May 7, 2019
Motortrivia Team (10197 articles)

Nissan: N.I.D.E. Go Anywhere มุ่งสู่ประเทศเมียนมาร์

เรื่อง : สันติภพ นิ่มเล็ก  •  ภาพ : นิสสัน ประเทศไทย

●   นิสสัน ประเทศไทย พร้อมคณะสื่อมวลชนรวมถึงเรา Motortrivia ร่วมขบวนทดสอบขับเป็นเวลา 11 วัน 10 คืน บนเส้นทางที่มีระยะทางรวมทั้งหมดกว่า 3,000 กิโลเมตร ทั่วประเทศเมียนมาร์ ในกิจกรรมที่จัดขึ้นด้วยแนวคิด Nissan Intelligent Driving Experience (NIDE) Go Anywhere เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของรถกระบะอัจฉริยะอย่าง นาวารา แบล็ค เอดิชั่น ใหม่ เอ็กซ์เทรล ใหม่ และเทอร์ร่า ใหม่

●   การผจญภัยอย่างไร้ขีดจำกัดในเมียนมาร์คือปรากฎการณ์ใหม่ของกิจกรรมทดสอบขับภายใต้กิจกรรม NIDE Go Anywhere ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นครั้งแรกที่เป็นการเดินทางแบบคาราวานอย่างเป็นทางการ จากภาคใต้ขึ้นสู่ภาคเหนือของประเทศเมียนมาร์ด้วยไลฟ์สไตล์แบบ “ลุยได้ทุกที่” ของนิสสัน สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนด้วยสมรรถนะ และศักยภาพของรถยนต์นิสสันที่พร้อมจะพาคุณไปที่ไหนก็ได้ด้วยความปลอดภัย สะดวกสบาย ด้วยศักยภาพสูงสุดของ นิสสัน นาวารา แบล็ค เอดิชั่น ปี 2019 ใหม่ นิสสัน เอ็กซ์เทรล ใหม่ และ นิสสัน เทอร์ร่า ใหม่

●   ราเมช นาราสิมัน ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “นิสสัน คาราวาน ออกเดินทางไปในเส้นทางที่ว่ากันว่า ยังไม่ถูกค้นพบแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทิวทัศน์ที่สวยงามและการจราจรที่ไม่หนาแน่น เรามีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่รถของเรามอบสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมและความสะดวกสบายเมื่อขับบนถนนที่ขรุขระหรือ สามารถขับได้อย่างราบรื่นบนถนนที่มีความคดเคี้ยวตลอดเส้นทาง”

●   “ผู้ร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสทดสอบขีดจำกัดของรถยนต์แต่ละรุ่นระหว่างการเดินทางที่มีกิจกรรมต่างๆ มากมายบนเส้นทางที่มี เข้าถึงได้ยากแต่มีความน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดเส้นทางหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การทดสอบขับในเส้นทางที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมระยะทางทั้งหมดกว่า 3,000 กิโลเมตร โดยผู้ร่วมกิจกรรมจะต้องสลับสับเปลี่ยนรถยนต์ที่ขับทุกวันระหว่าง นาวารา แบล็ค เอดิชั่น ใหม่ เอ็กซ์เทรล ใหม่ และเทอร์ร่า ใหม่ เพื่อทดสอบสมรรถนะการขับบนเส้นทางที่ถูกกำหนดให้มีความแตกต่างกัน และท้าทายสมรรถนะของรถยนต์ทุกรุ่นอย่างเต็มที่”

●   สำหรับกลุ่มแรกเริ่มต้นจาก ทางหลวงในจังหวัดกาญจนบุรี สู่ด่านพรมแดน ณ บ้านพุน้ำร้อน ก่อนจะมุ่งหน้าสู่เมืองทวาย และเดินทางต่อไปยังนครย่างกุ้ง ส่วนที่กลุ่มที่ 2 เริ่มจากนครย่างกุ้งสู่มัณฑะเลย์ รับไม้ต่อเป็นกลุ่มที่ 3 ระยะทางรวม 1,015 กิโลเมตร จากมัณฑะเลย์ กลับสู่ประเทศไทยทางจังหวัดเชียงราย

