February 14, 2019
Motortrivia Team (10167 articles)

Suzuki Ertiga GX เจนเนอเรชั่นที่ 2 ความเอนกประสงค์ที่คุ้มค่า

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ  •  ภาพ : ซูซูกิ ประเทศไทย

 

●   ทิ้งช่วงจากการเปิดตัวไปเพียง 1 สัปดาห์ ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ก็จัดให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับรถเอนกประสงค์ประเภท MPV รุ่นใหม่ เออร์ติก้า เจนเนอเรชั่นที่ 2 เด่นด้วยโครงสร้างตัวถังใหม่ HEARTECT เบาและแข็งแกร่ง เครื่องยนต์ใหม่ขยับพิกัดเป็น 1,500 ซีซี มาพร้อมรูปลักษณ์ภายนอกและภายในที่ใหม่หมด เน้นความโฉบเฉี่ยวทันสมัย คุ้มค่าด้วยราคาช่วงเปิดตัว 695,000 บาท สำหรับรุ่น GX

พลิกโฉมใหม่ทันสมัยกว่าเดิม

●   เออร์ติก้า รถเอนกประสงค์ 7 ที่นั่ง เปลี่ยนโฉมทันสมัยขึ้น โคมไฟหน้าพื้นดำ แบบโปรเจคเตอร์ พร้อมชุดไฟส่องสว่างแบบฮาโลเจน กระจังหน้าโครเมียม เข้าชุดกับคิ้วระหว่างไฟท้ายและที่เปิดประตู ที่เป็นสีโครเมียมเช่นกัน ไฟท้าย LED ในรุ่น GX ไฟเบรกเป็นเส้นแนวตั้ง ตัวรถใหญ่กว่ารุ่นเดิมในทุกมิติ ห้องโดยสารจึงกว้างขวางขึ้น แต่น้ำหนักตัวรถกลับเบาลงถึง 50 กิโลกรัม ด้วยโครงสร้างตัวถังใหม่ HEARTECT ที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแกร่ง


คุณวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด


มิติตัวรถ
•   ยาว 4,395 มม. รุ่นเดิม 4,265 มม. ความแตกต่าง +130 มม.
•   กว้าง 1,735 มม. รุ่นเดิม 1,695 มม. ความแตกต่าง +40 มม.
•   สูง 1,690 มม. รุ่นเดิม 1,685 มม. ความแตกต่าง +5 มม.
•   ฐานล้อ 2,740 มม. รุ่นเดิม 2,740 มม. ความแตกต่าง –
•   ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,510/1,520 มม. รุ่นเดิม 1,480/1,490 มม. ความแตกต่าง +30/+30 มม.
•   ระยะต่ำสุด 180 มม. รุ่นเดิม 185 มม. ความแตกต่าง – 5 มม.
•   น้ำหนัก 1,105/1,135 กก. รุ่นเดิม 1,155/1,185 กก. ความแตกต่าง -50 กก.

●   ภายในของรุ่นที่ทำตลาดในประเทศอินโดนีเซียเป็นสีเบจ ส่วนรุ่นที่นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เปลี่ยนการตกแต่งภายในเป็นสีดำ เพื่อให้ดูแลรักษาง่าย และตรงกับรสนิยมคนไทยมากกว่า รุ่นที่ทดลองขับเป็นรุ่นสูงสุด GX เบาะผู้ขับปรับสูง-ต่ำได้ 60 มิลลิเมตร พวงมาลัยปรับสูง-ต่ำได้ 40 มิลลิเมตร เบาะแถว 2 ออกแบบใหม่ พับได้ง่ายด้วยระบบ One Touch มีคันโยกด้านหลังพนักพิง เพียงดึงคันโยกพนักพิงจะพับไปด้านหน้าและตัวเบาะนั่งจะเลื่อนไปด้านหน้า เปิดพื้นที่ 240 มิลลิเมตร เพื่อให้เข้าไปนั่งบนเบาะแถว 3 ได้ง่ายขึ้น พนักพิงเบาะแถว 2 แยกพับได้แบบ 60:40 ส่วนเบาะแถว 3 พับได้ 50:50 และพับได้ราบเรียบกว่าเดิม

