July 14, 2019
Motortrivia Team (10076 articles)

2011 Nissan Leaf เงียบ สะอาด และประหยัด

เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

●   แม้ปัจจุบันยังไม่มีความแน่นอนว่า คนไทยจะได้ใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ หรือไม่ หรือจะได้ใช้เมื่อไร สิ่งที่ต้องรองรับอย่างสถานีชาร์จไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือรถประเภทนี้หรือไม่ แล้วราคาจะประมาณไหน แต่สิ่งที่แน่นอนแล้วในตอนนี้คือ บริษัท อีตั้น คาร์ จำกัด ได้นำเข้ารถยนต์พลังไฟฟ้าโปรดักชั่นรุ่นแรกของโลกอย่าง Nissan Leaf เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ พร้อมให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับ และนับเป็นความโชคดีของทีมงานมอเตอร์ทริเวีย ที่มีโอกาสได้สัมผัสรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้อย่างใกล้ชิด

●   Leaf เปิดตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2009 ทีมงานมอเตอร์ทริเวีย ได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตัวรถไว้ที่ลิ๊งค์นี้แล้ว ผมจึงจะเขียนถึงเฉพาะในส่วนของการใช้งานจริง เช่นเดียวกับการทดสอบรถยนต์รุ่นอื่น มีทั้งการใช้งานในเมือง ขับทางโล่ง การวัดอัตราเร่ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้งาน

แฮทช์แบ็คทรงล้ำยุค

●   แม้จะเห็นตัวเลขมิติตัวถังของ Leaf มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่เมื่อเห็นคันจริงก็ยังรู้สึกว่า ‘ใหญ่กว่าที่คิด’ เส้นสายบนตัวรถโค้งมนลื่นไหล เน้นความลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ โคมไฟหน้าทรงเพรียวยาว คันที่ทดลองขับไม่มีสปอตไลต์ แต่มีพลาสติกสีดำปิดเอาไว้แทน เส้นตัวถังด้านข้างดูคล้าย มูราโน่ รุ่นแรก ชุดที่เปิดประตูทรงคุ้นตา น่าจะหยิบยืมมาจาก เทียน่า โฉมปัจจุบัน ล้อแม็กลายเรียบๆ ขนาด 6.5 x 16 นิ้ว ออฟเซ็ต 40 มิลลิเมตร ยาง 205/55 R16

●   ทรงของประตูบานท้ายดูคล้าย นิสสัน ทีด้า มุมมองด้านหลังตรงออกแนวอวบ ไฟท้ายแนวตั้งทรงบูมเมอร์แรงใช้หลอด LED เพื่อประหยัดพลังงาน มีสปอยเลอร์พร้อมไฟเบรก ด้านล่างของกันชนหลังมีครีบ Diffuser จัดระเบียบอากาศที่ไหลออกจากใต้ท้องรถ

●   บ่งบอกความเป็นรถยนต์พลังสะอาด ด้วยการใช้สีฟ้าเข้มหรือสีน้ำเงินในจุดต่างๆ เช่น โลโก้ นิสสัน ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และที่ดุมล้อทั้ง 4 ของล้อแม็ก ตัวอักษร O ซึ่งออกแบบเป็นสัญลักษณ์สวิตช์เปิด-ปิดที่คำว่า Zero Emission รวมทั้งที่ปลายเสาอากาศ และในโคมไฟหน้า/ไฟท้ายด้วย

●   มิติตัวถังมีความยาว 4,445 มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร สูง 1,550 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1,575 กิโลกรัม

ภายในตกแต่งเรียบๆ

●   ถ้าตัดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานออกไปก็จะพบว่า Leaf ไม่ได้เน้นการตกแต่งที่หรูหราแต่อย่างใด วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแข็งและผ้า แซมด้วยสีดำเงากับเมทัลลิกในบางจุด ชุดมาตรวัดแบบ 2 ชั้น ด้านบนเป็นมาตรวัดความเร็วแบบตัวเลขดิจิตอล ด้านล่างเป็นจอใหญ่จอเดียว รวมมาตรวัดที่สำคัญไว้ด้วยกัน