มัณฑะเลย์ – ตองยี 255 กิโลเมตร

●   Motortrivia ได้เข้าร่วมคาราวานทดสอบขับเป็นกลุ่มที่ 3 ซึ่งได้ยินมาว่า “ไกลสุด” และ “โหดสุด” ของการเดินทางในครั้งนี้ ช่วงแรกออกจากมัณฑะเลย์แต่เช้า เดินทางไต่ขึ้นสู่เขตเทือกเขาสูงไปพร้อมกับพาหนะสำหรับช่วงแรกของเรา “นาวารา แบล็ค อิดิชั่น ใหม่” มาพร้อมระบบเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Integration) ล่าสุด Alliance In-Vehicle Infotainment (A-IVI) ที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านแอปเปิล คาร์เพลย์ (Apple CarPlay) ได้อย่างรวดเร็ว

●   ระบบอินโฟเทนเมนท์ NissanConnect เพิ่มความสะดวก ปลอดภัย โดยเฉพาะเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย และสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่เคยไปมาก่อนอย่างในประเทศเมียนมาร์ ทั้งบนเส้นทางชนบทและการขับในเมือง ระบบ A-IVI สามารถนำทาง แนะนำช่องทางจราจรอย่างละเอียด พร้อมบอกสภาพการจราจรในขณะนั้น สำหรับเส้นทางและการขับล่วงหน้า ด้วยการแสดงผลและสามารถพูดเป็นเสียงได้ในแบบ Turn-by-Turn ในทิศทางที่ถูกต้องโดยไม่ต้องใช้แผนที่อื่นๆ

●   นิสสัน นาวารา แบล็ค อิดิชั่น ใหม่ มาพร้อมเครื่องยนต์ 163 แรงม้า และแรงบิดกว่า 403 นิวตัน-เมตร ที่ประหยัดน้ำมัน รวมถึงการขับที่สะดวกสบายเมื่อขับบนถนนที่คดเคี้ยว สามารถผ่านทุกโค้งไปได้อย่างราบรื่น โดยในระหว่างการเดินทาง นาวารา แบล็ค อิดิชั่น ใหม่ ยังรับหน้าที่บรรทุกอุปกรณ์ที่จำเป็น และสัมภาระในการเดินทางต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการเดินทางแต่อย่างใด

●   เทคโนโลยี นิสสัน อินเทลลิเจนต์ โมบิลิตี และฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย และความสะดวกสบาย เช่น กล้องมองภาพรอบทิศทาง (Around View Monitor – AVM) ในรุ่น ดับเบิ้ลแค็บ คาลิเบอร์ เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะของนาวารา แบล็ค อิดิชั่น ใหม่ ที่ช่วยให้สามารถมองเห็นตัวรถนาวารา และสิ่งรอบข้างผ่านกล้องที่ถูกติดตั้ง 4 จุดรอบคัน รุ่นคิง แค็บ ของเบล็ค อิดิชั่น ใหม่ มีกล้องมองหลัง (Rear-View Camera) คุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่โดดเด่นรวมถึงระบบเบรกป้องกันล้อล็อค (ABS) ถุงลมนิรภัย กุญแจรีโมท ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ จอแสดงผลแบบ Drive-Assist ที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถติดตามความเร็ว และแสดงอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันของการขับระยะไกล

●   หลังออกเดินทางตั้งแต่เช้าคาราวานของเราก็มาถึงจุดหมายแรกของเรากลุ่มที่ 3 คือ มัณฑะเลย์ฮิลล์ และต่อด้วย เจดีย์กุโสดอ สภาพเส้นทางช่วงนี้ยังขับรถกันได้อย่างสบายๆในเมือง ถนนที่นี่ต้องขับชิดเลนขวา เพราะปกติที่เมียนมาร์ใช้รถยนต์พวงมาลัยซ้ายไม่เหมือนกับบ้านเรา ช่วงแรกเลยต้องปรับตัวกันนิดหน่อย

●   คำว่า “มัณฑะเลย์” เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “มันดูลา” หรือ “มันดาลา” ซึ่งหมายถึงวงล้อแห่งพลังอำนาจ หรือมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ และยังเชื่อว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงเคยเสด็จมาโปรดสัตว์ที่ภูเขาแห่งนี้ พร้อมทั้งมีพุทธทำนายว่าจะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา อันเป็นสาเหตุให้พระเจ้ามินดงทรงย้ายราชธานีมาอยู่ใต้ร่มเงาภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

