July 29, 2019
Motortrivia Team (10196 articles)

Nissan Leaf ชาร์จแบตฯ ครั้งเดียวเที่ยวรอบกรุง

เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

●   เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นิสสัน ประเทศไทย ประกาศราคา LEAF รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นล่าสุด 1,990,000 บาท มาพร้อมการรับประกันตัวรถ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร รับประกันชุดระบบไฟฟ้าของรถ 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร และรับประกันแบตเตอรี่ไฮบริด 8 ปีหรือ 160,000 กิโลเมตร ส่งมอบรถได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา

●   ล่าสุดนิสสันจัดการทดสอบแบบกลุ่มอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “เรียบง่ายอย่างอัศจรรย์ หรือ Simply Amazing” โดยมีธีมงานที่ชื่อว่า ‘rEVolution’ เพื่อลองฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ รวมทั้งคลายข้อสงสัยเรื่องระยะการขับในการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้ง ด้วยการวางเส้นทางที่หลากหลาย ทั้งขับผ่านการจราจรที่ติดขัดในเมือง และลองสมรรถนะด้านต่างๆ บนทางโล่ง

●   กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นที่ จีแลนด์ พระราม 9 นอกเหนือจากการขับทดสอบรถแล้ว ทางนิสสันได้จัดพื้นที่ ‘rEVolution education’ เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการออกแบบของนิสสัน ลีฟ ใหม่ ระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้า และรูปแบบการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 แบบ โดยในงานจัดสรรพื้นที่เป็น 4 โซน ประกอบด้วย นิสสัน ลีฟ Simply Amazing นิสสัน อิเล็คทริค คาเฟ่ บูธถ่ายภาพ นิสสัน อิเล็คทริค และสถานีชาร์จนิสสัน ลีฟ

●   นิสสัน ลีฟ ใหม่ ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ความจุ 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) มอเตอร์ไฟฟ้ารุ่น EM57 มีกำลังสูงสุด 110 กิโลวัตต์ (kW) และแรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร เร่งจาก 0- 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 7.9 วินาที เมื่อแบตเตอรี่เต็ม 100% สามารถขับได้ระยะทางสูงสุด 311 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC (New European Driving Cycle)

Gymkhana แบบห้ามแตะเบรก

●   ช่วงเช้าอุ่นเครื่องเบาๆ ด้วยการทดลองใช้ ระบบ e-Pedal ที่สามารถใช้ควบคุมความเร็วรถทั้งการเร่งและเบรกด้วยคันเร่งเพียงอย่างเดียว เมื่อปล่อยคันเร่ง รถจะชะลอความเร็วโดยอัตโนมัติจนกระทั่งหยุดนิ่งได้โดยสมบูรณ์ แม้ว่าจะจอดรถค้างบนเนิน ก็ไม่จำเป็นต้องเหยียบแป้นเบรก ด้วยอัตราการชะลอความเร็วประมาณ 0.2G โดยผู้ขับไม่จำเป็นต้องขยับเท้าออกจากคันเร่งไปยังเหยียบเบรกเพื่อชะลอหรือหยุดรถ ระบบนี้จะช่วยลดความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการขับท่ามกลางการจราจรที่ติดขัด เพราะจะช่วยให้ผู้ขับใช้แป้นเบรกน้อยกว่าการขับรถยนต์ทั่วไปถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