●   ขวาสุดวัดปริมาณไฟฟ้า โดยบอกเป็นระยะทางที่ขับได้ด้วยไฟฟ้าที่มีอยู่ ซ้ายสุดเป็นมาตรวัดอุณหภูมิแบตเตอรี่ ด้านบนเป็นการแสดงผลว่า ดึงไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ หรือชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่มากน้อยแค่ไหน ส่วนด้านล่างสุดเป็นมาตรวัดระยะทางและตำแหน่งเกียร์ คอนโซลกลางเป็นชุดเครื่องเสียง มีระบบนำทางผ่านดาวเทียม และระบบ CARWINGS เชื่อมต่อกับรถเพื่อตรวจสอบสถานะการชาร์จ และสั่งเปิดระบบปรับอากาศได้ แต่เมนูเป็นภาษาญี่ปุ่นจึงไม่ได้ทดลองใช้ ส่วนชุดสวิตช์ด้านล่างสุดใช้ควบคุมเครื่องปรับอากาศ

●   คอนโซลเกียร์ดูล้ำๆ แต่ก็ใช้งานไม่ยาก เพราะมีแผนผังพร้อมไฟบอกตำแหน่งเกียร์ ถ้าจะเข้าเกียร์ P ก็กดปุ่มบนหัวเกียร์ และมีเบรกมือไฟฟ้าที่ปลดอัตโนมัติเมื่อกดคันเร่ง แต่มีข้อแม้ว่าผู้ขับคาดเข็มขัดนิรภัย และเกียร์อยู่ในตำแหน่ง D หรือ R นอกนั้นก็ไม่มีอะไรหวือหวา เบาะนั่งหุ้มผ้าเนื้อนุ่มปรับตำแหน่งด้วยระบบกลไก ฝั่งผู้ขับปรับสูง-ต่ำได้ เบาะหลังแยกพับได้ 60:40 ห้องเก็บสัมภาระกว้างขวางพอควร มีชุดอุปกรณ์การชาร์จไฟฟ้าอยู่ในกระเป๋า

ชาร์จ 8 ชั่วโมง ขับได้ชั่วโมงครึ่ง

●   แม้มีช่องสำหรับชาร์จไฟในโหมด Quick Charge มาให้ แต่ในเมื่อยังไม่มีทั้งสถานีจ่ายไฟฟ้า 480 โวลต์กับหัวเสียบที่รองรับ จึงต้องชาร์จด้วยไฟบ้าน 220 โวลต์ กับหัวเสียบมาตรฐาน SAE J1772 ปัญหาแรกคือ ต้องใช้ไฟฟ้าขั้นต่ำ 20 แอมป์ (หน่วยวัดปริมาณของประจุไฟฟ้าต่อวินาที) ซึ่งบ้านพักอาศัยทั่วไปมักจะใช้มิเตอร์ 15 – 20 แอมป์

●   ส่วนบ้านผมขอไว้ 30 แอมป์ จึงไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่ไปมีปัญหาในวงจรย่อยของปลั๊กไฟที่ใช้ชาร์จ เนื่องจากใส่เบรกเกอร์ไว้แค่ 15 แอมป์ ชาร์จได้ไม่นานเบรกเกอร์ก็ตัดไฟ ต้องไปซื้อเบรกเกอร์อันใหม่ขนาด 35 แอมป์มาเปลี่ยน ปัญหาเรื่องเบรกเกอร์ตัดก็หมดไป

●   ปัญหาต่อมาคือ ต้องมีโรงรถที่สามารถกันฝนได้ค่อนข้างดี เพราะถ้าฝนตกระหว่างชาร์จไฟ ก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่ ขนาดผมชาร์จไฟในโรงรถ เมื่อเห็นฝนทำท่าจะตก ยังต้องหาผ้าพลาสติกมาคลุมทั้งปลั๊กไฟที่บ้านและที่ตัวรถเพื่อป้องกันละอองฝน

