March 7, 2019
Motortrivia Team (10170 articles)

Mitsubishi Triton Double Cab 4WD GT-Premium ครบรสทั้งทางเรียบและทางลุย

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ  •  ภาพ : มิตซูบิชิ ประเทศไทย

 

●   มิตซูบิชิ ไทรทัน โฉมล่าสุด ปรับรูปลักษณ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ด้านหน้า Advanced Dynamic Shield เป็นแนวทางการออกแบบล่าสุดของมิตซูบิชิ ที่จะถูกใช้ในรถรุ่นอื่นต่อไป โคมไฟหน้าโปรเจคเตอร์รวมแสง ระบบไฟส่องสว่างแบบ Bi-LED และไฟ DRL แบบ LED เช่นกัน ขยับขนาดล้อแม็กจาก 17 เป็น 18 นิ้ว สีทูโทน ด้านหลังปรับเพิ่มสปอยเลอร์ที่ฝาปิดกระบะท้าย พร้อมไฟท้ายแบบ LED และ LED Light Guide คล้ายปาเจโร่สปอร์ต ช็อกฯ หลังเพิ่มขนาดจาก 42.7 เป็น 45 มิลลิเมตร กระจกมองข้างปรับและพับไฟฟ้าพร้อมไล่ฝ้า


●   ภายในปรับทั้งรูปลักษณ์และเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐาน ชุดมาตรวัดมาพร้อมจอแสดงข้อมูลการขับแบบ 3D ควบคุมด้วยสวิตช์ที่พวงมาลัย คอนโซลกลางออกแบบใหม่เพิ่มแถบสีเงินให้ยาวขึ้น คอนโซลเกียร์ดีไซน์ใหม่เพิ่มวัสดุนุ่มที่ด้านข้าง รองรับบริเวณหัวเข่า บนเพดานติดตั้งระบบหมุนเวียนอากาศสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง สามารถปรับทิศทางและแรงลมได้ ด้านหลังของที่เท้าแขนกลางเบาะหน้า มี USB 2 ตำแหน่ง พร้อมช่องวางสมาร์ทโฟน

●   ปลอดภัยด้วยแอร์แบ็ก 7 ใบ ทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบรั้งกลับอัตโนมัติ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว พร้อมระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และควบคุมการลื่นไถล Active Stability and Traction Control พร้อมระบบเสริมแรงเบรก BA เพิ่มความมั่นใจขณะใช้งานในที่แคบด้วยกล้องมองหลังพร้อมเส้นกะระยะ Multi Around Monitor ไฟหน้าเปิด-ปิดอัตโนมัติ พร้อมระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist และระบบช่วยควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน Hill Descent Control

เด่นที่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Super Select 4WD II

●   ในโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4H เมื่อใช้งานบนทางเรียบ ระบบจะแบ่งกำลังไปที่ล้อหน้า 40 เปอร์เซ็นต์ ล้อหลัง 60 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเข้าสู่ทางเปียกลื่น จะปรับเป็น 50:50 โดยอัตโนมัติเพิ่มการยึดเกาะถนน ส่วนอีก 2 โหมดขับเคลื่อนคือ 4HLc และ 4LLc ระบบ Center Differential Lock จะแบ่งการส่งกำลังแบบ 50:50 โดย 4LLc จะเพิ่มระบบการล็อกเฟืองท้าย Rear Differential Lock ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าพร้อมสวิตช์เปิด-ปิด มาพร้อมระบบ OFF-ROAD MODE ปรับการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับ

เครื่องยนต์เดิม เพิ่มเกียร์ 6 จังหวะ

●   ไทรทันรุ่นยกสูงทั้ง 4×4 และ 4×2 ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว MIVEC แปรผันการเปิด-ปิดวาล์วไอดี อัดอากาศด้วยเทอร์โบแบบ VG แปรผันครีบในโข่งไอเสีย ลดการรอรอบ พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ความจุ 2,442 ซีซี 181 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 43.8 กก.-ม. ที่ 2,500 รอบต่อนาที เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO4 น้ำหนักรถประมาณ 1,960 กิโลกรัม ตัวรถในรุ่นปรับโฉม มีระยะต่ำสุดเพิ่มขึ้นจากเดิม 205 เป็น 220 มิลลิเมตร ลุยทางวิบากได้มากขึ้นด้วยมุมปะทะเพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 31 องศา มุมคร่อมเพิ่มจาก 24 เป็น 25 องศา และมุมจากเพิ่มขึ้นจากเดิม 22 เป็น 23 องศา


คุณยอดชาย ซื่อวัฒนากุล ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักสื่อสารการตลาด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด


รีดสมรรถนะบนเส้นทางทดสอบ

●   ตั้งหลักกันที่โรงแรม North Hill บนถนนเชียงใหม่-หางดง เป็นทั้งจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการทดสอบ รวมทั้งเป็นพี่พักด้วย ช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก คุณยอดชาย ซื่อวัฒนากุล ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักสื่อสารการตลาด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวต้อนรับสื่อมวลชน และ คุณพุฒิพงศ์ งามพัฒนะกุล ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ บรรยายรายละเอียดของไทรทันใหม่ จากนั้นจึงเริ่มออกเดินทาง