●   รอบแรกนั่งดูเส้นทาง โดยมีเจ้าหน้าที่ขับให้พร้อมให้คำแนะนำเพื่อดูเส้นทางและประเมินระยะเบรกของระบบ e-Padal รอบที่ 2 ทดลองขับเอง และรอบสุดท้ายเป็นรอบจับเวลา ความรู้สึกในการขับพบว่า นิสสัน ลีฟ ให้อัตราเร่งที่แรงเกินคาด ช่วงออกจากโค้ง พวงมาลัยยังไม่ตั้งตรง ถ้ากดคันเร่งหนักๆ แม้จะใช้ยางค่อนข้างใหญ่ 215/50/17 ล้อคู่หน้าจะมีอาการฟรีทิ้งอยู่บ้าง เพราะแรงบิดขนาด 320 นิวตัน-เมตร ที่มาตั้งแต่ 0 รอบต่อนาที ทำให้เร่งได้ดีตั้งแต่ความเร็วต่ำ ช่วงทางตรงเร่งขึ้นแบบนิ่มๆ และเสียงเงียบ ช่วงล่างเซตมาค่อนไปทางหนึบ ขับเข้าสลาลมเร็วๆ แล้วไม่ย้วย น้ำหนักของพวงมาลัยพอเหมาะ ไม่เบาหวิว แต่ก็ไม่หนึดหนักจนขาดความคล่องตัวสำหรับการใช้งานในเมือง

●   เมื่อถึงจุดที่ต้องลดความเร็วเช่น ก่อนเข้าโค้งแคบๆ เจ้าหน้าที่จะบอกให้ผ่อนคันเร่งนิดๆ แต่ไม่ถึงกับยกหมด เพราะถ้ายกหมด ระบบ e-Padal จะดึงรถให้ช้าลงจนขาดความต่อเนื่อง ให้แค่คลอๆ คันเร่งไว้ รถจะลดความเร็วลงพอสำหรับการเข้าโค้ง และเมื่อใกล้ถึงเส้นชัยจึงให้ยกคันเร่งหมด รถจะดึงช้าลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเหยียบเบรก แต่ไฟเบรกยังคงสว่างตามปกติเพื่อเตือนผู้ขับที่อยู่ด้านหลัง (สังเกตจากตอนยืนดูเพื่อนสื่อมวลชนท่านอื่นขับ) และระบบยังคงทำงานจนกระทั่งรถจอดสนิทแล้ว และทำงานทั้งเกียร์เดินหน้าและถอยหลัง

วิธีการชาร์จแบตเตอรี่

●   นิสสัน ลีฟ สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ 3 วิธี ประกอบด้วย:

●   1. การชาร์จจากไฟบ้านปกติ (standard outlet charging) เช่นเดียวกับการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จสมาร์ทโฟน ซึ่ง 80-90 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าของรถนิสสัน ลีฟ ส่วนใหญ่ เลือกที่จะชาร์จรถยนต์ที่บ้าน โดยใช้เคเบิลอเนกประสงค์ (EVSE cable) ที่มาพร้อมกับรถยนต์ โดยส่วนมากเป็นการชาร์จแบบข้ามคืน ใช้เวลาชาร์จประมาณ 12-16 ชั่วโมง

●   2. การชาร์จจากอุปกรณ์ชาร์จติดผนัง หรือ wall box charging สามารถชาร์จไฟฟ้าให้เต็มได้ภายในระยะเวลา 6-8 ชั่วโมง

●   3. การชาร์จแบบด่วน หรือ Quick Charge เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง โดยใช้เวลาชาร์จเพียงแค่ 40-60 นาทีเพื่อชาร์จให้แบตเตอรี่มีความจุที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีติดตั้งในพื้นที่ที่ชาร์จสะดวก เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือที่สาธารณะต่าง

ข้อมูลการชาร์จเพิ่มเติม nissan.co.th/experience-nissan/Nissan-EV/EV-charger-type

●   สำหรับค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรของรถพลังงานไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 0.7-1 บาท ต่อกิโลเมตร อีกหนึ่งข้อกังวลของผู้ที่สนใจรถพลังงานไฟฟ้าคือ แบตเตอรี่ของระบบไฮบริด สำหรับนิสสัน ลีฟ สามารถแยกเปลี่ยนเป็นเซลส์ได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยกชุดเสมอไป ค่าใช้จ่าย ณ ปัจจุบันหลักหมื่นบาท

