October 23, 2018
Motortrivia Team (10170 articles)

Toyota C-HR HV Hi ตอบโจทย์คนรักความประหยัด

เรื่อง-ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

 

●   Toyota C-HR รถยนต์รุ่นแรกที่ใช้สถาปัตยกรรมโครงสร้างใหม่ TNGA หรือ Toyota New Global Architecture ซึ่งทีมงานมอเตอร์ทริเวีย มีโอกาสได้เข้าฟังการอบรมเกี่ยวกับ TNGA อย่างละเอียด และได้ทดลองขับ C-HR ในสนามทดสอบ TDEX ด้วยสถานการณ์จำลองต่างๆ และถ้าย้อนไปช่วงกลางเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ก็ได้เข้าร่วมการทดสอบแบบกลุ่ม ของรถรุ่นนี้มาแล้ว

ภายนอกสไตล์คูเป้ยกสูง

●   ทิ้งช่วงเกือบครึ่งปี ก็ได้รับ C-HR มาทดลองขับอีกครั้ง เป็นรุ่นสูงสุด HV Hi รูปลักษณ์ไม่ต้องบรรยายกันมาก เพราะเห็นกันบนท้องถนนมาพักใหญ่ แนวคิดในการออกแบบมาจากเพชรที่เจียระไนแล้ว เน้นเหลี่ยมคมของเส้นสายทั้งภายในและภายนอก ทรงรถโดยรวมดูล้ำยุคปราดเปรียวสไตล์คูเป้ ไฟหน้าและไฟท้าย Full LED เลนส์ไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์รวมแสงคมชัดไม่ฟุ้งแยงตา พร้อมระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ ล้อแม็กขนาด 17 นิ้ว กับยาง 215/60/17 ล้อแม็กไม่ใหญ่ หน้ายางไม่กว้าง และแก้มยางค่อนข้างสูง ดูไม่สปอร์ตเท่าไร แต่รองรับการใช้งานตามประเภทรถที่ออกแนวลุยนิดๆ ได้ดี มิติกะทัดรัด ยาว 4,360 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,565 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 154 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,455 กิโลกรัม

ห้องโดยสารเรียบง่ายดูดี

●   ด้วยการออกแบบด้านท้ายสไตล์คูเป้ ขอบประตูบานหลังยกสูง และเสาหลังค่อนข้างหนา ทำให้ทัศนวิสัยของผู้โดยสารด้านหลังไม่โปร่งโล่ง บางคนนั่งแล้วมีอาการเมารถ จะบอกว่าโตโยต้าไม่เน้นการโดยสารบนเบาะหลังก็คงไม่ได้ เพราะส่วนอื่นก็ทำมาได้ค่อนข้างดี ทั้งพื้นที่วางขาที่กว้างขวาง และพนักพิงที่มีมุมเอียงกำลังดี ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะก็ไม่คับแคบสำหรับความสูง 169 เซนติเมตร ถ้าไม่นับมุมมองด้านข้างที่ค่อนข้างจำกัด การนั่งบนเบาะหลังของ C-HR ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเกี่ยงกันแต่อย่างใด ที่น่าจะมีเพิ่มเติมก็คือ ที่เท้าแขนกลางเบาะหลัง และช่องจ่ายไฟฟ้า 12 โวลต์ ไว้ชาร์จสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตที่อาจต้องใช้บ่อย เพราะมองวิวไม่ค่อยถนัด

