November 9, 2018
Motortrivia Team (10069 articles)

All New Toyota Camry ลองรุ่นสูงสุดของเบนซินและไฮบริดในสนามช้าง

เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

 

●   ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โตโยต้าเปิดตัว คัมรี่ รุ่นใหม่โมเดลเชนจ์ เป็นรถยนต์รุ่นที่ 2 ในเมืองไทยต่อจาก โตโยต้า C-HR ที่ใช้ โครงสร้างใหม่ TNGA คัมรี่ใหม่ออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ที่นอกจากความสะดวกสบายแล้ว ยังต้องการรถยนต์ที่สะท้อนบุคลิกที่โดดเด่นของผู้ใช้ เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้บริหารยุคใหม่ที่อายุน้อยลงและขับรถเอง สมรรถนะของเครื่องยนต์จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญ


●   โตโยต้า คัมรี่ รุ่นใหม่ล่าสุด มาพร้อมระบบไฮบริดเจนเนอเรชั่นที่ 4 และโครงสร้าง TNGA ซึ่งแบ่งเป็น 5 ส่วนหลัก คือ

1.   คุณภาพการขับ ประกอบด้วย เทคโนโลยีของเครื่องยนต์ใหม่ เบนซิน 2.5 ลิตร Direct Force และระบบส่งกำลังใหม่ 8 จังหวะ Direct Shift
2.   ความสะดวกสบาย ด้วยการออกแบบช่วงล่างใหม่ และการปรับจูนใหม่ พร้อมเทคโนโลยีพวงมาลัยใหม่
3.   เป็นมิตรกับผู้ใช้ ย้ายตำแหน่งแบตเตอรี่ไฮบริด จากรุ่นเดิมอยู่ใต้ที่เก็บสัมภาระด้านท้าย ไปอยู่ใต้เบาะหลัง และระบบ Auto Glid Control สำหรับรุ่นไฮบริด
4.   ระบบความปลอดภัย Toyota Safety Sense P
5.   ความภาคภูมิใจที่ได้ครอบครอง การออกแบบโครงสร้างตัวถังใหม่

●   คัมรี่ ใหม่ รุ่นย่อย 2.5G ใช้เครื่องยนต์ใหม่ รหัส A25A-FKB Direct Force ออกแบบให้ไอดีที่เข้าสู่ห้องเผาไหม้มีการม้วนตัว ด้วยการเพิ่มความกว้างของมุมระหว่างวาล์วไอดีและวาล์วไอเสีย เปลี่ยนมุมวาล์วไอดี เปลี่ยนอัตราส่วนระหว่างความกว้างกระบอกสูบและระยะชัก ปรับมุมปลายพอร์ทไอดีและขยายบ่าวาล์ว ระบบแปรผันวาล์วใหม่ VVT-iE ควบคุมการแปรผันจังหวะการเปิด-ปิดวาล์วไอดีด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ควบคุมการทำงานโดย EDU ส่วนการแปรผันจังหวะการเปิด-ปิดวาล์วไอเสียใช้ระบบไฮดรอลิก หัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงมีทั้งในพอร์ทไอดีและในห้องเผาไหม้

●   ระบบส่งกำลังใหม่แบบอัตโนมัติ 8 จังหวะ มาพร้อม Lockup Control Multiple Disc Clutch เพิ่มมัลติดิสก์คลัตช์ภายในตัวทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ส่งกำลังโดยตรง ไม่มีการสลิปขณะเปลี่ยนเกียร์ ตัวเลขโรงงานอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รุ่นไฮบริดใช้เวลา 9 วินาที เบนซิน 2.5 ลิตร 9.4 วินาที และอัตราเร่ง 20-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รุ่นไฮบริด 2.8 วินาที เบนซิน 2.5 ลิตร 3.4 วินาที

●   ปรับปรุงระบบบังคับเลี้ยว เพิ่มมอเตอร์ขับเฟืองโดยตรง เปลี่ยนระบบควบคุมหรือ ECM ให้ตอบสนองแม่นยำขึ้น ระบบกันสะเทือนออกแบบใหม่ เน้นความนุ่มนวลและการยึดเกาะถนนที่ดี ด้านหน้าเพิ่ม Dynamic Damper เพื่อลดการสั่นสะเทือนไม่ให้ส่งไปถึงพวงมาลัย ด้านหลังเปลี่ยนใหม่จากเดิมแม็กเฟอร์สันสตรัต เป็นปีกนก 2 ชั้น แยกช๊อคฯ และสปริง ทำให้ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น รุ่นไฮบริดเพิ่มระบบ Auto Glid Control ทำงานเมื่อเกียร์อยู่ในตำแหน่ง D โหมดการขับ ECO Mode และความเร็วต่ำกว่า 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อผู้ขับยกคันเร่ง ระบบจะปล่อยให้รถไหลได้อย่างนุ่มนวล ไม่ต้องกดคันเร่งเพิ่ม