●   ระหว่างชาร์จไฟจะมีไฟกะพริบสีฟ้าบนคอนโซลกลาง 3 ดวง สามารถมองเห็นได้จากนอกรถ ถ้าขับกระทั่งไฟใกล้หมด เมื่อเสียบสายชาร์จ ไฟดวงแรกจะกะพริบ และจะสว่างค้างเมื่อชาร์จต่อเนื่องประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยไฟดวงที่ 2 จะกะพริบต่อ รอประมาณ 8 ชั่วโมงไฟทั้ง 3 ดวงสว่างค้างแสดงว่าไฟเต็ม ในชุดมาตรวัดก็มีไฟรูปปลั๊กไฟกะพริบ และจะสว่างค้างเมื่อชาร์จเต็มเช่นกัน เมื่อชาร์จเต็มแล้วผมลองชักปลั๊กออกแล้วเสียบกลับเข้าไปใหม่ ไฟทั้ง 3 ดวงก็สว่างค้าง แสดงว่าไม่มีการชาร์จเพิ่ม

ชาร์จไฟเต็ม ระบบแจ้งว่าขับได้ 165 กิโลเมตร

●   หลังจากรอเกือบครึ่งวันเพื่อชาร์จไฟให้เต็ม พบว่ามาตรวัดระยะทางที่ใช้ได้แจ้งว่าขับได้ 165 กิโลเมตร ผมขับรถออกจากบ้านประมาณ 5 ทุ่มครึ่งเพื่อไปทดสอบอัตราเร่ง เปิดไฟหน้าและเปิดแอร์ แต่ไม่ได้เปิดวิทยุ เซ็ต 0 ที่มาตรวัดระยะทาง ขับออกไปแค่ 2-3 กิโลเมตร แต่ระยะทางที่ขับได้กลับลดลงแบบวูบวาบ

●   ระหว่างเดินทางไปยังจุดวัดอัตราเร่ง ใช้ความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่ขับได้ก็หดหายไปอย่างรวดเร็ว จากนั้นกดคันเร่งสุดๆ เพื่อวัดอัตราเร่ง 2 ครั้งแล้วเดินทางกลับบ้านด้วยความเร็วพอๆ กับตอนขามา เข้าไปจอดในบ้านระยะทางขึ้นมา 64.2 กิโลเมตร แต่ระยะทางที่ขับได้ด้วยไฟฟ้าที่มีอยู่เหลืออยู่แค่ 58 กิโลเมตร รวมกันแล้วก็ใช้งานได้แค่ 122 กิโลเมตรเท่านั้น ห่างไกลกับที่แจ้งไว้ 165 กิโลเมตรตอนชาร์จเต็ม

ขับไป 64.2 กิโลเมตร ใช้งานได้อีกแค่ 58 กิโลเมตร ระบบแจ้งว่าถ้าชาร์จด้วยไฟฟ้า 200 โวลต์ จากปริมาณไฟฟ้าที่เหลืออยู่ตอนนี้จนกระทั่งเต็ม จะต้องใช้เวลา 6.30 ชั่วโมง และ 14 ชั่วโมง ถ้าใช้ไฟฟ้า 100 โวลต์ ส่วนวงเล็บด้านล่างแปลว่า เวลาโดยประมาณ

●   ผมคิดไว้ว่าในอนาคตถ้ามีสถานีชาร์จไฟแพร่หลายเหมือนปั๊มน้ำมัน ก็น่าจะขับ Leaf เดินทางออกต่างจังหวัดได้ สมมุติระยะเดินทาง 300 กิโลเมตร ชาร์จไฟเต็มครั้งแรกออกจากบ้าน ขับไป 140-150 กิโลเมตรก็แวะชาร์จไฟในโหมด Quick Charge ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถือโอกาสพักรถและคนไปในตัว ก็จะได้ปริมาณไฟฟ้า 80 เปอร์เซ็นต์

●   จากนั้นน่าจะขับได้อีกประมาณ 120 กิโลเมตร แวะชาร์จในโหมด Quick Charge อีกครั้งก็น่าจะถึงที่หมาย ก่อนนอนก็ชาร์จในโหมดปกติ ไม่น่าจะขัดแย้งกับคำแนะนำที่ว่า “ไม่ควรใช้โหมด Quick Charge บ่อยๆ ใน 1 วัน” ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนว่ากี่ครั้งถึงเรียกว่าบ่อย ส่วนการใช้งานในเมืองจากบ้าน – ออฟฟิศ – บ้าน ถ้าไม่เถลไถลออกนอกเส้นทางก็ไม่น่ามีปัญหา ยิ่งถ้าที่ทำงานมีสถานีชาร์จไฟฟ้าด้วยก็หายห่วง