คุณพุฒิพงศ์ งามพัฒนะกุล ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด


●   เส้นทางช่วงแรกเป็นทางเรียบตรง เครื่องยนต์ 181 แรงม้า เน้นควบคุมง่าย กำลังมาแบบนุ่มนวลต่อเนื่อง เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เริ่มโอเวอร์ไดรฟ์ที่เกียร์ 5 อัตราทดต่ำกว่า 1.000 ที่ความเร็ว 90-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะใช้รอบอยู่ในช่วง 1,400-1,800 รอบต่อนาที ในช่วงรอบประมาณนี้เครื่องยนต์ค่อนข้างเงียบและแทบไม่มีการสั่นสะเทือน การเร่งแซงแบบค่อยๆ กดคันเร่งในเกียร์เดิมทำได้ยาก เพราะอัตราทดเกียร์สูงๆ ค่อนข้างชิด แค่กดคันเร่งลึกหน่อยเกียร์ก็จะเปลี่ยนลงให้ 1-2 จังหวะ ซึ่งก็ให้อัตราเร่งที่เพียงพอ ถ้าไม่ใช่การแซงที่ฉุกเฉินนักก็ไม่จำเป็นต้องคิ๊กดาวน์ให้เกียร์เปลี่ยนลงลึกหลายจังหวะ

●   การตอบสนองของเกียร์อยู่ในระดับกลางๆ เน้นความนุ่มนวล ไม่กระชากกระชั้นแม้เปลี่ยนเกียร์ขึ้น-ลงในรอบสูง บางจังหวะเลยดูเหมือนไม่ค่อยทันใจไปบ้าง ลองใช้โหมด M กับ Paddle Shift ก็ให้การตอบสนองที่ไม่แตกต่างเกียร์ D ขับทางเรียบตรงใช้โหมด D ก็พอ จากนั้นเมื่อเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนสายรองมุ่งหน้าร้านอาหารกลางวันซึ่งตั้งอยู่ในโครงการหลวงดอยอินทนนท์ ความบันเทิงก็เริ่มขึ้น

●   เส้นทางที่เหลือกว่า 40 กิโลเมตร เป็นถนน 2 เลน ขึ้นเขาคดเคี้ยว ได้ลองช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวกันอย่างเต็มอิ่ม แต่ก็ต้องยั้งไว้นิดๆ เพราะมีผู้โดยสารด้านหลังมาด้วย สอบถามก่อนแล้วว่าไม่เมารถจึงค่อยเบาใจได้หน่อย ส่วนผู้โดยสารด้านหน้านั้นเมารถก็จริง แต่ก็ชิงจังหวะหลับไปก่อนแล้ว ถ้ามองเห็นเส้นทางข้างหน้าได้ไกลและไม่มีรถสวนทางมา หรือรถนำขบวนแจ้งผ่านวิทยุสื่อสารมาว่าทางด้านหน้าโล่ง ก็จะพยายามตัดโค้งให้

●   ระบบกันสะเทือนที่รู้สึกว่าบางจังหวะแข็งไปนิดเมื่อขับบนทางเรียบตรง เมื่อขับบนทางคดเคี้ยวด้วยความเร็วค่อนข้างสูงจึงพบข้อดี คือ ตัวรถไม่ค่อยโคลงหรือเหวี่ยง แม้น้ำหนักรถเกิน 2 ตันรวมผู้โดยสาร การดูดซับแรงกระแทกทำได้ดี ยางขนาด 265/60/18 น่าจะมีส่วนช่วยให้เลี้ยวรถได้กระชับขึ้น และไม่ได้สร้างความยากลำบากในการลุยอุปสรรค แก้มยางยังคงสูงพอสำหรับการให้ตัวและลดความสะเทือน การตอบสนองของพวงมาลัยไม่ได้เฉียบคมว่องไวมาก แต่ก็ให้ความแม่นยำและผ่อนคลาย ควบคุมทิศทางง่ายและมีการผ่อนแรงที่พอเหมาะ

●   ช่วงนี้ยังใช้ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ แต่เปลี่ยนมาใช้โหมดเกียร์ Sport เพื่อควบคุมจังหวะการเปลี่ยนเกียร์เองด้วย Paddle Shift ทำให้เร่งไต่เนินได้คล่องและต่อเนื่องขึ้น เพราะไม่ต้องเสียจังหวะคิ๊กดาวน์ และใช้ความเร็วที่เหมาะสมได้ ส่วนช่วงลงเนินก็คาเกียร์ไว้ได้ ให้เกียร์ช่วยหน่วงความเร็ว ลดภาระของเบรก อัตราทดเกียร์ที่มี 6 จังหวะ ทำให้สามารถเลือกตำแหน่งเกียร์ที่เหมาะสมกับความเร็วและสภาพการขับได้ง่ายขึ้น ช่วงอัตราทดสอดคล้องกับกำลังของเครื่องยนต์ที่ดีในช่วงกว้าง ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ขึ้น-ลงบ่อยๆ