●   ระบบความปลอดภัย Toyota Safety Sense P ประกอบด้วย Lane Departure Alert-LDA เตือนเมื่อผู้ขับออกนอกเลนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว ระบบจะช่วยดึงพวงมาลัยกลับด้วย, ระบบป้องกันการชน Pre-Collision System-PCS, ระบบ Automatic High Beam-AHB ปรับเป็นไฟสูงอัตโนมัติเมื่อไม่มีรถอยู่ด้านหน้า, ระบบ Dynamic Radar Cruise Control System-DRCC รักษาความเร็วพร้อมรักษาระยะห่างจากรถด้านหน้าโดยอัตโนมัติ ปรับความห่างได้ 3 ระดับ มาพร้อมแอร์แบ็ก 9 ตำแหน่ง

●   รุ่นไฮบริดพนักพิงเบาะหลังปรับเอนได้ด้วยระบบไฟฟ้า ควบคุมด้วยสวิตช์ระบบสัมผัสที่เท้าแขนกลางเบาะหลัง เพิ่มความสุนทรีย์ตลอดการเดินทางด้วยเครื่องเสียงระดับพรีเมียมจาก JBL ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับคัมรี่

ขับประหยัด ไฮบริด 22.7 เบนซิน 18.3 กิโลเมตรต่อลิตร

●   การทดสอบคัมรี่ใหม่ จัดขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีรถ 2 รุ่นคือ 2.5G และ 2.5 HV Premium ซึ่งเป็นรุ่นสูงสุดของเครื่องยนต์เบนซินและไฮบริด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม มีทั้งการขับในสนามช้างและขับบนถนนสาธารณะ ซึ่งเน้นขับประหยัด ระยะทางจากสนามช้างไปถึงตั้งถาวรฟาร์ม เมล่อน จังหวัดสุรินทร์ ระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร ให้เวลา 1 ชั่วโมง นั่งคันละ 3-4 คน เพื่อนที่ขับด้วยกันไม่ได้ซีเรียสเรื่องผลอัตราสิ้นเปลืองมากนัก จึงตกลงกันว่าจะเปิดแอร์ขับตามปกติ และเนื่องจากมีเพื่อนสื่อมวลชนเจ้าถิ่นร่วมทีมด้วย จึงรับหน้าที่ขับเพราะชำนาญเส้นทาง ขาไปขับรุ่นไฮบริด คิดว่าระยะทางไม่ไกลกับเวลาที่เหลือเฟือ ช่วงแรกจึงขับชิลๆ ลองเล่นระบบต่างๆ ทดลองเปิดใช้งาน EV Mode พบว่าได้ความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบจะตัดให้เครื่องยนต์เข้ามาช่วยทำงาน แต่ถ้าปล่อยให้ระบบเลือกโหมดขับเคลื่อนเอง เมื่อเข้าสู่โหมด EV แล้วเลี้ยงคันเร่งดีๆ ไฟในแบตเตอรี่เต็ม ก็จะทำความเร็วได้กว่า 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

●   ขับเล่นเพลินไปหน่อยและมีติดไฟแดงบ้าง ทำให้เวลาเริ่มย้วย เปิด Google Map เช็คเวลาถึงปลายทางแล้วพบว่าจะใช้เวลาเต็ม 1 ชั่วโมงพอดิบพอดี จึงต้องเพิ่มความเร็วขึ้นทีละนิด เผื่อเวลาไว้นิดหน่อย เพราะถ้าพลาดใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมงจะแพ้ฟาล์ว ช่วง 2 กิโลเมตรสุดท้ายจึงได้ลองความเร็วสูงเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พบว่าห้องโดยสารเงียบ แทบไม่มีเสียงลมปะทะ ถึงปลายทางรีบเปิดกระจกกวักมือเรียกทีมงานโตโยต้ามาบันทึกเวลา อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยในชุดมาตรวัด 22.7 กิโลเมตรต่อลิตร แวะชิมเมลอนแช่เย็นหวานอร่อยตามธรรมชาติแล้วสลับรถเป็นรุ่นเบนซิน 2.5 เปลี่ยนตัวผู้ขับแล้วขับกลับเส้นทางเดิมระยะทางเท่าเดิม และให้เวลาเท่าเดิมคือ 1 ชั่วโมง