●   หลังจากชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืน ตอนสายๆ ลองออกไปขับใช้งานในเมือง พบว่าถ้าใช้ความเร็วแถวๆ 70 – 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เปิดแอร์ตามปกติ แต่ไม่เปิดเครื่องเสียงและไม่ต้องเปิดไฟหน้าเพราะเป็นตอนกลางวัน ระยะทางที่ขับได้ด้วยไฟฟ้าที่มี จะลดลงเป็นสัดส่วนเดียวกับระยะทางที่ใช้ไป แสดงว่าอัตราสิ้นเปลืองไฟฟ้าขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้า และความเร็วที่ใช้ และเมื่อเบรกหรือลดความเร็วก็จะชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ด้วย

●   ในส่วนของอุณหภูมิแบตเตอรี่ เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ไฟฟ้าใกล้หมด (เหลือระยะทางที่ขับได้แค่ 15 กิโลเมตร) อุณหภูมิของแบตเตอรี่จะสูงขึ้นเล็กน้อยด้วย ช่วงที่ผมวัดอัตราเร่งก็สังเกตว่า มาตรวัดอุณหภูมิแบตเตอรี่ขยับสูงขึ้นจากปกติ 1 ขีดเช่นกัน

ไฟรูปวงกลม ต้นไม้ใหญ่ และต้นไม้เล็ก แสดงความประหยัดพลังงาน

●   ในหน้าปัดชุดบน นอกจากมีมาตรวัดความเร็วแบบดิจิตอลแล้ว ยังมีอีกหนึ่งมาตรวัดสำคัญนั่นคือ ECO Indicator แจ้งสถานะว่า ขณะนั้นรถมีความประหยัดพลังงานในระดับไหน แบ่งเป็นมาตรวัดทรงกลมสำหรับแจ้งความประหยัดแบบ Real Time และถ้าขับแบบประหยัดได้อย่างต่อเนื่อง ไฟรูปต้นไม้ใหญ่ก็จะค่อยๆ โตขึ้นจากรากไล่ขึ้นสู่ยอดบนสุด (ในภาพประกอบยังขาดยอดไม้อีก 1 ขีด)

●   เมื่อไฟรูปต้นไม้ใหญ่ขึ้นครบ ไฟรูปต้นไม้เล็กด้านข้างก็จะสว่างขึ้น และไฟรูปต้นไม้ใหญ่จะรีเซ็ตเริ่มใหม่จากรากถึงยอด ไล่ไปเรื่อยๆ จนต้นไม้เล็กครบ 3 ต้น ช่วงตอนกดคันเร่งสุดเพื่อวัดอัตราเร่ง ปรากฎว่าต้นไม้กุดหมด แม้แต่รากก็ไม่เหลือ

●   ส่วนจะประหยัดพลังงานมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยคล้ายๆ รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน นั่นคือ การใช้คันเร่ง, การใช้เบรก, สภาพการขับ, สภาพการจราจร, การใช้ฮีตเตอร์และเครื่องปรับอากาศ และเวลาที่รถจอดนิ่งโดยอยู่ในโหมด READY

สมรรถนะไม่ธรรมดา

●   Leaf ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 80 กิโลวัตต์ หรือ 109 แรงม้า แรงบิด 28.5 กก.-ม. ขับเคลื่อนล้อหน้า เห็นตัวเลขกับน้ำหนักรถแล้วอย่าเพิ่งส่ายหน้า ถ้าใครเคยนั่งรถกอล์ฟจะรู้ว่าอัตราเร่งจะมาแบบทันทีทันใด เมื่อกดคันเร่ง Leaf ก็เช่นกัน ผมเข้าเกียร์ D และเหยียบเบรกค้างไว้ จากนั้นยกเท้ขวาไปเหยียบคันเร่งสุด พบว่ารถพุ่งออกตัวไปอย่างรวดเร็ว สร้างแรงดึงได้พอประมาณ และที่สำคัญคือ เงียบสนิท มีเพียงเสียงวี๊ดเบาๆ ของมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น เมื่อประกอบกับมาตรวัดดิจิตอลที่แพรวพราว จึงให้ความรู้สึกเสมือนนั่งอยู่ในยานอวกาศ