●   และเมื่อถึงเวลาที่เจ้าของรถต้องรับผิดชอบค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่เอง คือ อีก 8 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ก็จะลดลงอีก เพราะเทคโนโลยีที่แพร่หลายมากขึ้น และเมื่อมีการผลิตมากขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยก็จะลดลงด้วย

ตระเวนรอบกรุงกว่า 100 กิโลเมตร แบตฯ เหลือกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

●   เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมในช่วงเช้า รถที่ใช้ในการขับ Gymkhana จะถูกชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มอีกครั้ง ในระหว่างพักทานมื้อกลางวัน แม้แบตฯ จะเหลือมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม อิ่มแล้วต่อด้วยกิจกรรมในช่วงบ่าย เป็นการขับไปตามสถานที่ต่างๆ ที่กำหนด ซึ่งมีทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย:

●   ฟอร์จูนทาวน์ชั้นดาดฟ้า ทดลองพละกำลังของเครื่องยนต์เมื่อต้องขับขึ้นเนินชันๆ เพื่อขึ้นไปดาดฟ้าชั้น 10 ทำกิจกรรมทดลองระยะเบรกของระบบ e-Padal กันอีกครั้ง อีก 4 สถานที่ที่เหลือคือ ลานจอดรถ Hard Rock สยามสแควร์, Warehouse 30 เจริญกรุง, Riva Floating Café นครปฐม, ช่างชุ่ย บางพลัด และกลับมาที่จุดหมายปลายทาง G Tower เพื่อทานมื้อเย็นร่วมกัน ระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 105 กิโลเมตร ดูเหมือนไม่ไกล แต่จะเจอรถติดช่วงอยู่ในเมือง ทำให้ใช้พลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ไปค่อนข้างเยอะ

ปีเตอร์ แกลลี (Peter Galli) รองประธาน สายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย

●   การขับในโหมด ECO จะช่วยประหยัดพลังงานได้มาก เพราะเมื่อปิดไม่ใช้งานโหมด ECO แล้ว รถจะตอบสนองดีขึ้นแบบคนละคัน ทดลองด้วยการกดคันเร่งเท่าเดิม ความเร็วเท่าเดิม แล้วปิดโหมด ECO รถจะเพิ่มความเร็วขึ้นอีกนิด ขับสนุก เร่งสะใจ จนยากที่จะอดใจไม่กดคันเร่งหนักๆ ตัวรถสามารถรองรับความเร็วระดับ 140-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างสบาย แต่ก็ต้องแลกกับการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นด้วย สังเกตจากชุดมาตรวัด ระยะทางที่ขับได้และปริมาณไฟฟ้าของแบตเตอรี่จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ารู้ว่าวันนี้จะขับระยะทางเท่าไร ก็ไม่ต้องกังวลมากนัก อย่างครั้งนี้เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้เกิน 3 เท่า เพราะขับได้ 300 กว่ากิโลเมตร แต่ใช้งานจริงแค่ 100 กิโลเมตรเท่านั้น

●   หลังจากฝ่าฟันสภาพการจราจรที่ติดขัดมาค่อนวัน กับระยะทางรวมประมาณ 100 กิโลเมตร เมื่อกลับมาถึงจุดหมายปลายทาง ชุดมาตรวัดแสดงให้เห็นว่ายังเหลือไฟฟ้าอีกประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ กับระยะทางที่ยังขับได้อีก 150 กิโลเมตร ถ้าใช้งานในเมืองวันละ 200 กิโลเมตร น่าจะเอาอยู่โดยไม่ต้องชาร์จระหว่างวัน

สรุป

●   นิสสัน ลีฟ ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นรถพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่การนำรถยนต์สันดาปภายในมาปรับให้เป็นรถพลังไฟฟ้า ทุกอย่างจึงถูกออกแบบมาให้มีความเหมาะสมลงตัวกับการเป็นรถไฟฟ้า สำหรับตลาดเมืองไทยราคาของ นิสสัน ลีฟ ดูจะเป็นอุปสรรคสำคัญ