●   มัณฑะเลย์ฮิลล์ ตั้งอยู่กลางเมืองมัณฑะเลย์ สูง 236 เมตร ปากทางขึ้นมารูปปั้นสิงห์ขนาดใหญ่ 2 ตัว ระหว่างทางมีปูชนียสถานให้สักระบูชาเป็นระยะๆ แต่ต้องเดินขึ้นบันได 7,292 ขั้น เจดีย์กุโสดอ เป็นเจดีย์สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศพม่า ซึ่งใช้รูปแบบการสร้างแบบเดียวกับเจดีย์ชเวซิกอง ในเมืองพุกาม และยังเป็นที่ตั้งของ “หนังสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” จากการสังคายนาพระไตรปิฏก และได้มีการจารึกข้อความทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ ลงบนแผ่นหินอ่อนขนาดใหญ่จำนวน 729 แผ่น ซึ่งตั้งอยู่รายล้อมพระเจดีย์ ตั้งอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เจดีย์กุโสดอ ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1857 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการสร้างพระราชวังมัณฑะเลย์รวมถึงตัวเมือง

●   ในสมัยที่พระเจ้ามินดงใช้เมืองมัณฑะเลย์เป็นเมืองหลวง จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นอนุสรณ์สถานในการสังคายนาพระไตรปิฏกที่นับเป็นครั้งที่ 4 ของโลก โดยลักษณะของตัวเจดีย์เป็นสีทอง มีความสูง 30 เมตร รายล้อมด้วยมณฑปสีขาวทั้ง 4 ทิศ ซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐานของแผ่นหินอ่อนที่ใช้จารึกข้อความจากพระไตรปิฏก

●   จากนั้นขบวนคาราวานกลุ่มที่ 3 ก็เดินทางต่อมุ่งหน้าสู่เมืองตองจี เป็นอันจบการเดินทางในวันแรกด้วยระยะทาง 255 กิโลเมตร

ทะเลสาบอินเล ตองยี – น้ำจ๋าง ระยะทาง 165 กิโลเมตร

●   วันรุ่งขึ้นเราเดินทางท่องเที่ยวโดยเรือในทะเลสาบอินเล (Inle Lake)ทะเลสาบแห่งนี้อยู่ท่ามกลางหุบเขาของรัฐฉาน อยู่ห่างจากเมืองตองยีประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศ มีพื้นที่ประมาณ 44.9 ตารางไมล์ (116 ตารางกิโลเมตร) ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 2,900 ฟุต (880 เมตร) ในช่วงฤดูแล้งความลึกของน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ฟุต (2.1 เมตร) โดยมีจุดที่ลึกที่สุดคือ 12 ฟุต (3.7 เมตร) แต่ในช่วงฤดูฝนสามารถเพิ่มขึ้นได้กว่า 5 ฟุต (1.5 เมตร)ทะเลสาบแห่งนี้เป็นที่อาศัยของกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า ชาวอินทา (Intha) ชนเผ่านี้อาศัยอยู่ในทะเลสาบอินเลมานานนับร้อยปีแล้ว โดยใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการทำเกษตรบนเกาะวัชพืชที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเองกลางลำน้ำในทะเลสาบ การทำประมงในทะเลสาบที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะวิธีการหาปลาด้วยการพายเรือด้วยเท้านั้น ไม่มีชาวประมงที่ใดในโลกจะสามารถเลียนแบบเลย

●   จากนั้นพวกเราก็เดินทางด้วยเรือต่อไปสู่ “วัดผ่องดออู” ทีมี “พระบัวเข็ม” ประดิษฐานอยู่ สำหรับ“พระบัวเข็ม” ลักษณะสำคัญนั้น เป็นพระที่แกะขึ้นจากกิ่งไม้พระศรีมหาโพธิ์ ลงรักปิดทองเป็นรูปพระเถระนั่งก้มหน้ามีใบบัวคลุมศีรษะ และมีเข็มหมุดปักอยู่ตามตัวหลายแห่ง นั่งอยู่บนฐานดอกบัวหงาย ดอกบัวคว่ำรองรับ เมื่อหงายใต้ฐานดูจะพบลายลักษณ์ปั้นทรงนูนต่ำรูปดอกบัวใบบัวและรูปปลา ส่วนที่เรียกว่า “พระบัวเข็ม” คือ รูปพระอุปคุตเถระเรื่องราวของพระบัวเข็มไม่ค่อยปรากฏเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในเมืองไทย เหมือนพระพุทธรูปองค์อื่นๆ เพราะพระบัวเข็มเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