●   จากนั้นอัตราเร่งเริ่มแผ่วลงเมื่อผ่าน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และนิ่งค้างที่ 149 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนความเร็วบนหน้าปัดขึ้นมาที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มากกว่าความเร็วจริงประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่ไต่ความเร็วสังเกตมาตรวัดการใช้พลังงาน จุดขาวขึ้นมาเต็มฝั่ง Power แต่เมื่อความเร็วเริ่มเพิ่มขึ้นช้าๆ จุดขาวก็ลดลง แต่ก็ยังอยู่ในฝั่ง Power

เมื่อกดคันเร่งสุด มาตรวัดการใช้กำลังไฟจะแสดงผลว่าใช้กำลังเต็มที่

อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง

ความเร็ว (กม./ชม.)เวลา (วินาที)ระยะทาง (เมตร)
100.671.01
201.424.12
302.159.23
402.8916.38
503.7226.8
604.7542.56
705.9964.97
807.4695.78
909.18136.42
10011.21190.14
11013.52257.59
12016.17342.18
13019.53458.81
14023.54609.29
ระยะทาง (เมตร)เวลา (วินาที)ความเร็ว (กม./ชม.)
0-1007.781.2
0-20011.6101.7
0-40217.9125.2
0-100033.2148.3
ความเร็วสูงสุด149.0 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

●   ลงจากทางด่วน มาตรวัดบอกว่าขับได้อีก 60 กว่ากิโลเมตร มั่นใจว่าถึงบ้านแน่ๆ เพราะห่างไปแค่ 10 กิโลเมตร จึงทดลองขับด้วยความเร็วกลางๆ 60 – 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วกดคันเร่งมิด พบว่ารถมีการตอบสนองที่ทันใจผมสุดๆ เสียงการทำงานก็เงียบและไม่มีการสั่นสะเทือนแบบตอนเครื่องยนต์ลากรอบสูง

●   ระหว่างขับเข้าซอยบ้านมีกำแพงสูงด้านข้าง จึงลองเปิดกระจกฟังเสียงรถที่สะท้อนมาจากกำแพง พบว่ามีเพียงเสียงยางบดถนนเบาๆ เท่านั้น จึงต้องมีระบบ สร้างเสียงเตือนคนเดินถนน หรือ Approaching Vehicle Sound for Pedestrians System หรือ VSP มีสวิตช์ปิด – เปิด ติดตั้งที่คอนโซลด้านล่างฝั่งขวาของผู้ขับ เป็นรูปรถกับลำโพง

กิโลเมตรละ 80 สตางค์

●   การหาค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตร ใช้วิธีการเดียวกับน้ำมันเชื้อเพลิง นั่นคือ คำนวณว่าชาร์จไฟฟ้าจากหมดจนกระทั่งเต็มจะเสียค่าไฟฟ้ากี่บาท แล้วนำมาหารกับระยะทางที่ขับได้ โดยจะใช้ตัวเลข 160 กิโลเมตรตามที่สเปคระบุไว้มาใช้ในการคำนวณ ไม่กล้าขับจนไฟหมดเกลี้ยง เพราะนอกจากกลัวว่าแบตเตอรี่จะเสื่อมแล้ว ยังนึกไม่ออกว่าจะไปขอไฟใครชาร์จได้

●   จากสเปคเครื่องชาร์จที่มากับรถ ใช้ไฟฟ้า AC 220 โวลต์ 20 แอมป์ แปลงออกมาเป็นวัตต์โดยใช้สูตร P (watt) = E (Volt) x I (AMP) ก็จะได้เท่ากับ 4,400 วัตต์ จากนั้นคำนวณหน่วยไฟฟ้า (ยูนิต) ที่ใช้ต่อการชาร์จ 1 ครั้งโดยใช้สูตร…