●   ราคาแตะ 2 ล้านบาท กับตัวรถที่อยู่ในกลุ่มคอมแพค และค่าใช้จ่ายหลังหมดระยะรับประกัน ส่วนเรื่องระยะทางการใช้งาน ความสะดวกในการชาร์จแบตเตอรี่ ทั้งจำนวนสถานี และเวลาที่ใช้ในการชาร์จ น่าจะเป็นเรื่องรองลงไป เพราะรถพลังงานไฟฟ้า คงไม่ใช่รถคันแรกและคันเดียวของครอบครัว แต่น่าจะเป็นรถที่คนอยากลองใช้รถพลังไฟฟ้า ดังนั้นราคาจึงเป็นตัวแปรสำคัญ

●   ด้านคุณภาพของตัวรถ ไม่มีข้อข้องใจ แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะดูเรียบง่าย ไม่แตกต่างจากนิสสันรุ่นอื่น แต่ก็ดีในแง่ไม่ตกเป็นเป้าสายตา การออกแบบภายนอกโดยรวมดูลงตัว ภายในเน้นโทนสีดำในแบบที่ชอบเป็นการส่วนตัว การออกแบบดูทันสมัย ฟังก์ชั่นการใช้งานครบ อุปกรณ์มาตรฐานบางอย่าง ถ้าตัดออกได้ก็น่าจะช่วยให้ราคาถูกลงได้บ้าง เพื่อให้คนเข้าถึงรถพลังไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ความกว้างขวางของห้องโดยสารอยู่ในระดับรถคอมแพค นั่งหลังไม่อึดอัดกับความสูงระดับ 170 เซนติเมตร ที่เก็บสัมภาระด้านหลังพึ่งพาได้จริง

●   เมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็ม ตามสเปคจะใช้งานได้ประมาณ 300 กิโลเมตร เหลือเฟือสำหรับการใช้งานในเมืองแบบขับจากบ้านไปที่ทำงานแล้วขับกลับ แต่ถ้าต้องใช้รถทั้งวันก็ต้องประเมินระยะทางให้ดี ส่วนการขับทางไกลต้องวางเส้นทางที่ผ่านสถานีชาร์จ และอยู่ในระยะไม่เกิน 200-250 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้มากหน่อย รวมทั้งเผื่อเวลารอขณะชาร์จแบตเตอรี่ไว้ด้วย

●   รถพลังไฟฟ้ากับเมืองไทย นับว่ามาเร็วกว่าที่คิด แต่จะเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้ คงต้องมีการสนับสนุนด้านราคา เพิ่มความสะดวกในการชาร์จแบตเตอรี่ และคลายข้อกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่

●   นิสสัน ลีฟ ใหม่ มาพร้อม Nissan Intelligent Mobility ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของนิสสันในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขับขี่ยานยนต์ มี 3 ด้านหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Driving) เทคโนโลยีพลังการขับเคลื่อนอัจฉริยะ (Intelligent Power) และเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Integration)

เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Driving)

●   ที่โดดเด่นในลีฟ ใหม่ คือ อี-เพดัล (e-Pedal) และนิสสัน เซฟตี้ ชิลด์ (Nissan Safety Shield) e-Pedal เป็นอุปกรณ์มาตรฐานใหม่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ขับในการออกตัว เร่งความเร็ว ชลอความเร็ว หยุดนิ่ง และควบคุมตัวรถให้อยู่กับที่ด้วยการใช้แป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียว เป็นนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการขับได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยอัตราการชะลอความเร็วที่สูงถึง 0.2G เพียงยกเท้าออกจากคันเร่ง ตัวรถจะลดความเร็วจนหยุดนิ่งได้อย่างนุ่มนวล โดยไม่จำเป็นต้องแตะแป้นเบรก เทคโนโลยี ทำให้ผู้ขับไม่ต้องยกเท้าจากแป้นคันเร่งเพื่อเหยียบแป้นเบรก เมื่อต้องการชะลอความเร็วหรือหยุดรถ ซึ่งช่วยลดความเมื่อยล้าและเพิ่มความเพลิดเพลินในการขับ

●   จากผลสำรวจของนิสสันในประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าระบบ e-Pedal ของนิสสัน ลีฟ ช่วยลดจำนวนการเหยียบแป้นเบรกขณะเดินทางในการจราจรที่ติดขัด แม้ว่าแป้นเบรกจะได้รับการใช้งานเช่นเดิม เมื่อต้องมีการเบรกอย่างกะทันหัน แต่ e-Pedal ก็สามารถช่วยให้ผู้ขับสามารถใช้แป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียวในกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการขับ

●   นิสสัน ลีฟ ใหม่ ติดตั้งเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยขั้นสูง ได้แก่ เทคโนโลยีเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning: FCW) เทคโนโลยีช่วยเบรกฉุกเฉิน (Forward Emergency Braking: FEB) กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor: IAVM) พร้อมเทคโนโลยีเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (Moving Object Detection: MOD) เทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง (Active Trace Control: ATC) และเทคโนโลยีช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (Driver Attention Alert: DAA)

เทคโนโลยีพลังการขับเคลื่อนอัจฉริยะ (Intelligent Power)

●   หัวใจหลักของเทคโนโลยีพลังการขับเคลื่อนอัจฉริยะในลีฟ ใหม่ คือระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (e-powertrain) ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมกับมีแรงบิดและพละกำลังที่สูงขึ้น ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่มอบสมรรถนะที่ต่อเนื่อง และเร้าใจด้วยการส่งกำลังที่ 110 กิโลวัตต์ มากกว่าลีฟ เจนเนอเรชั่นก่อนหน้า 38 เปอร์เซ็นต์ มีแรงบิดเพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์เป็น 320 นิวตันเมตร ส่งผลให้มีอัตราเร่งที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นโดยมีอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลาเพียง 7.9 วินาที

●   นิสสัน ลีฟ ใหม่ สามารถขับได้ระยะทางไกลขึ้น ด้วยชุดแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ชุดใหม่ขนาด 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ให้ระยะทางขับตามมาตรฐานการวัดค่าไอเสียและอัตราสิ้นเปลือง NEDC (New European Driving Cycle) ที่ 311 กิโลเมตร เพียงพอสำหรับการใช้งานในเมือง

●   แบตเตอรี่ที่ได้รับการพัฒนาและออกแบบให้มีความจุพลังงานที่ดีขึ้น โดยยังมีขนาดเท่าเดิม ชุดแบตเตอรี่ดังกล่าวมีมิติเท่าเดิมทุกด้านเหมือนกับลีฟ รุ่นก่อนหน้า การปรับปรุงใหม่นี้ เกิดขึ้นภายในโครงสร้างแต่ละเซลล์ในแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนชนิดอัดซ้อน (laminated lithium-ion battery) ทำให้มีความหนาแน่นของพลังงานเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรุ่นปี 2010 อีกหนึ่งพัฒนาการทางวิศวกรรมที่สำคัญของแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนชุดนี้คือการเพิ่มประสิทธิภาพวัสดุขั้วไฟฟ้า พร้อมการปรับปรุงเคมีใหม่ ทำให้มีความหนาแน่นของพลังงานสูงขึ้น พร้อมกับเพิ่มความทนทานของแบตเตอรี่ทั้งในขณะชาร์จและคลายประจุไฟ

เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Integration)

