August 1, 2019
Motortrivia Team (10185 articles)

คุณรู้หรือไม่ว่า ผลิตภัณฑ์ทาผิวเป็นภัยต่อรถได้อย่างไร?

ประชาสัมพันธ์

●   ผลิตภัณฑ์ทาผิว ของใช้ใกล้ตัวที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน อย่างเจลล้างมือ และครีมกันแดดค่าปกป้องสูง ถึงแม้ว่าจะดีต่อสุขภาพอนามัย แต่อาจเป็นผลเสียต่อรถ เพราะสารเคมีที่พบในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในบางยี่ห้อ อาจทำให้พื้นผิวภายในรถเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น หากไม่ได้เคลือบสารป้องกันพิเศษ

●   ความท้าทายที่วิศวกรของฟอร์ดต้องประสบทุกวัน คือการทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บนวัสดุที่ใช้ในรถแต่ละคันอย่างต่อเนื่อง และช่วยพัฒนาสารเคลือบเพื่อป้องกันสารเคมีจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานให้พื้นผิวภายในรถคงสภาพเดิมไปอีกหลายปี

●   “ไม่ว่าจะเป็นเจลล้างมือ ครีมกันแดด และยาทากันแมลง เทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็ออกมาวางขายในตลาดอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน” มาร์ค มอนต์โกเมอรี (Mark Montgomery) วิศวกรอาวุโสด้านวัสดุ จากศูนย์เทคโนโลยีวัสดุ สถาบันเทคนิคดันตัน ประเทศอังกฤษ ของฟอร์ด ยุโรป กล่าว “แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ที่ดูปลอดภัยที่สุด ยังสามารถสร้างปัญหาได้เมื่อสัมผัสกับพื้นผิวภายในรถเป็นร้อยเป็นพันครั้งในหนึ่งปี”

●   ในตลาดยุโรป ผลิตภัณฑ์ล้างมือ ทั้งแบบเจล แบบโฟม และกระดาษเปียก บางยี่ห้ออาจมีส่วนประกอบของเอทานอล มีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ จาก 371.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 593.62 เหรียญสหรัฐภายในปี 2024 ส่วนครีมกันแดดค่าปกป้องสูง มีสารไทเทเนียมออกไซด์ในปริมาณที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำปฏิกิริยากับพลาสติก และน้ำมันธรรมชาติที่อยู่ในแผ่นหนัง โดยเฉพาะเวลาอากาศร้อน ในขณะที่ยาทากันแมลง ก็มักพบว่ามีไดเอทิลโทลูอะไมด์ หรือ DEET เป็นสารเคมีหลัก

●   ทีมฟอร์ดในดันตัน และในโคโลญ ประเทศเยอรมนี ทดสอบความทนทานต่อความร้อนภายในรถยนต์ ในอุณหภูมิที่สูงถึง 74 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่ห้องโดยสารที่จอดอยู่กลางแดดริมทะเลจะร้อนได้ นอกจากนี้ ยังมีทดลองอื่นๆ ที่จำลองสถานการณ์เมื่อรถตากแดดเป็นเวลานาน ด้วยการใช้แสงอัลตราไวโอเลตสาดลงไปที่รถ เทียบเท่ากับการจอดรถไว้ในที่ที่แดดแรงที่สุดเป็นเวลานานกว่า 1,152 ชั่วโมง หรือ 48 วัน

●   พวกเขายังทดสอบความทนทานของพลาสติกในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า -30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้พลาสติกเปราะบางที่สุด และโยนลูกบอลยางซึ่งมีความหนักกว่าลูกฟุตบอลปกติ 10 เท่าใส่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้แน่ใจว่าพลาสติกไม่แตก

●   จากผลการทดลอง พบว่าองค์ประกอบทางเคมีของสารเคลือบสามารถป้องกันพื้นผิวภายในรถได้ นับว่าการทดลองต่างๆ เหล่านี้ ช่วยให้ฟอร์ดบรรลุเป้าหมายในการรักษาสภาพภายในห้องโดยสารให้ดูดีตลอดอายุการใช้งานของรถ การทดสอบนี้ยังนำไปใช้กับอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ ที่ขายในศูนย์บริการฟอร์ด ไม่ว่าจะเป็นแผ่นรองท้ายรถ และพลาสติกหุ้มภายในรถ

●   “บางครั้งเราก็ต้องทำงานเหมือนนักสืบ” ริชาร์ด ไคล์ (Richard Kyle) วิศวกรด้านวัสดุจากดันตัน กล่าว “มีกรณีตัวอย่างในตุรกีที่ภายในรถเสื่อมสภาพลงมาก และเราพบว่าเอทานอลเป็นตัวการหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจลล้างมือบางยี่ห้อที่ได้รับความนิยมที่มีเอทานอลสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปริมาณสูงกว่าที่เราเคยพบ เมื่อรู้ว่าสาเหตุคืออะไร เราก็สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด”  ●