●   จากการขยายฐานล้อยาวขึ้น 130 มิลลิเมตร ส่งผลให้เบาะแถว 3 มีระยะวางขาเพิ่มขึ้น 70 มิลลิเมตร โดยไม่รบกวนพื้นที่ของเบาะแถว 2 และที่เก็บของด้านหลังมีระยะเพิ่ม 90 มิลลิเมตร ประตูทั้ง 4 บาน ออกแบบให้เปิดได้เป็นจังหวะ หรือ Door Open Stoppers เพิ่มความสะดวกเมื่อต้องจอดในที่แคบ ประตูคู่หน้าเปิดได้ 3 ระดับคือ 31, 49 และ 66 องศา ส่วนด้านหลังเปิดได้ 27,48 และ 67 องศา และเมื่อเปิดกว้างสุด ประตูบานหลังจะมีช่องกว้าง 925 มิลลิเมตร เพิ่มความสะดวกในการเข้า-ออก

●   เพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสัมภาระขนาดใหญ่ นอกจากเบาะแถว 2 และ 3 ที่สามารถพับได้ราบแล้ว เมื่อเปิดประตูบานท้ายขึ้นสุด ช่องประตูจะมีความกว้าง 980 มิลลิเมตร สูง 850 มิลลิเมตร ลึก 440 มิลลิเมตร พื้นห้องเก็บสัมภาระแบบ 2 ชั้น มีความลึก 170 มิลลิเมตร ขอบล่างของห้องเก็บสัมภาระสูงจากพื้น 715 มิลลิเมตร ประตูบานท้ายแบบเปิดขึ้นบน เปิดแล้วสูง 1,840 มิลลิเมตร ถ้าผู้ใช้งานมีความสูงไม่เกิน 175 เซนติเมตร ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องหัวโขกประตู เมื่อใช้งานเบาะทั้ง 2 แถว ที่เก็บสัมภาระด้านท้ายจะมีความจุ 199 ลิตร และเมื่อพับเบาะแถว 3 จะเพิ่มความลึกเป็น 1,080 มิลลิเมตร รองรับสัมภาระที่มีขนาดใหญ่ได้สบาย

●   อุปกรณ์มาตรฐานที่เด่นๆ ก็เช่น กุญแจรีโมทแบบ Keyless Entry และ Keyless Push Start ชุดมาตรวัดสามารถปรับตั้งค่าต่างๆ ได้ ทั้งการเปิด-ปิดเสียงเตือนเมื่อกดรีโมท เปิด-ปิดระบบไฟเลี้ยว 3 ครั้ง และเปิด-ปิดเสียงแตรกันขโมย มีเซ็นเซอร์ถอยหลัง เตือนเสียงยาวเมื่อระยะห่างเหลือ 60 เซนติเมตร สามารถเปิด-ปิดได้ ระบบความปลอดภัยมีแอร์แบ็คคู่หน้า เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบรั้งกลับอัตโนมัติ พร้อมจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก

●   จากการทดลองขับพบว่า องศาของพวงมาลัยที่ค่อนข้างเอนราบคล้ายรถตู้ ไม่ได้ตั้งฉากเหมือนรถเก๋ง และพวงมาลัยที่ปรับระยะใกล้-ไกลไม่ได้ ทำให้ต้องขยับกันหลายทีกว่าจะปรับท่านั่งให้ถูกต้องและนั่งสบาย ทัศนวิสัยรอบคันอยู่ในเกณฑ์ดี กระจกประตูทั้ง 4 บาน โดยเฉพาะประตูบานหลังค่อนข้างใหญ่ ลองย้ายไปนั่งเบาะแถว 2 พบว่าแอร์บนเพดานทำงานได้ดี ส่งต่อความเย็นจากด้านหน้ามาอย่างทั่วถึง เย็นสบายทั้งที่รถไม่ได้ติดฟิล์มและแดดค่อนข้างแรง