●   ระบบ Vehicle-to-grid ของแบตเตอรี่ของนิสสัน ลีฟ ใหม่ สามารถสะสมพลังงานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากพลังงานส่วนเกินในเวลากลางวัน เพื่อนำกระแสไฟฟ้ามาใช้งานภายในบ้านช่วงกลางคืน การเชื่อมต่ออัจฉริยะของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ด้านพลังงานอย่างสิ้นเชิง ทำให้เจ้าของรถลีฟ จะได้รับประโยชน์ต่างๆ จากบริษัทพลังงานที่ต้องการสร้างโครงข่ายไฟฟ้าที่มีความเสถียร เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยผู้ใช้งานลีฟ สามารถชาร์จไฟเข้าสู่แบตเตอรี่รถยนต์ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดในบางประเทศ เพื่อนำมาใช้ในช่วงกลางวันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

โครงสร้างและตัวถังรถยนต์

●   ทีมวิศวกรของนิสสัน พัฒนาโครงสร้างของลีฟ ใหม่ ให้มีเสถียรภาพการทรงตัวที่ดีขึ้น ระบบพวงมาลัยไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพมากขึ้น เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ขับ โดยเฉพาะการขับบนทางด่วน รวมทั้งมีการตอบสนองต่อสภาพพื้นผิวถนนที่ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ใหม่ ระบบควบคุมทำงานเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์วัดองศาการเลี้ยวของพวงมาลัย และระบบกันสะเทือนแบบทอร์ชั่นบาร์ (Torsion Bar) ที่มีอัตราการยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์

●   ชุดยางซับแรงกระแทกสำหรับระบบกันสะเทือนหลัง ใช้วัสดุใหม่ที่ผลิตจากยางที่ช่วยลดแรงกระแทกและแรงสั่นสะเทือน เมื่อต้องขับบนสภาพถนนที่ขรุขระ โดยลีฟ ใหม่ ยังมาพร้อมเทคโนโลยีควบคุมการขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Ride Control) ช่วยให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานแม่นยำมากขึ้น ในการสร้างแรงบิดที่เหมาะสมเมื่อเข้าโค้ง

ภายนอกสปอร์ตโฉบเฉี่ยว

●   การออกแบบนิสสัน ลีฟ ใหม่ แสดงให้เห็นถึงการออกแบบด้วยแนวทาง “Cool Tech Attitude” ของนิสสัน และความพยายามในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายสูงสุดของโลก โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากรถต้นแบบ IDS Concept ที่นำเสนอสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2015 ด้วยความสปอร์ต รูปทรงที่ดึงดูดสายตาสะท้อนตัวตนของยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต ปรัชญาของการออกแบบ คือ ต้องการแสดงถึงเส้นสายที่เรียบง่ายสะอาดตา แต่แฝงไปด้วยความดุดัน รวมไปถึงความโฉบเฉี่ยวของการเล่นแสงเงา ให้ทุกคนสัมผัสได้ถึงยานยนต์ที่เปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้เส้นสายหลักในแนวนอน กันชน และความโดดเด่นของตัวถังช่วงล่างเน้นย้ำให้เห็นถึงจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำของตัวรถ ทำให้สัมผัสได้ถึงการขับที่สนุกสนานและคล่องตัว

●   การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในส่วนของกระจังหน้าแบบ V-Motion, ไฟรูปทรงบูมเมอแรง และการออกแบบแนวเส้นหลังคา แสดงให้เห็นการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแบบของนิสสัน เพื่อให้ลีฟ ใหม่ มีความเชื่อมโยงกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ของนิสสัน

●   กระจังหน้าลวดลายตาข่ายสีน้ำเงินสว่างแบบสามมิติโดดเด่นสะกดทุกสายตา เสริมความโดดเด่นให้กับกระจังหน้าแบบ V-Motion เสริมความพิเศษเฉพาะตัวของลีฟในฐานะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

