว่าหลังการวางกฏดังกล่าว หากเกิดฝนตกกรรมการจะชูธงขาวแทน

●   นักบิดสามารถเปลี่ยนรถที่เป็นรถแบบเดียวกัน แต่ติดตั้งยางที่ต่างกันได้ (ซึ่งก็ยาง wet) นอกจากนั้นรถที่เปลี่ยนจะต้องมีใช้ห้ามล้อที่เป็นห้ามล้อปกติ ไม่ใช่ห้ามล้อแบบดิสค์ เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงนั่นเอง อีกทั้งตัวรถจะต้องปรับระบบกันสะเทือนให้นุ่มขึ้นด้วย

●   ในกรณีนักบิดคนใดคนหนึ่งเกิด crash หรือล้มลงในสนาม บรรดา track marshals หรือผู้ควบคุมทางวิ่งจะรวมตัววิ่งไปที่จุดนั้นและโบกธงเหลือง เพื่อห้ามรถไม่ให้มีการวิ่งเข้าไปในบริเวณนั้นๆ และบนทางวิ่งจะมีการปักธงเหลืองถาวร แต่หากถ้าเป็นการล้มแบบที่นักแข่งไม่สามารถพาตัวเองออกจากทางวิ่งได้อย่างปลอดภัย ธงที่ใช้จะเป็นธงแดงเท่านั้น

●   ลักษณะการล้มจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือ lowside หมายถึงตัวจักรยานยนต์เสียหลักหลังจากที่ยางหน้าหรือยางหลังไม่เกาะทางวิ่งและไหลออก ต่อด้วย highside ซึ่งมีความอันตรายกว่า เพราะแทนที่รถจะไหลออกไปนอกแทร็ค กลับวิ่งต่อจนรถกระเด็นกลิ้งไปและเหวี่ยงนักแข่งให้กระเด็นออกจากรถ อย่างไรก็ดี หลังมีการติดตั้งระบบควบคุมการยึดเกาะถนน หรือระบบ traction control ที่เรารู้จักกันดี การล้มในลักษณะมักไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก

●   หลังเข้าเส้นชัย การเก็บคะแนนสะสมจะแบ่งเป็น อันดับ 1 ได้ 25 คะแนน, อันดับ 2 ได้ 20 คะแนน, อันดับ 3 ได้ 16 คะแนน, อันดับ 4 ได้ 13 คะแนน, อันดับ 5 ได้ 11 คะแนน, อันดับ 6 ได้ 10 คะแนน, อันดับ 7 ได้ 9 คะแนน, อันดับ 8 ได้ 8 คะแนน, อันดับ 9 ได้ 7 คะแนน และอันดับ 10 ได้ 6 คะแนน… ไล่เรื่อยไปถึงอันดับ 15 ซึ่งได้ 1 คะแนนบนตารางแชมเปี้ยนชิพ

●   สำหรับ techical regulations หรือกฏทางเทคนิค ซึ่งก็คือกฏสำหรับควบคุมการพัฒนารถและเครื่องยนต์ ข้อหลักที่ควบคุมแบบครอบคลุมกันถ้วนหน้าก็คือ ข้อห้ามไม่ให้เชื้อเพลิงจักรยานยนต์ทุกคันมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิรอบสนาม 15 องศาเซ็นติเกรด หรือเชื้อเพลิงจะมีอุณหภูมิต่ำกว่านี้ไม่ได้ อีกทั้งยังห้ามไม่ให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับลดอุณหภูมิ เพื่อไม่ให้มีการเพิ่มพลังจากเชื้อเพลิงด้วยวิธีที่ทำให้เย็นลง

●   MotoGP หรือรุ่นสูงสุด หลังการแข่งขยับเข้าสู่ยุคใหม่ในปี 2002 รถที่ลงแข่งรุ่นนี้จะถูกจำกัดให้มีเครื่องยนต์ 2 แบบๆ ได้แก่ 500 ซีซี. จุดระเบิด 2 จังหวะ และ 990 ซีซี. จุดระเบิด 4 จังหวะ ยังผลให้บรรดาทีมแข่งต่างก็เลือกแบบหลังที่ให้พลังแรงกว่า จนรถจุดระเบิด 2 จังหวะหายไปในเวลาต่อมา จากนั้นในปี 2007 มีการลดความจุกระบอกสูบเครื่องยนต์รุ่นนี้ให้เหลือ 800 ซีซี. โดยไม่จำกัดว่ารถต้องมีน้ำหนักเท่าไร เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีการพัฒนารถที่ใหญ่ขึ้นและแรงขึ้น