●   ทั้งนี้ เพราะเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช ทรงสนิทสนมกับพระภิกษุชาวมอญมาก โดยทรงศึกษาประวัติพระพุทธศาสนา และพระธรรมวินัย จากพระภิกษุชาวมอญทรงแตกฉานในพระธรรมวินัยทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และด้วยการที่ทรงติดต่อคุ้นเคยกับพระภิกษุชาวมอญมาโดยตลอด เมื่อพระภิกษุชาวมอญเข้าเฝ้าที่วัดบวรนิเวศฯ ครั้งใด ก็มักนำพระบัวเข็มเข้ามาถวายอยู่เนืองๆ

●   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบประวัติความเป็นมาของพระบัวเข็ม มากกว่าบุคคลใดในสมัยนั้น จนถึงทรงยอมรับพระบัวเข็มเข้าในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พิธีขอฝน) พระบัวเข็มนี้ถือกันว่าเป็นพระที่มีความศักดิ์สิทธิ์ อภินิหาร ในทางชนะศัตรูหมู่มาร และในทางบังเกิดความอุดมสมบูรณ์ ลาภสักการะ ความร่ำรวยอย่างยิ่งแก่ผู้เคารพบูชาซึ่งรูปลักษณะการปฏิบัติบูชาก็แปลกแตก ต่างจากพระอื่น

●   การสร้างรูปเคารพของพระบัวเข็มนั้นมีรูปลักษณะที่แตก ต่างกันอยู่มากตามแต่ ผู้สร้างจะคิดประดิษฐ์รูปลักษณะตามประวัติแล้ว จัดสร้างขึ้นในอากัปกิริยาตามอิทธิปาฏิหาริย์ของพระอุปคุตเหลือที่จะพรรณนา ได้ เช่นเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั่วไปเหมือนกัน เท่าที่สังเกตพระบัวเข็มในประเทศไทย แบ่งออกได้ 2 แบบ คือแบบมอญแบบหนึ่ง และแบบพม่าแบบหนึ่ง พระบัวเข็มทั้ง 2 แบบนี้คงอาศัยรูปแบบของพระบัวเข็มในอินเดียเป็นหลักสำคัญ แต่มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงขึ้นตามความนิยมในประเทศมอญและพม่า

●   “พระบัวเข็ม” เป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวพม่าที่ชาวพุทธนิยมเดินทางไปกราบไหว้ ขอพร ประดิษฐานอยู่ที่วัดผ่องดออู บริเวณริมทะเลสาบอินเล ประเทศพม่า ชาวพุทธไทยไปกราบไหว้ขอพรแล้วประสบความสำเร็จ จึงขออนุญาตทางวัดนี้ เพื่อสร้างองค์พระบัวเข็มจำลองมาประดิษฐานที่เมืองไทย

●   ตามความเชื่อของชาวพม่า การสร้างพระบัวเข็มจำลอง จะต้องทำจากต้นโพธิ์ที่มีอายุ 100 ปี ขึ้นไป ซึ่งยืนต้นแห้งเองไปตามธรรมชาติ เมื่อสร้างเสร็จจะนำพระบัวเข็ม ประดิษฐานบนเรือการะเวก ซึ่งมีรูปร่างเหมือนนกการะเวก ล่องเรือไปกลางทะเลสาบอินเล โดยเลือกวันพระขึ้น 15 ค่ำ ประกอบพิธีบวงสรวงเทพยดา พุทธาภิเษก ซึ่งมีทั้งพระสงฆ์พม่าและพระสงฆ์ไทย เจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตตภาวนา

●   หลังจากเสร็จจากการเดินทางด้วยเรือในทะเลสาบอินเลแล้ว เราก็เดินทางต่อทางบกเหมือนเดิมเพื่อมุ่งสู่เมืองน้ำจ๋างด้วย เอ็กซ์เทรล ใหม่ ที่มากับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ไฮบริด ให้กำลังสูงสุด 144 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 200 นิวตัน-เมตร และมอเตอร์ไฟฟ้าที่เพิ่มกำลังสูงสุดอีก 41 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 160 นิวตัน-เมตร แถมด้วยระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ (Intelligent Cruise Control – ICC) ของเอ็กซ์เทรล ใหม่ ซึ่งสามารถรักษาระยะห่างที่ปรับตั้งไว้กับรถคันหน้า ช่วยลดภาระของผู้ขับด้วยการไม่ต้องกำหนดความเร็วให้คงที่ แต่จะตรวจจับความเร็วในการเคลื่อนที่ของรถในขบวน โดยสามารถเร่งหรือลดความเร็วได้ตามต้องการ

●   นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีเตือนเมื่อมีวัตถุอยู่ในจุดอับสายตา (Blind Spot Warning หรือ BSW) และเทคโนโลยีเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง (Lane Departure Warning หรือ LDW) ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและตรวจจับวัตถุกีดขวาง ขณะที่เทคโนโลยีช่วยเตือนก่อนการชนด้านหน้าอัจฉริยะ (Intelligent Forward Collision Warning หรือ FCW) ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเบรกฉุกเฉินอัจฉริยะ (Intelligent Emergency Braking หรือ IEB) ตรวจจับการหยุดกะทันหันของรถคันหน้าที่อยู่ในเลนเดียวกัน พร้อมแจ้งเตือนผู้ขับและสั่งการระบบเบรกเพื่อลดความเสี่ยงจากการชนที่อาจเกิดขึ้น

น้ำจ๋าง – เชียงตุง วิ่งตามเส้นทางเลาะแนวเขา 334 กิโลเมตร

●   ในช่วงนี้ Motortrivia ได้รับพาหนะคันใหม่เป็น นิสสัน เทอร์ร่า ใหม่ เพื่อเดินทางต่อ ซึ่งมีประบบตัวช่วยอย่างเทคโนโลยีนิสสัน อินเทลลิเจนต์ โมบิลิตี อย่างกล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor) และระบบเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (Moving Object Detection หรือ MOD) ได้ช่วยให้ผู้ขับมองเห็นภาพรอบๆ คัน ของ เทอร์ร่า ใหม่ อย่างสมบูรณ์ในทุกมุมมอง สามารถเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่คับแคบหลายๆ ช่วงของการเดินทางได้ง่ายดาย

●   เทคโนโลยีเตือนเมื่อมีวัตถุอยู่ในจุดอับสายตา (Blind Spot Warning หรือ BSW) และเทคโนโลยีเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง (Lane Departure Warning หรือ LDW) ที่ช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุเฉี่ยวชน แถมยังมีระบบช่วยออกตัวและควบคุมความเร็วบนทางลาดชัน (Hill Start Assist หรือ HSA และ Hill Descent Control หรือ HDC) ระบบป้องกันการลื่นไถล (Brake Limited Slip Differential หรือ B-LSD) มาตรวัดการขับบนทางออฟโรด (Off-road Meter) รวมถึงการเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนขณะขับ หรือ shift-on-the-fly ซึ่งทั้งหมดช่วยให้ผู้ขับควบคุมรถฟันฝ่าเอาชนะทุกอุปสรรคในการเดินทางครั้งนี้

●   การเดินทางช่วงนี้พวกเราได้ผ่านหมู่บ้านของ “ชนเผ่าปะหล่อง” ด้วย สำหรับ “ปะหล่อง” เป็นชนกลุ่มน้อยพวกหนึ่ง นับเป็นหนึ่งใน 56 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีชาวปะหล่องอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์ และมีบางส่วนที่อพยพเข้ามาประเทศไทยบริเวณชายแดน ใกล้ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวปะหล่องพูดภาษาปะหล่อง ซึ่งเป็นภาษาตระกูลมอญ-เขมร บ้านเรือนส่วนใหญ่ของชาวปะหล่องทำจากไม้ไผ่ แต่โครงเป็นไม้จริง ประตูหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ละครอบครัวมีบ้านของตนเอง มักเป็นบ้าน 2 ชั้น (แต่บ้านชั้นเดียวก็มี) ชั้นล่างเป็นที่เก็บข้าวเปลือกและเลี้ยงสัตว์ ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย

●   ผู้หญิงชาวปะหล่องแต่งกายแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ปกติจะมีเสื้อกั๊กสีดำ หรือขาวทับด้านนอก ตกแต่งด้วยแถบกำมะหยี่หลากสี และนิยมนุ่งผ้าถุง ชายชาวปะหล่องสวมเสื้อกั๊กสีขาวหรือกรมท่า กางเกงขายาว ขาบาน นอกจากนี้ยังโพกศีรษะด้วยผ้าขาวหรือดำ ในบางท้องถิ่น ชาวปะหล่องยังนิยมสักบนร่างกายเป็นรูปเสือ นก หรือดอกไม้

●   ส่วนของเส้นทางการเดินทางต้องขับที่ไต่ลงไปในหุบเขาที่คับแคบ ก่อนจะลัดเลาะเลียบไปตามเส้นทางเชิงเขา และไต่ขึ้นถนนที่มีความลาดชันมากอีกครั้ง ไปยังหมู่บ้านปะหล่องที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับช่วงสุดท้ายที่มีความคดเคี้ยว จากนั้นผ่านรัฐฉานทางภาคตะวันออกของประเทศ ที่ถือเป็นเส้นทางที่น่าประทับใจจากทิวทัศน์ 2 ข้างทางอันสวยงาม ขับรถไปเส้นทางนี้ถือว่าเพลิดเพลินไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว แล้วเราก็เดินทางมาถึงเมือง “เชียงตุง” กันอย่างสบายๆ

เชียงตุง – เชียงราย ประเทศไทย 217 กิโลเมตร

●   ช่วงสุดท้ายของการเดินทางสำหรับกลุ่มที่ 3 เราอำลง “เชียงตุง” กันแล้วเดินทางมุงสู่ จังหวัดเชียงราย วันนี้เรายังคงได้ใช้ นิสสัน เทอร์ร่า ใหม่ เหมือนเดิม ด้วยกำลังจากเครื่องยนต์ดีเซล YS23DDTT ทวินเทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ DOHC ขนาด 2,298 ซีซี พร้อมหัวฉีดเชื้อเพลิงระบบไดเร็คอินเจคชัน ให้พละกำลังสูงสุด 190 แรงม้า และมีแรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร ให้อัตราเร่งที่ดีเวลาต้องเร่งแซงในโค้งต่างๆ

●   ส่วนระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ 7 จังหวะ ที่มาพร้อมโหมดขับแบบแมนนวล (M mode) ที่ช่วยให้การขับมีความต่อเนื่อง ราบลื่น ตลอดเส้นทาง อีกทั้งบางโอกาสบางเส้นทางได้ลองใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4×4 พร้อมระบบล็อกไฟฟ้า ซึ่งมีฟังก์ชั่น shift-on-the-fly ทำให้สามารถเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อหรือ two-wheel drive (2H) เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อหรือ four-wheel driver (4H) ได้สะดวกไปอีกขั้น โดยเฉพาะเมื่อเจอกับสภาพถนนที่เปียกลื่นในบางช่วงของการเดินทาง นอกจากนี้ยังมีโหมดการขับแบบความเร็วต่ำ low range four-wheel drive (4LO) สำหรับการขับบนพื้นทราย โคลน ลุยน้ำ ปีนขึ้นที่สูง หรือลงในเส้นทางลาดชัน ที่เราต้องเจอตลอดการเดินทางในประเทศเมียนมาร์ มาถึงชายแดนท่าขี้เหล็ก คาราวานก็เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทยที่จังหวัดเชียงรายเป็นที่เรียบร้อยและปลอดภัยทุกคัน

●   สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ นิสสัน ประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งทำให้ได้รับประสบการณ์มากมายจากการขับไปยังสถานที่แปลกใหม่ของเมียนมาร์ และได้ยอมรับในประสิทธิภาพของนิสสัน นาวารา แบล็ค เอดิชั่น ปี 2019 ใหม่ นิสสัน เอ็กซ์เทรล ใหม่ และนิสสัน เทอร์ร่า ใหม่ ที่ทำให้เราไปจบทริประยะทางระดับกว่า 3,000 กิโลเมตรได้อย่างสวยงาม   ●


2019 Nissan: N.I.D.E. Go Anywhere