●   ย้ายไปลองนั่งหลังพวงมาลัยที่ปรับได้ 4 ทิศทาง กับเบาะผู้ขับที่ปรับระดับสูงต่ำได้ และมีที่ดันหลังไฟฟ้าแก้เมื่อยเมื่อต้องขับนานๆ ตัวเบาะนั่งมีระยะการปรับสูงต่ำค่อนข้างมาก รองรับสรีระของผู้ขับได้หลากหลาย การออกแบบภายในเน้นเส้นสายที่ไหลลื่นต่อเนื่องเช่นเดียวกับภายนอก มีการใส่ลูกเล่นเหลี่ยมเพชรไว้ในจุดต่างๆ เลือกใช้วัสดุที่อ่อนนุ่มในจุดที่มีการสัมผัสบ่อยๆ และบางส่วนก็ยังเป็นพลาสติกแข็งที่ปั๊มลายให้ดูดี แซมด้วยสีดำเงา Piano Black ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษหน่อย ถ้าใช้งานสมบุกสมบันอาจจะหมดสวยเพราะรอยขนแมว มีสีน้ำตาลเข้มและสีเมทัลลิกช่วยให้ห้องโดยสารดูไม่อับทึบจนเกินไป เพราะหลังคาของรถรุ่นนี้ก็เป็นสีดำ

●   การจัดวางสวิตช์ควบคุมระบบต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานสะดวก มีช่องใส่ของจุกจิกในจุดต่างๆ จอที่คอนโซลกลางเป็นระบบสัมผัส การตอบสนองและความไหลลื่นอยู่ในระดับกลางๆ เช่นเดียวกับความคมชัดของจอเมื่อใช้ร่วมกับกล้องมองหลัง สวิตช์ต่างๆ ให้ความรู้สึกหนักแน่นดี อุปกรณ์มาตรฐานครบครันตามรุ่นย่อยสูงสุด สำหรับ C-HR ราคาแต่ละรุ่นย่อยต่างกันไม่มากนัก ชักชวนให้ขยับมาซื้อรุ่นสูงสุด ซึ่งโดยรวมก็ถือว่าคุ้มค่า จะขาดไปก็แค่ระบบล็อกอัตโนมัติเมื่อรถเคลื่อนตัว และระบบไฟเลี้ยวกะพริบ 3 ครั้ง ที่อาจจะได้เห็นในรุ่นปรับโฉม

●   จุดเด่นของรถทรงแฮทช์แบ็ก คือ ประตูบานท้ายที่เปิดได้กว้าง เมื่อรวมเข้ากับเบาะหลังแบบแยกพับได้ ทำให้รถรุ่นนี้ใส่สิ่งของที่มีขนาดใหญ่ได้ เสียดายที่เมื่อพับพนักพิงเบาะหลังลงแล้ว ไม่เป็นแนวราบเดียวกับพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง ด้านบนมีแผ่นปิดสัมภาระมาให้ ใต้พื้นที่เก็บสัมภาระเป็นชุดปะยาง ไม่มียางอะไหล่

เร่งดีเกินคาด ประหยัดตามสเปค

●   C-HR รุ่นไฮบริด ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1,800 ซีซี Atkinson Cycle กำลังอัด 13.0:1 มีกำลังสูงสุด 98 แรงม้า ที่ 5,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบต่อนาที รองรับแก๊สโซฮอล์ E20 ออกเทน 91 ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 53 กิโลวัตต์ หรือ 72 แรงม้า แรงบิด 16.6 กก.-ม. กำลังขับรวมมอเตอร์ไฟฟ้า 122 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ E-CVT

●   ในการขับใช้งานทั่วไป จะขับเคลื่อนด้วยอะไรก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของระบบไฮบริด อัตราสิ้นเปลืองขึ้นอยู่กับลักษณะการขับ เพียงแต่ระบบไฮบริดจะช่วยให้ประหยัดมากกว่า เพราะมีมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของเครื่องยนต์ในบางช่วง เช่นการออกตัวหรือเร่งแซง เท่าที่ทดลองขับ 3-4 วัน อัตราสิ้นเปลืองเมื่อใช้งานในเมืองและเดินทางไกลด้วยความเร็วปกติ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะใกล้เคียงกันมาก คือ ป้วนเปี้ยนแถว 19-23 กิโลเมตรต่อลิตร