●   คราวนี้ไม่ประมาทต้องเผื่อเวลาเยอะขึ้น จะไปเร่งช่วงท้ายคงยากเพราะเป็นการขับเข้าเมืองที่มีสัญญาณไฟจราจรค่อนข้างถี่ ออกเดินทางด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดไฟแดงตามปกติ แต่เวลาเร่งออกตัวจะค่อยๆ เพิ่มความเร็ว ให้ Google Map ช่วยคำนวณเวลาให้ พบว่าน่าจะถึงก่อนเวลาแบบเหลือเฟือ เลยโชว์ความใจเย็นด้วยการแวะเข้าห้องน้ำ 1 ครั้ง แล้วขับต่อ ถึงปลายทางแบบสบายๆ เพราะเวลาเหลือเกือบ 10 นาที ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 18.3 กิโลเมตรต่อลิตร มั่นใจว่ายังไงก็ต้องติดอันดับ 1 ใน 10 เพราะมีรถทั้งหมด 10 คัน

●   ระหว่างทางลองย้ายไปนั่งเบาะหลังของรุ่น 2.5G ไม่มีระบบปรับพนักพิงเบาะหลังด้วยไฟฟ้า ความกว้างขวางเหลือเฟือสำหรับความสูง 169 เซนติเมตร เพื่อนอีกคนสูงกว่า 180 เซนติเมตรก็ยังนั่งได้ เพดานมีเว้าหลบช่วงศีรษะเพิ่มที่ว่างมากขึ้น พนักพิงปรับความเอนมาพอเหมาะ ฐานล้อยาว 2,825 มิลลิเมตร ส่งผลให้พื้นที่วางขากว้างสบาย มีแอร์หลังกับช่องชาร์จไฟให้ครบ ช่วงที่ขับตามรถคันหน้า มองจากด้านท้ายเห็นความแบนเตี้ยดูสปอร์ตปราดเปรียว แม้มิติตัวรถจะค่อนไปทางใหญ่ โดยมีความยาว 4,885 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,445 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,590/1,615 มิลลิเมตร น้ำหนักรุ่น 2.5G 1,550 กิโลกรัม รุ่นไฮบริด HV Premium 1,650 กิโลกรัม

ขับในสนามช้าง ลองประสิทธิภาพของทั้ง 2 รุ่น

●   กลับมาสมทบกับอีกกลุ่มที่ลองขับในสนามช้างไปก่อนแล้ว เติมพลังมื้อกลางวันร่วมกันแล้วแยกย้ายสลับการทดสอบ กลุ่มที่ออกไปขับบนถนนสาธารณะมาแล้วก็เปลี่ยนมาขับในสนาม สื่อมวลชนนั่งคันละ 2 คน และมี Instructor นั่งข้างผู้ขับเพื่อช่วยแนะนำการขับ และบอกว่าแต่ละสถานที่ขับนั้นให้โฟกัสจุดไหนของรถ แต่ละคนจะได้ขับ 2 รอบ รอบแรกใช้โหมด Normal อีกรอบใช้โหมด Sport

●   เริ่มต้นด้วยรุ่นไฮบริด ออกจากปากทางพิต เข้าสู่ทางตรงขับไปเข้าสถานีสลาลอมที่ความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นเข้าโค้งขวากว้าง มีไพลอนบอก Apex ต่อเนื่องด้วยการเปลี่ยนเลนกะทันหันที่ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กดคันเร่งเพื่อดูการตอบสนองของแต่ละโหมดการขับ เข้าโค้งซ้ายกว้างด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นขับผ่านโค้งแคบ ทดลองเรื่องการทรงตัวและการบังคับควบคุม เข้าสู่สถานีเปลี่ยนเลนกะทันหันอีกครั้งด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โค้งขวาหักศอกเข้าสู่ทางตรงหน้า Grand Stand ครบรอบแรก Instructor เปลี่ยนโหมดการขับให้เป็น Sport จากนั้นเข้าสลาลอมความเร็วสูง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขับซ้ำสถานีเดิมอีกรอบ แล้วแยกซ้ายเข้าพิท ก่อนถึงพิทลองใช้ EV Mode ย้ำความมั่นใจว่าใช้ความเร็วได้ประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าพิทสลับผู้ขับในรถรุ่นเดิม และเมื่อขับครบทั้ง 2 คนแล้วจึงสลับรถเป็นรุ่นเบนซิน 2.5