●   มอเตอร์ไซค์ที่ลงแข่งรุ่นนี้ไม่มีการจำกัดรูปแบบเครื่องยนต์ แต่มีการจำกัดสมรรถนะและประสิทธิภาพ เพื่อให้รถทุกคันมีพลังและการขับเคลื่อนที่ใกล้เคียงกัน… เดิมทีในปี 2004 รถลงแข่งรุ่นนี้มีเครื่องยนต์ 3 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น 3 สูบ 4 สูบ หรือ 5 สูบ ในช่วงหนึ่งได้มีการเสนอให้มีการอนุญาตให้พัฒนารถเครื่องยนต์ 6 สูบมาลงแข่งขันด้วย ทว่าไม่เคยมีตัวรถปรากฏตัวออกมาให้เห็น

●   ปัจจุบันมอเตอร์ไซค์แข่งที่ติดตั้งเครื่องยนต์ 4 สูบ นับเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ใช้งานดีที่สุด หากดูจากน้ำหนัก พละกำลัง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง หลังปี 2004 mk’ FIM ได้จำกัดปริมาณให้รถรุ่น 800 ซีซี. สามารถเติมเชื่อเพลิงได้ถึง 26 ลิตร แต่ในอีก 3 ปีต่อมา หรือปี 2007 ปริมาณเชื้อเพลิงได้ถูกลดเหลือ 21 ลิตร (5.7 แกลลอนอังกฤษ หรือ 5.5 แกลลอนอเมริกัน)

●   นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มน้ำหนักมอเตอร์ไซค์แข่งเครื่องยนต์ 4 สูบ อีก 3 กิโลกรัม หรือ 6.6 ปอนด์ ซึ่งทั้งการจำกัดปริมาณเชื้อเพลิง และเพิ่มน้ำหนักตัวรถ จะช่วยให้รถที่ลงแข่งมีการวิ่งที่เร็วขึ้น หากดูสถิติความเร็วสูงสุดของรถรุ่น 125 ซีซี. ที่ลงแข่งรายการ MotoGP ความเร็วสูงสุดที่บันทึกไว้คือ 249.79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (หรือ 155.19 ไมล์ต่อชั่วโมง) จากฝีมือของ เดอะ ด็อกเตอร์ ในปี 1996 บนรถ Aprilia

●   อย่างไรก็ตาม ความเร็วสูงสุดในประวัติศาสตร์การแข่งมอเตอร์ไซค์รายการนี้คือ 356.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 221.5 ไมล์ต่อชั่วโมง สถิตินี้เพิ่งเกิดขึ้นที่อิตาลี จากฝีมือของ Andrea Dovizioso นักบิดอิตาเลียนบนรถ Ducati ของทีม Ducati Course ซึ่งเป็นต้นสังกัด

●   ปี 2012 รถที่จะลงแข่งสามารถใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ ความจุ 1,000 ซีซี. กำลังมากกว่า 240+ แรงม้า โดยการขยายความจุกระบอกสูบนี้มีขึ้นเพื่อให้รับกับ Class หรือสถานะใหม่ของรถที่ออกมาปีเดียวกัน มันถูกเรียกว่า claiming rule team status หรือ CRT status ซึ่งเป็นสถานะที่จะให้กับทีมแข่งที่เป็นทีมอิสระ หรือทีมที่มีเจ้าของหรือผู้บริหารที่เป็นบุคคลทั่วไป ไม่ใช่นิติบุคคลหรือบริษัทผู้ผลิต ทั้งผลิตรถและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง

●   การให้สถานะดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของวงการแข่งมอเตอร์ไซค์เลยทีเดียว เพราะนอกจากจะเปิดทางให้คนนอกมีโอกาสส่งรถลงแข่ง ยังจะช่วยเพิ่มทีมแข่งให้กับการแข่งรายการ MotoGP ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สถานะใหม่ได้รับความสนใจยิ่งขึ้น ยังมีการให้สิทธิพิเศษบางประการแก่ทีมแข่งสถานะนี้ เช่น การผ่อนผันจำนวนเครื่องยนต์ที่สามารถใช้ในแต่ละปี หรือปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถในการลงแข่งแต่ละนัด

●   แต่ที่น่าจะช่วยดึงดูดทีมหน้าใหม่ได้มากที่สุด เห็นจะเป็นการอนุญาติให้มีการอ้างการเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ หรือการอ้างตามกฏ CRT ซึ่งผู้ที่กล่าวอ้างไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ตัวจริงนั่นเอง โดยจะต้องจ่ายเงินให้เจ้าของรถเป็นจำนวน 20,000 ปอนด์ หรือประมาณ 840,000 บาท กับ 15,000 ปอนด์หรือราว 630,000 บาท สำหรับส่วนที่เป็นเครื่องยนต์