●   เพราะฉะนั้นการชาร์จ 1 ครั้งจะใช้ไฟฟ้า 35.2 ยูนิต นำไปเทียบกับการคิดค่าไฟฟ้า

ผู้ใช้ประเภท 1 ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าหน่วยที่ 36-100ค่าไฟหน่วยละ 2.1800 บาท = 35.2 x 2.1800 = 76.736 บาท
หน่วยที่ 101-150ค่าไฟหน่วยละ 2.2734 บาท = 35.2 x 2.2734 = 80.02368 บาท
หน่วยที่ 151-400ค่าไฟหน่วยละ 2.7781 บาท = 35.2 x 2.7781 = 97.78912 บาท
หน่วยที่ 401 ขึ้นไปค่าไฟหน่วยละ 2.9780 บาท = 35.2 x 2.978 = 104.8256 บาท
ผู้ใช้ประเภท 2 ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าหน่วยที่ 1-150ค่าไฟหน่วยละ 1.8047 บาท = 35.2 x 1.8047 = 63.52544 บาท
หน่วยที่ 151-400ค่าไฟหน่วยละ 2.7781 บาท = 35.2 x 2.7781 = 97.78912 บาท
หน่วยที่ 401 ขึ้นไปค่าไฟหน่วยละ 2.9780 บาท = 35.2 x 2.978 = 104.8256 บาท

– การคำนวณค่าไฟฟ้าต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เท่ากับ ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)
– (ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) มีการเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงตามราคาเชื้อเพลิง โดยปรับปีละ 3 ครั้ง
– ปัจจุบัน พฤษภาคม-สิงหาคม 2554 ประมาณ 0.95 บาท/หน่วย)

●   การคำนวณค่าไฟฟ้าโดยชาร์จที่บ้านพักอาศัยซึ่งใช้ไฟฟ้า 401 หน่วยขึ้นไป สามารถทำได้ดังนี้

– ค่าไฟฟ้าฐานหน่วยที่ 401 ขึ้นไป
– จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง 35.2 หน่วย
– ค่าไฟหน่วยละ 2.9780 บาท = 35.2 x 2.978 = 104.825 บาท
– ค่า Ft 35.2 x 0.95 = 33.44 บาท

●   ค่าไฟฟ้าต่อการชาร์จไฟจากหมดกระทั่งเต็ม = 104.8256 + 33.44 = 138.2656 บาท

●   ชาร์จ 1 ครั้ง ขับได้ 160 กิโลเมตร คิดเป็นค่าใช้จ่ายกิโลเมตรละ 0.86 บาท ถูกกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซ LPG และสูสีกับรถที่ใช้ก๊าซ CNG ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตร และระยะทางที่ขับได้

ช่วงล่างเน้นนุ่มนวล

●   Leaf ใช้ระบบกันสะเทือนหน้าอิสระ สตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบาร์พร้อมเหล็กกันโคลง เซ็ตช่วงล่างมาเพื่อความนุ่มนวลเป็นหลัก นั่งสบายเมื่อใช้งานในเมือง แต่ที่ความเร็วสูงสุดเกือบ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ไม่ได้วูบวาบน่ากลัวแต่อย่างใด ยังเข้าโค้งกว้างๆ ด้วยความเร็วสูงได้อย่างมั่นใจ แต่ถ้าเป็นโค้งแคบๆ หรือถนนเป็นคลื่นลอน จะรู้สึกยวบยาบอยู่บ้าง

●   ระบบเบรกมีแรงดึงสูง กดเบรกแบบเน้นค่อนข้างหนัก ยางบริดจสโตน Ecopia เริ่มส่งเสียงครางนิดๆ แต่เอบีเอสยังไม่ทำงาน ตัวรถยังคงนิ่ง และเป็นแนวตรงไม่ปัดเป๋ พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าปรับน้ำหนักตามความเร็วได้อย่างเหมาะสม แต่ไม่ค่อยส่งข้อมูลจากพื้นถนนมาที่มือสักเท่าไร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับรถประเภทนี้

●   นิสสัน Leaf รถไฟฟ้าจำหน่ายจริงรุ่นแรกของโลก การใช้งานไม่ยุ่งยากซักซ้อนอย่างที่คิด รองรับการขับใช้งานในเมืองได้ดี ห้องโดยสารกว้างขวาง มอเตอร์ไฟฟ้ามีกำลังขับสูง ใช้งานได้ไม่ต่างจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน จะน่าใช้ก็ต่อเมื่อมีราคาที่เหมาะสม และทุกอย่างพร้อมรองรับ  ●

ขอบคุณ: บริษัท อีตั้น คาร์ จำกัด เอื้อเฟื้อรถยนต์ในการทดสอบ


2011 Nissan Leaf : Test Drive