●   ยกตัวอย่างจากการขับไปถ่ายรูปที่เขาใหญ่ มีหลงเพิ่มระยะไปเล็กน้อย ขับไป 214.9 กิโลเมตร ความเร็วเฉลี่ย 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 19.2 กิโลเมตรต่อลิตร ขากลับขับไม่หลง ระยะทาง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลา 2.52 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 22.5 กิโลเมตรต่อลิตร น่าจะพอหักล้างกับความเชื่อที่ว่า รถไฮบริดขับทางไกลไม่ประหยัด เพราะมอเตอร์ไฟฟ้าไม่ค่อยทำงาน ซึ่งในความเป็นจริงมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำงานตามความเหมาะสมอยู่แล้ว ขับความเร็วตามกฎหมาย มีเร่งแซงบ้าง รถติดบ้าง ก็ยังได้ตัวเลขใกล้เคียงกับที่โรงงานระบุ 24.4 กิโลเมตรต่อลิตร

●   เกียร์อัตโนมัติ E-CVT ทำงานนุ่มนวลตามบุคลิกของ CVT และแทบไม่มีอาการอื้ออึงแบบ CVT รุ่นเก่า การตอบสนองคันเร่งอยู่ในเกณฑ์ดี แม้โดยส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบความรู้สึกแบบเกียร์ CVT แต่พอได้ขับนานๆ แล้วก็พอรับได้ โดยเฉพาะเมื่อแลกด้วยความนุ่มนวลและความประหยัด

ช่วงล่างพร้อมลุยเบาๆ

●   อย่างที่เกร่นไว้ตอนต้นว่า ล้อและยางขนาด 215/60/17 ดูแล้วเหมาะกับประเภทรถที่ออกแนวลุยนิดๆ ไม่ใช่แนวสปอร์ตล้อโตกับยางแก้มเตี้ย ขนาดยางของ C-HR ดูแล้วเหมาะกับสภาพถนนเมืองไทยที่ไม่ค่อยเรียบ ขับแล้วไม่ต้องระวังมาก บวกกับใต้ท้องรถที่สูงกว่าเก๋งพอสมควร ทำให้ขับเดินทางไกลได้อย่างสบายใจ ช่วงล่างอิสระพร้อมเหล็กกันโคลงทั้ง 4 ล้อ ด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังปีกนกคู่ ให้ความรู้สึกหนักแน่นไม่โคลง เมื่อขับด้วยความเร็วปกติจะรู้สึกใกล้เคียงรถเก๋ง เกาะถนนดีขับแล้วมั่นใจ การซับแรงสั่นสะเทือนก็ทำได้ดีเช่นกัน มีแค่บางจังหวะที่รู้สึกว่าอยากได้หนึบอีกนิด แต่ถ้าเน้นความสะดวกสบายโดยรวม ช่วงล่างเดิมๆ ถือว่ารองรับได้ดีแล้ว

●   พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ไม่เบาหวิว มีความหนืดพอเหมาะ ทำให้ควบคุมรถได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องเกร็งหรือประคองพวงมาลัยขณะเข้าโค้ง เบรกแบบดิสก์ 4 ล้อ ด้านหน้ามีครีบระบายความร้อน ปรับตัวให้ชินกับน้ำหนักเบรกไม่นาน ก็เบรกได้อย่างนุ่มนวลปลอดภัย

●   ถ้าชอบทรงรถ เน้นประหยัด ขับใช้งานทั่วไปไม่หวือหวานัก C-HR รุ่น HV Hi ก็เป็นรถที่น่าสนใจ ราคา 1.159 ล้านบาท ถือว่าคุ้มค่า ได้รถไฮบริดที่ประหยัด อุปกรณ์มาตรฐานครบ ภายในกว้างขวางพอสมควร ตัวรถทรงแฮทช์แบ็กยกสูงนิดๆ เพิ่มขอบเขตการใช้งาน อุ่นใจด้วยการรับประกันคุณภาพ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร รับประกันระบบไฮบริด 5 ปี และรับประกันแบตเตอรี่ไฮบริด 10 ปี พร้อมศูนย์บริการ 473 แห่งทั่วประเทศ   ●


2018 Toyota C-HR HV Hi : Test Drive