●   ทั้งนี้การจัดคลาส CRT นั้น เมื่อถึงปี 2014 ได้ถูกเปลี่ยนเป็นการจัดให้มีการแข่งรุ่น Open Class แทนที่ ซึ่งเปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจได้เข้าแข่งขัน เป็นอันว่าการแข่งรุ่นสูงสุดของรายการ MotoGP ในเวลานี้ได้เปิดกว้างที่สุดแล้ว

●   สำหรับการแข่งรุ่น Moto2 หรือรุ่น 600 ซีซี. รถที่ลงแข่งต้องเป็นรถที่มีกระบอกสูบจุ 600 ซีซี. จุดระเบิด 4 จังหวะ และมีการจำกัดเครื่องยนต์ที่ใช้ว่าจะต้องเป็นฮอนด้าเท่านั้น ส่วนยางซัพพลายเออร์หลักคือดันลอป และหัวเทียนใช้ของของ NGK ซึ่งทั้งฮอนด้า, ดันลอป และ NGK ต่างก็เป็นผู้สนับสนุนรายสำคัญของการแข่งมอเตอร์ไซค์รายการนี้นั่นเอง

●   ส่วนอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องที่เป็นชุดระบบอิเลคทรอนิคส์ ตามกฏข้อบังคับต้องผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองจาก FIM อีกทั้งจะต้องมีราคารวมกันไม่เกิน 650 ยูโร หรือประมาณ 25,000 บาท เพื่อให้รถแต่ละคันมีความใกล้เคียงกันที่สุด และป้องกันการโมดิฟายที่อาจสร้างความได้เปรียบให้แก่ทีมเจ้าของรถมากจนเกินไป…

●   ตรงนี้นับเป็นรายได้อีกทางของสหพันธ์ ซึ่งนอกจากค่าเข้าชมและอื่นๆ แล้ว ยังมีรายได้จากการออกใบรับรองนี่เอง ซึ่งดูแล้วคงไม่น้อย

●   อีกข่าวใหญ่และเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญล่าสุดของรายการ Moto2 คือ ในปี 2019 บริษัทผู้ผลิตจักรยานยนต์ไทรอัมพ์อันลือชื่อของเกาะอังกฤษ จะเป็นผู้ส่งมอบเครื่องยนต์ สำหรับรถที่ลงแข่งรุ่นนี้แทนฮอนด้า

●   สำหรับเครื่องยนต์ 765 ซีซี ที่ติดตั้งอยู่ใน Street Triple RS ที่มีสมรรถนะสูงอยู่แล้ว ได้รับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนใหม่ให้เหมาะสมสำหรับการแข่งขันศึก Moto2 ด้วยการปรับแต่งดังต่อไปนี้:

–   ปรับแต่งพอร์ทไอดี/ไอเสียบนกระบอกฝาสูบใหม่ เพื่อให้การไหลเวียนอากาศและเชื้อเพลิงดียิ่งขึ้น
–   เพิ่มความแข็งแรงให้วาล์วไทเทเนียมและสปริงวาล์ว เพื่อเพิ่มความเร็วรอบเครื่องยนต์
–   ระบบ Alternator ที่มี Output ต่ำเพื่อลดความเฉื่อย
–   อัตราทดเกียร์ 1 สูงขึ้น
–   สลิปเปอร์คลัทช์แบบปรับได้ที่พัฒนาขึ้นสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ
–   กล่องอีซียูสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ พัฒนาร่วมกับ Magneti Marelli
–   ปรับแต่งฝาครอบเครื่องยนต์ใหม่เพื่อลดขนาดความกว้างของตัวเครื่อง
–   ปรับแต่งอ่างน้ำมันเครื่องใหม่ให้สอดรับกับท่อไอเสียประสิทธิภาพสูงได้ดีขึ้น

●   ทั้งนี้เครื่องยนต์ Triumph Moto2 แบบ 3 สูบ ขนาด 765 ซีซี พัฒนามาจากเครื่องยนต์ที่ติดตั้งอยู่ใน Street Triple RS รุ่นปี 2017 ซึ่งรุ่นพื้นฐานนั้นมีกำลังสูงสุด 123 แรงม้า (PS) ที่ 11,700 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุดที่ 77 นิวตันเมตร ที่ 10,800 รอบต่อนาที

