FOMM One อีกหนึ่งทางเลือกของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่
เรื่อง-ภาพ-วีดิโอ : สุพรรณี ยังอยู่
● รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ FOMM One เปิดตัวในบางกอก มอเตอร์โชว์ 2561 ครั้งที่ผ่านมา พร้อมเปิดสั่งจองให้แก่ลูกค้าที่สนใจ และเมื่อต้นเดือนตุลาคมก็ได้ทำการกระตุ้นตลาดอีกครั้ง โดยการเปิดตัวเป็นทางการพร้อมเปิดตัวผู้แทนจำหน่ายรายแรก ได้แก่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าภูมิภาค คาดว่าประมาณต้นปี 2562 จะสามารถส่งมอบรถให้กับลูกค้าที่สั่งจองได้
มร. ฮิเดโอะ ซูรุมากิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) จำกัด
● บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างญี่ปุ่นและไทย ใช้งบลงทุนราว 1 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในการส่งออกและทำตลาดในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อช่วยลดมลพิษ และในอนาคตจะมีการเพิ่มเงินลงทุนเพื่อจัดตั้งโชว์รูมและศูนย์บริการเพิ่มเติมในลำดับต่อไป
นายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) จำกัด
● FOMM One เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นรถนั่งส่วนบุคคลขนาดเล็ก ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าล้วนแบบแบตเตอรี่ (BEV : Battery Electric Vehicle) ออกแบบโดยทีมงานวิศวกรญี่ปุ่น ตัวรถอยู่ในคลาส L 7e ตามมาตรฐานยุโรป ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับหมวดรถยนต์ขนาดเล็ก และจักรยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ขนาดตัวกะทัดรัด
● การออกแบบใช้แนวคิดที่คลี่คลายมาจากการแต่งหน้าตามแบบฉบับของคาบูกิ (Kabuki) ซึ่งเป็นศิลปการแสดงของญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นการนำประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาผสานกับประโยชน์ใช้สอยได้อย่างกลมกลืนบนรูปทรงเล็กกะทัดรัด ต่างจากรถยนต์ทั่วไป สะดุดตาเมื่อพบเห็น ตัวถังเป็นแบบ 3 ประตู 4 ที่นั่ง ความยาว 2,585 มิลลิเมตร กว้าง 1,295 มิลลิเมตร สูง 1,560 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรวม 975 กิโลกรัม (ตัวรถเองหนักเพียง 445 กิโลกรัม หากไม่รวมแบตเตอรี่) และวิ่งด้วยยางขนาด 145/65 R15
● ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเป็นแบบติดตั้งควบรวมกับล้อคู่หน้า (In Wheel Motor) กำลังสูงสุด 10 กิโลวัตต์ หรือ 13.4 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 57 กก.-ม. ความเร็วสูงสุดประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบตเตอรี่แพคแบบลิเธียม-แมงกานิส แยกติดตั้งเอาไว้ใต้เบาะผู้ขับ 2 ลูก และใต้เบาะโดยสารด้านหลัง 2 ลูก ความจุและความสามารถในการจ่ายไฟภายใน 1 ชั่วโมง เท่ากับ 2.96 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ใช้เวลาชาร์จไฟ 6 ชั่วโมงต่อครั้ง ขับได้ระยะทาง 160 กิโลเมตร
ทดลองความคล่องตัว
● กิจกรรมทดสอบมุ่งเน้นไปที่การโชว์ความคล่องตัว สามารถใช้งานผ่านพื้นที่แคบๆ ได้อย่างสะดวก FOMM One มีตำแหน่งปุ่มกดเลือกเกียร์ N, D และ R ติดตั้งอยู่ตรงกลางบริเวณคอนโซลหน้า พร้อมมาตรวัดบอกความเร็ว พวงมาลัยเป็นทรงครึ่งวง มีตำแหน่งก้านคันเร่ง 2 ข้างติดตั้งเอาไว้ที่ด้านซ้าย/ขวาของพวงมาลัย ซึ่งเป็นตำแหน่งแบบ Paddle Shift ในรถยนต์ทั่วไป
● การขับเคลื่อนเริ่มจากเหยียบเบรก และกดปุ่มเลือกตำแหน่งเกียร์ D ดึงเบรกมือด้านข้างตัวลง จากนั้นค่อยๆ ใช้นิ้วบีบก้านคันเร่งซ้ายหรือขวาตามสะดวกหรือความถนัดเข้าหาตัวเพื่อเพิ่มความเร็ว หากต้องการใช้ความเร็วสูง ให้บีบก้านคันเร่งทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน
● สำหรับการลดความเร็ว ผู้ขับเพียงแค่คลายน้ำหนักนิ้วที่บีบก้านคันเร่งโดยไม่ต้องเหยียบเบรค ก็จะช่วยชะลอความเร็วได้ แต่ถ้าต้องการหยุดหรือจอด ให้ยกนิ้วออกจากก้านคันเร่งทั้ง 2 ข้างพร้อมเหยียบเบรคด้วย
● เส้นทางในการทดลองขับเพื่อทดสอบความคล่องตัวในพื้นที่จำกัด เริ่มจากการขับผ่านช่องทางแคบๆ เพียง 1.8 เมตรที่ทางเจ้าหน้าที่จำลองเอาไว้ เมื่อขับผ่านเข้าไปจะเจอโค้งหักศอกแคบๆ ดัก เพื่อให้ทดสอบรัศมีวงเลี้ยว 3.80 เมตร ช่วงนี้ผ่านไปด้วยดีในความเร็วที่กำหนด
● อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่จำกัด ผู้ขับซึ่งยังชินกับการใช้คันเร่งที่เท้า ส่งผลให้การวิ่งรอบแรกมีหลงไปเหยียบเบรกบ้าง เนื่องจากตำแหน่งแป้นเบรกอยู่ในตำแหน่งแป้นคันเร่งของรถยนต์ทั่วไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียจังหวะความเร็วมากนัก เนื่องจากใช้ความเร็วไม่สูง และยังไม่คุ้นเคยกับการลดหรือเพิ่มความเร็วที่ก้านพวงมาลัย จึงทำให้บางจังหวะทั้งผู้ขับและเจ้าหน้าที่นั่งข้างๆ มีอาการหัวทิ่มกันเล็กน้อย แต่เมื่อคุ้นเคยกับตำแหน่งคันเร่งก็ทำให้ลดเพิ่มความเร็วได้นุ่มนวลและเป็นธรรมชาติมากขึ้น
● ต่อกันที่ด่านทดสอบการทรงตัวด้วยการเข้าโค้งตามแนวไพลอนที่ตั้งไว้ แม้ตัวรถจะมีการโยนตัวบ้างตามแนวโค้ง แต่ก็นับว่าไม่น่ากลัวนักหากใช้ความเร็วอย่างเหมาะสม และเมื่อลองทดสอบการใช้ความเร็วสูงบนทางตรง อัตราเร่งถือว่าดีมากด้วยแรงบิดในระดับ 57 กก.-ม. ทว่าการหยุดรถนั้นจะต้องเหยียบเบรกลึกสักหน่อย อย่างไรก็ดี ในการใช้งานจริงเราคงไม่ได้ใช้ความเร็วบนระยะทางสั้นๆ เหมือนการทดลองขับในสนามปิด การเผื่อระยะเบรกและน้ำหนักเบรกน่าจะเหมาะสมกว่านี้
● สำหรับห้องโดยสารนั้น ถ้านั่งเต็มทุกตำแหน่ง 4 คนน่าจะอึดอัดไปสักหน่อย เนื่องจากพื้นที่ด้านหลังค่อนข้างแคบ ถ้าเป็นเด็กเล็กก็น่าจะนั่งเบาะหลังได้สบายหน่อย แต่ก็จะเสียพื้นที่เก็บสัมภาระหรือวางสิ่งของไป ดูแล้วการใช้งานแบบ 2 คนจะสบายกว่า และยังเหลือพื้นที่ด้านหลังให้เก็บสัมภาระขนาดเล็กได้อีกหน่อยด้วย
ปิดท้ายโชว์จุดเด่น FOMM One ลอยน้ำได้
● จากวีดิโอทางด้านล่างที่ motortrivia มีจังหวะเก็บภาพมานิดหน่อย FOMM One นั้นมีการออกแบบโครงสร้างให้สามารถลอยตัวได้ในน้ำ พร้อมกับติดตั้งระบบป้องกันน้ำเข้ารถซึ่งซีลได้สนิทจริงๆ อย่างไรก็ตาม FOMM One นั้นไม่ใช่ยานพาหนะประเภทสะเทินน้ำสะเทินบก ดังนั้นคุณสมบัติในด้านการลอยน้ำจึงเป็นตัวช่วยในยามจำเป็นเท่านั้น
● จากการสาธิต เมื่อตัวรถอยู่ในน้ำ มอเตอร์ไฟฟ้าจากล้อคู่หน้าก็ยังทำหน้าที่ขับเคลื่อน แต่จะบังคับทิศทางยากเล็กน้อย ลวดลายของล้อที่ออกแบบเหมือนใบพัดจะช่วยบังคับทิศทางน้ำอีกทางหนึ่ง รองรับอุทกภัยจากธรรมชาติที่ก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน หรืออุบัติเหตุทางน้ำ ช่วยลดการสูญเสียชีวิตในเบื้องต้นได้
● อ้างอิงจากเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ การคำนวณค่าใช้จ่ายในการชาร์จแบตเตอรี่อยู่ที่ 30 สตางค์ต่อกิโลเมตร ถือว่าประหยัดมากเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานทางเลือกอื่น และยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ อีกทั้งยังมีความคล่องตัวด้วยรูปทรงที่กะทัดรัดและน้ำหนักเบา
● FOMM One ราคาจำหน่าย 664,000 บาท สีภายนอกมี 7 สี ขาว, ส้ม, เหลือง, แดง, น้ำเงิน, ชมพู และเขียว ใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่เว็บไซท์ fomm.co.th หรือโทร. 02-170-6101-3 หรืออีเมล : [email protected] ●