●   ในรุ่นไฮบริด เครื่องยนต์ให้การตอบสนองที่ดี เร่งเปลี่ยนความเร็วได้ทันใจตั้งแต่รอบต่ำ การตัดต่อกำลัง หรือการเข้าช่วยขับเคลื่อนรถของเครื่องยนต์ ทำได้อย่างนุ่มนวล ถ้าไม่สังเกตจริงๆ จะแทบไม่รู้สึก ช่วงล่างเน้นนุ่มนวล เข้าโค้งแรงๆ ที่ความเร็วสูงเกินจากการใช้งานจริงไปพอสมควร จะรู้สึกว่าย้วยนิดๆ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากยาง 215/55/17 ที่แก้มยางค่อนข้างสูง ส่วนโค้งกว้างใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับตามไลน์ที่วางไพลอนบอกไว้ก็จะควบคุมรถได้สบาย ตัวรถนิ่งมีอาการโคลงไม่มากนัก ในโหมด Sport รู้สึกว่าคันเร่งจะตอบสนองไวขึ้น แตะเบาๆ ทั้งมอเตอร์และเครื่องยนต์จะช่วยกันขับเคลื่อนรถ พวงมาลัยหนืดมือขึ้นอีกหน่อย ระบบเบรกขยันทำงานทั้งในจังหวะกดเบรกและคลายเบรก ต้องใช้เวลาปรับตัวจึงจะเบรกได้นุ่มนวล การเก็บเสียงลมปะทะทำได้ดี แต่เวลาเร่งรอบสูงได้ยินเสียงเครื่องยนต์กระหึ่มค่อนข้างชัด ลองนั่งเบาะหลังรอบสนามเพื่อถ่ายวีดิโอ ก็ไม่รู้สึกว่าท้ายเหวี่ยงหรือเวียนหัว

●   สลับมาขับรุ่น 2.5G สิ่งที่ชอบมากกว่ารุ่นไฮบริดคือ ช่วงล่างที่เฟิร์มกว่านิดๆ เพราะการเซตช่วงล่างที่ต่างกัน รวมทั้งยางขนาด 235/45/18 แต่ไม่ถึงกับแข็งกระด้าง ทั้งช่วงสลาลมและเปลี่ยนเลนกะทันหัน รวมทั้งการเข้าโค้ง ควบคุมได้ง่ายกว่า เบาแรงและฉับไวกว่านิดๆ ไม่ออกอาการยวบย้วย แต่ละสถานีใช้ความเร็วเท่าๆ กับรุ่นไฮบริด แต่รู้สึกมั่นใจกว่านิดๆ ความรู้สึกในการเบรกเป็นธรรมชาติกว่ารุ่นไฮบริด ระหว่างโหมด Normal และ Sport รู้สึกแตกต่างกันไม่มากนัก การตอบสนองของเครื่องยนต์หน่วงกว่ารุ่นไฮบริดหน่อยๆ เพราะไม่มีมอเตอร์มาช่วยขับ ต้องใช้รอบสูงนิดจึงเริ่มกระฉับกระเฉง

●   โดยส่วนตัวถ้ารวมการตอบสนองเครื่องยนต์ของรุ่นไฮบริด และฟิลลิ่งช่วงล่างของรุ่น 2.5G มาไว้ในคันเดียวกันได้ ก็จะเป็นรถที่ขับสนุกไม่น้อย ช่วงงานเลี้ยงตอนเย็นมีการประกาศผลการขับประหยัด รุ่นไฮบริดทำได้ถึง 28 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนรุ่นเบนซินไม่น้อยหน้า 22 กิโลเมตรต่อลิตร ถ้าแต่ละวันไม่ได้ใช้รถเยอะจริงๆ กว่าส่วนต่างของราคารถทั้ง 2 รุ่นจะคุ้มกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ประหยัดได้ คงต้องใช้เวลาหลายปี (ทั้ง 2 รุ่น ราคาต่างกัน 160,000 บาท) อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจึงไม่น่าจะเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจ คนที่จะซื้อรุ่นไฮบริดน่าจะเพราะต้องการอุปกรณ์มาตรฐานที่รุ่น 2.5G ไม่มี หรืออยากลองใช้รถไฮบริด ซึ่งไม่มีอะไรน่ากลัวแล้ว เพราะมีการรับประกันระบบไฮบริด 5 ปี รับประกันแบตเตอรี่ไฮบริด 10 ปี รวมทั้งราคาแบตเตอรี่ที่ถูกลงมาก ส่วนผู้ที่ชอบความสปอร์ตของรุ่น 2.5G ก็ไม่ต้องลังเล เพราะขับใช้งานปกติก็ไม่ได้กินน้ำมันดุเดือด และช่วยประหยัดด้วยการรองรับ E85   ●

ขอบคุณ: บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง


2018 Toyota Camry : Group Test/MT


2018 Toyota Camry : Group Test/Official