●   Paddle Shift ของมิตซูบิชิหลายรุ่นติดตั้งแบบตายตัว ไม่ได้หมุนตามพวงมาลัย ซึ่งวิศวกรผู้ออกแบบให้เหตุผลว่า จังหวะที่ใช้ Paddle Shift พวงมาลัยมักจะอยู่ในตำแหน่งตรงหรือเกือบตรง ซึ่งก็ออกแบบ Paddle Shift ให้มีขนาดค่อนข้างยาวรองรับไว้แล้ว โดยส่วนตัวแล้วชอบแบบตายตัวมากกว่า เพราะช่วยลดความสับสนเมื่อหมุนพวงมาลัย และโดยส่วนใหญ่ก็จะใช้ Paddle Shift ในจังหวะที่พวงมาลัยเกือบตรง

ทางฝุ่นคดเคี้ยว 4H ก็เหลือๆ

●   ก่อนเติมพลังมื้อกลางวันได้รับคำเตือนแล้วว่าให้กินแค่พออิ่ม เพราะเส้นทางข้างหน้าโหดกว่าที่ผ่านมา แต่กับข้าวอร่อยเกินห้ามใจ บวกกับบรรยากาศที่ดี อากาศเย็นถึงขั้นหนาวนิดๆ เพราะลมแรง ทำให้เจริญอาหารเป็นพิเศษ อิ่มแล้วยังไม่เปลี่ยนตัวผู้ขับ เพื่อให้ได้สัมผัสกับทางออฟโรดแบบเบาๆ ทางคดเคี้ยวขึ้นเขาพับผ้าเหมือนเดิม เพิ่มความยากด้วยผิวถนนที่เป็นทางฝุ่น มีร่องที่ถูกน้ำเซาะในช่วงหน้าฝนลึกบ้างตื้นบ้าง ซ้ายมือเป็นหน้าผา ขวามือเป็นเหว ต้องขับด้วยความระมัดระวัง และทิ้งระยะห่างจากคันหน้ามากขึ้น เพื่อให้ฝุ่นจากคันหน้าจางลงก่อน จะได้มองเห็นทาง ลดโอกาสโดนหินจากคันหน้าดีดใส่รถ รวมทั้งเผื่อระยะการเบรกหรือรถคันหน้าไหลถอยหลังในกรณีฉุกเฉินด้วย

●   สภาพเส้นทางยังไม่โหดมากนัก ใช้โหมด 4H เพิ่มความมั่นใจ และด้วยระบบ Super Select 4WD II ที่แปรผันการแบ่งกำลังหน้า-หลังตามสภาพพื้นผิว 40:60 และ 50:50 ทำให้บางจังหวะที่ต้องเลี้ยวมุมแคบหลบไหล่ทางที่ถล่มเพราะน้ำกัดเซาะ ทำได้โดยพวงมาลัยไม่ฝืน เลี้ยวได้คล่องและใช้ความเร็วได้พอสมควร บางช่วงทางแคบมากๆ ได้ลองระบบกล้องมองรอบคัน ซึ่งภาพยังไม่คมชัดเท่าไร ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความละเอียดของกล้องกับจอ หรือเพราะมีฝุ่นจับที่กล้อง แต่ก็มองได้ชัดโดยไม่ต้องลงจากรถไปดูว่าอุปสรรคอยู่ตรงไหน อีกระบบที่ได้ลองคือ HDC ควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อลงทางลาด เมื่อเปิดใช้งานระบบจะเบรกและรักษาความเร็วให้ ผู้ขับเพียงควบคุมพวงมาลัย ทำให้ขับบนทางออฟโรดได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น ลองทางออฟโรดประมาณ 10 กิโลเมตรก็เปลี่ยนผู้ขับ เส้นทางที่เหลือก็มีทั้งทางออฟโรดและทางเรียบเพื่อกลับที่พัก ลองนั่งเบาะหลังช่วงสั้นๆ รู้สึกว่าพนักพิงจะตั้งชันไปนิด ส่วนพื้นที่วางขาและเหนือศีรษะ ไม่มีปัญหาสำหรับส่วนสูง 169 เซนติเมตร

●   มิตซูบิชิ ไทรทัน รุ่นสูงสุด 4 ประตู GT-Premium ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ดีไซน์ภายนอกเตะตา ครบครันเรื่องอุปกรณ์เพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัย เครื่องยนต์บล็อกเล็ก รีดสมรรถนะด้วยเทคโนโลยี ให้การตอบสนองที่เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป เด่นที่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ รองรับการขับออฟโรดแบบต่างๆ ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นและใช้งานง่าย ทำให้การขับบนทางออฟโรดเป็นเรื่องสนุกและปลอดภัยแม้เป็นมือใหม่ ตั้งราคาไว้ 1.099 ล้านบาท มาพร้อมการรับประกัน 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ฟรีค่าแรง 5 ปี 100,000 กิโลเมตร ประกันภัยชั้น 1 และบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง   ●


2019 Mitsubishi Triton Double Cab 4WD GT-Premium : Group Test