●   สำหรับยาง… อุปกรณ์ที่มีความสำคัญในสังเวียนแข่งมอเตอร์ไซค์พอๆ กับเครื่องยนต์ มีที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่คัดเลือกยางและวางแผนจัดการๆ ใช้ก็คือนักแข่งเอง เพื่อให้ได้ยางที่ตรงความต้องการที่สุด ตรงกับความรู้สึกที่สุดเวลานำรถลงไปในสนาม ไม่ว่าจะเป็นซ้อม ช่วงลงวิ่งในรอบคัดเลือก และตอนลงแข่งจริง โดยมีหลายปัจจัยให้พิจารณา เช่นสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นบนสนาม หรือการประเมินผลการแข่งล่วงหน้า

●   เมื่อได้กลยุทธิ์ยางที่ต้องการ นักบิดยังจะต้องถนอมยางระหว่างการแข่ง เพื่อให้ยางคงสภาพเดิมให้มากที่สุด ซึ่งเดิมทีนักบิดจะเลือกใช้ยางที่เรียกว่า Special Q หรือยางสำหรับรอบควอลิฟาย โดยยางชนิดนี้จะช่วยให้รถวิ่งทำเวลาดีกว่ายางปกติ แต่มีข้อเสียคือหมดสภาพเร็ว เพียงแค่วิ่งรอบสนามเพียงรอบเดียวหรือ 2 รอบเท่านั้น หลังจากนั้นได้มีการห้ามใช้ยางชนิดนี้หลังสิ้นฤดูกาล 2008

●   ในช่วงปี 2007 FIM ได้ออกกฏจำกัดจำนวนยางที่นักแข่งสามารถใช้ได้ในแต่ละฤดูกาลเอาไว้ที่ 31 เส้น แบ่งเป็นยางหน้า 14 เส้น และยางหลัง 17 เส้น แยกใช้ได้ในทุกขั้นตอนของการแข่ง นับตั้งแต่การซ้อมไปจนถึงรอบคัดเลือก และรอบตัดสิน ผลคือปีนั้นยางบริดจสโตนได้ครองความเป็นเลิศในสนามแข่ง MotoGP และได้รับการยอมรับจากนักแข่งระดับโลกทั้ง Valentino Rossi, Nicky Hayden, Dani Pedrosa และ Colin Edwards ซึ่งเดิมทีใช้ยางมิชลินมาก่อนหน้า และ Valentino Rossi ก็คว้าตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกในปี 2008 ไปกับยางบริดจสโตน

●   ในปีดังกล่าว FIM ยังได้เพิ่มจำนวนยางอีก 9 เส้น รวมเป็น 40 เส้น แบ่งเป็นล้อหน้า 18 เส้น และล้อหลัง 22 เส้น ทว่ามีการรายงานว่า การจำกัดจำนวนยางในปี 2007 ได้ส่งผลให้ยางของมิชลินนั้นเสียเปรียบ โดยในปีดังกล่าวมีทีมแข่งเพียงทีมเดียวที่ใช้ยางดันลอป นั่นคือทีม Yamaha Tech 3 แต่พอปีถัดมาได้ตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ยางมิชลิน ยางที่กำลังถูกวิจารณ์หนัก

●   บริดจสโตนซัพพอร์ทยางให้กับรายการ MotoGP รวม 3 ปีติดต่อกัน คือ 2009, 2010 และ 2011 โดยในการส่งมอบได้แยกข้อกำหนดยางที่จะส่งมอบเป็น 4 ข้อสำหรับยางหน้า และ 6 ข้อสำหรับยางหลัง รวมถึงข้อกำหนดพิเศษสำหรับยางเปียกอีก 1 ข้อ แต่ไม่มีการออกข้อกำหนดสำหรับยางที่จะใช้ในรอบคัดเลือก

●   ยางที่บริดจสโตนจะส่งมอบให้นักขับตอนลงแข่งยังเป็นยางที่ผู้ขับต้องเลือกแบบทันทีทันใดด้วย ไม่มีการพิจารณาก่อนหน้า เพื่อรักษาความเป็นกลางให้ได้มากที่สุด ซึ่ง Jorge Lorenzo นักบิดชาวสเปนที่เป็นแชมเปี้ยนโลกรุ่น 250 ซีซี. 2 สมัย กับ 500 ซีซี. อีก 3 สมัยก็ออกมาประกาศเห็นด้วย

●   อย่างไรก็ดี หลังสิ้นสุดฤดูกาล 2015 บริดจสโตนก็ได้ถอนตัวออกจากการเป็นผู้ส่งมอบยาง และมิชลินก็ได้กลับเข้ามาสู่วงการ MotoGP อีกครั้งจนถึงทุกวันนี้   ●


อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 บุรีรัมย์

•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 01.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 02.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 03.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 04.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 05.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 06.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 07.