●   นิสสัน ลีฟ ใช้ไฟหน้าโปรเจ็คเตอร์แบบคู่ รองรับการทำงานทั้งไฟต่ำ และไฟสูง และเป็นครั้งแรกที่ติดตั้งในรถยนต์ของนิสสัน ช่วยสร้างความรู้สึกทันสมัย พร้อมทั้งเพิ่มวิสัยทัศน์ในการมองเห็น และเพิ่มความปลอดภัยด้วยการเพิ่มระยะการส่องสว่างที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของดีไซน์ และการใช้งาน ชุดไฟท้ายมีความโดดเด่นที่ทำให้ผู้คนที่พบเห็นสามารถจดจำลีฟรุ่นใหม่ได้จากระยะไกล การติดตั้งสปอยเลอร์ท้ายให้เป็นส่วนหนึ่งของลวดลายกระจกทำให้ลีฟ ใหม่ มีความสปอร์ตและสะดุดตามากยิ่งขึ้น ฝากระโปรงหน้าที่ลาดต่ำผสมผสานอย่างลงตัวกับกระจกด้านหน้าที่ทอดยาวไปจนถึงหลังคา ก่อให้เกิดเส้นเงาที่โฉบเฉี่ยว และทำให้การระบายของอากาศดีขึ้น

●   การออกแบบใต้ท้องรถ และกันชนท้ายที่มีลักษณะคล้ายดิฟฟิวเซอร์ (Diffuser) ช่วยทำให้ลดแรงต้านอากาศ และอากาศที่ยกตัวรถ ช่วยให้รถมีความมั่นคงยิ่งขึ้น การออกแบบตัวถังตามหลักแอโรไดนามิกส์ รวมถึงกันชนหลังที่เป็นแนวโค้ง และการออกแบบล้อตามหลักอากาศพลศาสตร์ ทำให้นิสสัน ลีฟ ใหม่ มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านทานของอากาศ (drag coefficient) เพียง 0.28 เท่านั้น

●   นอกจากนี้ช่องเสียบสายชาร์จไฟบริเวณด้านหน้ารถได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าของรถสามารถเสียบสายชาร์จโดยไม่ต้องก้มตัวลงมาเหมือนรุ่นก่อน ด้วยหลักการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ของนิสสัน แสดงให้เห็นว่าช่องเสียบสายชาร์จไฟใหม่ที่ถูกติดตั้งในระดับ 45 องศา ทำให้ผู้ใช้งานที่มีระดับความสูงต่างกันสามารถเสียบสายชาร์จไฟได้อย่างสะดวก

●   มิติตัวรถมีความยาว 4,480 มิลลิเมตร กว้าง 1,790 มิลลิเมตร สูง 1,540 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,530/1,545 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 150 มิลลิเมตร สัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ 0.28 น้ำหนักตัวรถ 1,523 กิโลกรัม

ภายในเรียบง่ายเน้นการใช้งาน

●   การออกแบบภายใน บรรยากาศที่หรูหราแต่แฝงด้วยความเรียบง่าย ผ่อนคลาย และทันสมัย ภายในห้องโดยสารของลีฟ ใหม่ มีความกว้างขวาง และสะดวกสบายมากขึ้น ที่ยึดหลักการออกแบบของ นิสสัน Gliding Wing เป็นแนวทางหลัก ปรับดีไซน์ให้หน้าจอและรูปแบบของไฟแสดงข้อมูลของคนขับเรียบง่ายขึ้น ทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน มีความเรียบหรู และตอบสนองด้านพื้นที่และการใช้งาน สามารถมองเห็นข้อมูลที่จำเป็นในตำแหน่งที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้ขับมีสมาธิกับการขับ

●   ตะเข็บการเย็บสีฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรถยนต์ไฟฟ้านิสสัน ทั้งบริเวณเบาะนั่ง ด้านข้างประตู ที่วางแขน และพวงมาลัย รวมทั้งการใช้โทนสีน้ำเงินกับปุ่มสตาร์ต และเกียร์ที่ให้ความรู้สึกถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย

●   หน้าจอแสดงข้อมูล และสวิตช์ควบคุมต่างๆ ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความฉลาด และใช้งานง่ายขึ้น โดยที่มีความโดดเด่นมากที่สุด คือ การผสมผสานระหว่างมาตรวัดความเร็วแบบอนาล็อกกับหน้าจอแสดงผลแบบ multi-information ด้านซ้าย หน้าจอสีแบบ Thin-film Transistor (TFT) ขนาด 7 นิ้ว บอกปริมาณกำลังไฟฟ้าที่ใช้ตามการกำหนดค่ามาตรฐาน โดยผู้ขับสามารถเลือกแสดงข้อมูลตามที่ต้องการ หน้าจอแสดงผลตรงกลางแบบ Flush-surface ช่วยให้ผู้ขับสะดวกต่อการเลือกระบบความบันเทิง รวมทั้งแสดงให้เห็นการทำงานของเทคโนโลยี Safety Shield ระดับการชาร์จไฟของรถ และพลังงานที่เหลืออยู่ รวมถึงระบบเสียง และข้อมูลระบบนำทาง

●   ห้องโดยสารของลีฟ ใหม่ ยังคงรักษาความเงียบ ส่วนหนึ่งมาจากการออกแบบภายนอกให้มีแรงเสียดทานที่ลดลง และการปรับแต่งภายนอก เพื่อช่วยลดเสียงรบกวนของลม รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของความแข็งแกร่งของโครงสร้างอินเวอร์เตอร์ (inverter) และการป้องกันเสียงรบกวนบนโมดูลส่งต่อพลังงาน (PDM) รวมถึงการลดเสียงรบกวนจากตัวมอเตอร์ไฟฟ้า แม้ว่าจะส่งแรงบิดและมีกำลังมากกว่าเดิม

●   คอนโซลด้านหน้าได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด ที่รองแก้วแบบคู่จัดวางตามแนวยาวที่นั่งรคอนโซลด้านหน้าได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด ที่รองแก้วแบบคู่จัดวางตามแนวยาวที่นั่งระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า ทำให้มีพื้นที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นที่ฐานของคอนโซลกลาง ซึ่งเหมาะสำหรับการวางสมาร์ทโฟนหรือกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งการใช้งานสวิตช์ไฟฟ้า ช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์และพอร์ตยูเอสบีที่สะดวกง่ายดายมากขึ้น เครื่องปรับอากาศและระบบทำความร้อนที่ประหยัดพลังงาน ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร

●   แม้ว่าความจุพลังงานของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะเพิ่มขึ้น แต่ขนาดของแบตเตอรี่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ห้องโดยสารจึงรองรับผู้โดยสาร 5 คนได้อย่างสบาย นอกจากนี้พื้นที่วางสัมภาระด้านหลังได้รับการออกแบบใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่มากขึ้น โดยมีความจุ 435 ลิตร (VDA) พื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีการเอาส่วนนูนออกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นเพิ่มความสะดวกสบายและการใช้งาน พื้นที่บรรทุกสัมภาระด้านหลังสามารถเก็บกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ 2 ใบ หรือกระเป๋าเดินทางขนาดกลาง การออกแบบภายในสีดำล้วนช่วยให้บรรยากาศเรียบหรู ยกระดับความสง่างามด้วยการใช้เบาะที่นั่งสีอ่อน ตัดกันกับสีเทาเข้มของคอนโซลกลาง แผงหน้าปัดส่วนล่างและบน และพวงมาลัย ทำให้บรรยากาศโดยรวมเบาสบายและโปร่งสบาย

●   นิสสัน ลีฟ ใหม่ มีวางจำหน่ายในสีแบบทูโทนภายใต้ตัวถังสีขาว Brilliant White Pearl และด้านบนหลังคาสีดำ Super Black ราคา 1,990,000 บาท สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ www.nissan.co.th/vehicles/new-vehicles/leaf

Test Drive : 2019 Nissan Leaf (Motortrivia)

Test Drive : 2019 Nissan Leaf (Official)