●   เบาะแถว 2 เน้นความหนานุ่มและค่อนข้างแบนราบไม่โอบกระชับ วางตำแหน่งไว้สูงหน่อย เบาะนั่งมีความยาวรองรับต้นขาได้ดีกับความสูง 170 เซนติเมตร กลไกพับเบาะแบบ One Touch ใช้งานง่าย ไม่ต้องออกแรงมาก ส่วนเบาะแถว 3 ลองเข้าไปนั่งเล่นตอนรถจอด ก็พอนั่งได้ แต่ถ้าพิงพนักเต็มหลัง ศีรษะจะติดเพดานพอดี ส่วนความเย็นก็ยังส่งมาถึง เพราะช่องแอร์บนเพดานเหนือที่นั่งแถว 2 สามารถปรับความแรงของลมแอร์ได้

●   การตกแต่งโดยรวมถือว่าทำได้ดีเกินราคา ทั้งคุณภาพวัสดุและการออกแบบ มีแอบหลอกนิดๆ ตรงจอที่คอนโซลกลางที่มีขนาดใหญ่ แต่ส่วนที่ใช้แสดงผลจริงมีแค่ตรงกลางนิดเดียว อุปกรณ์มาตรฐานเหลือเฟือสำหรับการใช้งาน และเหมาะสมกับราคารถ อีกจุดที่ทำได้ดีกว่าที่คิดคือ การเก็บเสียง โดยเฉพาะเสียงลมปะทะ ที่ความเร็ว 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำได้ดี มีเสียงลมแค่แผ่วๆ ส่วนเสียงเครื่องยนต์จะดังเมื่อลากรอบสูง

ตอบสนองดีเกินคาด ประหยัดพอตัว

●   เออร์ติก้า โฉมใหม่ ขยับพิกัดเครื่องยนต์จาก 1.4 เป็น 1.5 ลิตร พัฒนาจากบล็อกหลักรหัส K เปลี่ยนเสื้อสูบและฝาสูบใหม่ ปรับอัตราส่วนการอัด หัวฉีด 4 รู แต่ไม่ใช่ Dual Jet รองรับแก๊สโซฮอล์ E20 มาตรฐานไอเสีย EURO4 ตัวเลขแรงม้า-แรงบิดเพิ่มขึ้นพอสมควร กับน้ำหนักตัวรถที่ลดลง ทำให้อัตราเร่งช่วงความเร็วต่ำ-ปานกลาง ทำได้ดีกว่าที่คิดเมื่อนั่ง 3 คนรวมผู้ขับ เร่งได้ลื่นไหลต่อเนื่อง การเร่งแบบฉุกเฉินต้องใช้รอบสูงช่วยบ้าง เป็นเรื่องปกติของเครื่องยนต์ไซส์เล็ก

●   เดินทางไกลใช้รอบค่อนข้างสูง น่าจะเผื่อไว้สำหรับการแบกน้ำหนักเมื่อนั่งเต็มพิกัด 7 คน ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ 2,500 รอบต่อนาที, 120 ที่ 3,000 และ 140 ที่ 3,500 รอบต่อนาที ขับช่วงแรก ระยะทางประมาณ 66 กิโลเมตร ใช้ความเร็วตามสภาพการจราจร 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถึงปลายทางด้วยอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 14.9 กิโลเมตรต่อลิตร มีลุ้นว่าจะทำได้ตามตัวเลขที่โรงงานระบุมา 16.7 กิโลเมตรต่อลิตร

ความแตกต่างระหว่างรุ่นใหม่/รุ่นเดิม
•   ความจุเครื่องยนต์ 1,462 ซีซี รุ่นเดิม 1,373 ซีซี
•   กำลังอัด 10.5:1 รุ่นเดิม 11.0:1
•   กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที รุ่นเดิม 92 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที
•   แรงบิดสูงสุด 138 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบ/นาที รุ่นเดิม 130 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที
•   ความจุถังน้ำมัน 45 ลิตร รุ่นเดิม 45 ลิตร

●   ประสิทธิภาพและอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ใหม่ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เครื่องยนต์ตอบสนองได้ดี ใช้รอบสูงบ้างเป็นเรื่องปกติ บางจังหวะเกียร์ตอบสนองไวไปนิด พยายามจะค่อยๆ เพิ่มความเร็วในเกียร์เดิมด้วยการเพิ่มน้ำหนักในการกดคันเร่ง แต่ถ้ากดลึกไปนิดเดียว เกียร์ก็จะเปลี่ยนลงต่ำให้ เลือกอัตราทดเกียร์ได้เหมาะสม ทำให้เร่งได้ต่อเนื่อง การเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวลดี

ช่วงล่างให้ความมั่นใจ

●   ช่วงล่างด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม คอยล์สปริง เซตมาเผื่อนั่ง 7 ตำแหน่ง เมื่อนั่งแค่ 3 คนจึงรู้สึกกระด้างไปบ้างในบางจังหวะ ได้ยาง 185/65 R15 ช่วยซับแรงกระแทก ใช้ความเร็วสูงบนทางตรงและโค้งกว้างได้อย่างมั่นใจ ควบคุมง่าย หนักแน่นและไม่โคลงมาก ลองย้ายไปนั่งเบาะแถว 2 ในช่วงถนนที่คดโค้ง ก็ไม่รู้สึกว่าถูกเหวี่ยงหรือเวียนหัว พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้ามีการแปรผันการผ่อนแรงที่ชัดเจน ถ้าเพิ่มความหนืดที่ความเร็วสูงอีกนิดก็จะดี การตอบสนองอยู่ในระดับกลางๆ เน้นควบคุมง่าย รัศมีวงเลี้ยว 5.2 เมตร เท่ารุ่นเดิม

●   ระบบเบรกหน้าดิสก์ขนาด 380 มิลลิเมตร หรือ 15 นิ้ว มีครีบระบายความร้อน ด้านหลังดรัมเบรก 220 มิลลิเมตร หม้อลมเบรก 9 นิ้ว การตอบสนองค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ควบคุมแรงเบรกได้ง่าย มาพร้อมตัวช่วยอย่าง ABS, EBD และ BA และระบบ Hill Hold Control เมื่อยกเท้าออกจากแป้นเบรก ระบบจะหน่วงแรงเบรกให้ประมาณ 4 วินาที เพื่อให้ออกตัวบนทางลาดชันได้โดยรถไม่ไหลถอยหลัง ระบบเบรกไม่มีข้อติเรื่องผลงาน แค่หน้าตาไม่หล่อเหมือนดิสก์ 4 ล้อ

●   ซูซูกิ เออร์ติก้า รถเอนกประสงค์ที่รองรับการใช้งานได้ทั้งแบบครอบครัว หรือใช้เป็นรถส่วนตัวแทนรถเก๋งก็ได้ ด้วยตัวรถที่มีขนาดกะทัดรัด ขับง่าย ภายในกว้างขวาง ปรับเปลี่ยนได้หลายรูปแบบตามการใช้งาน ดีไซน์ภายนอกและภายในทันสมัย เครื่องยนต์อยู่ในเกณฑ์ดีทั้งในด้านสมรรถนะและความประหยัด ระบบกันสะเทือนและระบบเบรกที่เซตมาลงตัวกับประเภทของรถ มาพร้อมราคาน่าสนใจ 655,000 บาท สำหรับรุ่น GL และ 695,000 บาท สำหรับรุ่น GX   ●


2019 Suzuki Ertiga GX : Test Drive